ฝังเข็มรักษาอาการปวดประจำเดือน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  23108 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฝังเข็มรักษาอาการปวดประจำเดือน

การฝังเข็มรักษาอาการปวดประจำเดือน
ไม่ว่าก่อน - หลังรอบเดือน หรือระหว่างมีรอบเดือน หากว่าคุณมีอาการปวดท้องน้อย หรือปวดลามไปถึงบั้นเอว หากเป็นมากถึงขั้นเป็นลม  หรือมีอาการอื่นๆที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตหรือการทำงานแล้ว จัดว่าอยู่ในกลุ่มอาการปวดประจำเดือน



- ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายสภาพ เรียกว่า การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ หรือ Functional dysmenorrhea (มักพบในเพศหญิงที่ยังไม่แต่งงาน) 

- มีการเปลี่ยนแปลงทางกายสภาพ (เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ , อุ้งเชิงกรานอักเสบ , ปากมดลูกแคบ หรือตีบตัน)


การปวดท้องประจำเดือนแบบปฐมภูมิ
ในทางหลักการแพทย์แผนจีนให้ชื่อเรียกว่า “ปวดท้องขณะประจำเดือนมา” เชื่อว่าการเกิดโรคนั้นแบ่งเป็นแกร่งกับพร่อง อาการพร่องมักเกิดจากชี่และเลือดของตับไตพร่อง , อาการแกร่งมักเกิดจากชี่อุดกั้นรวมถึงมีความเย็น ความร้อนหรือชื้นมาคุกคาม ที่พบมากคืออาการแกร่งและพร่องปะปน มักเกิดจาก ตับอุดกั้นเลือดพร่อง หรือตับอุดกั้นไตพร่อง เป็นต้น



อาการหลัก

ปวดท้องน้อย มักกำเริบก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน เมื่อประจำเดือนมาวันแรก มีอาการปวดเกร็งเป็นพักๆ หรือบางรายมีอาการปวดแน่นอืด ปวดหน่วง หากเป็นมากมีอาการปวดลามไปถึงบริเวณบั้นเอว รูทวาร ช่องคลอดถึงต้นขาด้านใน ในรายที่อาการไม่รุนแรง อาการปวดค่อยๆทุเลาลงภายในไม่กี่ชั่วโมง ส่วนในรายที่อาการรุนแรง ปวดนาน 12 ชม. หรือบรรเทาหลังการรักษา อาการปวดถึงจะทุเลาลง ในรายที่เป็นมากจะหน้าซีดขาว มีเหงื่อออก แขน-ขาเย็น

ในขณะที่ปวดท้องอย่างรุนแรงนั้น มีอาการร่วม คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืดหรือปวดเกร็งเป็นต้น อาการต่างๆนั้นเป็นต่อเนื่องหลายชั่วโมง เมื่ออาการปวดท้องดีขึ้นอาการร่วมจะค่อยๆทุเลาลงถึงหายไป

ผู้ป่วยส่วนน้อยบางรายมีอาการปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะมากแทบอั้นไม่ได้  ในบางรายก่อนประจำเดือนมามีอาการวิตกกังวล หวาดกลัว อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดโมโหง่าย เป็นต้น

การตรวจทางนรีเวช
ผลตรวจอุ้งเชิงกรานหากมีสภาพปกติจัดเป็นปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ  หากในอุ้งเชิงกรานมีพังผืด (Pelvic adhesion) , ก้อน(Pelvic mass) , ปุ่มเล็กๆ (Pelvic nodule) , หนาตัวขึ้นอาจเนื่องจากอุ้งเชิงกรานติดเชื้อ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือเนื้องอกมดลูก

การตรวจเพิ่มเติม
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasounography),การส่องกล้องผ่านหน้าท้อง (Laparoscopy), การฉีดสีดูท่อนำไข่ (HSG) , การส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เพื่อประกอบการวินิจฉัยสาเหตุของการปวดประจำเดือน

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
"ความร้อนชื้นอุดกั้น"
ก่อนมีประจำเดือนหรือขณะมีประจำเดือนปวดแน่นท้องน้อย ไม่ชอบกด รู้สึกตัวร้อนๆ กลัวร้อนชอบความเย็น หรือมีอาการปวดแน่นที่บั้นเอว ประจำเดือนสีแดงคล้ำ ลักษณะเหนียวข้นหรือมีมูกปนออกมา มักมีตกขาวเหนียวข้นสีเหลืองปริมาณมาก หรือมีไข้ต่ำๆ ลิ้นแดงฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเร็วหรือลื่นเร็ว (เสียนซู่หรือหวาซู่)

