โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (ภูมิแพ้อากาศ)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  60406 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (ภูมิแพ้อากาศ)

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นั้น   

ในทางการการแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่า  หวัดจากการแพ้อากาศ , เยื่อจมูกอักเสบเหตุภูมิแพ้ , จมูกอักเสบจากภูมิแพ้  , โรคแพ้อากาศ  หรือภูมิแพ้อากาศ   ซึ่งคืออาการเยื่อจมูกอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่พบได้ในคนทุกวัย  และมักเริ่มแสดงอาการในช่วงวัยรุ่นหรือวัยเรียน พบได้ประมาณร้อยละ 10-25 ของคนทั่วไป

จากสถิติของสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย  พบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึง 3-4 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา พบในเด็ก 38% และพบในผู้ใหญ่ประมาณ 20%  สาเหตุหลักคือ กรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกินในปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว (เช่น หอบหืด ลมพิษ ผื่นคัน ภูมิแพ้อากาศ) และมักมีโรคภูมิแพ้อื่นๆ ร่วมด้วย โรคนี้มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นแรมเดือน แรมปี อาจมีอาการกำเริบเป็นบางฤดูกาล หรืออาจเป็นประจำตลอดทั้งปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ  และถ้าเกิดจากละอองเกสร หญ้า หรือวัชพืช เรียกว่า ไข้ละอองฟาง (hay fever)

สาเหตุการเกิดโรค

ร่างกายเกิดปฎิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ โดยสร้างโปรตีนชนิดหนึ่ง เพื่อไปจับกับสารก่อภูมิแพ้ และหลั่งสารฮิสตามีน ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการอักเสบ  การอักเสบถือเป็นกระบวนการของร่างกายที่ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม  เมื่อร่างกายเข้าใจว่าสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เป็นสิ่งแปลกปลอมก็จะจามเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมนั้นออกไป เมื่อสัมผัสกับเนื้อเยื่ออวัยวะในระบบทางเดินหายใจ จะส่งผลให้เกิดการแพ้ การอักเสบ ทำให้เกิดอาการไอ เซลล์เยื่อเมือกจะสร้างน้ำมูกมากขึ้น  เส้นเลือดบริเวณจมูกขยาย ทำให้คัน บวม คัดจมูก เมื่อสัมผัสกับเนื้อเยื่อตาทำให้ระคายเคืองตา น้ำตาไหล   

ซึ่งในร่างกายคนปกติจะแพ้สารก่อภูมิแพ้ได้น้อยมากหรืออาจจะไม่มีอาการ แต่ผู้ป่วยจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นั้นร่างกายจะตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ไวเกินไป ซึ่งบางคนก็จะเข้าใจว่าตัวเองนั้นเป็นหวัด ทำให้รักษาไม่ตรงจุด จึงเป็นๆหายๆ  นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการแพ้อาหาร (เช่นอาหารทะเล)  ซึ่งมักจะพบร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น หืด ลมพิษ ผื่นคัน  ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น

ถ้าแสดงออกที่ตาก็กลายเป็นโรคเยื่อตาขาวอักเสบ  ถ้าแสดงออกที่หลอดลมก็กลายเป็นหืด  โรคภูมิแพ้มักมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ คือ มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ด้วย นอกจากนี้ ความเครียดทางจิตใจก็มีส่วนกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ ผู้ป่วยโรคภูมแพ้อาจแสดงออกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายๆ อย่างพร้อมกันก็ได้ ในรายที่เกิดจากการแพ้อาหารอาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วยได้

สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ 

  • ไรฝุ่นบ้าน (dust mites) ฝุ่นละออง พยาธิ  เชื้อราแบคทีเรีย ละอองเกสร หญ้า วัชพืช  สปอร์ของเชื้อราที่อยู่นอกบ้าน ทำให้เกิดอาการกำเริบในบางฤดูกาล  
  • สัตว์เลี้ยงในบ้าน (โดยเฉพาะแมว)  หรือจำพวกแมลง แมลงสาบ 
  • อาหาร  (เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ถั่วลิสง สารกันบูด สีผสมอาหาร) และ แอลกอฮอล์
  • ยา (แอสไพริน เพนิซิลลิน ซัลฟา ยาชา)
  • สภาพอากาศจากภายนอก  เช่น ความเย็น ความร้อน   
       

ผู้ป่วยมักจะแพ้สารได้หลายๆอย่าง  และมีโอกาสแพ้ยาได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ จึงควรระมัดระวังในการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ การแพ้อาจเกิดขึ้นโดยการสัมผัส สูดดม กิน หรือฉีดเข้างร่างกายมางใดทางหนึ่ง โรคภูมิแพ้ทุกชนิดรวมกันแล้ว พบได้ประมาณร้อยละ 30 ของคนทั่วไปต่อสิ่งกระตุ้น (สิ่งระคายเคือง) เช่น กลิ่นฉุนๆ บุหรี่ ควัน อาหารเผ็ด แอลกอฮอล์ อากาศเปลี่ยน ความชื้น ทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวกับปฎิกิริยาภูมิแพ้แบบสัมผัสสารก่อภูมิแพ้  และ สำหรับผู้ที่มีอาการตลอดปี  อาจเกิดจากไรฝุ่น  แมลงสาบ ขน หรือ รังแค สัตว์ต่างๆ  ฝุ่นละออง น้ำหอม เป็นต้น


อาการ

มีอาการเป็นหวัด คัดจมูก จามบ่อย น้ำมูกมีลักษณะใสๆ มักมีอาการคันในจมูก คันคอ คันตา น้ำตาไหล เจ็บคอ แสบคอ หรือไอแห้งๆ (แบบระคายคอ) ร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการปวดตื้อตรงบริเวณหน้าผากหือหัวคิ้ว หรือปวดศีรษะ หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู (เนื่องจากท่ออยู่สเตเซียนตีบ) การรับรู้กลิ่นน้อยลง หรือหายใจมีกลิ่นเหม็น อาการมักเกิดเวลาถูกอากาศเย็น ควัน ฝุ่นละอองสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้นๆอื่นๆ บางรายอาจมีอาการตอนช่วงเช้าๆ พอสายๆ ก็ทุเลาไปได้เอง ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ บางรายอาจมีอาการของโรคหืด  ร่วมด้วยหายใจมีเสียงดังวี้ด หรือรู้สึกแน่นอึดอัดในหน้าอก

ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ นอนกรน เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรืออาจมีอาการของโรคหืดร่วมด้วย   ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจกลายเป็นไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หรือเป็นริดสีดวงจมูก

