มะเร็งลำไส้กับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  15370 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มะเร็งลำไส้กับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (colorectal cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยมากขึ้นทุกปี เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา สถานการณ์โรคมะเร็งของประเทศไทยในปัจจุบัน  พบว่า โรคมะเร็งยังเป็นสาเหตุการตายสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย และข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกว่า 70,000 คนต่อปี โดยจากสถิติของประเทศไทยล่าสุด พบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับที่สามของผู้ป่วยเพศชายที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ รองจากมะเร็งปอด และมะเร็งตับ และอันดับที่สามในเพศหญิง รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก


มะเร็งลำไส้ใหญ่
หมายถึงตั้งแต่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้นไปจนถึงส่วนปลายลำไส้ตรง  ซึ่งถือว่าเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในระบบทางเดินอาหาร  ตำแหน่งมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบส่วนใหญ่ร้อยละ 65-70 อยู่ด้านซ้ายต่ำกว่า splenic felxure โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ rectum และ sigmoid colon ที่เหลือร้อยละ 30-35 จะอยู่ด้านขวา พยาธิสภาพมะเร็งลำไส้ใหญ่ร้อยละ 98 เป็น adenocarcinoma  ส่วนใหญ่มักจะแพร่กระจายไปตามต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะต่างๆโดยอาศัยทางเส้นเลือด เช่น ตับ ปอด กระดูก ช่องท้อง เป็นต้น



โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้มากหลังอายุ 50 ปี แต่โอกาสเกิดโรคจะมีการเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ หลังอายุ 40 ปี เป็นต้นไป โดยยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์ก็จะสูงขึ้นด้วย แต่ในปัจจุบันพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยมากขึ้น ในเพศชายจะพบได้มากกว่าเพศหญิง ปัจจัยส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทของทอด ของมัน ของปิ้งย่างไหม้เกรียมเป็นประจำ  ปัจจัยอื่นอาจเกิดจากดื่มสุรา สูบุหรี่ มีเพียงส่วนน้อยมากที่มาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และพบว่าถ้าพบติ่งเนื้อ (Polyp) ในลำไส้ใหญ่อาจเป็นจุดเริ่มต้นสามารถพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จึงควรรีบรักษา  แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาของเซลล์กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้นั้นใช้เวลานานกว่า 10ปี ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตุตัวเองหากมีความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยควรจะรีบรักษาอย่าปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรังจนเป็นมะเร็งในที่สุด  


อาการแสดง    มะเร็งลำไส้การดำเนินของโรคค่อนข้างช้า ในช่วงแรกๆมักจะไม่มีอาการแสดง แล้วอาการจะค่อยๆแสดงในเวลาต่อมาและเป็นหนักขึ้น ซึ่งอาจพบอาการต่างๆได้คือ

1.  การขับถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติ เช่น มีอาการท้องผูกสลับท้องเสียผิดไปจากปกติ อุจจาระรูปร่างเป็นเส้นเล็กหรือแบนๆ

2.  ท้องผูกเรื้อรัง หรือมีท้องเสียถ่ายเป็นน้ำเรื้อรังเป็นเดือน

3.  ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด แบบเป็นบิดเรื้อรังเป็นเดือน หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสดๆ แบบริดสีดวงทวาร

4.  เบื่ออาหาร

5.  น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ

6.  ปวดท้อง ปวดเกร็ง ท้องอืด 

7.  อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือซีดโดยไม่รู้สาเหตุ

8.  อาจคลำก้อนได้ในท้อง


โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในทางการแพทย์แผนจีน
ตั้งแต่สมัยโบราณใน “คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง” และคัมภีร์อื่นๆ มีการบันทึกไว้ถึงอาการที่คล้ายกับมะเร็งลำไส้  โดยแพทย์แผนจีนต่างมีความเห็นว่ากลไกการเกิดโรคจะเกี่ยวข้องกับ “พื้นฐานร่างกายพร่อง” “พิษสะสม” “ความชื้นสะสม” “ความร้อน” “เลือดติดขัดอุดกั้น”
นานวันสะสมกลายเป็นก้อนมะเร็งอยู่ภายใน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอวัยวะม้ามและไตเป็นสำคัญ


