โรคปวดตามหัวไหล่และแขน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  168782 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคปวดตามหัวไหล่และแขน

แนวทางการรักษาภาวะ กลุ่มอาการของ
โรคปวดตามหัวไหล่และแขน (肩及上肢痛)
ด้วยวิธีการแนวทางการรักษาของแพทย์แผนจีน

โรคปวดตามหัวไหล่และแขน ได้แก่

1. ภาวะอักเสบรอบข้อไหล่ (肩周炎- Scapulohumeral periarthritis)
2. กล้ามเนื้อเอ็นบริเวณต้นคอไหล่อักเสบ (颈肩肌筋膜炎- Myofascitis of neck and shoulder)
3. กลุ่มอาการของกล้ามเนื้อ Bicep brachii (肱二头肌综合征  - Bicep Brachii Syndrome)
4. เอ็นข้อศอกอักเสบ (肱骨外上髁炎 - Lateral epicondylitis)
5. กลุ่มอาการของข้อพับมือ (腕管综合证- Carpal Tunnel Syndrome)


1. ภาวะอักเสบรอบข้อไหล่
(肩周炎 Scapulohumeral periarthritis)

เป็นกลุ่มอาการที่มักพบในผู้สูงอายุข้อเสื่อมหรือเกิดจากอุบัติเหตุ หรือใช้งานหนักเกินไป ทำให้มีอาการปวดบริเวณรอบๆข้อหัวไหล่การเคลื่อนไหวใช้งานหัวไหล่ติดขัดเป็นอาการหลัก

โดยกลุ่มอาการนี้มีชื่อเรียกว่า "ภาวะอักเสบรอบข้อไหล่" หรือเรียกย่อๆว่า "ไหล่อักเสบ" มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุประมาณ 50 ปี จึงมีชื่อเรียกว่าอีกอย่างว่า "ไหล่ห้าสิบ" (五十肩) หรือ "ไหล่แข็ง" (冻结肩 frozen shoulder) หรือ "ไหล่ติด" (凝肩) และมักพบมากในเพศหญิงและมีแนวโน้มว่าสามารถหายเองได้


สาเหตุการเกิดโรค
เกิดจากการใช้งานหัวไหล่มากเกินไปจนบาดเจ็บเรื้อรังมานาน เกิดอย่างเฉียบพลันจากอุบัติเหตุหรือได้รับความเย็นมากเกินไปหรือเกิดการติดเชื้อ  ทำให้บริเวณไหล่มีการ เคลื่อนไหวได้น้อยลง  ในยุคหลังๆมีแนวคิดที่ว่ามีความเกี่ยวข้องกับโรคกระดูกคอเสื่อม ในผู้สูงอายุที่ทำให้เส้นประสาทไม่สามารถหล่อเลี้ยงอยู่บริเวณเนื้อเยื่อไหล่ได้ตามปกติ นอกจากนี้ลักษณะเด่นทางกายภาพของข้อไหล่ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

ข้อไหล่เป็นข้อต่อแบบเบ้า (Ball and socket joint) ถือเป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหวได้กว้างที่สุดในบรรดาข้อต่อต่างๆในร่างกาย ข้อไหล่เกิดจากส่วนหัวของกระดูกต้นแขน (Head of humerus) กับเบ้ากระดูกสะบัก (Scapula) ประกอบกัน แต่ส่วนหัวจะใหญ่เป็น 3 เท่าของเบ้าข้อต่อ จะมีเพียง 1/4 ถึง 2/3 ที่ข้อต่อจะสัมผัสกัน เอ็นยึดข้อต่อค่อนข้างบอบบาง

นอกจากนี้ถุงที่หุ้มข้อต่อหัวไหล่ยังบอบบางและอยู่แบบหลวมๆอีกด้วย ปุ่มหัวไหล่ (Acromion process-ปลายกระดูกสะบัก) และกล้ามเนื้อ Deltoid ด้านล่างจะมีถุงน้ำ synovial bursa ซึ่งถุงน้ำเหล่านี้จะทำหน้าที่ช่วยเหลือหัวไหล่ในการเคลื่อนไหวทำให้ข้อไหล่สามารถกางออกไปได้มากกว่า 90 องศา  แต่การกางแขน หรือการยกชูแขนขึ้นมากเกินไป จะทำให้ถุงน้ำมีการเสียดสีบ่อยมากขึ้นจนทำให้เกิดการ
บาดเจ็บ


