หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  34266 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เกิดขึ้นจากเยื่อหุ้มชั้นนอกของหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณสันหลังได้รับแรงกดหรือแรงกระแทก ทำให้เนื้อเยื่อชั้นนอกค่อยๆถูกทำลายหรือฉีกขาด เนื้อในที่อยู่ในหมอนรองกระดูกถูกดันออกมา และไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลังของหมอนรองกระดูก พบได้บ่อยในกระดูกสันหลังส่วนเอว โดยเฉพาะกระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ 4 - 5

สาเหตุการเกิดโรค

- การอยู่ในอิริยาบทที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน

- การยกของหนักซ้ำๆ

- น้ำหนักตัวที่มากเกินไป

- มีประวัติอุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลัง



อาการของโรค
อาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมีอาการได้ทั้งส่วนหลังและส่วนขา ดังนี้

- อาการที่หลัง คือ ปวดหลังบริเวณเอวส่วนล่างและกระเบนเหน็บ อาจมีอาการเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มักมีอาการเมื่ออยู่ในท่านั่งหรือนั่งงอตัวไปทางด้านหน้า



- อาการที่ขา มีได้ทั้งอาการปวด ชา หรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อ โดยร้าวไปที่บริเวณข้อสะโพก ลงไปด้านข้างหรือด้านหลังของต้นขา ด้านข้างของน่อง ลงไปถึงข้อเท้า บางครั้งอาจลามไปถึงส้นเท้า



- เมื่อมีการเคลื่อนไหวหลังหรือจาม ไอ อาการจะเป็นมากขึ้น และเมื่อได้พักอาการจะลดลง

-  หากอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวันได้ นอกจากนี้อาจทำให้ระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติได้ เช่น กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่ หรือปัสสาวะลำบาก นอกจากนี้อาจมีอาการชาที่บริเวณรอบทวารหนักได้อีกด้วย



การตรวจวินิจฉัยร่างกาย

- พบอาการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังข้างที่มีอาการปวดและมีจุดกดเจ็บ

- Gait ท่าเดินของผู้ป่วยจะเดินลงน้ำหนักไปทางด้านตรงข้ามกับด้านที่ปวด

- Straight leg raising test (SLRT) ให้ผลบวก

- นอกจากนี้ การตรวจโดย MRI ยังสามารถช่วยในการวินิจฉัยและระบุตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกผิดปกติได้ชัดเจนและแน่นอน


การแยกแยะโรค


- ปวดหลังจากกล้ามเนื้ออักเสบหรือฉีกขาด มีจุดปวดที่ชัดเจนและเฉพาะที่ โดยสามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน จะปวดมากขึ้นเมื่อกดบริเวณที่ปวด มีอาการเคลื่อนไหวไม่สะดวกร่วมด้วย

- โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing spondylitis) มีอาการปวดหลังช่วงล่างและสะโพก ร่วมกับอาการหลังตึงหรือรู้สึกยึดติดบริเวณหลัง

- นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ มีอาการรุนแรงเป็นช่วงๆ จะรู้สึกปวดแบบตื้อๆ หรือปวดบิดที่บริเวณเอว บางครั้งอาจปวดร้าวมาที่ช่องท้องด้านล่าง และต้นขาด้านใน ปัสสาวะมีเลือดปน หรือปัสสาวะติดขัด


ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนโรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทจัดอยู่ในกลุ่มของโรค 腰痛 หรือ 痹症 

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค

เกิดได้จากลมภายนอก ความเย็น ความชื้น หรือการบาดเจ็บฟกช้ำ หรือชี่ของไตพร่อง ทำให้ชี่และเลือดอุดตันในเส้นลมปราณ ชี่และเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้ เมื่อเกิดการติดขัดของชี่และเลือดทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและชา ( 不通则痛 )

