Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 23175 จำนวนผู้เข้าชม |
สารจำเป็น (精 จิง) ชี่ (气) เลือด (血 เซฺวี่ย)
และของเหลวในร่างกาย (津液จินเยี่ย)
มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยเป็นสารประกอบพื้นฐานของร่างกาย ในคัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง《黄帝内经》ได้มีการอธิบายถึงทฤษฎีและหลักการอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแนวคิดทฤษฎีดังกล่าวมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแนวคิดทางปรัชญาและทฤษฎีว่าด้วยเรื่องอวัยวะภายใน (脏腑จั้งฝู่)
สารจำเป็น ชี่ เลือด และของเหลวในร่างกาย
มีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ ร่างกาย และการเปิดทวาร หากการทำงานของอวัยวะภายในปกติ เส้นทางเดินลมปราณ ร่างกาย และการเปิดทวารจึงสามารถผลิตและมีการทำงานของสารจำเป็น ดังนั้นในภาวะปกติการทำงานต้องสัมพันธ์กัน หากในภาวะเกิดโรคสารประกอบพื้นฐานและอวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ ร่างกาย และการเปิดทวารย่อมเกิดผลกระทบกันและกันอย่างแยกกันไม่ออก
สารจำเป็น (精 จิง)
สารจำเป็น หมายถึง สารประกอบชนิดหนึ่งที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของร่างกายและการดำรงชีวิตในที่นี้จะใช้ทับศัพท์ว่า “จิง”
การสร้างสารจำเป็นจิงมีแหล่งกำเนิด 2 แหล่ง ได้แก่
- สารจำเป็นก่อนกำเนิด (先天之精 เซียนเทียนจือจิง) ได้รับการถ่ายทอดจากบิดามารดาเกิดพร้อมกับการกำเนิดชีวิตในครรภ์
- สารจำเป็นหลังกำเนิด (后天之精 โฮ่วเทียนจือจิง) ได้รับจากอาหาร เมื่อรับประทานอาหารร่างกายมีการดูดซึม ม้ามจะเปลี่ยนสารที่ถูกดูดซึมให้เป็นจิงแล้วรวมกับของเหลวในร่างกาย แล้วส่งไปยังอวัยวะภายใน เส้นลมปราณ ร่างกาย และทวารทั้งหลาย
สารจำเป็นนั้นถือเอาสารจำเป็นก่อนกำเนิดเป็นพื้นฐาน มีการสร้างสารจำเป็นหลังกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ต้องมีการเติมเสริมกันสารจำเป็นในร่างกายจึงสมบูรณ์ หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะเกิดภาวะสารจำเป็นพร่อง
การเก็บกักและการขับสารจำเป็น
- การกักเก็บสารจำเป็นจิงนั้นจะถูกแบ่งไปเก็บยังอวัยวะภายในทั้งหลาย แต่แหล่งสำคัญที่สุดสำหรับการกักเก็บจิง คือไต โดยจิงก่อนกำเนิดนั้นเริ่มแรกถูกกักเก็บที่ไตแต่มีการแบ่งบางส่วนไปยังอวัยวะภายในอื่น เพื่อการเจริญเติบในระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา
ส่วนจิงหลังกำเนิดนั้น เกิดจากสารอาหารที่ถูกกระเพาะอาหารและม้ามย่อยอย่างละเอียด ถูกลำเลียงไปยังอวัยวะภายในต่าง ๆ โดยชี่ของม้ามกลายเป็นจิงของอวัยวะภายใน เพื่อการทำงานของอวัยวะภายใน ส่วนจิงที่เหลือใช้นั้นจะถูกลำเลียงไปเก็บไว้ที่ไต จิงก่อนกำเนิดจะถูกเติมเต็มด้วยจิงหลังกำเนิดอยู่เสมอ
การขับสารจำเป็น
การขับสารจำเป็นมี 2 ทาง ได้แก่
- จิงที่ขับไปยังอวัยวะภายในเพื่อหล่อเลี้ยง ขับดัน และควบคุมการทำหน้าที่ของอวัยวะภายในนั้น ๆ
