Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 61414 จำนวนผู้เข้าชม |
การต้มยาจีนด้วยตัวเอง
สำหรับการต้มยาจีนด้วยตัวเองอย่างถูกวิธีนั้น แบ่งขั้นตอนการต้มออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก คือ แช่ยา ต้มยา และเทยา
เริ่มจากการเลือกภาชนะและน้ำที่จะนำมาใช้ในการต้มยา ภาชนะที่ใช้ในการต้มยาสมุนไพรจีน ได้แก่ หม้อดิน หม้อสแตนเลส น้ำที่ใช้จะต้องเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ ควรเป็นน้ำดื่มที่ ไม่มีสารเคมีเจือปน
จุดเด่นของสมุนไพรจีนคือการสั่งยาให้คนไข้เฉพาะราย ซึ่งเป็นยาที่เหมาะสมตามการจำแนกกลุ่มอาการในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ในตำรับยาจะประกอบไปด้วยตัวยาหลัก ตัวยารอง ตัวยาเสริม ตัวยาช่วย และ ตัวยานำพา ซึ่งสมุนไพรแต่ละชนิดจะมีวิธีการต้มที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพที่เหมาะสม
เมื่อเปิดห่อสมุนไพรออก จะมีสมุนไพรบางชนิดที่ถูกห่อแยกไว้ ได้แก่ ยาต้มก่อน ยาต้มหลัง ยาผงชงละลาย หรือ ยาที่ใส่ถุงผ้า
1. ในกรณีที่มียาต้มก่อน ให้นำสมุนไพรจีนต้มก่อนใส่ลงหม้อต้ม
สมุนไพรจำพวกนี้เป็นสมุนไพรมีลักษณะแข็งหรือเป็นแร่ธาตุ ซึ่งสารออกฤทธิ์ละลายได้ยากและช้า จึงต้องใช้เวลาในการต้มนาน
เมื่อเริ่มต้มเติมน้ำให้ท่วมยา ให้ใช้ไฟแรงก่อน ปิดฝาต้มจนน้ำเดือด แล้วใช้ไฟอ่อนต้มต่อไปอย่างน้อย 30 นาที และหมั่นคอยเติมน้ำไม่ให้แห้ง
ในระหว่างที่ต้มสมุนไพรต้มก่อน ให้แช่สมุนไพรจีนที่อยู่ในห่อใหญ่ทั้งหมด หากมียาที่ใส่ถุงผ้าให้แช่รวมกัน หากได้รับขิงสดแนบมาด้วย ให้นำมาแบ่งตามจำนวนวันของยาให้เป็นท่อนเท่าๆกัน แล้วนำ 1 ท่อนมาซอยเป็นแผ่นบางใส่ลงไปแช่พร้อมกัน
สมุนไพรที่ใส่ถุงผ้ามักจะมีลักษณะเป็นผงหรือเป็นขน มีลักษณะเหนียวหรือเป็นยางซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกขณะต้มและทำให้เกิดอาการคันคอได้
เติมน้ำอุณหภูมิห้องจนท่วมสมุนไพรประมาณ 1 ข้อนิ้วมือ แช่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้น้ำซึมเข้าเนื้อสมุนไพร ให้ลองหักสมุนไพรดูข้างใน ถ้าน้ำซึมเข้าไปทั่วแล้วถือว่าเหมาะสม พร้อมที่จะขึ้นตั้งไฟ
2. เมื่อต้มสมุนไพรต้มก่อนเสร็จแล้ว ให้นำยาจีนที่แช่รอไว้มาเทรวมกัน เริ่มต้มโดยใช้ไฟแรงจนน้ำเดือด แล้วใช้ไฟอ่อนต้มต่อไป 20 – 30 นาที หรือตามที่แพทย์สั่ง
หากมีสมุนไพรต้มหลัง ให้ใส่ก่อนยกหม้อลง 3-5 นาทีและคนให้โดนน้ำทั่วกัน สมุนไพรจำพวกนี้ ได้แก่ สมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์เป็นน้ำมันหอมระเหยซึ่งไม่ทนต่อความร้อน จึงต้องใส่ต้มภายหลังตัวยาอื่น
จากนั้นยกหม้อลงจากเตาและกรองเอาแต่น้ำยา
สำหรับห่อยาที่ไม่มีสมุนไพรต้มก่อนหรือต้มหลัง สามารถแช่ยาเป็นเวลา 30 นาที และต้มได้ตามขั้นตอนการต้มปกติ
