นิ่วในไต Renal Colic and Stone

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  18823 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นิ่วในไต Renal Colic and Stone

ปวดจากนิ่วในไต เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทั้งในบริเวณที่เป็นนิ่ว เกิดภาวะขาดเลือด และก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะตามมา   "นิ่ว" คือก้อนหินปูนหรือผลึกเกลือแร่ซึ่งเกิดในระบบทางเดินน้ำปัสสาวะ  ระบบทางเดินน้ำปัสสาวะจะประกอบด้วยไต และน้ำปัสสาวะจากไต จะไหลผ่านหลอดไตเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ หลังจากนั้นผู้ป่วยก็จะขับปัสสาวะออกมาผ่านทางท่อปัสสาวะ สำหรับนิ่วที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะจะเกิดขึ้นที่ไตก่อน แล้วอาจจะหลุดมาติดอยู่ในหลอดไตหรือหลุดมาอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ของนิ่วมีหลายอย่าง เช่น แคลเซียม ออกซาเลต กรดยูริค


Cr.Photo : fairview.org

สาเหตุของการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
สาเหตุของการที่ทำให้เกิดมีการรวมตัวกันของผลึกของเกลือแร่หรือ หินปูนเป็นก้อนนิ่วยังไม่ทราบแน่นอน   แต่จะมีเหตุบางอย่างซึ่งจะช่วยส่งเสริมทำให้มีนิ่วเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ภาวะที่มีการคั่งของน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ   

ในผู้ป่วยชายซึ่งเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะที่ค้างในกระเพาะปัสสาวะก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดมีนิ่วเกิดขึ้น หรือในผู้ป่วยบางประเภท ซึ่งน้ำปัสสาวะมีความเข้มข้นของเกลือแร่มาก เช่น ดื่มน้ำน้อยกว่าปกติ หรือรับประทานอาหารบางประเภท ซึ่งมีเกลือแร่ขับออก มาทางน้ำปัสสาวะมาก เช่น พวกเครื่องในสัตว์หรือพวกผักสด หน่อไม้ เป็นต้น เหล่านี้จะเป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ การรับประทานอาหารพวกเครื่องในสัตว์มาก หรือ ประเภทเนื้อ พบว่ามีการขับเกลือแร่ชนิดหนึ่งคือ กรดยูริคแอซิค ออกมาในน้ำปัสสาวะมากอาจก่อให้เกิดนิ่วได้ หรือในกลุ่มที่รับประทานผักสด หรือหน่อไม้มากๆ ก็จะมีโอกาสทำให้เกิดนิ่ว ชนิดออกซาเลตได้ ฉะนั้นผู้ป่วยที่เคยเป็นนิ่วชนิดนี้มาก่อนก็จะมีโอกาสเป็นนิ่วชนิดนี้ได้อีกบ่อย ๆ


epainassist.com


จากสถิติทั่ว ๆ ไป พบว่านิ่วเป็นมากในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า แต่ที่น่าสังเกตก็คือ เด็กผู้ชายในภาคอีสานเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะมาก จากการวิจัยพบว่าเด็กขาดธาตุอาหารโดยเฉพาะโปรตีนบางชนิด และมักชอบรับประทานผักบางชนิด ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดนิ่วชนิดหนึ่งในกระเพาะปัสสาวะ

อาการและการแสดง
อาการของผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะขึ้นอยู่กับว่า เป็นนิ่วที่ตำแหน่งใด ถ้าเป็นนิ่วที่ไตหรือหลอดไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวด เอวข้างที่มีนิ่ว หรือปัสสาวะบ่อย ขุ่นหรือมีเลือด ส่วนผู้ป่วยที่เป็นนิ่วที่กระเพาะปัสสาวะมักมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะไม่ออกก็ได้ หากผู้ป่วยมีนิ่วที่ไตทั้ง 2 ข้างแล้วไต ไม่ทำงานทั้ง 2 ข้าง อาจมีผลทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงจากไตวาย

การตรวจ
ผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคนิ่ว ควรจะมาพบแพทย์ เพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจน้ำปัสสาวะ ซึ่งอาจจะพบว่ามีเม็ดเลือดแดงหรือเม็ดเลือดขาว ในน้ำ ปัสสาวะ และอาจต้องส่งผู้ป่วยไปเอกซเรย์บริเวณไตและกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะบอกได้ว่าผู้ป่วยมีนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่

