มือเท้าเย็นในทัศนะหมอจีนและวิธีการรักษา

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  137796 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มือเท้าเย็นในทัศนะหมอจีนและวิธีการรักษา

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน  คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกือบทุกบ้านจะต้องมีเครื่องปรับอากาศ   พัดลม  ตู้เย็น  เครื่องทำความเย็น ที่ทำให้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย  แต่เครื่องทำความเย็นเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่ย้อนกลับมาทำร้ายร่างกายผู้ใช้ได้  หากใช้อย่างไม่ระวัง  เช่น  เวลานอนทุกคืนต้องเปิดแอร์เย็นฉ่ำ  ห่มผ้าหนา ๆ นุ่ม ๆ  เวลากลางวัน ทำงานในออฟฟิศเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน  ตอนเช้าก่อนเข้างานต้องดื่มกาแฟเย็น ชาเย็นสักแก้ว ตอนบ่ายก็ต้องดื่มอีกแก้วแก้ง่วง  เวลากลับมาถึงบ้านไม่ว่าเหงื่อโทรมหรือเหงื่อซึมก็ต้องรีบเปิดพัดลม  เปิดเครื่องปรับอากาศเป่าตัวให้หายร้อน 

พฤติกรรมเหล่านี้ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็ทำกัน  แต่รู้หรือไม่ว่าความเคยชินแบบนี้กลับส่งผลเสียในระยะยาว  ความเย็น ลมเย็น  น้ำเย็นหรือแม้กระทั่งผักผลไม้เย็นฉ่ำที่เพิ่งนำออกมาจากตู้เย็น  สามารถทำร้ายพลังหยางในร่างกายเราได้  เมื่อพลังหยางของร่างกายถูกทำลาย  อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ก็เริ่มแสดงออกมา  เช่น  มือเท้าเย็น  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ   อาหารไม่ย่อย  ท้องอืด    ท้องเสียง่าย  ถ่ายเหลว  มึนเวียนศีรษะ  ง่วงหงาวหาวนอน  รู้สึกไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า  เป็นต้น


โดยทั่วไปแล้วคนปกติไม่ควรจะเกิดอาการมือเท้าเย็น  เว้นแต่ความเครียด ความตื่นเต้นที่เกิดในบางครั้ง ร่างกายจะมีปฏิกริยาที่ตอบสนองต่ออารมณ์  ทำให้เกิดอาการมือเท้าเย็นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วยุคสมัยที่เราอยู่กันนี้  กลับมีคนเป็นโรคมือเท้าเย็นเยอะมาก  ส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย  บางคนเป็นมากอาจขี้หนาว  หรือกลัวความเย็นเฉพาะจุด  เช่น ต้นคอ  ศีรษะ  แผ่นหลัง  ไม่ชอบให้บริเวณดังกล่าวถูกความเย็น  ในทางการแพทย์แผนจีน เรียกผู้ที่มีอาการอย่างนี้ว่ามีภาวะ หยางพร่อง (阳虚)


พลังหยาง คือ ความร้อน ขับเคลื่อนชี่และเลือดให้ไปเลี้ยงอวัยวะทั้งร่างกาย    หากพลังหยางอ่อนแอ  ทำให้ชี่และเลือดไปเลี้ยงปลายมือปลายเท้าไม่พอ มือเท้าจะเย็น   เล็บซีดหรือออกสีม่วง  ทั้งนี้ทั้งนั้นอวัยวะที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงคือม้ามและไต   ม้ามควบคุมแขนขารวมไปถึงมือเท้า  หากหยางของม้ามพร่องยังทำให้มือเท้าขาดการหล่อเลี้ยง  ความรู้สึกและการเคลื่อนไหวของแขนขาผิดปกติ  พลังหยางของไต เป็นพลังหยางหลักของร่างกายที่ส่งผลถึงอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  ไตหยางเป็นพลังหยางที่สำคัญที่สุดของร่างกาย  สามารถขับเคลื่อนให้อวัยวะอื่น ๆ อบอุ่นและทำงานได้อย่างเป็นปกติ  เป็นพลังงานความร้อนที่เก็บสะสมไว้ของร่างกาย



แนวทางการรักษาของแพทย์แผนจีน 
จะเน้นที่การบำรุงพลังหยางเป็นหลัก  ควบคู่กับการบำรุงชี่และเลือด  กระตุ้นให้พลังหยางนำชี่และเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างทั่วถึง  วิธีการรักษาทำได้ทั้งการรับประทานยาจีนเพื่อบำรุงพลังหยางของม้ามและไตและปรับสมดุลการทำงานของอวัยวะภายใน และฝังเข็มร่วมกับการรมยา  โดยเลือกใช้จุดที่มีสรรพคุณบำรุงพลังหยางของไต ได้แก่กวนหยวน(关元)จุดเซิ่นซู(肾俞)และจุดหย่งเฉวียน(涌泉) เพิ่มพลังชี่และเลือดได้แก่จุด จู๋ซานหลี่(足三里)จุดชี่ห่าย(气海)  



นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่งของอาการมือเท้าเย็น  คือ กลุ่มอาการหยางอุดกั้น(阳郁证)  หมายถึง  พลังหยางถูกอุดกั้น ปิดกั้นอยู่ในร่างกายช่วงลำตัว ไม่สามารถแผ่กระจายออกไปถึงส่วนปลายอย่างมือและเท้าได้  ถึงแม้จะมีอาการมือเท้าเย็นเหมือนกัน  แต่ช่วงลำตัว ศีรษะใบหน้า มักรู้สึกร้อน  จิตใจร้อนรุ่ม  กระสับกระส่าย  หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ  เป็นสิว  มีแผลในปาก  มีกลิ่นปาก  เป็นกลุ่มอาการร้อนต่างๆ เป็นต้น  หากอาการหนักขึ้นหรือเป็นระยะเวลานาน  ความร้อนที่ถูกกักเก็บอยู่ในร่างกายจะเปลี่ยนเป็นไฟ  กลายเป็นกลุ่มอาการไฟอุดกั้น(火郁证) กลุ่มอาการหยางอุดกั้นแตกต่างกับ หยางพร่องอย่างสิ้นเชิง  แน่นอนว่าการรักษาย่อมแตกต่างกัน  ทั้งนี้ต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แผนจีนก่อน  ถึงจะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว  สามารถรับประทานยาจีนที่มีสรรพคุณกระจายหยางชี่ที่ติดขัด  ขจัดความร้อนส่วนเกินในร่างกาย เสริมสร้างพลังอินที่ถูกทำร้ายไป  การฝังเข็มก็สามารถรักษาได้ด้วยเช่นกัน  โดยเลือกใช้จุดระบายชี่และความร้อนที่อุดกั้น  ใช้วิธีการครอบแก้วแบบแก้ววิ่ง  เพื่อระบายความร็อนที่อุดกั้นอยู่ในร่างกายออกทางผิวหนัง  แน่นอนว่าการทำหัตถการควรทำโดยแพทย์จีนที่มีความเชี่ยวชาญ  เพื่อความปลอดภัยในการรักษาและผลการรักษาที่ดี


 

บทความโดย  แพทย์จีนสิริลักษณา  ทวีโชติช่วง 
แผนกฝังเข็ม  หัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาศรีราชา



 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้