Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 24759 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดจากโรคมะเร็ง (Cancer Pain) เป็นอาการที่มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคมะเร็ง สามารถพบในระยะใดก็ได้ รวมทั้งก่อนการวินิจฉัย หรือ ระหว่างการรักษาตลอดจนในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมะเร็งที่มาพบแพทย์ครั้งแรกด้วยอาการปวดมี 25% อัตราการพบว่ามีอาการปวดจากมะเร็งในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายมีมากถึง 60-80% ถ้าอาการหนักอาจทำให้ส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ความเจ็บปวดมีหลายระดับ ผู้ป่วยร้อยละ 60 มีความปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง และร้อยละ 30 ในจำนวนนี้ต้องทุกข์ทรมานจากความปวดโดยที่ไม่ได้รับยาบรรเทาปวดเลย
สาเหตุของอาการปวดของผู้ป่วยมะเร็ง
1. ปวดจากก้อนมะเร็ง เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 70% โดยเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งขยายตัวไปเบียดหรือกดทับเส้นเลือด เส้นประสาท เนื้อเยื่อในบริเวณนั้น หรืออวัยวะข้างเคียง หรือจากก้อนที่ลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก สมอง ปอด ตับ เป็นต้น ซึ่งเซลล์มะเร็งโดยปกติแล้วยังมีการหลั่งสารบางชนิดไปทำลายรีเซบเตอร์การรับความรู้สึก จึงทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นมาได้เช่นกัน
2. ปวดจากการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่มีอาการปวดที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาหรือการตรวจวินิจฉัยประมาณ 20% เช่นผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายแสง หรือการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
3. ปวดจากสาเหตุอื่นๆ อาจพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งบางราย ประมาณ 10% เกิดจากโรคทั่วไปหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับโรคมะเร็ง
อาการแสดงมีลักษณะดังนี้
1. อาการปวดรุนแรงและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงคุณภาพชีวิตและจิตใจ
2. มักปวดมากในช่วงเย็นหรือกลางคืน จนกระทบการนอนหลับ
สิ่งสำคัญที่แพทย์จีนจะซักถามข้อมูลผู้ป่วยเพื่อใช้ในการประเมินระดับความเจ็บปวด
1. ระดับความปวดมากเท่าไร (0-10)
2. ลักษณะอาการปวดเป็นแบบไหน (ปวดตื้อๆ /แน่นๆ/ ปวดเหมือนโดนของแหลมแทง / ปวดชา / ปวดแสบร้อน)
3. อาการปวดเป็นช่วงเวลาใด
4. สามารถบรรเทาลงหรือเป็นรุนแรงขึ้นเมื่อใด และวิธีไหน
5. สาเหตุอื่นที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด
การรักษาอาการปวดจากมะเร็งด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
โดยทั่วไปแนวทางในการรักษาอาการปวดจากมะเร็งทางแผนปัจจุบัน จะใช้หลักการจัดการอาการปวดแบบขั้นบันไดตาม WHO โดยระดับความเจ็บปวดที่ต่างกันก็จะมีวิธีหรือเลือกใช้กลุ่มยาระงับที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม
ส่วนในทางแพทย์แผนจีนอาการปวดจากมะเร็งจัดอยู่ในขอบเขตของโรค “痹证ปี้เจิ้ง” ซึ่งมีบันทึกวิธีการรักษามาตั้งแต่สมัยโบราณใน “คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง” “ซางหานจ๋าปิ้งลุ่น” และคัมภีร์แพทย์จีนอื่นๆ ในทางแพทย์แผนจีนมองว่า เกิดจากการได้รับปัจจัยเสียภายนอก คือความเย็นเข้ามากระทบ ทำให้เลือดและชี่ติดขัด เกิดเสมหะสกปรกสะสมอุดกั้น พิษร้อนสะสมภายใน เป็นผลให้เส้นลมปราณต่างๆถูกสกัดกั้นแล้วทำให้เกิดอาการปวด หรือเจ็บป่วยมานานทำให้เจิ้งชี่หรือภูมิพื้นฐานไม่แข็งแรงพอ เลือดและชี่ไม่เพียงพอ ทำให้อวัยวะและร่างกายส่วนต่างๆขาดการหล่อเลี้ยงแล้วทำให้เกิดอาการปวด
ดังนั้น ในการรักษาก็จะขึ้นกับปัจจัยการเกิด ถ้าหากแกร่ง ใช้วิธี “ระบาย” หรือขจัดปัจจัยเสียออกไป หากพร่อง ให้ใช้วิธี “บำรุง”เป็นสำคัญ
