Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 35060 จำนวนผู้เข้าชม |
การฝังเข็มศีรษะ (头针: Scalp Acupuncture) เป็นการฝังเข็มที่ตำแหน่งพิเศษของเขตกระตุ้นบนศีรษะ เป็นอีกหนึ่งวิธีของการฝังเข็มเพื่อใช้รักษาโรค เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา มีการใช้เข็มศีรษะอย่างหลากหลายในทางคลินิก จนกลายเป็นวิธีฝังเข็มที่ใช้บ่อยในการรักษาโรคหลายชนิด โดยเฉพาะโรคทางสมอง
ทฤษฎีเข็มศีรษะที่สำคัญ ใช้ในการอ้างอิงมี 2 ทฤษฎี
1. อ้างอิงตามหลักทฤษฎีอวัยวะภายในและเส้นลมปราณ
2. อ้างอิงตามตำแหน่งหน้าที่ของเปลือกสมอง (cerebral cortex) ซึ่งทอดเงามาที่หนังศีรษะ เพื่อเลือกตำแหน่งแนวฝังเข็มบนหนังศีรษะที่สัมพันธ์กัน
บริเวณศีรษะและหน้าที่ของอวัยวะภายในจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากศีรษะและใบหน้าเป็นตำแหน่งสำคัญของการรวมตัวกันของจิงชี่ ศีรษะเป็นแหล่งรวมตัวของหยางทั้งหมด สมองเป็นทะเลแห่งไขสมอง เป็นที่อยู่ของ “เสินดั้งเดิม (元神, YuanShen)” ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในและเส้นลมปราณ เป็นตำแหน่งสำคัญในการปรับเลือดและชี่ทั่วร่างกาย จึงใช้เป็นทฤษฏีอ้างอิงของเข็มศีรษะในการรักษาโรค การฝังเข็มศีรษะ เป็นการรักษาชนิดหนึ่งโดยการใช้เข็มหรืออุปกรณ์อื่นมากระตุ้นจุด เส้น หรือตำแหน่งบนศีรษะ ตั้งแต่เริ่มมีการฝังเข็มศีรษะในปี ค.ศ. 1970 ได้มีวิธีการฝังเข็มศีรษะเกิดขึ้นหลายสำนัก เช่น
การฝังเข็มศีรษะสำนัก เจียวซุ่นฝ่า (焦顺发)
การฝังเข็มศีรษะสำนัก ฟางอวิ๋นเผิง (方云鹏)
การฝังเข็มศีรษะสำนัก จูหมิงชิง (朱明清)
การฝังเข็มศีรษะสำนัก ทังซ่งเหยียน (汤颂延)
การฝังเข็มศีรษะสำนัก หลินเสวียเจี่ยน (林学捡)
การฝังเข็มศีรษะสำนัก หลิวปิ่งเฉวียนปากว้า (刘炳权八卦)
การฝังเข็มศีรษะสำนัก ญื่อเปิ่นซานเหยวียนหมิ่นเซิ่งซิน (日本山元敏胜新) (ญี่ปุ่น)
และ การฝังเข็มศีรษะแบบมาตรฐานสากล (国际)
วิธีการฝังเข็มศีรษะที่เป็นที่นิยมที่สุดในช่วงแรก คือ การหาจุดฝังเข็มโดยยึดหลักการทำงานของเปลือกสมอง ที่คิดค้นโดยสำนัก เจียวซุ่นฝ่า วิธีการฝังเข็มศีรษะ แบบมาตรฐานสากลนั้น เกิดในการประชุมเพื่อพัฒนามาตรฐานการฝังเข็ม ที่จัดขึ้นในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก โดยองค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1984 โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่าง วิธีของสำนักเจียวและสำนักจู
การฝังเข็มศีรษะแบบมาตรฐานสากล
(International Standard Scalp Acupuncture)
การฝังเข็มศีรษะแบบมาตรฐานสากล แบ่งตำแหน่งบนศีรษะเป็น 4 บริเวณ เพื่อใช้ในการเรียกชื่อเส้นแนวฝังเข็มที่อยู่ในแต่ละบริเวณ ได้แก่
1. หน้าผาก (额, Forehead)
2. ขม่อม หรือ กระหม่อม (顶, Vertex)
3. ขมับ (颞, Temporal)