- จิงที่คัดหลั่งเพื่อการขยายพันธุ์ในหญิงและชาย
หน้าที่ของสารจำเป็น
- ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย
การเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย มีความสัมพันธ์กับปริมาณของสารจำเป็นในไต ในวัยเด็กสารจำเป็นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ร่างกายเติบโตมีพัฒนาการตามลำดับ เช่น มีฟันน้ำนม ฟันน้ำนมหลุดล่วง มีฟันแท้แทนที่ เข้าสู่วัยรุ่นสารจำเป็นสมบูรณ์เต็มที่กล้ามเนื้อและกระดูกเติบโตแข็งแกร่ง เมื่อล่วงเข้าวัยกลางคนและวัยชรา สารจำเป็นค่อย ๆ ลดลง ร่างกายค่อยๆ เสื่อมลง กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรง กระดูกบาง ฟันล่วง ผมขาวและล่วงบาง ตามัว หูตึง สารจำเป็นมีบทบาทควบคุมการเจริญเติบโต และพัฒนาการของร่างกาย ถ้าสารจำเป็นพร่องลง จะมีผลกระทบทำให้เด็กเติบโตมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ ผู้ใหญ่จะแก่ก่อนวัย
- ควบคุมพัฒนาการทางเพศและความสามารถในการสืบพันธุ์
สารจำเป็นของไตที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางเพศและความสามารถในการสืบพันธุ์ หลังคลอดและวัยเด็ก สารจำเป็นของไตจะค่อย ๆ สมบูรณ์จนถึงวัยรุ่น สารจำเป็นของไตจะเปลี่ยนเป็นเทียนเกฺว่ย (天癸) ซึ่งจะทำให้พัฒนาการทางเพศถึงจุดสูงสุด อวัยวะเติบโตพัฒนาเต็มที่ ผู้ชายมีการสร้างอสุจิ ผู้หญิงมีประจำเดือน มีความพร้อมในการสืบพันธุ์ เมื่ออายุมากขึ้นผ่านเข้าสู่วัยกลางคนและวัยชรา เทียนเกฺว่ยและความสามารถในการสืบพันธุ์จะค่อย ๆ ลดลงจนหมดไป ดังนั้นสารจำเป็นในไตโดยเฉพาะเทียนเกฺว่ยจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด และมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางเพศและความสามารถในการสืบพันธุ์ ความผิดปกติในการเก็บสะสมสารจำเป็นในไต จึงมีผลทำให้พัฒนาการทางเพศผิดปกติ ความสามารถในการสืบพันธุ์ลดถอย
- สามารถเปลี่ยนเป็นเลือดและลมปราณ
สารจำเป็นสามารถเปลี่ยนเป็นเลือดและลมปราณไปหล่อเลี้ยงอวัยวะและนื้อเยื่อต่าง ๆ ให้ทำงานเป็นปกติ
- ช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค
สารจำเป็นสามารถต่อต้านการรุกรานของโรคจากภายนอก และขจัดสาเหตุของโรค
ชี่ (气ลมปราณ)
ชี่ เป็นสสารที่เล็กที่สุดในร่างกาย มีการเคลื่อนไหวขึ้นบนลงล่างตลอดเวลา ขับดันและควบคุมการทำงานของร่างกาย เมื่อการเคลื่อนไหวของชี่สิ้นสุด ชีวิตก็สิ้นสุดด้วย
การสร้างชี่
ที่มาของชี่ก่อนกำเนิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ร่างกายสร้างชี่โดยอาศัยจิงก่อนกำเนิด กลายเป็นชี่ก่อนกำเนิด ซึ่งเป็นพื้นฐานของชี่ เรียก เจินชี่ (真气) หรือ เหวียนชี่ (原气) หรือ เหวียนชี่ (元气)
ชี่หลังกำเนิด หลังคลอดร่างกายได้รับชี่เพิ่มเติมจากม้ามและกระเพาะอาหารโดยการดูดซึมจากสารอาหารเปลี่ยนเป็นชี่ และจากปอดที่สูดอากาศที่บริสุทธิ์เข้าสู่ร่างกายเปลี่ยนเป็นชี่ ซึ่งชี่ในร่างกายจะแบ่งเป็น ชี่อิน และ ชี่หยาง โดยในชี่อินนั้นมีความหนาวเย็น จุดเด่นคือทำให้สงบ ลด หรือทำให้เจือจาง ส่วนชี่หยางนั้นมีความอุ่นร้อน จุดเด่นคือกระตุ้น ผลักดัน ทั้งชี่อินและหยางในร่างกายจะทำงานสมดุล สนับสนุนหรือควบคุมการทำงานซึ่งกันและกัน เพื่อการดำรงชีวิตอย่างสมดุล