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ

1. สาเหตุจากลม ความเย็น และความชื้นกระทบ บริเวณเอวและกระเบนเหน็บจะมีอาการปวดแบบเมื่อยตึง รู้สึกหนักๆ เย็นๆ หรือเกร็ง ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก เมื่อเจอความเย็นและความชื้นกระทบจะเกิดอาการปวดมากขึ้น ลิ้นฝ้าขาวเและเหนียว ชีพจรตึง

2. ชี่และเลือดคั่ง มักมีประวัติได้รับบาดเจ็บบริเวณเอว มีอาการปวดเฉพาะที่ และปวดเหมือนถูกเข็มทิ่มแทง อาการมักจะเป็นมากขึ้นเมื่อนั่งเป็นเวลานาน ทำงานหนัก หรือมีการเคลื่อนไหวเอวหรือหลัง ลิ้นม่วงคล้ำ ชีพจรตึงและฝืด

3. ชี่ของไตพร่อง อาการจะดำเนินไปในลักษณะช้าๆ ตรงบริเวณกระเบนเหน็บจะปวดเมื่อยแต่ไม่รุนแรง หลังทำงานอาการปวดจะมากขึ้น ประกอบกับมีอาการเอวและขาอ่อนแรง สีหน้าซีด ลิ้นสีซีด ชีพจรเล็กและจม

การรักษาทางการแพทย์แผนจีน

หลักในการรักษา คือ ทะลวงเส้นลมปราณ ขับเคลื่อนชี่ และระงับปวด

การฝังเข็มตามระบบเส้นลมปราณ จุดหลักได้แก่ Ashi point (จุดกดเจ็บ) , จุดเสริมเช่น สาเหตุจากลม ความเย็น และความชื้นกระทบ การรมยาจุดที่เกี่ยวข้อง

การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ควบคู่กับการฝังเข็ม สามารถระงับอาการปวดได้เร็วขึ้นและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้
- อ่านเพิ่มเติม - การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture


การครอบแก้ว
- อ่านเพิ่มเติมการครอบแก้ว (Cupping Therapy)


การฝังเข็มหู 

- ตัวอย่างกรณีการรักษา -
ผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาที่คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน


ข้อมูลทั่วไป

ชื่อ-นามสกุล  : นางธิตินันท์ XXX 
เพศ : หญิง     อายุ : 68 ปี

เลขประจำตัวผู้ป่วย : 06XXX
วันที่รับการรักษา  : 8 มกราคม 2562

อาการสำคัญ
ปวดบริเวณกระเบนเหน็บและสะโพกขวา 5 ปี อาการรุนแรงขึ้น 3 ปี


ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
- ประมาณ 5 ปีก่อนไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด
- ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณกระเบนเหน็บขวาและสะโพกขวา
- ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษา
- ต่อมาไม่นานผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดร้าวลงมาที่ต้นขาขวาและขาขวาด้านข้าง จึงไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา
- จากการตรวจ MRI พบว่าเป็น “หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ 4-5 ทับโคนรากประสาท” แพทย์แนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา แพทย์จึงรักษาโดยการให้รับประทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการ (รายละเอียดยาไม่ชัดเจน) พร้อมทำกายภาพบำบัด แต่ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

- 2 ปีต่อมา เมื่อผู้ป่วยยืนหรือเดินเป็นเวลานานจะรู้สึกปวดบริเวณสะโพกขวา และร้าวลงมาที่ต้นขาขวาและน่องขวามากขึ้น ร่วมกับมีอาการชาร่วมด้วย ก้มและแอ่นหลังลำบาก เมื่อหยุดพักอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้น ในการป่วยครั้งนี้ผู้ป่วยไม่มีอาการยึดติดที่หลัง ไม่มีอาการขาขวาอ่อนแรง และไม่มีปัญหาระบบขับถ่ายผิดปกติ