กล้ามเนื้อที่ยึดเกาะอยู่กับหัวไหล่มีกล้ามเนื้อ Deltoid, Supraspinatus, Infraspinatus, Subscapularis, Teres minor ประกอบขึ้นเป็นถุงหุ้มข้อมีหน้าที่ทำให้เคลื่อนไหวหัวไหล่ได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้แล้วก็ยังมีกล้ามเนื้อ long head of biceps brachii อีกด้วย

พยาธิสภาพของกลุ่มอาการนี้
หลังจากการบาดเจ็บจะเกิดอาการอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจาก
การติดเชื้อการอักเสบนั้นกระทบไปถึงถุงหุ้มข้อในระยะแรกถุงหุ้มข้อจะหดตัวเล็กลงในระยะท้ายจะหดตัวมากขึ้นจนเสื่อมสภาพในที่สุดจะมีการเกาะตัวเป็นแคลเซียมมีพังผืด เยื่อหุ้มข้อหนาตัวขึ้นเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ ขาดความยืดหยุ่นหดสั้นแข็งตัวฉีกขาดหรือ เกาะติดกันทำให้ปวดบริเวณรอบๆ หัวไหล่ กล้ามเนื้อบริเวณไหล่ลีบฝ่อจนทำให้การเคลื่อนไหวติดขัดใช้การไม่ได้


อาการทางคลินิก
มีอาการปวดบริเวณรอบหัวไหล่โดยค่อยๆปวดมากขึ้นถ้าเคลื่อนไหวแล้ว จะปวดมากขึ้น กลางคืนเวลานอนจะปวดมาก อาจปวดจนนอนไม่หลับ โดยมีอาการปวด ที่ไหล่หรือท่อนแขนด้านบนแต่จะไม่เลยข้อศอกลงไป การทำงานเคลื่อนไหวข้อไหล่จะเกิด การติดขัดแบบต่อเนื่อง บริเวณรอบข้อไหล่มีจุดที่กดแล้วเจ็บหลายจุด

ผลภาพ X-ray
ผู้ป่วยบางรายจะพบว่ามีการเกาะตัวของแคลเซียมที่เอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) หรือพบว่ามีกระดูกงอกบริเวณส่วนหัวของกระดูกต้นแขน (Head of humerus)


การวิเคราะห์แยกแยะและรักษาตามกลุ่มอาการ
หลักในการรักษา :

1. การฝังเข็ม จุดหลัก / จุดเสริม ร่วมกับการครอบแก้วเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด ร่วมกับการนวดทุยหนา


การพยากรณ์โรค
7 ครั้ง เป็น 1 คอร์สการรักษาในรายที่อาการเบาสามารถหาย
ได้ใน 1 คอร์สการรักษา  
ถ้ารายที่อาการหนักต้องใช้เวลา 2-3 คอร์สในการรักษา


กล้ามเนื้อเอ็นบริเวณต้นคอไหล่อักเสบ
(颈肩肌筋膜炎 Myofascitis of neck and shoulder)

เรียกอีกอย่างว่า "กล้ามเนื้อเอ็นระดับต้นคออักเสบ" (Cervical myofascitis) "กล้ามเนื้อคออักเสบมีพังผืด" (Cervical myofibrositis) หรือ "ปวดกล้ามเนื้อรูมาติซึม"(Muscular Rheumatism)

คำนิยาม
เนื่องจากเนื้อเยื่อเส้นใย (fibrous tissue) บริเวณต้นคอไหล่หลังถูกรุกรานจึงทำให้เกิดการบาดเจ็บอักเสบแบบไม่ติดเชื้อเป็นผลให้เกิดกลุ่มอาการที่กล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ ไหล่หลังมีอาการปวดและหดเกร็งเป็นวงกว้าง