หน้าที่ของชี่
กระตุ้นและควบคุมการทำงานในร่างกาย
ชี่หยางกระตุ้น ขับดัน และส่งเสริม ดังนี้
- ให้ร่างกายเจริญเติบโตและระบบอวัยวะสืบพันธุ์สมบูรณ์
- กระตุ้นและขับดันการทำงานของระบบอวัยวะภายในและลมปราณ
- กระตุ้นและขับดันการสร้างและการลำเลียงจิง เลือด และของเหลวในร่างกาย
ชี่อิน ชะลอ และควบคุมการทำงาน ดังนี้
- ควบคุมและลดการเจริญเติมโตของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ไม่ให้มีการเจริญเติบโตหรือ
การทำงานมากเกินไป
- ควบคุมและช่วยลดการทำงานของระบบอวัยวะภายในไม่ให้ทำงานมากเกินไป
- ควบคุมและลดการสร้างและการลำเลียงของจิง เลือด และของเหลวในร่างกายไม่ให้
มากเกินไป
การทำงานทุก ๆ ด้านของร่างกายต้องอาศัยชี่ ทั้งชี่หยางและชี่อินควรอยู่ในระดับที่พอเหมาะสมดุลกัน เพื่อไม่ให้มีการทำงานที่มากหรือน้อยเกินไป
ควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย
ชี่หยางให้ความร้อนและความอบอุ่นแก่ร่างกาย อวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ และสลายความเย็น ชี่อินให้ความเย็นแก่ร่างกาย อวัยวะภายใน เส้นทางเดินลมปราณ และลดความร้อนในร่างกาย ความร้อนและความเย็นในร่างกายต้องอาศัยชี่ ชี่หยางและอินอยู่ในระดับสมดุล ต่างควบคุมกันและกัน ทำให้สภาพร่างกายอยู่ในระดับความร้อนและความเย็นที่พอเหมาะ ให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติสุข
ปกป้องรักษาร่างกาย
ชี่ปกป้องรักษาร่างกายโดยป้องกันการรุกรานจากสาเหตุและโรคจากภายนอกร่างกายและต่อสู้ขับไล่สาเหตุของโรค ถ้าชี่ในร่างกายลดลงจะทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง ทำให้ป่วยง่าย
เหนี่ยวรั้งและควบคุมการทำงานของร่างกาย
- ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมให้เลือดไหลเวียนอยู่ในหลอดเลือด ถ้าชี่พร่องจะมีอาการเลือดออกง่าย ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำในกระเพาะอาหารและลำไส้ ในกรณีชี่พร่องอาจเกิดปัญหาเหงื่อออกมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาเจียนเป็นน้ำใส ท้องร่วงหรือกลั้นอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น
- ชี่ควบคุมการหลั่งอสุจิ หากชี่พร่องอาจเกิดปัญหาการหลั่งเร็ว ฝันเปียก หลั่งอสุจิโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น
- ชี่เหนี่ยวรั้งและควบคุมต่ำแหน่งอวัยวะภายในไม่ให้หย่อน ถ้าชี่พร่อง อาจเกิดปัญหา
รูทวารหย่อน ไตหย่อน กระเพาะอาหารหย่อน เป็นต้น
ประสานการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
อวัยวะภายในร่างกายแต่ละอวัยวะมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน การจะทำงานประสานกันระหว่างอวัยวะ และการรับรู้ข่าวสารระหว่างอวัยวะต้องอาศัยชี่ที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลง และเข้าออกตลอดเวลาเป็นตัวนำสาร