 

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ในมุมมองแพทย์แผนจีน

1. การทานอาหารที่ไม่เหมาะสม

2. เกิดจากอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ  (อ่าน - อารมณ์ก่อโรค)

3. พิษปัจจัยเสียภายนอกเข้าสู่ร่างกายเช่น ความเย็น ความชื้น ความร้อน เป็นต้น
(อ่าน- เมื่อร่างกายมีเสมหะและความชื้นสะสมมากเกินไป)


4. ทุนร่างกายแต่กำเนิดไม่สมบูรณ์
(อ่าน - ฉันเป็นคนแบบไหน ? เช็คพื้นฐานสุขภาพตนเองด้วยทฤษฎีแพทย์จีน)


5. พื้นฐานร่างกายอ่อนแอจากการที่อายุมากขึ้น หรือจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง

 

การรักษามะเร็งลำไส้ในทางการแพทย์แผนจีน

ในทางการแพทย์แผนจีนกล่าวว่า ม้ามเป็นอวัยวะที่ควบคุมการย่อยอาหาร ดูดซึม ม้ามทำงานร่วมกับกระเพาะอาหารและไต โดยม้ามจะแปรเปลี่ยนอาหารเป็นสารอาหาร สารจำเป็น เลือด ชี่ ส่งไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย โดยอาศัยพลังจากไตเข้ามาช่วยด้วย และกระเพาะอาหารจะช่วยแยกของเสียส่งต่อไปทางลำไส้และขับออกจากร่างกาย ถ้าม้ามทำงานผิดปกติก็จะทำให้สารต่างๆไม่ถูกส่งไปเลี้ยง ของเสียก็จะไม่ถูกขับออก ซึ่งจะทำให้ของเสีย ความชื้นสะสมหมักหมมยู่ภายในลำไส้ นานวันเข้าเลือดและชี่ติดขัด ก่อตัวกลายเป็นก้อนภายใน ดังนั้นหลักการรักษาจะต้องเน้นบำรุงม้ามและไตเป็นสำคัญ แล้วขจัดปัจจัยเสียต่างๆความชื้น พิษร้อน และภาวะเลือดชี่ติดขัด 

แพทย์แผนจีนจะให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ตามระยะของโรค และตามขั้นตอนการรักษาแบบผสมผสาน

1. มะเร็งลำไส้ระยะเริ่มต้น  เจิ้งชี่หรือภูมิต้านทานยังพอมีอยู่ เสียชี่แกร่งแต่ยังอยู่ระดับตื้น ดังนั้นการรักษาจะเน้นกระตุ้นการไหลเวียนของชี่ สลายเลือดคั่ง ขับพิษความชื้นและความร้อน เพื่อป้องกันหลังจากการรักษาไม่ให้การกลับมาเป็นซ้ำและแพร่กระจาย

2. มะเร็งลำไส้ระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย  เจิ้งชี่พร่องหรือภูมิต้านทานไม่มี เสียชี่เข้าสู่ภายใน ดังนั้นในการรักษาจะเน้นบำรุงม้ามไต และตับ เสริมสร้างเลือดและบำรุงชี่เป็นหลัก ร่วมกับขับพิษความชื้นและความร้อน  เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน ป้องกันการกระจาย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  

3. มะเร็งลำไส้ช่วงที่รักษาหรือหลังรักษาด้วยแผนปัจจุบัน  แพทย์แผนจีนจะเน้นในเรื่องช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษา และฟื้นฟูสภาพร่างกายเป็นหลัก  เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่างๆและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถรับการรักษาได้ต่อเนื่องจบคอร์ส และยังช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษาอีกด้วย