ประวัติปัจจุบัน
- ปวดบริเวณสะโพกขวา และปวดร้าวลงมาที่ต้นขาขวา และน่องขวาด้านขวา
- มีอาการชาตลอดเวลา บางครั้งรู้สึกกลัวหนาว เมื่อเดินนานรู้สึกเหนื่อย
- รับประทานอาหารได้ปกติ การขับถ่ายปกติ การนอนหลับค่อนข้างดี


ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต
มีประวัติโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเส้นเลือดสูง


การตรวจร่างกาย
- มีจุดกดเจ็บที่บริเวณสะโพกขวา
- การเคลื่อนไหวของเอวส่วนล่างทำได้จำกัด
- Straight leg raising test ให้ผลบวก
- ลิ้นแดงซีด ชีพจรเล็กและจม


การวินิจฉัย ปี้เจิ้ง (痹症) ด้วยวิธีการของแพทย์จีน
ผู้ป่วยอยู่กลุ่มอาการชี่ของไตพร่อง (肾气不足证)

หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ 4-5 ทับโคนรากประสาท

การรักษา
1. ฝังเข็ม โดยเลือกจุดฝังเข็มบริเวณเอว และจุดกดเจ็บ

2. กระตุ้นไฟฟ้า 

3. ครอบแก้ว    











คำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์จีนที่ทำการรักษา

- ปรับท่าทางของร่างกายในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักหรือแรงกระแทกมาก

- ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลัง

การประเมินการรักษาครั้งที่ 1
(วันที่14 มกราคม 256 )

จากการฝังเข็มรักษาไป 3 ครั้ง อาการบรรเทาลง โดยรวมอาการดีขึ้น 30% มีอาการปวดบริเวณสะโพกขวาอยู่ เมื่อยืนหรือเดินนานยังรู้สึกปวดร้าวลงต้นขาและน่องขวา แต่อาการชาที่น่องขวาน้อยลงกว่าครั้งแรก  ลิ้นสีซีด ชีพจรเล็กและจม

การประเมินการรักษาครั้งที่ 2
(วันที่ 25 มกราคม 2562)

จากการฝังเข็มรักษาไป 8 ครั้ง อาการโดยรวมดีขึ้นประมาณ 70%  เมื่อผู้ป่วยยืนนานไม่พบอาการปวด สามารถเดินได้นานขึ้น มีอาการตึงที่ต้นขาขวาและน่องขวา ชาเป็นครั้งคราว ลิ้นแดงอ่อน ชีพจรเล็ก

วิเคราะห์และสรุป
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทโดยการฝังเข็มให้ผลลัพธ์ที่ดี สามารถบรรเทาอาการปวดได้ โดยการฝังเข็มลงไปตามจุดฝังเข็มเพื่อทะลวงเส้นลมปราณที่อุดกั้น ปรับการไหลเวียนของชี่และเลือดให้คล่องขึ้น เมื่อชี่และเลือดเคลื่อนที่ได้ดีก็ทำให้อาการเจ็บปวดบรรเทาลงนั่นเอง ตามกลไกที่ว่า “เมื่อไหลเวียนดีก็จะไม่ปวด เมื่อไม่ไหลเวียนก็จะปวด” (通则不痛,不通则痛)

 

บันทึกข้อมูลการรักษาโดย 
แพทย์จีน พิมพิชญ์ มุจลินทโมลี  (เจี่ย จิ้ง เหวิน)

แพทย์จีนแผนกฝังเข็ม  
คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน

อ่านข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
1. ฝังเข็มเจ็บไหม-อันตรายหรือไม่
2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
4. ต้นทางแห่งความปวด


สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม
Hotline : 095-884-3518
LINE@ : @huachiewtcm

คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
เปิดให้บริการการรักษาแก่ประชาชน 3 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและภูมิภาค
1. กรุงเทพฯ   โทร. 02-223-1111 ต่อ 102 
2. โคราช       โทร. 044-258-555 , 085-325-1555 
3. ศรีราชา    โทร.038-199-000 , 098-163-9898 


 ดูแผนที่การเดินทางของทุกสาขา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้