ควมคุมการสร้างและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุพื้นฐานในร่างกาย
ชี่ควบคุมการย่อยอาหาร ดูดซึมเพื่อนำสารอาหารไปสร้างเป็นวัตถุพื้นฐานของร่างกาย ได้แก่ จิง ชี่ เลือด และของเหลวในร่างกาย เพื่อหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย หากเกิดความผิดปกติจะทำให้กระบวนการสร้างและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุพื้นฐานในร่างกายหยุดชะงัก
การเคลื่อนไหวของชี่
การเคลื่อนไหลของชี่ เรียก ชี่จี (气机) ชี่ในร่างกายมีการไหลเวียนตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานเป็นปกติ การไหลเวียนของชี่มี 4 ทิศทาง ได้แก่ จากล่างขึ้นบน จากบนลงล่าง จากในออกนอก และจากนอกเข้าใน
ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของชี่ มีดังนี้
- ชี่ไหลเวียนผิดปกติ เรียก ชี่จีสือเถียว (气机失调)
- ชี่ติดขัดเฉพาะที่ เรียก ชี่จื้อ (气滞)
- ชี่สวนทางลอยขึ้น หรือ ชี่ย้อนกลับ เรียก ชี่นี่ (气逆)
- ชี่จมลงข้างล่าง เรียก ชี่เซี่ยน (气陷)
- ชี่เคลื่อนออกนอกเกินไป เรียก ชี่ทัว (气脱)
- ชี่เคลื่อนเข้านมากเกินไป เรียก ชี่ปี้ (气闭)
ชนิดของชี่
เหวียนชี่ (元气, 原气) หรือเจินชี่ (真气)
เหวียนชี่เป็นชี่พื้นฐานและสำคัญที่สุดของร่างกาย เป็นพลังแรกเริ่มของร่างกายและชีวิต
การสร้างเหวียนชี่สร้างจากจิงก่อนกำเนิดเป็นสำคัญ แต่หลังคลอดต้องอาศัยจิงหลังกำเนิดที่เกิดจากการย่อยและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหารเติมเต็มเหวียนชี่ ดังนั้นความสมบูรณ์ของเหวียนชี่นอกจากอาศัยจิงก่อนกำเนิดแล้วยังต้องอาศัยความสมบูรณ์ของม้าม กระเพาะอาหาร และโภชนาการด้วย
การไหลเวียน
การไหลเวียนของเหวียนชี่เมื่อสร้างจากจิงก่อนกำเนิดเริ่มที่จุดมิ่งเหมิน (命门) ผ่านซานเจียวไปยังทุกส่วนของร่างกาย
การทำงาน
- กระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย เหวียนชี่กระตุ้นให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตตั้งแต่เกิด เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก็กระตุ้นระบบการสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์ เหวียนชี่จะลดลงเมื่อถึงวัยสูงอายุเป็นผลให้ร่างกายเริ่มเกิดการเสื่อมและอ่อนแอลง
- ควบคุมการทำงานของระบบในร่างกายอยู่ในสมดุล เช่น ควบคุมร่างกายไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
จงชี่ (宗气)
การสร้างจงชี่เกิดจาก 2 แหล่ง ได้แก่
- สร้างจากม้ามและกระเพาะอาหาร จากการย่อยและดูดซึมสารอาหาร
- ได้จากปอดสูดอากาศที่บริสุทธิ์ จากทั้งสองแหล่งรวมเป็นจงชี่
การไหลเวียนของจงชี่
จงชี่เริ่มจากจุดถันจง (膻中) ตรงกลางอก ส่งไปปอดแล้วขึ้นไปลำคอกระตุ้นการหายใจ อีกส่วนไปยังหัวใจและซานเจียวเพื่อส่งไปทั่วร่างกาย โดยไปทางหัวใจจะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดทางซานเจียวจะลงล่างไปยังตันเถียน (丹田) คือ จุดชี่ไห่ (气海:CV6) เสริมเหวียนชี่และจากชี่ไห่ส่งลงขาทางเส้นเท้าเส้าหยางหมิง