3. สมุนไพร 1 ห่อ สามารถต้มได้ 2 ครั้ง สำหรับการต้มครั้งที่สองให้ใช้กากยาจากครั้งแรก เติมน้ำให้ท่วมพอดีกับกากยา แล้วต้มต่ออีก 1 ครั้ง แล้วกรองเอาแต่น้ำ หลังจากนั้นเทยาต้มที่ได้จากการต้มทั้งสองครั้งผสมเข้าด้วยกัน แบ่งออกเป็นสองส่วน เพื่อให้ความเข้มข้นเท่ากัน ยาในส่วนที่ยังไม่ได้รับประทานให้ใส่ในภาชนะปิดมิดชิด แล้วแช่ในตู้เย็นช่องปกติ และนำอุ่นดื่มในมื้อถัดไป
หลังจากที่ต้มยาจีนได้ถูกต้องตามวิธีข้างต้นแล้ว การรับประทานยาจีนให้ถูกวิธีนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ ควรรับประทานในขณะที่ยายังอุ่นอยู่ หากมียาชง ให้ชงละลายกับยาต้มในขณะที่ยังร้อน แล้วรับประทานตามที่แพทย์สั่ง ควรเก็บยาต้มไว้ในตู้เย็นช่องปกติ ทั้งนี้ให้สังเกต กลิ่น สี และรสชาติ ซึ่งไม่ควรเปลี่ยนจากเดิมมากนัก
เวลาที่เหมาะสมในการรับประทานยาจีน ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกาย โรค และตำรับยาที่ใช้ ควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ โดยทั่วไปจะแนะนำให้รับประทานหลังอาหาร 30 นาที เช้าและเย็น หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาจีนตามเวลาที่แพทย์กำหนด ไม่ควรดื่มยาด้วยการเพิ่มจำนวนยาเป็นสองเท่าในมื้อถัดไป
- หากท่านได้รับยาใช้ภายนอก เป็นยาสำหรับล้างหรืออาบ ให้แช่ยา 20 นาที ต้มยาด้วยไฟแรง หลังจากน้ำเดือดให้ต้มต่อ 10 นาที หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
วิธีการเก็บรักษายาจีนอย่างถูกต้อง
1. การจัดเก็บยาห่อ ควรห่อให้มิดชิด เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น เพื่อป้องกันแมลง
2. การจัดเก็บยาเคอลี่ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องปกติ
3. การจัดเก็บยาต้ม เก็บไว้ในตู้เย็นช่องปกติ ไม่ควรเกิน 30 วัน หากเก็บในอุณหภูมิห้อง ไม่ควรเกิน 7 วัน
ยาต้มเป็นรูปแบบยาเตรียมที่นิยมใช้ในการแพทย์แผนจีนมากที่สุด การใช้ยาจีนในการรักษาโรคให้มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องวิเคราะห์สภาพร่างกาย และอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคน จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการหรือโรคเหมือนกันก็ตาม ฉะนั้นการรับประทานยาจีนจะส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกันไปในแต่ละคน จึงไม่สามารถรับประทานยาร่วมกันได้ ถ้าเปรียบกับเสื้อผ้า ต้องบอกว่า ยาต้มสมุนไพรจีนคือเสื้อผ้าที่สั่งตัดให้เหมาะสมกับรูปร่างของแต่ละบุคคล
ทั้งนี้การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ มีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิผลของการรักษาให้ดียิ่งขึ้น หากต้มยาอย่างถูกวิธีและได้มาตรฐาน จะทำให้ได้ยาที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการรับประทานยาและการเก็บรักษายาอย่างถูกต้อง ร่างกายก็จะได้รับการรักษาที่ดีไปด้วย
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567