4. ท้ายทอย (枕, Occiput)
ทั้งศีรษะมีเส้นฝังเข็มด้านซ้าย-ขวา 11 คู่ และตรงกลาง 3 เส้น (14 ชื่อ)
รวมทั้งหมด 25 เส้น ดังนี้
1. เส้นกลางหน้าผาก
ข้อบ่งใช้: โรคจิตประสาท โรคลมชัก โรคจมูก
2. เส้นข้างหน้าผาก 1 (额一线 ÉYīXiàn: Lateral line 1 of forehead) หรือ MS2
ข้อบ่งใช้: โรคหัวใจขาดเลือด เจ็บหน้าอก หอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคจมูก นอนไม่หลับ
3. เส้นข้างหน้าผาก 2 (额二线 ÉÈrXiàn: Lateral line 2 of forehead) หรือ MS3
ข้อบ่งใช้: โรคเกี่ยวกับตา และท้อง เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง แผลกระเพาะอาหาร แผลลำไส้เล็กส่วนต้น โรคตับและถุงน้ำดี
4. เส้นข้างหน้าผาก 3 (额三线 ÉSānXiàn: Lateral line 3 of forehead) หรือ MS4
ตำแหน่ง: จากจุดซึ่งอยู่ห่าง 0.5 ชุ่น ด้านในต่อจุด TouWei (ST 8) ของเส้นกระเพาะอาหาร ลากเส้นไปทางหน้าผาก ขนานกับเส้นกลางหน้าผาก ยาว 1 ชุ่น (รูปที่ 5.1)
ข้อบ่งใช้: เลือดออกผิดปกติจากมดลูก มดลูกหย่อนหรือยื่นออกช่องคลอด ชายเสื่อมสมรรถภาพทางเพศผู้ชาย อสุจิเคลื่อนเอง ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะบ่อย ปวดท้องส่วนล่าง และโรคเกี่ยวกับตา
5. เส้นกลางขม่อม (顶中线 DǐngZhōngXiàn: Middle line of vertex) หรือ MS5
ข้อบ่งใช้: อัมพฤกษ์ อาการชาและปวดปวดหลังส่วนเอว ขาและเท้า ปัสสาวะมากจากโรคของสมอง ลำไส้ตรงโผล่ทวารหนัก
6. เส้นเฉียงขม่อมและขมับเส้นหน้า (顶颞前斜线 DǐngNièQiánXiéXiàn: Anterior oblique line of vertex-temporal) หรือ MS6
ข้อบ่งใช้: โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ อ่อนแรงของร่างกายซีกตรงข้าม โดยแบ่งเส้นตามความยาวเป็น 5 ส่วน เท่ากัน เพื่อการรักษาส่วนต่าง ๆ ดังนี้
- 1/5 ส่วนบน สำหรับขาและลำตัว
- 2/5 ส่วนกลาง สำหรับแขน
- 2/5 ส่วนล่าง สำหรับใบหน้า รวมถึง น้ำลายไหล และพูดไม่ได้จากสมองส่วนสั่งการ (motor aphasia)
7. เส้นเฉียงขม่อมและขมับเส้นหลัง (顶颞后斜线 DǐngNièHòuXiéXiàn: Posterior oblique line of vertex-temporal) หรือ MS7
ข้อบ่งใช้: โรคเกี่ยวกับการรับความรู้สึกผิดปกติ ของร่างกายซีกตรงข้าม โดยแบ่งเส้นตามความยาวเป็น 5 ส่วน เท่ากัน เพื่อการรักษาส่วนต่าง ๆ ดังนี้
- 1/5 ส่วนบน สำหรับขาและลำตัว
- 2/5 ส่วนกลาง สำหรับแขน
- 2/5 ส่วนล่าง สำหรับใบหน้า
8. เส้นข้างขม่อม 1 (顶旁一线 DǐngPángYīXiàn: Lateral line 1 of vertex) หรือ MS8
ข้อบ่งใช้: โรคของเอวและขา เช่น อัมพาต อ่อนแรง อาการชา และอาการปวด
9. เส้นข้างขม่อม 2 (顶旁二线 DǐngPángÈrXiàn: Lateral line 2 of vertex) หรือ MS9
ข้อบ่งใช้: โรคของไหล่ แขนและมือ เช่น อาการอ่อนแรง อาการชา และอาการปวด
10. เส้นขมับหน้า (颞前线 NièQiánXiàn: Anterior temporal line) หรือ MS10