การรักษา
การรักษาโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะปัจจุบันมีการรักษาอยู่ 2 วิธีคือ

1. รักษาโดยไม่ใช้การผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในหลอดไต ที่ขนาดเล็กมากๆ จะหลุดได้เองมาอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 10-15 แก้วต่อวัน ถ้ามีอาการปวดก็จะให้ยาแก้ปวด

2. รักษาโดยการผ่าตัด จะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อ นิ่วนั้นทำให้เกิดมีการเสียการทำงาน ของไต หรือทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะไม่ออก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นนิ่วที่กระเพาะปัสสาวะ

วิธีป้องกัน
สำหรับการป้องกันผู้ป่วยที่เป็นนิ่วไม่ให้เป็นใหม่นั้น ไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลสมบูรณ์ แต่มีวิธีป้องกันที่จะให้เกิดเป็นนิ่วใหม่ได้ยากโดยแนะนำผู้ป่วยดังนี้

1. แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 10-15 แก้ว

2. ให้ผู้ป่วยรักษาอาการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะเป็นสาเหตุ ให้เกิดนิ่วได้ง่าย

3. ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วควรจะได้ทราบจากแพทย์ว่าเป็นนิ่วชนิดใด โดยการเอานิ่วไปตรวจและรับคำแนะนำจากแพทย์ว่าควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทใด ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้เกิดนิ่วชนิดนั้น ๆ การกลั้นปัสสาวะนานจะทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะในผู้หญิง   การกลั้นปัสสาวะนาน ๆ ประมาณ 6 - 8 ช.ม. ไม่ทำให้เกิดเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แต่การคั่งของน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ ในผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่หมดนั้นต้องใช้เวลานานเป็นเดือนถึงจะมีนิ่วเกิดขึ้นได้


ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ จะต้องระวังการเกิดเป็นนิ่วใหม่ โดยรักษาต้นเหตุที่ทำให้เกิดมีการคั่งของน้ำปัสสาวะ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นต่อมลูกหมากโต ควรจะต้องรักษาเรื่องต่อมลูกหมากโต  เป็นต้น

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนพบว่า มีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่มีรสจัด หรือร้อน หรือมัน มากเกินไป  หรือดื่มสุรามากเกินไป   ก่อให้เกิดความร้อนชื้นไหลลงสู่ไตและกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดจากสุขอนามัยที่ไม่ดีของทางเดินปัสสาวะก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อก่อโรคทำให้เกิดความร้อนชื้นสะสมในระบบทางเดินปัสสาวะ หากมีการสะสมของความร้อนชื้นเหล่านี้นานจะแปรเปลี่ยนเป็นทรายและก่อเกิดก้อนนิ่วขึ้นมาได้ทั้งในไตและกระเพาะ ปัสสาวะ เกิดการขัดขวางการไหลของปัสสาวะและหน้าที่การขับปัสสาวะตามปกติรวมถึงขัดขวางการไหลเวียนของชี่ด้วย


อาการจะประกอบด้วยการปวดแบบเฉียบพลันเสมือนถูกมีดบาดในบริเวณช่วงเอวหรือท้องน้อยและมีปัสสาวะเป็นเลือด อาการปวดอาจอยู่นานราว 2 – 3 นาที แล้วหายไป ปวดเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจปวดนานเป็นชั่วโมงหรือกว่านั้นก็ได้ มักจะปวดตั้งแต่บริเวณเอวช่วงไตร้าวลงมาท้องน้อยฝั่งเดียวกันลงไปจนถึงท่อปัสสาวะหรืออวัยวะเพศภายนอกได้ หรือบางรายอาจเลยไปจนถึงต้นขาด้านในก็ได้ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยหรืออาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติได้

หลักการรักษา : ขจัดความร้อนชื้น บรรเทาอาการปวด และปรับการทำงานของระบบปัสสาวะ 


การรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนจีน

1. การฝังเข็ม และการกระตุ้นเข็ม
จุดฝังเข็มที่อยู่บนส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ ไต และม้าม ตามตำแหน่งของนิ่ว นิ่วในไตจนถึงทางเดินปัสสาวะ
- อ่าน - ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?