สาเหตุการเกิดโรค
เนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue) บริเวณต้นคอไหล่หลังได้รับบาดเจ็บเฉียบพลันแล้ว ไม่ได้รักษาให้หายขาด หรือใช้งานหนักมานานเกิดการบาดเจ็บเรื้อรัง จนกระทั่งทำให้กล้ามเนื้อ (Muscle) เนื้อเยื่อพังผืด(Fascia) เอ็นยึดข้อ(Ligament)   ปลอกหุ้มข้อต่อ (articular capsule) เยื่อหุ้มกระดูก (periosteum) ไขมัน (fat) เอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) ทำให้เกิดกลไกการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อที่เกิดจากการบาดเจ็บในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันไป  โดยมากมักจะเกิดที่บริเวณติดกับกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืด

สาเหตุเกิดจาก soft tissue บริเวณนั้นถูกดึงไปตามแรงดึงสู่ศูนย์กลาง จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บ เสียหายได้ง่าย  เพราะ soft tissue บริเวณนี้เป็นศูนย์รวมของปลายประสาท เมื่อได้รับ บาดเจ็บขึ้นมาจึงทำให้เกิดอาการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ แล้วกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา


กล้ามเนื้อหดเกร็ง
เนื่องจาก  soft tissue ได้รับบาดเจ็บเกิดการอักเสบแบบ
ที่ไม่ติดเชื้อแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นซึ่งจะไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวต่อเนื่อง ยาวนานจนทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตึงอย่างมาก

กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นเวลานาน เป็นผลให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ  เกิดความผิดปกติในกระบวนการเมทาบอลิซึม ความเข้มข้น ของ Potassiumion และ Lactate ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพขึ้นคือมีการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ


เมื่อกล้ามเนื้อหดเกร็งตัวเป็นเวลานาน  ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือด (Soft-Tissue Vessels) เกิดการหดเกร็งส่งผลให้ร่างกายขาดการบำรุงเกิดการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์และเกิดอาการปวดแข็งเกร็ง
เป็นบริเวณกว้าง การเคลื่อนไหวติดขัดศีรษะแขนรวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ

อาการทางคลินิก
ปวดบริเวณต้นคอไหล่หลังเป็นบริเวณกว้าง มีอาการตึงๆหนักๆ โดยอาจจะชาร้าวไปที่ศีรษะหรือร้าวลงแขน จะมีอาการปวดตลอดเวลา จะรู้สึกแข็งตึงภายหลัง จากตื่นนอนในตอนเช้า พอได้เคลื่อนไหวอาการก็จะเบาลง และเมื่อถูกความเย็นหรือ ทำงานเหน็ดเหนื่อย อาการจะเป็นหนักขึ้น  เมื่อได้รับความร้อนอาการก็จะดีขึ้น

การตรวจร่างกาย
ตรวจพบว่ากล้ามเนื้อบริเวณต้นคอตึง ที่ Spinous process 
และด้านข้าง กล้ามเนื้อ Sacrospinalis, กล้ามเนื้อ Trapezius, กล้ามเนื้อ Rhomboideus จะมีการกดเจ็บ แต่มักไม่มีการเจ็บกระจายไปที่อื่น


จากภาพถ่าย X-ray ส่วนมากจะพบว่าปกติ

การวิเคราะห์แยกแยะและรักษาตามกลุ่มอาการ
หลักการรักษา : ฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด คลายเส้น ระงับปวด ที่จุดหลักและจุดเสริม ใช้วิธีการกระตุ้นเข็ม ร่วมกับการนวดทุยหนา

การพยากรณ์โรค : ฝังเข็มรักษาวันละ 1 ครั้ง 7 ครั้งเป็น 1 คอร์สการรักษา 1-3 คอร์สรักษาให้หายเป็นปกติได้

กลุ่มอาการของกล้ามเนื้อ
Bicep brachii (肱二头肌综合征 - Bicep 
Brachii Syndrome)


มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า  Myotenositis (กล้ามเนื้อเส้นเอ็นอักเสบ) หรือ Tenosynovitis
(เยื่อหุ้มเอ็นอักเสบ) of long head of biceps brachii โดยความหมายกว้างๆ จัดอยู่ใน ขอบเขตภาวะอักเสบรอบข้อไหล่ (肩周炎) หน้าที่การทำงานของกล้ามเนื้อ Bicep brachii คือ งอต้นแขนขึ้น (flexion), หมุนปลายแขนโดยหงายมือ (Supination)