ข้อบ่งใช้: โรคของศีรษะ ใบหน้าและคอ เช่น อัมพฤกษ์-อัมพาตใบหน้า อาการชา และอาการปวด พูดไม่ได้จากสมองส่วนสั่งการ โรคในช่องปาก โรคตา
11. เส้นขมับหลัง (颞后线 NièHòuXiàn: Posterior temporal line) หรือ MS11
ข้อบ่งใช้: ปวดศีรษะ ไมเกรน เวียนศีรษะ เสียงอื้อในหู หูหนวก โรคของลำคอ-กระดูกต้นคอ
12. เส้นกลางท้ายทอย (枕中正中线 ZhěnZhōngZhèngZhōngXiàn: Upper middle line of occiput) หรือ MS12
ข้อบ่งใช้: โรคตา
13. เส้นข้างท้ายทอยบน (枕下旁线 ZhěnXiàPángXiàn: Upper lateral line of occiput) หรือ MS13
ข้อบ่งใช้: ปัญหาการมองเห็นจากโรคสมอง ต้อกระจก สายตาสั้น
14. เส้นข้างท้ายทอยล่าง (枕上旁线 ZhěnShàngPángXiàn: Lower lateral line of occiput) หรือ MS14
ข้อบ่งใช้: ปัญหาการทรงตัวที่เกี่ยวเนื่องจากสมองน้อย (cerebellum) ปวดศีรษะแถวท้ายทอย
การฝังเข็มศีรษะ สำนัก เจียวซุ่นฝ่า
อาจารย์ เจียวซุ่นฝ่า (焦顺发) แห่งมณฑลซานซี ได้ค้นคว้าพัฒนาการฝังเข็มศีรษะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 จนกระทั่งเดือนมีนาคม ค.ศ. 1971 ประสิทธิผลในการรักษาโรคของการฝังเข็มศีรษะ โดยเฉพาะโรคทางสมอง ก็ได้รับการยอมรับ และเผยแพร่ไปทั่วประเทศจีนและทั่วโลก ตำแหน่งบริเวณหนังศีรษะที่ฝังเข็ม ใช้การเทียบเคียงตรงกับบริเวณการทำหน้าที่ของเปลือกสมอง (cerebral cortex) โดยเรียกชื่อบริเวณฝังเข็มตามชื่อบริเวณของสมองที่ตรงกัน
ตำแหน่งฝังเข็มและข้อบ่งใช้
ตำแหน่งในการฝังเข็มศีรษะ ไม่มีลักษณะเป็นจุดเหมือนอย่างการฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ แต่กำหนดเป็นแนวเขตหรือบริเวณ ที่เทียบเคียงตรงกับพื้นที่ของเปลือกสมอง แนวพื้นที่เพื่อการฝังเข็มศีรษะมี 14 เขต โดยการหาตำแหน่งเขตฝังเข็ม อาศัยการอ้างอิงกับเส้นสมมติหลัก 2 เส้น (รูปที่ 5.6) ได้แก่
1. เส้นกึ่งกลางศีรษะ (前后正中线 QiánHòuZhèngZhōngXiàn: antero-posterior midline)
เส้นกึ่งกลางศีรษะ หรือ เส้นเชื่อมหว่างคิ้วและปุ่มท้ายทอย เริ่มต้นจากจุดกึ่งกลางระหว่างหัวคิ้ว 2 ข้าง ผ่านตามแนวกึ่งกลางกะโหลกศีรษะ ไปยังปุ่มท้ายทอยด้านนอก (external occipital protuberance; ต่อไปจะเรียก ปุ่มท้ายทอยด้านนอก ให้กระชับว่า ‘ปุ่มท้ายทอย’) และสิ้นสุดที่ขอบล่างของปุ่มท้ายทอย
2. เส้นข้างศีรษะ (眉忱线 MéiChénXiàn: eyebrow-occipital line)
เส้นข้างศีรษะ หรือ เส้นเชื่อมกลางคิ้วและปุ่มท้ายทอย เริ่มต้นที่กึ่งกลางขอบบนของคิ้วข้างใดข้างหนึ่ง ลากทแยงผ่านข้างศีรษะด้านเดียวกัน ตรงไปยังปุ่มท้ายทอย และสิ้นสุดที่ยอดปุ่มท้ายทอย
แนวฝังเข็ม 14 เขต ได้แก่
1. เขตควบคุมการเคลื่อนไหว (运动区 YùnTòngQū: Motor Area)