- อ่าน - ฝังเข็มเจ็บไหม ? อันตรายหรือไม่ ?



2. การรมยา
โดยการใช้สมุนไพรอ้ายเย่ รมที่จุดทั้งสองเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนในเส้นลมปราณและลดอาการปวด สามารถรมยาได้วันละหลายครั้งซึ่งวิธีการนี้ได้ผลดีดังที่ปรากฏในตำรา Classic of Fundamentals of Acupuncture and Moxibustion ว่า “นิ่วในไตรักษาด้วยการรมยาที่ GuanYuan(CV 4) หรือ QiMen(LR 14) หรือ DaDun(LR 1) จำนวน 30 moxa cones”       
อ่าน - การรมยาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

 

 

                        
3. กระตุ้นจุดด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
กระตุ้นปลายเข็มด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ 30 นาที  ใช้วิธีการฝังเข็มให้ลึกและให้ได้ชี่ (Qi)ที่แรงแล้วให้กระตุ้นจุดที่ฝังด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า โดย ให้ขั้วลบอยู่ใกล้ไต ขั้วบวกอยู่ใกล้กระเพาะปัสสาวะ ใช้คลื่น dense-disperse ด้วยความแรงให้มากเท่าที่ผู้ป่วยจะทนได้   ใช้เวลารวม 30 นาที ฝังเข็มวันละครั้ง ครบ 10 ครั้งนับเป็น 1 รอบการรักษา

ในขณะที่ทำการรักษาอยู่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกถึงการไหลลงไปตามท่อไต  และไม่ควรมีความผิดปกติอื่นใด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะปัสสาวะออกทันทีหลังการรักษาและรู้สึกดีขึ้นอย่างมาก ในขณะที่อาจมีนิ่วออกมากับปัสสาวะด้วย
- อ่าน - การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupuncture



           
4. ฝังเข็มที่หู
 ติดเม็ดหวังปู้หลิวสิงตามจุดและปิดพลาสเตอร์ทับ ให้ดื่มน้ำ 250 – 500 ซีซี  ทุกครั้งที่จะกระตุ้นจุดที่ใบหู ติดไว้นาน 3 วันแล้วเปลี่ยนข้าง ครบ 10 ครั้งเป็น 1 รอบการรักษาและควรออกกำลังกายร่วมด้วยเพื่อเสริมให้นิ่วออกได้ง่ายขึ้น



6. เจาะปล่อยเลือด
แพทย์จีนจะใช้เข็มสามเหลี่ยมปักที่จุดเพื่อให้เลือดออกปริมาณเล็กน้อย อาการปวดก็จะทุเลาลง เนื่องมาจากเมื่อมีการเสียเลือดจะกระตุ้นให้มีการไหลเวียนของเลือด  และลดภาวะอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะได้ อาการปวดเกร็งของท่อไตจะลดลงและอาการปวดบริเวณเอวจะทุเลาลง

7. การใช้ยาจีน
การใช้ยาสมุนไพรจีนเป็นการรักษาที่ช่วยส่งเสริมวิธีการรักษาอีกส่วนหนึ่ง ก่อนการจ่ายยาจะมีการตรวจวินิจฉัยเพือวิเคราะห์พยาธิสภาพของอาการและพื้นฐานสุขภาพของผู้ป่วย ตำรับยาที่เหมาะสมกับสภาวะผู้ป่วยจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น
- อ่าน - การรักษาด้วยยาจีน





หมายเหตุ :


1. การรักษาด้วยการฝังเข็มได้ผลดีในการลดอาการปวดแต่หากมีอาการปวดที่รุนแรงมาก    โดยที่การฝังเข็มไม่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ ให้พิจารณารักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันต่อไป

2. หากผู้ป่วยอายุยังน้อย มีอาการแบบฉับพลันและเป็นมาไม่นาน การดื่มน้ำมาก ๆ ร่วมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอ  อาจทำให้นิ่วที่ค้างอยู่หลุดออกมาได้ง่ายขึ้น

3. ในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคนิ่ว หรือหลังจากรักษาโรคนิ่วให้หายเป็นปกติดีแล้ว การดื่มน้ำปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำ ร่วมกับหลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุแคลเซี่ยมจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้



ข้อมูลประกอบบทความ  : การฝังเข็มรมยา เล่ม 3

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้