กลุ่มภาวะอาการที่พบบ่อย

1. ความร้อนชื้นก่อตัวสะสม湿热蕴结
อาการ : ปวดท้องเป็นพักๆ ถ่ายเหลวปนมูกเลือดหรืออุจจาระเหนียวมีกลิ่นเหม็นเน่า ปวดถ่ายแต่ถ่ายยาก แสบร้อนเป็นขับถ่าย หรือมีไข้หนาวสั่นร่วมด้วย แน่นหน้าอก กระหายน้ำบ่อย ลิ้นแดงฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว

การรักษาโดยโภชนบำบัด : เน้นอาหารที่ช่วยระบายร้อนไล่ความชื้น ระบายลำไส้ เช่น เลือกทานเป็นต้มโจ๊กถั่วแดงลูกเดือย (ถั่วแดง+ลูกเดือย อย่างละ 50 กรัม และข้าวสาร 1/2 ถ้วย) ต้มเป็นโจ๊กทาน จะช่วยระบายร้อยขับความชื้น ขับพิษขจัดหนอง ปรับบำรุงระบบทางเดินอาหาร

2. ชี่ติดขัดและเลือดคั่ง气滞血瘀型
อาการ : แน่นหน้าอก ท้องอึด ปวดท้องอยู่บริเวณเดิมๆ คลำเจอก้อนแข็งบริเวณท้อง ถ่ายเหลวเป็นมูกหนองปนสีแดงคล้ำ ลักษณะของอุจจาระหรือพฤติกรรมการขับถ่ายไปเป็นปกติ เป็นต้น ลิ้นม่วงคล้ำหรือมีจ้ำเลือดคั่ง ฝ้าลิ้นเหลือง ชีพจรตึงหรือขัด

การรักษาโดยโภชนบำบัด : เน้นอาหารที่ช่วยปรับการเดินของชี่ขจัดเลือดคั่ง  เช่น ชากุหลาบส้มโอมือ (อย่างละ 2 กรัม) ช่วยปรับชี่ ขจัดเลือดคั่ง ปรับทางเดินอาหาร ช่วยบรรเทาอาการปวดแน่นได้ และยังช่วยให้ผ่อนคลายนอนหลับ หรือต้มเป็นโจ็กส้มโอมือเห็ดหูหนู (ส้มโอมือ +เห็ดหูหนูดำ อย่างละ 6 กรัม+ลูกเดือย อย่างละ 50 กรัม และข้าวสาร 1/2 ถ้วย) ช่วยปรับชี่ ขจัดเลือดคั่ง ปรับบำรุงระบบทางเดินอาหาร

3. ม้ามพร่องความชื้นสะสม脾虚湿蕴
อาการ : อาหารไม่ค่อยย่อย แน่นหน้าอกและช่องท้อง  เสียงลำไส้ดัง ท้องเสีย แขนขาไร้เรี่ยวแรง ผอมน้ำหนักลด สีหน้าซีดเหลือง ลิ้นซีดฝ้าขาวเหนียว ชีพจรอ่อนและเต้นเนิบช้า

การรักษาโดยโภชนบำบัด : เน้นอาหารที่ช่วยเสริมม้ามขจัดความชื้น เช่น ชาข้าวบาร์เลย์ ช่วยปรับบำรุงม้าม ขจัดความชื้น  ช่วยย่อยอาหารและทำให้เจริญอาหาร หรือทานโจ็กลูกเดือยซานเย่า (ลูกเดือย + ซานเย่าสด อย่างละ 100 กรัม ขิง 3 แว่น และข้าวสาร ½ ถ้วย) ช่วยปรับบำรุงม้ามและทางเดินอาหาร ขจัดความชื้น ช่วยลดอาหารถ่ายเหลวได้

4. ม้ามและไตหยางพร่อง脾肾阳虚
อาการ : ปวดท้องน้อยๆอยู่ตลอด เป็นๆหายๆ ชอบความอุ่นชอบกดท้อง อาเจียน แน่นท้องกินไม่ค่อยลง กลัวหนาว มือเท้าเย็น  ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรืออาจมีอาการถ่ายท้องตอนช่วงตีห้าหรือรุ่งสาง อาจมีถ่ายปนเลือด อาเจียนปนเลือดสีคล้ำจางๆ ลิ้นซีดฝ้าขาวชุ่ม  ชีพจรจมเล็กหรือจมไม่มีแรงเต้นช้า  