การทำงานของจงชี่
- กระตุ้นระบบการหายใจ รวมทั้งการออกเสียง ถ้าจงชี่สมบูรณ์ทำให้การหายใจเต็มอิ่ม ออกเสียงมีพลังก้องกังวาน หากจงชี่อ่อนแอ ทำให้การหายใจแผ่วเบา ออกเสียงออกเบาไร้พลัง
- กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ในโบราณกาลมีการประเมินความสมบูรณ์ของจงชี่โดยดูจากจังหวะการเต้นที่บริเวนซฺวีหลี่ (虚里) ซึ่งอยู่ใต้หัวนมซ้าย
- เสริมเหวียนชี่ เนื่องจากเหวียนชี่เกิดจากจิงก่อนกำเนิดเป็นสำคัญซึ่งมีจำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการเสริมจากจงชี่
อิ๋งชี่ (营气)
อิ๋งชี่เป็นชี่ที่มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งจนไม่สามารถแยกจากกันได้ มักเรียกว่า อิ๋งเซฺวี่ย (营血)
อิ๋งชี่เป็นอิน ขณะที่เว่ย์ชี่เป็นหยาง
การสร้างและการไหลเวียน
อิ๋งชี่สร้างจากจิงหลังกำเนิดซึ่งจากการย่อยและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหาร เมื่อได้อิ๋งชี่แล้วส่งไปยังเส้นเลือดหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย
การทำงานของอิ๋งชี่
- อิ๋งชี่อยู่ในเส้นเลือดสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเลือดได้
- อิ๋งชี่ไหลเวียนไปพร้อมเลือด หล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย
เว่ย์ชี่ (卫气)
การสร้างและการไหลเวียน
เว่ย์ชี่สร้างจากจิงหลังกำเนิดซึ่งจากการย่อยและดูดซึมของม้ามและกระเพาะอาหาร ที่ออกมาอยู่นอกเส้นลมปราณจะกลายเป็นเว่ย์ชี่
การทำงานของเว่ย์ชี่
- เว่ย์ชี่ป้องกันการรุกรานของสาเหตุภายนอกที่มากระทบร่างกาย ช่วยขับไล่สาเหตุของโรค ถ้าเว่ย์ชี่พร่องจะทำให้เจ็บป่วยจากสาเหตุภายนอกได้ง่าย
- เว่ย์ชี่สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย ไม่ให้ถูกกระทบจากความหนาวเย็น
- เว่ย์ชี่ช่วยควบคุมการเปิดปิดรูเหงื่อ เพื่อรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย และรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
เลือด (血 เซฺวี่ย)
เลือด เป็นของเหลวสีแดงที่อยู่ในหลอดเลือด ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ
การสร้างเลือด
เลือดสร้างมาจาก
- สารจำเป็นหลังกำเนิด (后天之精 โฮ่วเทียนจือจิง)
ม้ามและกระเพาะอาหารจะย่อยและดูดซึมอาหาร ซึ่งส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นอิ๋งชี่ (营气)
และของเหลวในร่างกาย (津液) และส่งไปยังเส้นเลือด ซึ่งทั้งอิ๋งชี่และของเหลวในร่างกายถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเลือด
- สารจำเป็นจากไต
เลือดจึงเกิดจากอิ๋งชี่ ของเหลวในร่างกาย และสารจำเป็นจากไต นอกจากนั้นอวัยวะภายในอื่นล้วนมีบทบาทต่อการสร้างเลือดทั้งสิ้น
- ม้ามและกระเพาะอาหาร ย่อยและดูดซึมสารอาหารเพื่อสร้างอิ๋งชี่และของเหลวในร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของเลือด
- หัวใจและปอด สารจำเป็นหลังกำเนิดสร้างอิ๋งชี่และของเหลวในร่างกาย จากนั้นส่งขึ้นไปปอดและหัวใจ รวมกับอากาศบริสุทธิ์ที่สูดจากปอด ชี่จากหัวใจจะเปลี่ยนเป็นเลือดสีแดง
- ไตสะสมสารจำเป็น สารจำเป็นจากไตเป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด
การไหลเวียนของเลือด
เส้นเลือดเป็นอวัยวะสำคัญของการไหลเวียนของเลือด ซึ่งต่อออกจากหัวใจแล้วแตกแขนงกระจายไปทั่วร่างกาย
- หัวใจ เป็นจ้าวแห่งเลือด จะสูบฉีดเลือดมาที่ปอด
- ปอด เป็นเจ้าแห่งชี่ จะแผ่กระจายช่วยพาเลือดให้ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย
- ตับ สะสมรักษาสมดุลของเลือด และช่วยควบคุมให้เลือดไหลเวียนอย่างราบรื่น
- ชี่ของม้าม ควบคุมให้เลือดไหลเวียนอยู่ภายในเส้นเลือด
ถ้าแรงขับดันจากหัวใจ ปอด และตับไม่เพียงพอ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก เกิดเลือดคั่งได้ ถ้าม้ามอ่อนแออาจทำให้มีอาการเลือดออกง่าย
การทำงานของเลือด
- เลือดอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย การลำเลียงของเลือดไปด้านใน ได้แก่ อวัยวะภายใน
- ด้านนอก ได้แก่ ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และกระดูกเส้นเอ็น จะช่วยหล่อเลี้ยงและให้ความชุ่มชื้นทั่วร่างกายอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างปกติ
- เลือดเกี่ยวกับจิตใจ เลือดเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานของจิตใจ ถ้าเลือดเพียงพอจะทำให้จิตใจแจ่มใส ถ้าเลือดที่หัวใจและตับพร่อง จะทำให้มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ ฝัน ความจำเสื่อม หงุดหงิด กระวนกระวาย หมดสติ
ของเหลวในร่างกาย (津液 จินเยี่ย)
ของเหลวในร่างกาย คือ ของเหลวทั้งหมดที่มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติ มีความสำคัญต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของเหลวในร่างกายแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
- จิน (津) เป็นของเหลวใสไหลไปมา เป็นหยาง ทำหน้าที่แทรกซึมหล่อเลี้ยงผิวหนัง กล้ามเนื้อ ช่องเปิดต่าง ๆ
- เยี่ย (液) เป็นของเหลวเหนียวข้น เป็นอิน ทำหน้าที่หล่อลื่นข้อต่อ ไขกระดูก สมอง อวัยวะภายใน
จินและเยี่ย สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นซึ่งกันและกันได้ ถ้าจินลดลงจะทำให้เยี่ยลดลงด้วย ถ้าเยี่ยลดลงก็จะทำให้จินลดลงได้ สมดุลของของเหลวในร่างกาย เกิดจากการทำงานร่วมกันของม้าม ปอด และไต ความผิดปกติของอวัยวะเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการสร้าง การไหลเวียน และการขับถ่ายของเหลว อาจทำให้ของเหลวสร้างไม่เพียงพอ การไหลเวียนติดขัด มีน้ำคั่ง
การสร้างของเหลวในร่างกาย
ของเหลวในร่างกายสร้างจากอาหารและน้ำที่ถูกดูดซึมจากกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ การทำงานของม้าม กระเพาะอาหาร และลำไส้ จึงมีผลต่อการสร้างของเหลวในร่างกาย
หน้าที่ของของเหลวในร่างกาย
- ให้ความชุ่มชื้นแก่อวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย
- เป็นส่วนประกอบของเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวก ทำให้เลือดไม่ข้น และมีปริมาณ คงที่ ช่วยปรับสมดุลของร่างกายให้อุณหภูมิคงที่ ช่วยขับของเสียออกนอกร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ
- การไหลเวียนของของเหลวในร่างกาย
การไหลเวียนและขับถ่ายของเหลวในร่างกาย ขึ้นกับการทำงานของม้าม ปอด และไต โดยม้ามจะควบคุมการดูดซึมน้ำจากทางเดินอาหารส่งขึ้นไปที่ปอด ชี่ของปอดแผ่กระจายช่วยพาน้ำไปหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขับน้ำส่วนเกินออกทางลมหายใจและเหงื่อ ชี่ของปอดยังไหลเวียนลงส่วนล่าง พาน้ำส่วนเกินไหลเวียนไปที่ไต ไตช่วยควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย โดยน้ำที่ใช้แล้วถูกส่งมาที่ไต ไตแยกน้ำที่ยังมีประโยชน์ส่งกลับไปที่ปอด เพื่อไหลเวียนหล่อเลี้ยงร่างกายอีกครั้งหนึ่ง ส่วนน้ำเสียที่ไม่มีประโยชน์ถูกส่งมาเก็บที่กระเพาะปัสสาวะ และขับออกมาเป็นปัสสาวะ
ความสัมพันธ์ระหว่างสารจำเป็น ชี่ เลือด และของเหลวในร่างกาย
ความสัมพันธ์ระหว่างชี่กับเลือด
ผลของชี่ต่อเลือด
- สร้างเลือด
- ขับดันให้เลือดไหลเวียน
- เหนี่ยวรั้งไม่ให้เลือดไหลออกนอกหลอดเลือด
ผลของเลือดต่อชี่
- เป็นทางลำเลียงให้ชี่ไปที่ต่าง ๆ ได้
- หล่อเลี้ยงอวัยวะภายใน ถ้าไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยง อวัยวะภายในก็จะทำงานไม่ได้ ทำให้
ไม่เกิดชี่
ความสัมพันธ์ระหว่างชี่กับของเหลวในร่างกาย
- ชี่สร้างของเหลวในร่างกาย
- ชี่ขับดันของเหลวในร่างกาย ชี่ของม้ามจะแปรสภาพอาหาร และลำเลียงน้ำไปปอด ชี่ของไตแปรสภาพน้ำเป็นไอส่งไปที่ปอดและชี่ของปอดกระจายน้ำไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ
ชี่เหนี่ยวรั้งของเหลวในร่างกาย
ของเหลวในร่างกายเป็นทางลำเลียงชี่
ความสัมพันธ์ระหว่างเลือดกับของเหลวในร่างกาย
- มีแหล่งกำเนิดจากม้ามเหมือนกัน
- ของเหลวในร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของเลือด เพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ
สามารถซึมกลับมาอยู่ในเส้นเลือด การสูญเสียเลือดและของเหลวในร่างกายจะมีผลกระทบซึ่งกันและกัน
สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
LINE@ : @huachiewtcm
อ้างอิงข้อมูล : Basic Traditional Chinese Medinine
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-974-16-0792-1
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน ห้ามมิให้คัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
注意 :这份文件的版权和知识产权属于华侨中医院,仅对外宣传和传播科普知识所用。禁止擅自用于任何形式的商业谋利。
Attention : The copyright and intellectual assets are belonged to the Hua Chiew (TCM) Clinic for public knowledge only. It is prohibit to copy for commercial purposes in all cases without permission.
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567