ในเด็กที่มีอาการคันจมูก จะยกมือขึ้นขยี้จมูกบ่อยๆอาจทำให้เกิดรอยย่นที่สันจมูก (เรียกว่า allergicnasal line) อาจพบผิวหนังบริเวณขอบตาล่างบวมและมีสีคล้ำ (เรียกว่า allergic shiners)

สิ่งที่ตรวจพบ
เยื่อจมูกบวมและซีด หรือเป็นสีม่วงอ่อนๆ ต่างจากไข้หวัด  หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งเยื่อจมูกจะมีลักษณะบวมและออกสีแดง มักพบน้ำมูกลักษณะใสๆ (ถ้าน้ำมูกมีสีเหลืองหรือเขียว แสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม หรือเป็นไซนัสอักเสบ)  บางรายอาจพบเยื่อตาขาวออกแดงเล็กน้อยในเด็กที่มีอาการคันจมูก จะยกมือขึ้นขยี้จมูกบ่อยๆอาจทำให้เกิดรอยย่นที่สันจมูก (เรียกว่า allergicnasal line) อาจพบผิวหนังบริเวณขอบตาล่างบวมและมีสีคล้ำ (เรียกว่า allergic shiners) บางรายอาจพบติ่งเนื้อเมือกจมูก  ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงวี้ด (wheezing)

ภาวะแทรกซ้อน
โดยทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงในรายที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การเรียน การทำงาน บางรายอาจเป็นโรคหืด ร่วมด้วย ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจกลายเป็นไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หรือติ่งเนื้อเมือกจมูก เด็กบางรายอาจมีอาการนอนกรน และเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ข้อแนะนำ

1. โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ไม่ค่อยหายขาด
ถ้ามีอาการไม่มากพอทนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาอะไรทั้งสิ้น ถ้าจำเป็นแนะนำให้ผู้ป่วยกินยาแก้แพ้ แก้คัดจมูก แก้ไอ ไม่ควรซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนกินเอง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนได้

2. การใช้ยาปฎิชีวะนะ ไม่มีความจำเป็นในการรักษาโรคนี้
ยกเว้นในรายที่น้ำกมูกเหลืองหรือเขียว หรือสงสัยเป็นไซนัสอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ

3. ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูก ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา เพราะยาบางชนิดที่เข้ายาแก้แพ้หรือแก้คัดจมูก เมื่อหยอดย่อยเกินไป ก็อาจทำให้เยื่อจมูกอักเสบมากยิ่งขึ้น


4. รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการบำรุงอาหารสุขภาพ (กินผักผลไม้ให้มากๆ) ออกกำลังกายเป็นประจำ (เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด (เช่น ฝึกโยคะ รำมวยจีน สวดมนต์ ฝึกสมาธิ ฟังเพลง) ก้อาจมีส่วนช่วยให้โรคทุเลาได้ 

5. ในกรณีเป็นหวัด คัดจมูก โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน นานเกิน 2 สัปดาห์ ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ


โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ในมุมมองแพทย์แผนจีน

สาเหตุหลักแพทย์แผนจีนของอาการจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นั้น มีสองสาเหตุหลัก คือ สาเหตุภายใน และ สาเหตุภายนอก

สาเหตุภายนอก  มักเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มลพิษ ลมเย็น หรือ ความร้อนต่างๆ
สาเหตุภายใน ได้แก่ การทำงานที่เสียสมดุลของอวัยวะ ปอด ม้าม ไตเนื่องจาก จมูก คือ ทวารเปิดของปอด ดังนั้น หากปอดทำงานผิดปกติ พลังปอดไม่แข็งแรง ก็มักจะได้รับสาเหตุก่อโรคจากภายนอก ทำให้เกิดการติดขัดของของเหลวต่างๆ เกิดอาการคัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล ม้ามเป็นต้นกำเนิดของเลือดและลมปราณ ไตเป็นรากฐานของพลังปอด ดังนั้น เมื่อสองอวัยวะนี้พร่องลง ย่อมส่งผลให้การทำงานต่างๆนั้นผิดปกติไป และทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้น

         

ตัวอย่างผลการรักษาผู้ป่วยอาการภูมิแพ้ 

 ผู้ป่วยที่ 1 :  ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (ภูมิแพ้อากาศ) 

ข้อมูลทั่วไป ผู้ป่วยชาย อายุ  61 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย   298XXX
วันที่รับการรักษาครั้งแรก   11 มิถุนายน 2562
อาการสำคัญ คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา เป็นเวลา15ปี
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน   ผู้ป่วยคัดจมูก น้ำมูกไหล คันตามา 15 ปี ทางหมอแผนปัจจุบัน
วินิจฉัยว่าเป็น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ รักษาโดยการทานยาและ
พ่นยามาตลอด ไม่เคยหยุดการรักษา และเคยรักษาโดยใช้ไฟฟ้าจี้
ในโพรงจมูก แต่อาการไม่ดีขึ้น


 ปัจจุบันผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลบ่อยๆ น้ำมูกมีลักษณะเหลวใส
คันตาทั้งวัน เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อย ป่วย ฝนตก อากาศเปลี่ยน
อาการจะกำเริบหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางครั้งมีน้ำมูกปนเลือด

 ปัจจุบันทานยา pseudoephedrine 1 เม็ด วันละ2ครั้ง
Bilastine 20 mg หลังอาหาร ใช้น้ำเกลือล้างจมูก ใช้ยาพ่นจมูกทุกวัน
วันละอย่างน้อย 1 ครั้ง

 อาการและประวัติอื่นๆ :ผู้ป่วยเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิดง่าย
ขับถ่ายไม่เป็นก้อน วันละ1 ครั้ง ทานอาหารได้ปกติ ทานน้ำอุณหภูมิห้อง
นอนหลับไม่ค่อยสนิท ปัสสาวะตอนกลางคืน1-2รอบ ออกกำลังกายเบาๆ
เป็นประจำ ดื่มแอลกฮอล์เป็นครั้งคราว
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต   ผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ
การตรวจร่างกาย ผู้ป่วยดูอ่อนเพลีย สีหน้าค่อนข้างซีด เสียงอู้อี้ มีเสียงจมูกวี้ดๆตามการหายใจ
ลิ้นแดงอ่อน คล้ำ ฝ้าบางขาว ชีพจรตึงเล็ก  ชีพจรที่สะท้อนอวัยวะปอด
มีลักษณะจมเล็ก
การวินิจฉัยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จากกลุ่มอาการลมปราณปอดและม้ามพร่อง
(肺脾气虚证)
วิเคราะห์กลุ่มอาการของผู้ป่วย  ตามแพทย์แผนจีนมองว่าจมูกเป็นทวารของปอด ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก
น้ำมูกไหล จาม บ่งบอกถึงอวัยวะปอดถูกกระทบ