การรักษาโดยโภชนบำบัด : เน้นอาหารที่ช่วยอุ่นบำรุงม้ามและไต เช่น โจ๊กวอลนัทเม็ดบัว (เนื้อผลวอลนัทนึ่ง +เม็ดบัวต้ม เอาไส้กลางออก อย่างละ 100 กรัม และข้าวสาร ½ ถ้วย) ช่วยปรับบำรุงม้ามและทางเดินอาหาร ให้ลำไส้แข็งแรงลดอาหารถ่ายเหลว และยังช่วยอุ่นบำรุงไต ขจัดความชื้น

5. ตับและไตพร่อง肝肾阴虚
อาการ : มีอาการร้อนทั้ง5  เวียนหัวลาตาย  ปากขม ลิ้นคอแห้ง ปวดเมื่อยเอวขาอ่อนแรง ท้องผูก ลิ้นแดง ชีพจรเล็กและตึง

การรักษาโดยโภชนบำบัด : เน้นอาหารที่ช่วยเสริมบำรุงตับและไต เช่น ชาเก๋ากี้เจว๋หมิง (เก๋ากี้ 5 กรัม + เจว๋หมิงจื่อหรือเมล็ดชุมเห็ด 10 กรัม)  ช่วยบำรุงตับและไต เสริมอินระบายร้อน หล่อลื่นลำไส้ช่วยขับถ่ายได้ หรือ ต้มตับหมูปวยเล้งเกากี้ (ตับหมู 1 ถ้วย+ ปวยเล้ง 1 กำ เก๋ากี้ 10 กรัม และขิง 3 แว่น) ช่วยเสริมอินให้ความชุ่มชื้น ขจัดความแห้ง บำรุงตับและไต บำรุงเลือด  

6. ชี่และเลือดพร่อง气血两虚
อาการ : หายใจสั้น เหนื่อยเพลียไม่มีแรง ถ่ายเหลว ไส้ตรงหย่อนตุง หน้าซีดขาว ลิ้นซีด ชีพจรจมและเล็ก

การรักษาโดยโภชนบำบัด : เน้นอาหารที่ช่วยบำรุงชี่และเลือด เช่น ซุปไก่ดำปักคี้ (ปัคคี้ + ตังกุย + ตั่งเซิน อย่างละ 10 กรัม + ไก่ดำ 1ตัว + ขิง 5 แว่น + พุทราจีน 2-3 ลูก ) หรือ โจ๊กโสมปัคคี้ (ปัคคี้ + ตั่งเซิน อย่างละ 20 กรัม ต้มเคี่ยวแล้วเอาแต่น้ำที่ได้มาต้มโจ๊กต่อ + พุทราจีน 2-3 ลูก + ข้าวสาร ½ ถ้วย ) ช่วยบำรุงชี่และเลือด เสริมบำรุงระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการเหนื่อยเพลียไม่มีแรง

 ผล “กีวีสด” สามารถช่วยระบายร้อนเสริมอิน ปรับการทำงานระบบทางเดินอาหาร ขับปัสสาวะได้ นอกจากนี้ยังมีวิตามินมากมาย ช่วยลดไขมันและน้ำตาลในเลือดได้ เป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้สามารถทานได้ทุกวัน วันละ 1-2 ผล

 (อ่านเพิ่ม - เมนูอาหารหย่างเซิง


อาการร่วมที่พบได้บ่อย
1. ภาวะลำไส้อุดตัน(Intestinal obstruction) ส่วนในผู้ป่วยมะเร็งอาจมีภาวะลำไส้อุดตัน เนื่องจากมีก้อนเนื้อมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ หรือหลังการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง ซึ่งจะทำให้การถ่ายอุจจาระผิดปกติ ท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน ไม่ผายลม บางรายอาจไม่มีการถ่ายอุจจาระเลย หรือถ้าถ่ายออกมาก็อาจมีเลือดปนออกมาด้วย  ในทางแพทย์แผนจีน  เนื่องจากลำไส้มีชี่ไหลเวียนไม่ปกติ  เลือดและชี่ติดขัด ทำให้เลือดคั่งและพิษก่อตัวสะสมเป็นก้อนอุดตันอยู่ภายใน

