ลมพิษ ผื่นลม ผื่นซ่อนเร้น โรคผิวหนังเรื้อรังที่เป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  119404 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ลมพิษ ผื่นลม ผื่นซ่อนเร้น โรคผิวหนังเรื้อรังที่เป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก

“เคยไหม ... ที่อยู่ดีๆผิวเราก็มีผื่นขึ้นนูนแดงขึ้นมา หรือบางทีก็อาจเป็นปื้นๆ เกาแล้วเกาอีก เกาแล้วก็ยิ่งนูนยิ่งแดงจนรู้สึกร้อน พอรู้สึกคันเกาแล้วก็ขึ้นผื่นนูนขึ้นมา พอผ่านไปสักไม่กี่ชั่วโมงก็หายไป วันต่อมาก็วนกลับมามีผื่นนูนคันเหมือนเดิมอีกแล้ว ถ้ามีอาการแบบนี้ละก็คุณอาจจะเป็นลมพิษแล้วก็ได้ ... ”

ลมพิษ ถือเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือลมพิษเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยลมพิษเรื้อรังนี้ยังแบ่งย่อยลงไปได้อีกเป็นผื่นลมพิษที่เกิดขึ้นเองและลมพิษที่เกิดจากปัจจัยทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิภายนอกภายในร่างกาย แรงกดทับ การขูดขีด แสงแดด การสัมผัสต่างๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีปัจจัยกระตุ้นมาจากอาหาร  ยา หรือสภาวะแวดล้อมและมีส่วนหนึ่งของผู้ป่วยไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ลมพิษสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยแต่พบมากในช่วงวัยกลางคน

ลมพิษ
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทางคลินิก โดยผิวหนังจะมีลักษณะนูนขึ้นมาเป็นบริเวณกว้างมากน้อยต่างกันไป อาจมีเพียงจุดเดียวหรือหลายจุดกระจายไปทั่วร่างกายก็ได้ มักจะเกิดหลังจากสัมผัสกับลม ดังนั้น ศาสตร์การแพทย์จีนจึงเรียกว่า ผื่นลม และจากลักษณะที่เป็น ๆ หาย ๆ จึงได้มีชื่อเรียกอีกว่า ผื่นซ่อนเร้น ในบางรายอาจเกิดเป็นซ้ำได้หลายครั้ง หรือบางรายอาจไม่มีอาการเกิดซ้ำนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้


สาเหตุและอาการแสดงของโรคนี้ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจน ในตำราแพทย์จีนโบราณ เช่น ตำรา Synopsized Prescriptions of Golden Chamber ได้กล่าวว่า
“หากชี่ที่ก่อโรคมากระทำที่เส้นลมปราณเมื่อใด ผื่นซ่อนเร้นและอาการคันจะบังเกิดขึ้น”


สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในมุมมองแพทย์จีน
“ลมพิษ”  
มีสาเหตุหลักๆมาจาก พื้นฐานที่มีมาแต่กำเนิด (Congenital/禀赋) ไม่แข็งแรงร่วมกับสาเหตุอื่นเช่น สภาวะอากาศ อาหาร หรือสภาวะทางอารมณ์ ล้วนเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ทำให้เกิดลมพิษ โดยทางแพทย์จีนแบ่งออกตามสาเหตุการทำให้เกิดลมพิษมีดังนี้
- จากลมร้อน (ความร้อน) 
- จากลมเย็น (ความเย็น)
- กระเพาะและลำไส้ร้อนชื้น
- จากเว่ย์ชี่ (卫气)อ่อนแอ
- ภาวะชี่เลือดอุดกั้น
- ภาวะเลือดลมพร่อง


1. เกิดจากการคั่งของความชื้นที่ผิวหนังและกล้ามเนื้อ และถูกลมร้อนหรือลมเย็นมารุกรานเพิ่มเติม การต่อสู้ระหว่างความชื้นที่อยู่ระหว่างผิวหนังกับกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจึงเกิดผื่นลมนูนให้เห็น

2. เกิดจากการสะสมความร้อนในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งต่อมาถูกรุกรานจากลมก่อโรคที่ไม่สามารถกำจัดให้หมดไปทั้งที่เป็นลมภายในหรือลมภายนอกก่อให้เกิดลมร้อนสะสมอยู่ระหว่างผิวหนัง และกล้ามเนื้อเกิดผื่นลมขึ้นมา

3.  อีกสาเหตุมาจากพยาธิในลำไส้ เช่น พยาธิไส้เดือน  หรือพยาธิชนิดต่าง ๆ หรือเนื่องมาจากการรับประทานปลา กุ้ง หรือปูเป็นเหตุให้เกิดความไม่สมดุลของม้ามและกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการสะสมความร้อนชื้นขึ้นและไปสะสมอยู่ระหว่างผิวหนังและกล้ามเนื้อ