"ชี่และเลือดพร่อง"
ขณะมีประจำเดือน หรือหลังมีประจำเดือนปวดท้องน้อยตลอดให้รำคาญ หรือปวดหน่วงท้องน้อยร้าวมาถึงอวัยวะเพศ ประจำเดือนมาน้อยสีแดงจางๆ ใสเหมือนน้ำ เวลาปวดท้องชอบความร้อน ชอบกด เมื่อกดรู้สึกสบาย หรือมีอาการเวียนศีรษะ ตาลาย รู้สึกเฉื่อยชา สีหน้าไม่สดใส ใจสั่น อ่อนเพลีย ลิ้นซีด ชีพจรเล็กอ่อนแรง (ซี่ยั่ว)

ตับและไตพร่อง
หลังจากมีประจำเดือน1-2วัน มีอาการปวดไม่สบายบริเวณท้องน้อย ปวดเมื่อยบั้นเอว ประจำเดือนมาน้อยลักษณะคล้ำจางๆใสหรือมีอาการเวียนศีรษะหูอื้อ ขี้ลืม นอนไม่หลับ มีไข้ต่ำๆ ลิ้นซีดแดง ชีพจรจมหรือเล็ก (เฉินหรือซี่)

การรักษาด้วยการฝังเข็ม
หลักการรักษา ปรับสมดุลเส้นลมปราณชงเริ่น , กระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง , อุ่นมดลูกบำรุงไต ใช้หลักการกระตุ้นเข็มแบบกึ่งบำรุงกึ่งระบาย ในกลุ่มที่มีอาการคั่งและติดขัด ใช้เข็มดอกเหมยเคาะให้เลือดออก , หากอาการเย็นพร่อง ใช้วิธีการรมยา  กรณีผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อยบั้นเอวหรือปวดหน่วงๆ หลังจากฝังเข็มแพทย์จีนจะทำการครอบแก้วรักษาร่วมด้วย

กรณีประจำเดือนมีลิ่มเลือดมาก เมื่อลิ่มเลือดหลุดออกมาอาการปวดทุเลาลง แพทย์จีนจะใช้เข็มดอกเหมย เคาะที่จุดเหอกู่ ไท่ชง ให้เลือดออก จุดละ 3-5 หยด

ข้อมูลเพิ่มเติม
รักษาทุกวันๆละ 1 ครั้ง ผู้ที่อาการหนักทำการรักษาทุกวันๆละ 2 ครั้ง คาเข็มไว้ 20 - 30 นาที ระหว่างคาเข็มจะกระตุ้นเข็ม 2-3ครั้ง จุดหลักใช้การกระตุ้นกึ่งบำรุงกึ่งระบาย ส่วนจุดเสริมหลักการกระตุ้น คาเข็ม จำนวนการกระตุ้นเหมือนกันกับจุดหลัก

ในรายที่รอบเดือนมาตรงเวลา ก่อนประจำเดือนมา 1 สัปดาห์ให้เริ่มการรักษา  ในรายที่รอบเดือนไม่ตรง ไม่จำเป็นต้องรักษาก่อน 1 สัปดาห์

การฝังเข็มเพื่อรักษาอาการปวดประจำเดือน โดยเฉพาะชนิดปฐมภูมิให้ผลการรักษาที่ดี โดยทั่วไปอาการจะหายดีเมื่อรักษาไปแล้ว 2-4 คอร์ส

การรักษาอาการปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมินั้น ยึดตามพื้นฐานของการรักษาชนิดปฐมภูมิเป็นหลัก

เพื่อให้ประสิทธิภาพในการรักษาได้ผลดี ควรทำการรักษาทุกครั้ง ก่อนมีประจำเดือน 3-5 วันจนถึงวันที่หมดประจำเดือน

ข้อแนะนำ
ช่วงมีประจำเดือน ควรงดทานอาหารฤทธิ์เย็น รวมถึงอาหารรสเผ็ด

อ่านข้อมูลประกอบการรักษาเพิ่มเติม

ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ? 
ฝังเข็มเจ็บไหม ? อันตรายหรือไม่ ?
โรคที่รักษาด้วยการฝังเข็มได้ผลค่อนข้างดี
การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture

การรักษาด้วยการครอบแก้ว (Cupping Therapy)
รายชื่อแพทย์จีนแผนกฝังเข็ม

การรักษาด้วยยาจีน
กินยาจีนอย่างไรให้ได้ผลดี


สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม 

LINE@ : @huachiewtcm

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : โดย ศาสตราจารย์ แพทย์จีน Cai Ding Jun
แปลโดย แพทย์จีน รติกร  อุดมไพบูลย์วงศ์ (แผนกฝังเข็ม)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้