 ผู้ป่วยเป็นเรื้อรังมา 15ปี อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาการภูมิแพ้จะกำเริบ
ได้ง่ายเมื่อโดนกระทบ บ่งบอกว่าร่างกายมีลมปราณที่พร่องลงไป ไม่เพียงพอ
ที่จะป้องกันร่างกายจากการถูกกระทบ หรือไม่เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละวัน
จึงอ่อนเพลีย สีหน้าค่อนข้างซีด ประกอบกับลักษณะชีพจรที่บ่งบอกไปใน
ทางเดียวกัน จึงวินิจฉัยว่าสาเหตุหลักคือมีอาการลมปราณปอดพร่อง

 ตามหลักแพทย์แผนจีนแล้วเมื่อม้ามพร่อง จะทำให้เกิดความชื้นสะสม
เมื่อความชื้นกระทบปอดจะทำให้มีน้ำมูกไหล เมื่อความชื้นสะสมที่ลำไส้
จะทำให้ขับถ่ายไม่เป็นก้อน เมื่อฝนตกหรืออากาศเปลี่ยนความชื้นภายนอก
กระทบเพิ่มเข้ามา ทำให้อาการเป็นหนักขึ้น  ม้ามเป็นอวัยวะที่สร้างเลือดลม
เมื่อม้ามพร่อง ลมปราณในร่างกายก็ยิ่งน้อย จึงสรุปได้ว่านอกจากลมปราณ
ปอดพร่องแล้วแล้ว ยังมีลมปราณของม้ามพร่องร่วมด้วย

หลักการรักษา ใช้วิธีบำรุงปอดกับม้าม เปิดทวารจมูก เพื่อให้ลมปราณไหลเวียนได้ดี
เพิ่มเลือดลมที่ไปเลี้ยงอวัยวะปอด ม้ามและจมูก
การรักษา จ่ายยาจีน สำหรับ 7 วัน ใช้บริการต้มที่คลินิก ทานยาเช้า-เย็น
หลังอาหาร30นาที ครั้งละ1 ถุง
คำแนะนำแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยส่งเสริมการรักษา

  ควรหลีกเลี่ยงการโดนลม  หรือความเย็นโดยตรง
 พักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนก่อน 5 ทุ่ม
 หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของมัน ของทอด อาหารทะเล หัวไช้เท้า
  งดการดื่มแอลกฮอล์
 รักษาควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบันที่ผู้ป่วยทานอยู่
    ระหว่างทานยาครั้งแรก มีอาการถ่ายท้อง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวล
    จึงโทรมาที่คลินิกเพื่อขอคำปรึกษา

 การทานยาจีนครั้งแรก ผู้ป่วยบางท่านอาจยังไม่เคยชินกับยาจีนรวมถึง
รสยา
จึงมีอาการถ่ายท้องร่วมด้วยได้ อาการดังกล่าวจะค่อยๆดีขึ้น หลังจาก
ทานยาถุงถัดไป
เพื่อลดความกังวลใจของผู้ป่วย จึงปรับให้ทานวันละ1ถุง
หลังอาหาร 30นาที

การติดตามอาการ ครั้งที่ 1 (วันที่ 11 มิถุนายน 2562 )  หลังจากถ่ายท้องวันแรก จากนั้นไม่มีอาการไม่พึงประสงค์อีก
อาการคัดจมูกน้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การนอนหลับดีขึ้น
ขับถ่ายเป็นก้อนปกติ วันละ1ครั้ง และ2วันนี้ ไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเลย
ผู้ป่วยหยุดทานยา แผนปัจจุบันเอง ใช้แต่ยาพ่นจมูก วันละ 1 ครั้ง


 การตรวจร่างกาย อาการอ่อนเพลียดูลดลง เสียงอู้อี้ มีเสียงจมูกวี้ดๆ
ตามการหายใจลิ้นแดงอ่อน คล้ำ ฝ้าบางขาว ชีพจรตึงเล็ก  ชีพจรที่สะท้อน
อวัยวะปอดมีลักษณะจมเล็ก

 การรักษา ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน  ใช้บริการต้มที่คลินิก
สำหรับ 7 วัน ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที จากนั้นรักษา
และติดตามอาการทุกสัปดาห์
การติดตามอาการ ครั้งที่ 2-3 รักษาอย่างต่อเนื่องและติดตามอาการทุกสัปดาห์
การติดตามอาการ ครั้งที่ 4 (วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 )

ผู้ป่วยรู้สึกจมูกโล่งขึ้นมาก มีน้ำมูกบ้างเมื่ออากาศเปลี่ยน รู้สึกร่างกาย
กระฉับกระเฉงขึ้น ไม่มีอาการอ่อนเพลีย สามารถพูดหรือร้องเพลงต่อเนื่อง
ได้นานๆโดยไม่เหนื่อยแล้ว การทานอาหาร นอนหลับ ขับถ่ายปกติ
หยุดทานยาปัจจุบันมาแล้ว 1 เดือน มีใช้ยาพ่นจมูกในบางวัน

 การตรวจร่างกาย ผู้ป่วยดูสดใส สีหน้าไม่ซีดแล้ว เสียงอู้อี้ลดลง
เสียงจมูกวี้ดๆตามการหายใจเบาลงมาก ลิ้นแดงอ่อน คล้ำ ฝ้าบางขาว
ชีพจรตึงเล็ก  ชีพจรที่สะท้อนอวัยวะปอดมีแรงขึ้น

 การรักษา ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน 
ใช้บริการต้มที่คลินิก สำหรับ 7 วัน ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง
หลังอาหาร30นาที

การติดตามอาการ ครั้งที่ 5 (วันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ) จมูกโล่งขึ้นจนไม่รู้สึกว่าคัดจมูกแล้ว มีน้ำมูกเล็กน้อย และแทบไม่จามเลย
การทานอาหาร นอนหลับ ขับถ่ายปกติ

 การตรวจร่างกาย ผู้ป่วยสีหน้าสดใส เสียงอู้อี้ลดลง เสียงจมูกวี้ดๆ
ตามการหายใจเบาลงมาก  ลิ้นแดงอ่อน คล้ำ ฝ้าบางขาว ชีพจรตึง

 การรักษา ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน  ใช้บริการต้มที่คลินิก
สำหรับ 14 วัน ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
สรุปผลการรักษา ผู้ป่วยท่านนี้เป็นจมูกอักเสบจากภูมิแพ้มา 15 ปี รักษาโดยการทานยา
และพ่นยามาตลอด ไม่เคยหยุดการรักษา จากการรักษาโดยการทานยาจีน
5 ครั้ง(ประมาณ 2 เดือน) อาการผู้ป่วยคัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา
จามบ่อยๆ เสียงอู้อี้ เสียงวี๊ดๆในจมูก ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
รวมถึงบางอาการที่หายสนิท