แนวทางการบรรเทาอาการเบื้องต้น : ในเบื้องต้นสามารถทำการสวนทวารช่วยได้ อาจใช้ยาสวนทวารทั่วไป หรือ ทำดีท็อกซ์สวนทวาร หรือรับประทานยาระบายทั่วไป อาจใช้ประคบถุงสมุนไพรแบบร้อนและนวดคลึงบริเวณหน้าท้องเพื่อกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาได้ทันท่วงที

2.ภาวะไขกระดูกถูกกดทับการทำงานหลังการทำคีโม  ยาเคมีบำบัดมักจะไปกดไขกระดูกทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดง  เม็ดเลือดขาว  และเกร็ดเลือด  มีจำนวนลดลง  ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกอ่อนเพลีย  หายใจถี่  วิงเวียนศีรษะ  หน้ามืด  เลือดออกง่ายและหยุดยาก  มีจ้ำเลือด และเม็ดเลือดขาวต่ำผู้ป่วยมักจะติดเชื้อได้ง่าย   ในทางแพทย์แผนจีนการรักษาเน้นให้ความสำคัญกับ “ม้าม”   และ “ไต”

แนวทางการบรรเทาอาการเบื้องต้น :  นอกจากการใช้ยาที่ช่วยปรับบำรุงเลือดทั้งยาปัจจุบันและยาสมุนไพรจีนตามที่แพทย์สั่งให้แล้ว ในการเลือกรับประทานอาหารก็มีความสำคัญโดยควรเลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย หรือเลือกอาหารที่ช่วยบำรุงเลือด เช่น ซุปกระดูกหมูถั่วลิสงพุทราจีน (กระดูกหมู 150 กรัม + ถั่วลิสง ติดเปลือกสีแดงไว้ 30 กรัม + พุทราจีน 6 ลูก + ขิง 6-7 แว่น )  หรือ ซุปไก่ดำปักคี้ หรือ โจ๊กโสมปัคคี้ ในข้างต้นที่กล่าวมา

นอกจากนี้ยังสามารถพบภาวะท้องมาน (ascites) คือภาวะที่มีน้ำขังอยู่ในช่องท้องจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย มักจะพบอาการได้บ่อยโดยจะมีอาการแน่นท้อง ท้องโตขึ้น ร่วมกับอาการอื่นๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา  หรืออาการปวดจากมะเร็ง เช่น ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเอว-ก้นกบ และอื่นๆ ซึ่งโดยมากผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเนื่องจากกระจายและลุกลามของมะเร็ง มักจะทำให้เกิดอาการปวด ซึ่งอาการปวดจะเป็นในลักษณะปวดต่อเนื่องรุนแรง ผู้ป่วยมักจะใช้ยาระงับปวดประเภทมอร์ฟีนร่วมด้วย  ส่วนในทางแพทย์แผนจีนก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ระดับหนึ่งโดยอาศัยการรับประทานยาจีน หรือยารักษาภายนอกร่วมด้วย และยังช่วยลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาระงับปวดได้อีกด้วย  แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งไม่ควรใช้วิธีนวดคลายเส้นเพราะอาจทำให้กระดูกที่เปราะหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาอยู่จึงจะดีที่สุด    


บทความโดย แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ 

แผนกอายุรกรรม โรคมะเร็ง


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
1. สารพันคำถามโรคมะเร็ง
2. มะเร็งปอด กับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน
3. การรักษาด้วยยาจีน
4. กินยาจีนอย่างไรให้ได้ผลดี
5. ข้อแนะนำในการใช้ยาสมุนไพรจีน



เอกสารอ้างอิง

WuWanyin, LiuWeisheng. 2013. TCM clinical diagnosis and treatment of oncology specialty diseases, Third Edition. People's health publishing house,     Beijing.

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้