ตำแหน่ง: เป็นแนวเฉียงข้างศีรษะ จากเส้นกึ่งกลางศีรษะถึงเส้นข้างศีรษะ จุดเริ่มต้นหรือจุดบน อยู่ที่ 0.5 ซ.ม. หลังต่อจุดแบ่งครึ่งของเส้นกึ่งกลางศีรษะ ลากเฉียงเป็นแนวเส้นตรงไปยังจุดสิ้นสุดหรือจุดล่าง ที่จุดตัดกันระหว่างเส้นข้างศีรษะกับขอบแนวไรผมหน้าผาก ซึ่งอยู่ตรงขมับที่มุมจอนผม ในรายที่แนวไรผมไม่ชัดเจน สามารถหาจุดล่างได้ โดยการลากเส้นตั้งฉากกับจุดกึ่งกลางกระดูกโหนกแก้ม (zygomatic arch) ขึ้นไปตัดกับเส้นข้างศีรษะ (รูปที่ 5.7) เขตนี้ แบ่งเป็น 5 ส่วน เท่า ๆ กัน ดังนี้
- 1/5 ส่วนบน ตรงกับบริเวณควบคุมการเคลื่อนไหวของขาและลำตัว ด้านตรงข้าม
- 2/5 ส่วนกลาง ตรงกับบริเวณควบคุมการเคลื่อนไหวของแขน ด้านตรงข้าม
2/5 ส่วนล่าง ตรงกับบริเวณควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า ด้านตรงข้าม
ข้อบ่งใช้: ใช้รักษา อาการอ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต ของร่างกายด้านตรงข้ามกับด้านที่ฝังเข็ม โดย
- 1/5 ส่วนบน รักษา ขา-เท้า และลำตัวด้านตรงข้าม
- 2/5 ส่วนกลาง รักษา แขน-มือด้านตรงข้าม
- 2/5 ส่วนล่าง รักษาใบหน้าด้านตรงข้าม และการพูด เช่น หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว น้ำลายไหล พูดไม่ได้จากสมองส่วนสั่งการ หรือพูดไม่ชัดจากการควบคุมกล้ามเนื้อการพูดไมได้ (motor aphasia or impaired speech) ส่วนนี้จึงได้รับอีกชื่อหนึ่งว่า เขตการพูด 1 (the first speech area)
2. เขตรับความรู้สึก (感觉区 GǎnJuéQū: Sensory area)
ตำแหน่ง: แนวขนานกับเขตควบคุมการเคลื่อนไหว โดยอยู่ห่างไปทางด้านหลัง 1.5 ซ.ม. (รูปที่ 5.8) เขตรับความรู้สึกแบ่งเป็น 5 ส่วนเท่ากัน และใช้รักษาโรคของร่างกายด้านตรงข้ามกับสมอง เช่นเดียวกับเขตควบคุมการเคลื่อนไหว เพียงเปลี่ยนจากความผิดปกติของการเคลื่อนไหว เป็นการรับความรู้สึก ได้แก่
- 1/5 ส่วนบน เป็นบริเวณรับความรู้สึกของขา-เท้า ลำตัวและศีรษะด้านหลัง
- 2/5 ส่วนกลาง เป็นบริเวณรับความรู้สึกของแขน-มือ
- 2/5 ส่วนล่าง เป็นบริเวณรับความรู้สึกของใบหน้า
ข้อบ่งใช้: - 1/5 ส่วนบน รักษาอาการปวด ชา และการรับความรู้สึกผิดปกติของ ขา-เท้า และลำตัวด้านตรงข้าม ปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย ปวดต้นคอหรือคอด้านหลัง และเสียงอื้อในหู (tinnitus)
- 2/5 ส่วนกลาง รักษาอาการปวด ชา และการรับรู้สึกผิดปกติของแขน-มือด้านตรงข้าม
- 2/5 ส่วนล่าง รักษาอาการปวด ชา และการรับรู้สึกผิดปกติ ของใบหน้าด้านตรงข้าม เช่น ชาใบหน้า ปวดเส้นประสาทใบหน้า (trigeminal neuralgia) ปวดศีรษะข้างเดียว ปวดฟัน ปวดกราม
3. เขตควบคุมการสั่น (舞蹈震颤控区 WǔDǎoZhènChànKangZhìQū: Controlling area of chorea and tremor)
ตำแหน่ง: แนวขนานกับเขตควบคุมการเคลื่อนไหว โดยอยู่ห่างไปทางด้านหน้า 1.5 ซ.ม. (รูปที่ 5.8)