  นอกจากจะรักษาอาการภูมิแพ้อากาศได้แล้ว ยังสามารถฟื้นฟูร่างกาย
ของผู้ป่วยให้แข็งแรงขึ้น โดยที่ตัวผู้ป่วยเองรู้สึกได้  เช่น อาการอ่อนเพลีย
เหนื่อยง่ายหายไป กลับมากระปรี้กระเปร่า สีหน้าซีดก็สดใสขึ้น ส่งผลให้
คุณภาพชีวิต สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย 



 ผู้ป่วยที่ 2  :  ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยไอเรื้อรังจากภูมิแพ้

ข้อมูลทั่วไป ผู้ป่วยหญิง อายุ  39 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย   308XXX
วันที่รับการรักษาครั้งแรก   29 กรกฎาคม 2562
อาการสำคัญ ไอเรื้อรังมา 1 ปี
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน   เมื่อ1ปีก่อน ผู้ป่วยมาเยี่ยมญาติที่กรุงเทพ หลังจากนั้นเริ่มมี
อาการไอร่วมกับอาการคัดจมูก คันคอ ไปหาหมอแผนปัจจุบัน
รักษาโดยทานยาแก้ไอมาตลอด แต่อาการแย่ลงเรื่อยๆ
ต่อมาทางหมอแผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าเป็นอาการไอจากภูมิแพ้
รักษาโดยการทานยาแก้ภูมิแพ้และยาแก้ไอ เริ่มแรกอาการดีขึ้น
จากนั้นอาการเริ่มคงที่ ไม่หายขาด ยังคงทานยาต่อเนื่องทุกวัน

 ปัจจุบันผู้ป่วยมีอาการมีอาการคัดจมูก น้ำมูกใส คันคอเรื้อรัง
ไอต่อเนื่องยาวจนรู้สึกเหนื่อยเป็นประจำ บางครั้งไอจนอาเจียน
อาการจะกำเริบหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเวลาเจอฝุ่นควัน
และช่วงหลัง20.00น.ทุกวัน บางทีต้องนั่งหลับ อาการไอนั้น
ทำให้หลับไม่สนิท 

 อาการและประวัติอื่นๆ :ขับถ่ายปกติ ทานอาหารได้ปกติ ไม่ทานรสจัด

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต   ผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ น้องสาวเป็นภูมิแพ้ พ่อสูบบุหรี่
การตรวจร่างกาย ผู้ป่วยกระแอมบ่อยๆ ลิ้นสีชมพูซีด ฝ้าบางขาว ตัวลิ้นใหญ่ ชีพจรเล็ก 
การวินิจฉัยไอเรื้อรังจากภูมิแพ้ จากกลุ่มอาการลมปราณปอดและเลือดพร่อง
(肺气虚兼血虚证)
วิเคราะห์กลุ่มอาการของผู้ป่วย

 ตามแพทย์แผนจีนมองว่าอาการไอเป็นอาการของปอด
ผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรัง ร่วมกับอาการคันคอ คัดจมูก บ่งบอกถึง
อวัยวะปอดถูกกระทบ

 ผู้ป่วยเป็นเรื้อรังมา 1ปี อาการภูมิแพ้กำเริบได้ง่าย บ่งบอกว่าร่างกาย
มีลมปราณที่พร่องลงไป ไม่เพียงพอที่จะป้องกันร่างกายจากการถูกกระทบ
ประกอบกับลักษณะชีพจรที่บ่งบอกไปในทางเดียวกัน  จึงวินิจฉัยว่าสาเหตุ
หลักคือมีอาการลมปราณปอดพร่อง

 จากลิ้นชมพูซีด ฝ้าบางขาว ลิ้นใหญ่ ชีพจรเล็ก ลักษณะชีพจรที่สะท้อน
อวัยวะปอดและหัวใจค่อนข้างจม บ่งบอกได้ว่าภายในร่างกายมีภาวะเลือด
และลมปราณพร่อง

หลักการรักษา   ใช้วิธีบำรุงลมปราณปอด
การรักษา จ่ายยาจีน สำหรับ 6 วัน ทานยาเช้า-เย็น หลังอาหาร30นาที
คำแนะนำแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยส่งเสริมการรักษา  ควรหลีกเลี่ยงการโดนลม หรือความเย็นโดยตรง
 หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของมัน ของทอด อาหารทะเล หัวไช้เท้า
 รักษาควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบันที่ผู้ป่วยทานอยู่
การติดตามอาการ ครั้งที่ 1 (วันที่ 4 สิงหาคม 2562 ) อาการ ไอ คันคอ คัดจมูก ลดลง 50% การไอช่วงหลัง20.00น.
ที่เป็นประจำทุกวันลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทานยาแผนปัจจุบันเฉพาะ
เวลาที่มีอาการ ส่งผลให้การนอนหลับดีขึ้น การขับถ่ายปกติ

 การตรวจร่างกาย ผู้ป่วยยังมีกระแอมเล็กน้อย ดูสดใสขึ้น
ลิ้นชมพู ฝ้าขาว ชีพจรเล็ก  ลักษณะชีพจรที่สะท้อนอวัยวะปอด
และหัวใจค่อนข้างจม

 การรักษา ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน
สำหรับ 14 วัน ทานยาเช้า-เย็น หลังอาหาร30นาที
การติดตามอาการ ครั้งที่ 2 (วันที่ 18 สิงหาคม 2562 )

 อาการไอ คันคอ คัดจมูกลดลงอย่างเห็นได้ชัด 2อาทิตย์ที่ผ่านมา
มีอาการไอเพียง 2ครั้ง การทานอาหาร นอนหลับ ขับถ่ายปกติ

 การตรวจร่างกาย ผู้ป่วยดูสดใส ไม่มีกระแอม ลิ้นชมพูอ่อน
ฝ้าบางขาวชีพจรเล็ก 

 การรักษา ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน สำหรับ 12 วัน
ทานยาเช้า-เย็น หลังอาหาร30นาที

การติดตามอาการ ครั้งที่ 3 (วันที่ 1 กันยายน 2562 ) ไม่มีอาการกำเริบแล้ว หายเป็นปกติ การทานอาหาร
นอนหลับ ขับถ่ายปกติ