ดังนั้น กล้ามเนื้อ Bicep brachii ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญอย่างมากในการเคลื่อนไหวของแขน


สาเหตุการเกิดโรค
1. เกิดจากลักษณะทางกายภาพของกล้ามเนื้อที่มีมาแต่
กำเนิดทำให้เกิดเป็นแอ่งตื้นๆ

2. เกิดจากการเสื่อมสภาพทำให้บริเวณนั้นไม่เรียบและมีกระดูกงอก

3. เกิดจากผลจากภายนอก เคลื่อนไหวใช้งานมากเกินไปลมเย็นเข้ากระทบ หรือกล้ามเนื้อเยื่อหุ้มเอ็นถูกเสียดสีบ่อย ทำให้เกิดการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ จึงมีผลให้เอ็นกล้ามเนื้อ เยื่อหุ้มเอ็นมีเลือดคงและบวม  จากนนเส้นใยพังผืดจะค่อยๆก่อตัวขึ้นมา มีลักษณะหยาบไม่เรียบ หนาตัวและเชื่อมติดกันในที่สุด ทำให้มีอาการปวดหัวไหล่ด้านหน้า การเคลื่อนไหวติดขัดปวดร้าวไปทางด้านนอก และในตอนกลางคืนจะปวดมากขึ้น


อาการทางคลินิก
การเคลื่อนไหวติดขัดทั้งการยืดแขนไปด้านหลัง (Extension) การกางแขนออก (abduction) และการพับแขนไขว้ไปทางด้านหลัง (External rotation) พบมากในวัย กลางคนและวัยสูงอายุ

การวิเคราะห์แยกแยะและรักษาตามกลุ่มอาการ
หลักการรักษา : ฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับการปวด ในจุดหลักและจุดเสริม ร่วมกับ การนวดทุยหนา

การพยากรณ์โรค : ทำการฝังเข็มทุกวันวันละ 1 ครั้ง 7 ครั้ง เป็น 1 คอร์สการรักษา

เมื่อรักษา 1-2 คอร์สจะสามารถหายเป็นปกติได้  ในกรณีที่กล้ามเนื้อเส้นเอ็นมีการก่อตัว ของพังผืดและเชื่อมติดกันแล้ว การพยากรณ์โรคไม่ดี


เอ็นข้อศอกอักเสบ (肱骨外上髁炎 Lateral epicondylitis)

มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Tennis elbow

สาเหตุการเกิดโรค
เกิดจากการบาดเจ็บเฉียบพลันหรือเรื้อรังมานาน จนทำให้ soft tissue ที่อยู่รอบๆ ปุ่มกระดูก lateral epicondyle ของกระดูกต้นแขน humerus (肱骨外上髁) เกิดการ อักเสบแบบไม่ติดเชื้อ

ลักษณะทางกายวิภาค : ปุ่มกระดูก lateral epicondyle ของกระดูกต้นแขน humerus เป็นจุดเกาะต้นของเอ็นกล้ามเนื้อร่วมของกลุ่มกล้ามเนื้อ forearm extensors ซึ่งประกอบไปด้วย  กล้ามเนื้อ Extensor carpi radialis longus, กล้ามเนื้อ Extensor carpi radialis brevis, กล้ามเนื้อ Extensor digitorum, กล้ามเนื้อ Extensor digitiminimi tendon, กล้ามเนื้อ Brachioradialis, กล้ามเนื้อ Supinator, กล้ามเนื้อ Extensor carpi ulnaris หน้าที่หลักในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อส่วนนี้ คือเหยียดข้อมือ (Wrist Extension) เหยียดนิ้วมือ (Fingers Extension) หมุนปลายแขนโดยหงายมือ (Supination) ช่วยในการงอข้อศอก (Elbow Flexion)