ข้อบ่งใช้: กลุ่มอาการพาร์คินสัน (parkinsonian syndrome) อาการสั่น การเคลื่อนไหวผิดปกติแบบต่อเนื่องที่ควบคุมไม่ได้ (chorea) หากมีอาการข้างเดียวให้ฝังเข็มศีรษะด้านตรงข้าม หากมีอาการทั้งสองข้างให้ฝังเข็มทั้งสองด้าน
4. เขตควบคุมขนาดหลอดเลือด (Vascular dilation and constriction area)
ตำแหน่ง: แนวขนานกับเขตควบคุมการสั่น โดยอยู่ห่างไปทางด้านหน้า 1.5 ซ.ม. (รูปที่ 5.8)
ข้อบ่งใช้: ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ อาการบวม
5. เขตเวียนศีรษะและการได้ยิน (云听区 YūnTīngQū: Vertigo-auditory area)
ตำแหน่ง: ใช้จุดเหนือยอดหู 1.5 ซ.ม. เป็นจุดกึ่งกลาง ลากเส้นแนวขวางไปด้านหน้า 2 ซ.ม. และไปด้านหลัง 2 ซ.ม. รวมเป็นเส้นขวางยาว 4 ซ.ม. (รูปที่ 5.8)
ข้อบ่งใช้: อาการมึนศีรษะ (dizziness) เวียนศีรษะ (vertigo) เสียงอื้อในหู (tinnitus) เวียนศีรษะจากประสาทหู (auditory vertigo) เสื่อมหรือเสียการได้ยิน (hearing impairment) หูแว่ว (auditory hallucination)
6. เขตการพูด 2 (语言二区 YǔYánÈrQū: The second speech area)
ตำแหน่ง: แนวเส้นขนานกับเส้นกึ่งกลางศีรษะยาว 3 ซ.ม. เริ่มต้นจากจุดที่อยู่ต่ำลงมา 2 ซ.ม. ใต้ต่อปุ่มกระดูกข้างขม่อม (parietal tubercle) แล้วลากเส้นตรงไปด้านหลังขนานเส้นกึ่งกลางศีรษะยาว 3 ซ.ม. (รูปที่ 5.8 และ 5.9)
ข้อบ่งใช้: ภาวะเสียการสื่อความเกี่ยวกับการระบุนาม (nominal aphasia)
หมายถึง อาการผิดปกติเกี่ยวกับการสื่อความประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้าใจภาษาพูด พูดได้คล่อง และพูดตามที่บอกได้ แต่เรียกชื่อวัตถุไม่ได้ เช่น ให้ดูนาฬิกา สามารถบอกได้ว่าใช้บอกเวลา แต่บอกไม่ได้ว่า สิ่งนี้เรียก นาฬิกา เป็นต้น
7. เขตการพูด 3 (语言三区 YǔYánSānQū: The third speech area)
ตำแหน่ง: เป็นแนวเส้นซ้อนทับกับครึ่งหลังของเขตเวียนศีรษะและการได้ยิน เริ่มต้นที่จุดกึ่งกลางเขตเวียนศีรษะและการได้ยิน (หรือจุดที่อยู่เหนือยอดหู 1.5 ซ.ม.) แล้วลากขวางไปด้านหลังยาว 4 ซ.ม. ทำให้ครึ่งหน้า 2 ซ.ม. ของเขตนี้ ซ้อนทับกับ 2 ซ.ม. หลัง ของเขตเวียนศีรษะและการได้ยิน (รูปที่ 5.8)
ข้อบ่งใช้: ภาวะเสียการสื่อความเกี่ยวกับการรับฟัง (sensory or Wernicke’s aphasia)
หมายถึง อาการผิดปกติเกี่ยวกับการสื่อความประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยสามารถได้ยินเสียงพูด แต่ไม่เข้าใจภาษา พูดได้คล่องแต่ไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่ได้ยิน เกิดจากความผิดปกติของสมองบริเวณรับรู้การได้ยิน หรือ Wernicke’s area
8. เขตปฏิบัติงาน (运用区 YùnYòngQū: Usage area or Praxis area)
ตำแหน่ง: เป็นแนวเส้นที่มีจุดเริ่มต้นเดียวกัน 3 เส้น โดยใช้ปุ่มกระดูกข้างขม่อม (parietal tubercle) เป็นจุดเริ่มต้น ลากเส้นตรงลงมายังโหนกกกหู (mastoid process) ยาว 3 ซ.ม. เป็นเส้นกลาง อีก 2 เส้น เริ่มจากจุดเดียวกัน ลากทำมุมกับเส้นกลาง 40 องศา ไปทางด้านหน้า 1 เส้น และด้านหลัง 1 เส้น ยาวเส้นละ 3 ซ.ม. (รูปที่ 5.8)