 การตรวจร่างกาย ผู้ป่วยดูสดใส ไม่มีกระแอม
ลิ้นชมพูอ่อน ฝ้าบางขาว ชีพจรเล็ก 

 การรักษา ปรับสมดุลร่างกาย จ่ายยาจีน สำหรับ 9 วัน
ทานยาเช้า-เย็น หลังอาหาร30นาที 
สรุปผลการรักษา ผู้ป่วยท่านนี้มีอาการไอเรื้อรังจากภูมิแพ้ มา 1 ปี
รักษาโดยการทานยาแก้ภูมิแพ้และยาแก้ไอ แต่ก็ยังไม่หาย
ทั้งที่ผู้ป่วยดูแลตัวเองดีมาก อาการที่แสดงกระทบการใช้
ชีวิตประจำวันจนทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความกังวล
จากการรักษาโดยการทานยาจีน เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน
อาการ ไอต่อเนื่อง ที่กระทบการนอนหลับ อาการคัดจมูก
น้ำมูกใสหายเป็นปกติ ไม่มีกำเริบอีกเลย รู้สึกว่าการนอนหลับ
การขับถ่าย ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน ผู้ป่วยรู้สึกแข็งแรงขึ้น
ทำให้ผู้ป่วยมีความสุขมาก

 

 ผู้ป่วยที่ 3  :  ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยมีปัญหาการได้ยินจากภูมิแพ้

ข้อมูลทั่วไป  ผู้ป่วยชาย  อายุ  48 ปี น้ำหนัก 94.5 กิโล
เลขประจำตัวผู้ป่วย   292XXX
วันที่รับการรักษาครั้งแรก   6 กันยายน 2561
อาการสำคัญ หูมีเสียง การได้ยินลดลง มา 5 ปี
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน  
 5 ปีก่อนคนไข้เริ่มมีเสียงที่หูขวา โดยไม่ทราบสาเหตุ
เสียงค่อยๆดังขึ้นจนเหมือนเสียงรถไฟ ไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง
ผู้ป่วยสังเกตว่าอาการจะหนักขึ้นเมื่ออยู่ในที่เย็น อากาศหนาว
วันฟ้าครึ้ม หรือฝนจะตก ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการรักษา 6เดือนต่อมา
อาการเป็นหนักขึ้น ลามมาถึงหูซ้าย พบแพทย์แผนปัจจุบัน
วัดผลความสามารถในการได้ยิน ผลคือการได้ยินลดลง 90%
ได้รับการวินิจฉัยว่าประสาทหูเสื่อม ก้านหูบวมตีบ ให้ทานยาบำรุงประสาท
ต่อมาอาการหนักจนสื่อสารกับคนรอบข้างลำบาก กระทบการทำงาน
จนต้องลาออกจากงาน รักษาอย่างต่อเนื่องมา 4 ปี รักษามาหลายที่
เคยใส่เครื่องช่วยฟัง แต่เมื่อมีเสียงของตกหรือเสียงดัง จะปวดหูมาก
จึงปฏิเสธการใช้ ก่อนมาหาที่คลินิกได้ทดสอบความสามารถในการได้ยิน
ผลดีขึ้นจาก 90% เป็น60% ที่ผ่านมาไม่สามารถถอดหมวกได้เลย
เพราะอาการจะหนักขึ้นทันที อาการจะดีมากที่สุดในฤดูร้อน

อาการและประวัติอื่นๆ   ตื่นตอนกลางคืนมาเข้าห้องน้ำทุกวัน วันละ 2-4 ครั้ง ขับถ่ายทุกวัน
อุจจาระค่อนข้างนิ่ม ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารเยอะ ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย
ชอบทานน้ำเย็น
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต     เบาหวาน 198 mg/dL ทานยา 3 เม็ด ความดันโลหิตสูง
ไขมันในเลือดสูง มีทานยาปัจจุบันควบคุมอยู่ ตอนเด็กเป็นลมพิษประจำ
เมื่อได้กลิ่นฉุนจะปวดหัว ปฏิเสธอาการภูมิแพ้อากาศ
การตรวจร่างกาย   ผู้ป่วยรูปร่างท้วมใหญ่ ใส่หมวก ผ้าพันคอ เสื้อยืด และสวมแจ๊คเก็ต
แขนสั้นบุหนา (อากาศประมาณ 30กว่าองศาเซลเซียส) ต้องปิดแอร์
ระหว่างการตรวจ และช่วงถามอาการต้องใช้เสียงดังเป็นพิเศษ
ผู้ป่วยจะเอียงหูข้างที่ได้ยินปกติมาใกล้แพทย์ ผู้ป่วยดูเหนื่อยง่าย
และมีเสียงอู้อี้ในจมูกเล็กน้อย เวลาหัวเราะเสียงเหมือนมีการติดขัด
ที่จมูกชัดเจน ลิ้นสีม่วงซีดและฝ้าขาว ลิ้นใหญ่ มีรอยฟัน ชีพจรลื่น 
การวินิจฉัย  หูมีเสียง การได้ยินลดลง จากกลุ่มอาการความเย็นชื้นคั่งค้างในร่างกาย
วิเคราะห์กลุ่มอาการของผู้ป่วย

  ผู้ป่วยมีเย็นความชื้นในร่างกายมีมากจนไปอุดกั้นในทวารหู และจมูก
เลือดลมไม่เพียงพอต่อการเหนี่ยวรั้ง และเดินลมปราณในร่างกาย
ทำให้
ยิ่งติดขัด ยิ่งพร่อง

  ผู้ป่วยรูปร่างท้วมใหญ่ แพทย์แผนจีนมีคำกล่าวว่า
“คนอ้วนมักมีเสมหะความชื้นเยอะ” ในมุมมองของแพทย์แผนจีน 
ม้ามเป็นอวัยวะที่ลำเลียงน้ำและสารอาหาร เมื่อม้ามพร่องเสียสมดุล
จึงทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำและสารอาหารได้ปกติ จึงเกิดการ
ตกค้างและสะสมเป็นความชื้นเสมหะ  คนที่ลมปราณม้ามพร่อง
ความชื้นสะสมที่ลิ้นมักมีฝ้าหนา ตัวลิ้นใหญ่และมีรอยฟัน
ซึ่งสอดคล้องกับลิ้นของผู้ป่วย

 มีสีม่วงแฝงอยู่ บ่งบอกถึงมีความเย็นสะสมอยู่ภายใน
เมื่อความเย็น เสมหะอุดกั้นที่บริเวณหู จึงทำให้หูมีเสียง การได้ยินลดลง

 พลังปอดถูกทำลาย จนเกิดอาการพร่อง ดังนั้นเมื่อโดน
ปัจจัยภายนอกกระทบ เช่น อากาศเปลี่ยนแปลง ย่อมไป
กระตุ้นเสมหะความชื้นภายใน ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบ
เช่น อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล

หลักการรักษา   แนวคิดในการรักษา คือ การกระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนได้คล่องขึ้น
เพื่อขับและลดเสมหะความชื้นในร่างกาย อุ่นลมปราณ เพิ่มพลังหยาง 
การรักษา  จ่ายยาจีน ใช้บริการต้มที่คลินิก ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง
     หลังอาหาร30นาที
  ให้ใช้ยาสมุนไพรหยอดจมูก วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น
     พร้อมกับนวด กดจุด บริเวณจมูก
  ฝังเข็ม (โดย แพทย์จีนหลูเหมียวซิน)

คำแนะนำแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยส่งเสริมการรักษา   ควรหลีกเลี่ยงการโดนลม  หรือความเย็นโดยตรง
  พักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนก่อน 5 ทุ่ม
  หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของมัน ของทอด ของเย็น หัวไช้เท้า
  รักษาควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบันที่ผู้ป่วยทานอยู่
  ออกกำลังกายเป็นประจำ

 การติดตามอาการเดือนกันยายน-ตุลาคม 2561  มีช่วงที่เสียงในหูดังลดลง จากที่ดังเหมือนเสียงรถไฟ
บางครั้งเหลือเป็นเสียงเหมือนพัดลมเป่า การได้ยินดีขึ้น
ทนอากาศเย็นได้มากขึ้น แต่เมื่ออยู่ในที่เย็นนานเกินไป
หรือฝนตก หูก็จะมีเสียงดังเหมือนเดิม จำนวนครั้งที่ตื่นตอน
กลางคืนมาเข้าห้องน้ำลดลง จากวันละ 2-4 ครั้ง
เหลือเพียงไม่เกิน 2 ครั้ง การทานอาหาร นอนหลับ ขับถ่ายปกติ

 ผลการตรวจเลือด ค่าน้ำตาลจาก 198  ลดลงเหลือ 103 mg/dL
ต่อมาจึงลดปริมาณยาเบาหวานลง

 การรักษา 
- ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน ใช้บริการต้มที่คลินิก
ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
- ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)
- คนไข้ไม่สะดวกใช้ยาหยอดจมูกของคลินิก จึงใช้เป็นยาพ่นของนอกคลินิก

การติดตามอาการเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561 เสียงในหูดีขึ้นตามลำดับ ส่วนใหญ่เหลือเป็นเสียงเหมือนพัดลมเป่า
การได้ยินดีขึ้น ทนอากาศเย็นได้มากขึ้น แต่เมื่ออยู่ในที่เย็นนานเกินไป
หรือฝนตก หูก็จะมีเสียงดัง การทานอาหาร นอนหลับ ขับถ่ายปกติ


 การรักษา
 - ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน ใช้บริการต้มที่คลินิก
ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
 - ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)
การติดตามอาการเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 เสียงในหูดีขึ้นตามลำดับ เหลือเป็นเสียงเหมือนลมเป่าหูเบาๆ
ได้ยินเสียงรอบข้างค่อนข้างชัด ทนอากาศเย็นได้มากขึ้น 
ถอดหมวกระยะเวลาสั้นๆได้ เมื่ออยู่ในที่เย็นนานเกินไป หรือฝนตก
ใช้เวลาไม่นานหูที่มีเสียงดังมากขึ้นก็กลับเป็นปกติ การทานอาหาร
นอนหลับ ขับถ่ายปกติ


  ตรวจร่างกาย สามารถคุยตอบโต้ได้ปกติ โดยไม่ต้องเงี่ยหูฟัง
สามารถถอดหมวกในห้องตรวจได้

  การรักษา
 - ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน ใช้บริการต้มที่คลินิก
ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
 - หยุดการฝังเข็ม

อาการเดือนกันยายน 2562  การรักษา
 - ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน ใช้บริการต้มที่คลินิก
ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที

 - ผู้ป่วยรักษาอย่างต่อเนื่อง เสียงในหูเบาลงจนเหลือเพียง
เสียงลมพัดเบาๆ มีหูอื้อบ้าง เมื่อโดนความเย็นกระทบหรือฝนตก
ซักพักก็หาย บางครั้งใช้ยาพ่นจมูกเมื่อมีอาการ สามารถถอดหมวกได้ทั้งวัน
ไม่ต้องใช้ผ้าพันคอ หรือเสื้อแจ็คเก็ตบุหนาแล้ว

สรุปผลการรักษา  ผู้ป่วยท่านนี้หูมีเสียงดังจนเหมือนเสียงรถไฟ ไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง
ก่อนมาหาที่คลินิกได้ทดสอบความสามารถในการได้ยิน ลดลง60%
จนสื่อสารกับคนรอบข้างลำบาก ที่ผ่านมาต้องสวมผ้าพันคอ สวมแจ๊คเก็ต
แขนสั้นบุหนา ไม่สามารถถอดหมวกได้เลย เพราะอาการจะหนักขึ้นทันที
จากที่ผู้ป่วยรักษาอย่างต่อเนื่อง เสียงในหูเบาลงตามลำดับ จนปัจจุบัน
เหลือเพียงเสียงลมพัดเบาๆ เมื่อโดนความเย็นกระทบหรือฝนตก
จะมีหูอื้อบ้าง ซักพักก็ สามารถถอดหมวกได้ทั้งวัน ไม่ต้องใช้ผ้าพันคอ
หรือเสื้อแจ็คเก็ตบุหนาแล้ว สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ


   ผู้ป่วยที่ 4  :  ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยจมูกสูญเสียการรับกลิ่นจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

ข้อมูลทั่วไป ผู้ป่วยชาย อายุ  46 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย   284XXX
วันที่รับการรักษาครั้งแรก   1 เมษายน 2561
อาการสำคัญ คัดจมูกจามมา 20กว่าปี จมูกสูญเสียการรับกลิ่นมา 2ปี 
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน  
 ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกใส ปริมาณน้อย ไม่ค่อยออก
เวลาล้างจมูกมีก้อนใสออกมา ไม่มีเสมหะ บางครั้งปวดหัวร่วมด้วย
อาการคัดจมูก น้ำมูกใส จาม มีจะเป็นมากขึ้นในตอนเช้า
หรือเมื่ออากาศเย็นหรืออากาศเปลี่ยนแปลง จะแน่นจมูก  
แพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
เป็นเวลานาน จนเป็นไซนัสอักเสบ 2ปีก่อน จมูกเริ่มได้กลิ่นลดลง
จนไม่ได้กลิ่นเลยในที่สุด

ผู้ป่วยรักษาโดย - ทานยาแก้แพ้ 1 เม็ด ตอนเช้า
 - ยาพ่น nasonax 2ครั้ง เช้าเย็น
 - ใช้น้ำเกลือล้างจมูก 2 ครั้ง เช้าเย็น