อาการทางคลินิก
มีอาการปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกเวลาเคลื่อนไหวปวดร้าวลงต้นแขนหรือปลายแขน มือไม่มีแรงหยิบสิ่งของ ถ้ากวาดบ้านบิดผ้า หรือไขสกรูจะยิ่งรู้สึกปวดมากขึ้น การวิเคราะห์แยกแยะและรักษาตามกลุ่มอาการ

หลักการรักษา : ฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับการปวด ร่วมกับการนวดทุยหนา

การพยากรณ์โรค : ทำการฝังเข็มทุกวันวันละ 1 ครั้ง 7 ครั้งเป็น 1 คอร์สการรักษา
ถ้าอาการเบา 3-4 ครั้ง สามารถรักษาหายเป็นปกติได้ ถ้าอาการหนัก 1-2 คอร์ส  สามารถ รักษาหายได้ และอาจกลับมาเป็นได้อีก หากใช้งานมากเกินไป

กลุ่มอาการของข้อพับมือ
(腕管综合证- Carpal Tunnel Syndrome)
มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เส้นประสาทมีเดียนเป็นอัมพาต (Delayed median nerve 
palsy)

สาเหตุการเกิดโรค
Carpal Tunnel ประกอบด้วยกระดูกและเอ็นยืดกระดูก กระดูกข้อมือโดยด้านเรเดียส(radius) มีกระดูก Scaphiod(舟壮骨) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายตัวเรือ, กระดูกหลายเหลี่ยม Trapezium (大多角骨) ; ด้านอัลนา (ulnar) มีกระดูก Pisiform (豌豆骨) รูปร่างกลม คล้ายเมล็ดถั่วลันเตา, กระดูก Hamate( 钩 状 骨 ) รูปร่างคล้ายตะขอ, กระดูก Triquetral (三角骨) คล้ายสามเหลี่ยม ; ด้านหลัง (distal) จะมี กระดูก Capitate(头骨) มีลักษณะ เป็นหัวกระดูกกลม, กระดูก Lunate( 月 骨 ) รูปร่างคล้ายพระจันทร์, กระดูก Trapezoid (小多角) รูปร่างเหมือนลิ่ม;  ส่วนด้านพัลมา (Palmar)  จะมีเส้นเอ็น Carpal  ligament (腕横韧带) เป็นองค์ประกอบ

การได้รับบาดเจ็บเป็นเวลานาน ล้ม การกระแทก กดทับ เป็นต้น ทำให้เส้นเอ็น
และกล้ามเนื้อได้รับความเสียหาย จนก่อให้เกิดเลือดคงรวมตัวกัน ชี่ถูกอุดตันเดินไม่สะดวก เส้นเอ็นหลอดเลือดขาดการหล่อเลี้ยงจึงเกิดโรค

อาการทางคลินิก
นิ้วมือฝั่งด้าน radius ทั้งสามนิ้ว (นิ้วโป้ง,นิ้วชี้,นิ้วกลาง) รู้สึกชา ปวด การเคลื่อนไหวผิดปกติ เวลากลางคืนหรือหลังจากใช้งานข้อมือหนักๆจะยิ่งปวดมากขึ้น แต่ถ้าสะบัดข้อมือไปมาจะอาการปวดน้อยลง เมื่อเจอความหนาวเย็นจะปวดมากขึ้นปลายมือจะเขียวคล้ำ (cyanosis) บวมตึง

หลักการรักษา
หลักการรักษา : ฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับการปวด ร่วมกับการนวดทุยหนา


การพยากรณ์โรค : 7 ครั้งเป็น 1 คอร์สการรักษา รักษา 1-2 คอร์สสามารถรักษาหายได้ แต่อัตราการกลับมาเป็นซ้ำอีกค่อนข้างมาก ส่วนในกลุ่มที่เกิดจากกระดูกหัก และพยากรณ์ของโรคไม่ดี


เอกสารประกอบอ้างอิง
การฝังเข็มรักษาโรคตามกลุ่มอาการ โดย ศาสตราจารย์แพทย์จีน เหยี่ยนลี่
แปลและเรียบเรียงโดย แพทย์จีนปณิตา กาสัมสัน , แพทย์จีนปิยะมาศ เมืองใชย , แพทย์จีนสมชาย จิรพินิจวงศ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้