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. ภาวะ / กลุ่มอาการชี่ติดขัด ชี่ตับคั่งค้าง
Qi stagnation or Liver qi depression pattern / syndrome
(肝气郁结证Gān qì yù jié zhèng) ; (气滞证 Qì zhì zhèng)
มักมีอาการปวดแน่นบริเวณที่เป็น อาการปวดสัมพันธ์กับอารมณ์ เสียดสีข้าง ชอบถอนหายใจ ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ สีลิ้นคล้ำฝ้าลิ้นขาวบาง ชีพจรตึง
2. ภาวะ / กลุ่มอาการเลือดคั่งอุดกั้น
Blood stasis pattern / syndrome (血瘀证Xuè yū zhèng )
มักมีอาการปวดเหมือนมีของแหลมทิ่มแทง ปวดทรมาน ปวดอยู่ตำแหน่งเดิม ไม่ชอบให้กด ตอนกลางคืนจะปวดมาก ตามผิวหนังอาจพบจ้ำเลือด และอาจมีภาวะเลือดออกตามที่ต่างๆ ลิ้นสีม่วงคล้ำ ชีพจรสะดุด
3. ภาวะ/กลุ่มอาการเสมหะจากความชื้น
Phlegm-dampness pattern / syndrome (痰湿证Tán shī zhèng)
มักมีอาการปวดคล้ายมีดกรีด รู้สึกตัวหนักๆ มีเสมหะน้ำลายเยอะ ไม่อยากอาหาร แน่นหน้าอก ขับถ่ายไม่สุด ฝ้าลิ้นหนาเหนียว ชีพจรลื่น
4. ภาวะ / กลุ่มอาการพิษอักเสบจากร้อน หรือพิษอักเสบจากไฟร้อน
Heat toxin or Fire toxin pattern / syndrome
(热毒证Rè dú zhèng) ; (火毒证Huǒ dú zhèng)
มักมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณก้อน ร่วมกับมีไข้ ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้า คอแห้ง ท้องผูก สีลิ้นแดงฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเร็ว
5. ภาวะ / กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง
Pattern / syndrome of dual deficiency of qi and blood
(气血两虚证Qì xuè liǎng xū zhèng)
มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นมานาน หรือผู้ป่วยหลังผ่าตัด หรือเคมีบำบัด เป็นต้น โดยมักจะมีอาการปวดรำคาญ เหนื่อยอ่อนเพลีย รูปร่างผอม หน้าซีด สีลิ้นซีดคล้ำ ฝ้าลิ้นบางหรือไม่มี ชีพจรเล็กและอ่อนแรง
ตัวอย่างกรณีศึกษา
การรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการปวด
ที่มารักษาที่คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ข้อมูลทั่วไป : ชื่อ นางณXXX XXXX เพศหญิง อายุ 52 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย HN 270XXX
วันที่มาเข้ารับการรักษาครั้งแรก : วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
อาการสำคัญ : ปวดตามตัวมาเป็นเวลานาน 2 เดือน
ประวัติอาการ : ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันเมื่อปี 2554 โดยทำการผ่าตัดเต้านมข้างซ้าย+ต่อมน้ำเหลืองบางส่วน จากนั้นได้ทำการฉายแสงรักษาและทำเคมีบัดจนจบคอร์ส และทานยาฮอร์โมนรักษาต่อเนื่องจนปัจจุบัน แต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดตามตัวเป็นมากขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยาแก้ปวดใดๆเลย ล่าสุดที่ตรวจค่า CA153 : 782.2 î ซึ่งผู้ป่วยเนื่องจากร่างกายอ่อนแอมาก ปวดจนไม่สามารถเดินได้จึงปฏิเสธการตรวจเพิ่มเติมและการรักษากับทางแผนปัจจุบัน จึงมาขอรับการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
อาการที่มาในปัจจุบัน : ผู้ป่วยนั่งรถเข็นเนื่องจากอาการปวดทำให้ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ เดินไม่มั่นคง มีอาการปวดไปทั้งตัว โดยเฉพาะขาจะปวดมาก จะปวดมากตอนเก้าโมงเช้าของทุกวัน (NAS 9-10) ไม่มีอาการชา ขี้หนาว ใจสั่น ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร นอนหลับได้ไม่ค่อยดี ปัสสาวะกลางคืนบ่อยครั้ง ขับถ่ายวันเว้นวัน
ประวัติในอดีต : ติดเชื้อ HIV
ตรวจร่างกาย : ความดันโลหิต 117/74mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 127 ครั้ง/นาที อุณหภูมิ 36°C น้ำหนัก 49.3 kg
ผู้ป่วยพื้นฐานรูปร่างผอม สีหน้าและเปลือกตาซีด ใบหน้าหมองเศร้าปวดทรมาน สีลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กเร็ว