  อาการและประวัติอื่นๆ : นอนดึก บางครั้งนอนน้อย
ขับถ่ายปกติ ทานอาหารได้ปกติ ออกกำลังกายบ้าง
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต     เป็นหอบหืดมา 30 ปี เคยผ่าตัดริดสีดวงจมูกมา 2 ครั้ง
การตรวจร่างกาย  
  ผู้ป่วยรูปร่างท้วม เสียงขึ้นจมูก ลิ้นมีสีม่วงคล้ำแฝงอยู่ ฝ้าขาวหนา น้ำลายเยอะ ตัวลิ้นใหญ่ มีรอยฟัน  ชีพจรช้า เล็ก 

การวินิจฉัย  สูญเสียการรับกลิ่นจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จากกลุ่มอาการปอดและม้ามพร่อง ทำให้เกิดความเย็นและความชื้นมากเกิน(脾肺两虚,寒痰内盛证)

วิเคราะห์กลุ่มอาการของผู้ป่วย  ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดมา 30 ปี แพทย์แผนจีนมองว่าหอบหืดนั้น
มีเสมหะเป็นพื้นฐานของโรค ม้ามเป็นอวัยวะที่ก่อเสมหะ ปอดเป็นอวัยวะ
ที่กักเก็บเสมหะ ม้ามพร่องก่อให้เกิดเสมหะความชื้น และไปเก็บอยู่ที่ปอด
การที่เจ็บป่วยเป็นเวลานานย่อมทำให้พลังปอดถูกทำลาย จนเกิดอาการพร่อง
ดังนั้นเมื่อโดนปัจจัยภายนอกกระทบ เช่น อากาศเปลี่ยนแปลงย่อมไปกระตุ้น
เสมหะความชื้นภายใน ทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบเช่น อาการคัดจมูก
น้ำมูกไหล ประกอบกับผู้ป่วยเคยผ่าตัดริดสีดวงจมูก ทำให้เลือดลมบริเวณ
จมูกพร่องลงอย่างมาก ไม่สามารถหล่อเลี้ยงให้ทำงานเป็นปกติได้
จึงเกิดการสูญเสียการรับกลิ่นในเวลาต่อมา

 ผู้ป่วยรูปร่างค่อนข้างท้วม แพทย์แผนจีนมีคำกล่าวว่า
“คนอ้วนมักมีเสมหะความชื้นเยอะ” ในมุมมองของแพทย์แผนจีน
ม้ามเป็นอวัยวะที่ลำเลียงน้ำและสารอาหาร เมื่อม้ามพร่องเสียสมดุล
จึงทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำและสารอาหารได้ปกติ จึงเกิดการตกค้าง
และสะสมเป็นความชื้นเสมหะ  ด้งนั้น ลิ้นมักมีฝ้าหนา น้ำลายเยอะ
ตัวลิ้นใหญ่และมีรอยฟัน ซึ่งสอดคล้องกับลิ้นของผู้ป่วย

 ผู้ป่วยมีน้ำมูกใส เมื่ออากาศเย็น จะมีอาการมากขึ้น
ลิ้นมีสีม่วงคล้ำแฝงอยู่ บ่งบอกถึงมีความเย็นสะสมอยู่ภายใน
เมื่อความเย็น เสมหะอุดกั้นที่บริเวณศีรษะ จึงทำให้มีอาการปวดหัว

 จากอาการแสดง ร่วมกับการดูลิ้นและจับชีพจร จึงสรุปได้ว่าผู้ป่วย
มีอวัยวะปอดและม้ามที่พร่องลงไป จนทำให้เกิดเสมหะและความชื้นสะสมอยู่ภายใน

หลักการรักษา   ใช้วิธีบำรุงปอดกับม้าม เปิดทวารจมูก ขับความเย็น,เสมหะ และความชื้น
การรักษา 
- จ่ายยาจีน ทานยาเช้า-เย็น หลังอาหาร30นาที
- ให้ใช้ยาสมุนไพรหยอดจมูก วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น
  พร้อมกับนวด กดจุด บริเวณจมูก
- ฝังเข็ม (โดย แพทย์จีนหลูเหมียวซิน)

คำแนะนำแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยส่งเสริมการรักษา  
- ควรหลีกเลี่ยงการโดนลม  หรือความเย็นโดยตรง
- พักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนก่อน 5 ทุ่ม
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของมัน ของทอด ของเย็น หัวไช้เท้า
- รักษาควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบันที่ผู้ป่วยทานอยู่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
การติดตามอาการเดือนเมษายน 2561
  ได้กลิ่นจางๆเป็นระยะเวลาสั้นๆ 1 ครั้ง ตอนเดินผ่านร้านที่ผัดอาหารฉุนๆ
อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามลดลง อาการไม่กำเริบหนักขึ้น
เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง ยังมีหอบหืดกำเริบ1ครั้ง ปวดหัว 2 วัน
การทานอาหาร ขับถ่ายปกติ นอนหลับได้ปกติ นอนดึกบ้างในบางวัน 

   การรักษา
- ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน  ใช้บริการต้มที่คลินิก
ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
- ให้ใช้ยาสมุนไพรหยอดจมูก วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น พร้อมกับนวด
กดจุด บริเวณจมูก
- ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)
ร่วมกับทานยาแก้แพ้ 1 เม็ด ตอนเช้า , ใช้น้ำเกลือล้างจมูก 2 ครั้ง 

การติดตามอาการเดือนพฤษภาคม 2561  ได้กลิ่นจางๆประมาณ 30นาทีอยู่5-6ครั้ง จมูกโล่งขึ้น น้ำมูก
เสมหะและจามน้อยลง ไม่มีอาการหอบหืด ปวดหัว1ครั้ง การทานอาหาร
ขับถ่ายปกติ นอนหลับได้ปกติ นอนดึก พักผ่อนน้อยในบางวัน

 การรักษา
 - ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน ใช้บริการต้มที่คลินิก
ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
- ให้ใช้ยาสมุนไพรหยอดจมูก วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น พร้อมกับนวด
กดจุด บริเวณจมูก
- ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)
ร่วมกับการทานยาแก้แพ้ 1 เม็ด ตอนเช้า ,ใช้น้ำเกลือล้างจมูก 2 ครั้ง