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการโรค       

การเกิดผื่นคันนูนขึ้นมาในรูปร่างและขนาดต่างๆกันบนผิวหนัง อาจเป็นมากขึ้นหรือน้อยลงจาก
สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว สามารถแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆได้ดังต่อไปนี้

อาการของลมพิษ

มักเกิดขึ้นเฉียบพลัน  เป็นผื่นนูนล้อมรอบด้วยรอยแดง ขอบเขตชัดเจน  ขนาดและรูปร่างต่างกันไป ผู้ป่วยจะรู้สึกคันมากและหากเกาก็จะเกิดผื่นแดงมากยิ่งขึ้น ผื่นนูนแดงมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากจะไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นนั้นก็จะยุบหายไปโดยไม่มีร่องรอย

ประเภทของลมพิษตามหลักแพทย์จีน
1. กลุ่มอาการจากลมร้อน (ความร้อน)  เมื่อเจอความร้อนผื่นจะขึ้น ผื่นมีสีแดงจัด เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกร้อน
2. กลุ่มอาการจากลมเย็น (ความเย็น)  เมื่อเจอความเย็นหรือน้ำเย็นมีผื่นขึ้น ผื่นมีสีแดงระเรื่อหรือสีขาว
3. กลุ่มอาการกระเพาะและลำไส้ร้อนชื้น ผื่นมีสีแดงสด พบเป็นบริเวณกว้าง มีอาการคันมากอาจพบโรคหรืออาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย
4. กลุ่มอาการเว่ย์ชี่อ่อนแอ ผื่นมักมีขนาดเล็ก เมื่อมีเหงื่อออก เจอลมหรือความเย็นผื่นจะขึ้น มักจะมีเหงื่อออกมาก ไม่สบาย(หวัด)บ่อย
5. กลุ่มอาการชี่เลือดอุดกั้น ผื่นมีสีแดงคล้ำ มักพบในบริเวณที่มีการกดทับ
6. กลุ่มอาการเลือดลมพร่อง  มีลมพิษเรื้อรังเป็นๆหายๆมาหลายเดือนหรือหลายปี มักจะมีผื่นขึ้นเมื่อร่างกายเหนื่อยล้า และผื่นปรากฏในช่วงบ่ายหรือกลางดึก

หลักการรักษา
1. กำจัดลมและความร้อน
2. กำจัดลมและความชื้น
3. กำจัดความร้อนในกระเพาะและลำไส้ 

การรักษาลมพิษ
การรักษาลมพิษทางแพทย์แผนจีนนั้นให้ผลดี เน้นไปที่การบำรุงชี่ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ขจัดลมที่ก่อโรค  ลดอาการคันเป็นหลัก แพทย์จีนแนะนำให้ผู้ป่วยทานยาจีน และอาจมียาใช้ภายนอกหรือใช้ยาแผนปัจจุบันร่วมด้วยในระยะแรกหากมีอาการรุนแรง  โดยเฉลี่ยแล้วใช้ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ประมาณ 3เดือนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและระยะเวลาที่เป็นโรค  หากมีอาการรุนแรงและเรื้อรังมายาวนานอาจจะใช้เวลาในการรักษามากกว่า 3 เดือน

ในช่วงการรักษาจำเป็นต้องหยุดกินยาอื่นๆหรือไม่ ?
ไม่จำเป็นแล้วแต่กรณี  ถ้าเป็นยาทานประจำหรืออาหารเสริมที่ทานประจำสามารถทานต่อได้ไม่กระทบกับสมุนไพรจีน แต่ในบางกรณียาและอาหารเสริมบางชนิดก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดผื่นแพ้ได้อาจจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยลมพิษ
1. หลีกเลี่ยงอาหารทะเล อาหารรสจัด แอลกอฮอล์ อาหารที่แพ้
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของหรือยาที่ทำให้เกิดอาการหนักขึ้นหรือทำให้ระคายเคืองได้ง่าย
3. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสุบบุหรี่

 วิธีการรักษาโดยวิธีการแพทย์แผนจีน 
1. การใช้ยาจีนในตำรับยาเฉพาะ 
2. การฝังเข็ม  โดยจะฝังเข็มบนจุดบนเส้นลมปราณม้ามและลำไส้ใหญ่เป็นจุดหลักในการรักษา การเคาะบริเวณที่เป็นผื่นด้วยเข็มเจ็ดดาวก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาโรค กำจัดสิ่งก่อโรคที่อยู่บริเวณผิวหนังและกล้ามเนื้อ  ระบายความร้อนจากเลือด และระบายความชื้น



คลินิกอายุรกรรมผิวหนังภายนอก
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

1. การรักษาด้วยยาจีน
2. ข้อแนะนำในการใช้ยาสมุนไพรจีน
3. ฝังเข็มเจ็บไหม อันตรายหรือไม่

4. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
5. การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture

6. การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ข้อมูลประกอบบทความ  : " หนังสือการฝังเข็ม รมยา เล่ม 2"

Acupuncture & Moxibusion Volume 2
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-616-11-0277-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้