การวินิจฉัย : โรคปี้ปิ้ง (痹病 Bì bìng) Impediment disease (หรือ อาการปวดจากมะเร็ง 癌痛) และมีภาวะ / กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง
วิธีการรักษา : ใช้วิธีการบำรุงชี่และเลือด โดยเลือกใช้ตำรับยาหลักคือ ปาเจินทังเพิ่มลดตัวยาโดยให้ผู้ป่วยทานเป็นยาต้ม รับประทานยาเช้า-เย็น หลังอาหาร ร่วมกับใช้แผ่นแปะสมุนไพรจีนบรรเทาอาการปวด
ผลการรักษา :
ครั้งที่ 2 (วันที่ 5 มิถุนายน 2560)
- อาการปวดตามตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยไม่ต้องใช้รถเข็น สามารถเดินได้ปกติ
- ระดับความปวดลดลง (NAS 3) ใบหน้าผู้ป่วยดูมีสีสันขึ้นชัดเจนไม่อมเศร้า
- อาการปวดเหลือเพียงขาข้างซ้ายเป็นหลัก
- อาการปวดศรีษะ ใจสั่น และมีไข้หายไป ทานอาหารได้มากขึ้น นอนหลับดีขึ้น
- ยังมีอาการเหนื่อยง่วงอยากนอนและเวียนศรีษะบ้าง
- ปัสสาวะกลางคืนลดลงเหลือ 1 ครั้ง ขับถ่ายปกติ
- ลักษณะลิ้นซีดฝ้าขางบาง ชีพจรเล็กเร็ว
ครั้งที่ 3 (วันที่ 19 มิถุนายน 2560)
- อาการปวดตามตัวลดลงต่อเนื่อง สามารถเดินได้แต่เดินเยอะยังรู้สึกเหนื่อยง่าย
- ยังมีอาการง่วงอยากนอนและเวียนศรีษะบ้าง มีไข้ 1 วัน 38.2°C
- ยังทานอาหารได้ไม่เยอะ นอนหลับได้ ขับถ่ายปกติ
- ลักษณะลิ้นซีดฝ้าขางบาง ชีพจรเล็กเร็ว
ครั้งที่ 4 (วันที่ 3 กรกฎาคม 2560)
- อาการปวดตามตัวหายไป สามารถเดินไปเป็นปกติ
- ยังมีอาการเหนื่อยง่าย ง่วงอยากนอน มีไข้ต่ำๆบางวัน
- ทานอาหารได้ นอนหลับได้ ปัสสาวะกลางคืน 1 ครั้ง ขับถ่ายปกติ
- ลักษณะลิ้นซีดฝ้าขางบาง ชีพจรเล็กเร็ว
สรุปผลการรักษา : จากเคสกรณีศึกษาข้างต้นเห็นได้ว่าการรักษาด้วยยาสมุนไพรจีนตำรับ สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยมะเร็งได้และดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอีกด้วย
วิเคราะห์ผลการรักษา
ผู้ป่วยมะเร็งรายนี้มีอาการปวดระดับรุนแรง แต่ปฏิเสธการตรวจวินิจฉัยและการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่สามารถบอกได้ว่ามีการกระจายของมะเร็งไปที่กระดูกหรือไม่ อีกทั้งไม่ได้ใช้ยาบรรเทาอาการปวดชนิดใด และด้วยระดับสารบ่งชี้มะเร็ง CA153ที่สูงขึ้นก็อาจเป็นไปได้ว่ามีการกระจายหรือการกลับมาของมะเร็ง
แต่ถ้าดูจากสภาพร่างกายโดยรวมแล้ว ประกอบกับประวัติอาการแล้วเบื้องต้นอาการปวดที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นผลมาจากการรักษาทั้งผ่าตัด เคมีบำบัดและฉายแสง จนทำให้สภาพร่างกายอ่อนแอ ใบหน้าซีด สีลิ้นซีด ร่วมกับมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ใจสั่น นอนไม่หลับ เป็นต้น
ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่าเกิดจากเจิ้งชี่หรือภูมิพื้นฐานไม่แข็งแรงพอ เลือดและชี่ไม่เพียงพอ ทำให้อวัยวะและร่างกายส่วนต่างๆขาดการหล่อเลี้ยงแล้วทำให้เกิดอาการปวดตามตัวขึ้นมา หลังจากการใช้ยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำรุงชี่และเลือด เพิ่มการหมุนเวียนเลือดลดบรรเทาอาการปวด ร่วมกับยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง จึงสามารถทำให้อาการปวดของผู้ป่วยค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ
แต่ทั้งนี้การรักษาจะถูกต้องและแม่นยำถ้าหากว่าผู้ป่วยเข้ารับการตรวจร่างกายด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน และสามารถรับการรักษาแบบผสมผสานร่วมกันทั้งแผนจีนและแผนปัจจุบันจะทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หนังสืออ้างอิง
CHENG Yao, XI Sheng-yan, WANG Yan-hui,etc. Recognition of traditional Chinese medicine on cancer pain and a corresponding analysis for its medication regularity. Chinese Journal of Traditional Chinese Medicine (CJTCMP), 2015. 30(11) : 3960-3964.
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567