การติดตามอาการเดือนมิถุนายน 2561
 ได้กลิ่นจางๆหลายครั้ง อาการคัดจมูกด้านขวาไม่ค่อยเด่นชัดแล้ว
จมูกโล่งขึ้น น้ำมูก เสมหะและจามน้อยลง ไม่มีอาการหอบหืด
และปวดหัว การทานอาหาร บางครั้งท้องผูก นอนหลับไม่ลึก
นอนดึก พักผ่อนน้อยบ้างในบางวัน ลิ้นมีสีม่วงคล้ำน้อยลง
บ่งบอกถึงมีความเย็นสะสมอยู่ภายในลดลง เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

 การรักษา
-  ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน ใช้บริการต้มที่คลินิก
ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที

- ให้ใช้ยาสมุนไพรหยอดจมูก วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น พร้อมกับนวด
กดจุด บริเวณจมูก

- ฝังเข็ม (โดยแพทย์จีนหลูเหมียวซิน)
ร่วมกับใช้น้ำเกลือล้างจมูกทุกวัน วันละ 2ครั้ง
อาการเดือนตุลาคม 2562  ผู้ป่วยรักษาอย่างต่อเนื่อง จากได้กลิ่นจางๆระยะเวลาสั้นๆ
ก็ได้กลิ่นนานขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันได้กลิ่นประมาณ 70-90%  
ระหว่างการรักษาผู้ป่วยมีช่วงที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย
และติดเชื้อไข้หวัดอยู่หลายครั้ง เมื่อเป็นหวัดจะไม่ได้กลิ่น
เมื่อหวัดหายจะใช้เวลาสักพัก ถึงจะค่อยๆได้กลิ่น
จึงต้องใช้ระยะเวลารักษาที่นานขึ้น


  ณ ปัจจุบัน หยุดยาทานและยาพ่นแผนปัจจุบันมา
1ปี 4 เดือน หยุดฝังเข็มมา 9 เดือน ตอนนี้ยังคงล้างจมูกทุกวัน
ไม่มีปวดหัวจากไซนัสอีก จะมีอาการหอบหืดต่อเมื่อเป็นหวัด
หรือป่วยเท่านั้น

 การรักษา
 - ปรับยาให้เข้ากับอาการปัจจุบัน จ่ายยาจีน ใช้บริการต้มที่คลินิก
ทานยา เช้า 1ถุง เย็น 1 ถุง หลังอาหาร30นาที
 -  ให้ใช้ยาสมุนไพรหยอดจมูก วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น
พร้อมกับนวด กดจุด บริเวณจมูก ร่วมกับใช้น้ำเกลือล้างจมูกทุกวัน
วันละ 2ครั้ง


การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนนั้น ถือว่าได้ผลที่น่าพอใจ คนไข้ที่มีอาการกำเริบรุนแรงจำนวนมากสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ การรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้โดยศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีมาอย่างยาวนานเป็นพันปี แพทย์แผนจีนมีวิธีการรักษาต่างๆมากมาย เช่น การใช้ตำรับยาจีน ซึ่งยาจีนมีตัวยาที่ปัจจุบันวิจัยมาแล้วว่ามีสรรพคุณช่วยเรื่องภูมิแพ้จมูกอักเสบ เช่น ซินอี๋ฮวา ชางเอ๋อจึ ประกอบกันตัวยาชนิดอื่นขึ้นมาเป็นตำรับให้เหมาะกับคนไข้คนนั้นๆ ก็จะทำให้ร่างกายเข้าสู่สมดุล แข็งแรงขึ้น ไม่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ไวเกินไป ซึ่งทางคลินิกได้นำชางเอ๋อจึมาทำยาหยอดจมูกด้วย





ซินอี๋ฮวา Xin Yi Hua 辛夷花  หรือ ดอกแมกโนเลีย

สรรพคุณ :  มีกลิ่นหอม ฤทธิ์อุ่น  เข้าเส้นลมปราณ  ปอด และ กระเพาะ  ขจัดลม ทะลวงจมูก ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะ ไซนัสได้ดี




ชางเอ๋อจึ Cang Er Zi 苍耳子

สรรพคุณ : มีฤทธิ์อุ่น เผ็ด เข้าเส้นลมปราณปอด มีพิษเล็กน้อย ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
ระบายลมและความเย็น ทะลวงจมูก ขับลมและความชื้น จึงช่วยบรรเทาอาการปวดได้

ส่วนหัตถการต่างๆที่ช่วยส่งเสริมการรักษา เช่น การฝังเข็มตัว การฝังเข็มหู การรมยา การกดจุด ก็ใช้การวินิจฉัยแบบแพทย์แผนจีนในการเลือกจุดทำหัตถการ  ในการรักษาแบบแพทย์แผนจีนนั้นให้ความสำคัญกับการรมยามาก เนื่องจากการรมยาสามารถอุ่นเส้นลมปราณและเสริมสร้างสุขภาพได้ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เจออากาศเย็น ตื่นนอนตอนเช้า แล้วมีอาการกำเริบ




อ่านข้อมลเพิ่มเติม  - การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการกดจุด เพื่อกระตุ้นเลือดลมในร่างกาย จุดที่สำคัญ ได้แก่

 จุดยิ่นถาง ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง


Cr.Photo : www.popo.cn

 จุดหยิงเซียง ที่อยู่ตรงร่องแก้ม ตรงกับแนวกึ่งกลางปีกจมูก  กดทุกวัน วันละ 50 ครั้ง

Cr.Photo : m.sohu.com


ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการกำเริบต่างๆก่อนไม่ว่าจะเป็น ฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ เกสรดอกไม้ ฯลฯ

2. การใช้ยาปฎิชีวะนะ ไม่มีความจำเป็นในการรักษาโรคนี้ ยกเว้นในรายที่น้ำกมูกเหลืองหรือเขียว หรือสงสัยเป็นไซนัสอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ

3. ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูก ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา เพราะยาบางชนิดที่เข้ายาแก้แพ้หรือแก้คัดจมูก เมื่อหยอดบ่อยเกินไป ก็อาจทำให้เยื่อจมูกอักเสบมากยิ่งขึ้น

4. รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการบำรุงอาหารสุขภาพ (กินผักผลไม้ให้มากๆ) ออกกำลังกายเป็นประจำ (เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ขี่จักรยาน) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และผ่อนคลายความเครียด (เช่น ฝึกโยคะ รำมวยจีน สวดมนต์ ฝึกสมาธิ ฟังเพลง) ก็มีส่วนช่วยให้โรคทุเลาได้

5.ไม่ควรทานของเย็น รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

6. ในกรณีเป็นหวัด คัดจมูก โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน นานเกิน 2 สัปดาห์ ควรให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ

บทความโดย  แพทย์จีน คณิฏฐ์ษา จิรัฐิติกาล (เซี่ย กุ้ย อิง) 
คลินิกอายุรกรรมภายนอก (ผิวหนัง) 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้