Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 25548 จำนวนผู้เข้าชม |
ช่วงฤดูฝน ฝนตกแทบทุกวัน อากาศก็เย็นชื้นสลับร้อน ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด น้ำมูกไหล ตัวร้อน เจ็บคอ ไอ คันคอ เมื่อยเนื้อเมื่อตัว ไม่สบายตัว ไม่โล่งสบาย คุณแม่ของผมก็มีอาการเหล่านี้เหมือนกันนะครับ
หลังจากที่คุณแม่ของผมได้ทานยาและนอนพักแล้ว อาการดีขึ้นมาระดับนึงแล้วแต่ก็ยังมีอาการไม่สบายตัวเล็กๆ น้อยๆ ติดต่อกันอีก 2-3 วันแล้ว แต่ก็ไม่หายสนิทสักที ผมก็เลยแนะนำให้คุณแม่ลองดื่มน้ำขิง โดยใช้ขิงสด ทุบๆบุๆพอแหลก แล้วก็เติมน้ำร้อนลงไป ทำเหมือนชาเลยนะครับ รอจนชาขิงอุ่นๆก็ให้คุณแม่ค่อยๆจิบ
ผ่านไป 1 วัน เห็นผลทันทีเลยครับ อาการของคุณแม่ก็ดีขึ้นเยอะเลย ทีนี้ผมก็เลยอยากจะมาแนะนำวิธีนี้แก่ทุกๆคน เพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่ไม่ยาก และไม่ต้องทานยามากจนเกินไป
“ขิง” นอกจากช่วยเรื่องหวัดแล้วยังช่วยในเรื่องสุขภาพ การดื่มน้ำขิงเป็นการแก้ไขอาการที่มักจะเกิดได้บ่อยๆกับสมาชิกในครอบครัวของเรา และ ขิงก็เป็นเป็นสมุนไพร เครื่องเทศที่หาได้ง่ายในเมืองไทย
“ขิง” มีสรรพคุณดีๆอะไรบ้าง
1. ช่วยย่อยอาหาร เมื่อเรากินอาหารเยอะเกินไปจนท้องอืด แน่นท้อง น้ำขิงสามารถช่วยส่งเสริมกระบวนการย่อยอาหารได้ดี โดยเฉพาะอาหารมันๆ โดยขิงจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ลดอาการหดเกร็งและแก้ปวดท้องได้อีกด้วยครับ
2. ลดอาการปวดประจำเดือนได้ เนื่องจากขิงมีสรรพคุณอุ่น ร้อน ช่วยบรรเทาอาการปวดเนื่องจากความเย็นในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือน
3. ป้องกันหวัด หรือ บรรเทาอาการหวัดได้ ช่วยลดอาการไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหล เป็นต้น
4. แก้อาการเมารถ เมาเรือ รวมทั้งอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
5. ลดอาการปวดบวมบริเวณที่มีอาการเคล็ดขัดยอกได้ เพียงแค่นำขิงสด ประคบวันละ 1 ครั้งจะลดอาการปวดบวมได้
6. ถ้านำขิงมาประกอบอาหารรับประทานทุกวันจะช่วยป้องกันมะเร็ง และลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วย
7. ช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉง สำหรับคนที่ขี้หนาว มักมีอาการเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวเมื่ออยู่ให้ห้องแอร์ที่มีอากาศชื้นเย็นและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก มักจะไม่ค่อยสดชื่น การดื่มน้ำขิงจะขิงช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น ช่วยระบายเหงื่อย และขับเหงื่อ
- ข้อควรระมัดระวัง -
ถึงแม้ “ขิง” จะมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าหากบริโภคมากเกินไปก็ทำให้เราไม่สบายได้เหมือนกันนะครับ ในคนทั่วไปขิง 1 แผ่น / น้ำ 1 แก้ว ถ้ากินก่อนนอนจะทำให้ฝันเยอะได้ บางคนอาจจะแพ้ขิง ดื่มแล้วระคายเคืองคอ ก็ให้งดรับประทาน หากไม่แน่ใจว่าเราสามารถรับประทานขิงได้หรือไม่สามารถปรึกษาหมอจีนได้ครับ
บทความโดย แพทย์จีน บดินทร์ ก่อกวิน (กวน จิน ซุ่น)
แผนกทุยหนาและกระดูก