ข้อบ่งใช้: การสูญเสียความชำนาญในการทำกิจกรรม (apraxia)
หมายถึง การสูญเสียความชำนาญในการทำกิจกรรม ที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาของกล้ามเนื้อ การสั่น การไม่เข้าใจภาษา หรือการไม่ร่วมมือ แต่เกิดจากความผิดปกติของสมองบางบริเวณ การสูญเสียความชำนาญในการทำกิจกรรมมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับง่าย เช่น การปรบมือ จนถึงระดับที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การกลัดกระดุม การผูกเชือกรองเท้า เป็นต้น
9. เขตการเคลื่อนไหวและรับรู้สึกของขา (足运感区 ZúYùnGǎnQū: Foot motor-sensory area)
ตำแหน่ง: จุดเริ่มต้นอยู่ห่างจากจุดแบ่งครึ่งเส้นกึ่งกลางศีรษะ ไปทางด้านข้าง 1 ซ.ม. ลากเส้นขนานเส้นกึ่งกลางศีรษะไปทางด้านหลัง 3 ซ.ม. (รูปที่ 5.9)
ข้อบ่งใช้:
- อาการปวด ชา หรืออ่อนแรงของขาด้านตรงข้าม โดยการฝังเข็มด้านตรงข้าม
- ปัสสาวะผิดปกติจากโรคของสมอง เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะค้าง; ปัสสาวะเล็ดขณะนอนหลับ; ลำไส้โผล่ทวารหนัก (prolapse rectum) โดยฝังเข็มทั้งสองข้าง
- ปัสสาวะมาก-ดื่มน้ำมาก ในผู้ป่วยเบาหวาน; ปัสสาวะเล็ด-กลั้นไม่อยู่; ชายหย่อนสมรรถ ภาพ ทางเพศ หรืออสุจิเคลื่อนเอง; มดลูกหย่อนหรือยื่นจากช่องคลอด (prolapse uteri) โดยฝังเข็มทั้งสองข้าง ร่วมกับ เขตระบบสืบพันธุ์
10. เขตการมองเห็น (视区 ShìQū: Optic area)
ตำแหน่ง: จุดเริ่มต้นอยู่ห่างจากปุ่มท้ายทอยไปทางด้านข้าง 1 ซ.ม. ลากเส้นขนานเส้นกึ่งกลางศีรษะขึ้นไปด้านบน ยาว 4 ซ.ม. (รูปที่ 5.9)
ข้อบ่งใช้: ปัญหาการมองเห็นที่เกี่ยวเนื่องจากสมอง (cortical impairment of vision)
11. เขตการทรงตัว (平衡区 PíngHéngQū: The balance area)
ตำแหน่ง: จุดเริ่มต้นอยู่ห่างจากปุ่มท้ายทอยไปทางด้านข้าง 3.5 ซ.ม. ลากเส้นขนานกับเส้นกึ่งกลางศีรษะลงไปทางต้นคอ ยาว 4 ซ.ม. (รูปที่ 5.9)
ข้อบ่งใช้: ปัญหาการทรงตัวที่เกี่ยวเนื่องจากสมองน้อย (cerebellar equilibrium disturbance)
12. เขตกระเพาะอาหาร (胃区 WeiQū: Gastric or Stomach area)
ตำแหน่ง: จุดเริ่มต้นอยู่ที่ไรผมด้านหน้า ในแนวตรงกับกลางรูม่านตาในท่ามองตรง ลากเส้นขนานกับเส้นกึ่งกลางศีรษะไปทางด้านหลัง ยาว 2 ซ.ม. (รูปที่ 5.10)
ข้อบ่งใช้: ปวดจากกระเพาะอาหาร ความรู้สึกไม่สบายท้องส่วนบน (upper abdominal discomfort)
13. เขตทรวงอก (胸腔区 XiōngQiāngQū: Thoracic cavity area)
ตำแหน่ง: จุดกึ่งกลางเขตนี้อยู่ที่ไรผมด้านหน้า ตรงจุดกึ่งกลางระหว่างเส้นเขตกระเพาะอาหาร และเส้นกึ่งกลางศีรษะ ลากเส้นขนานกับเส้นกึ่งกลางศีรษะไปด้านหลัง ยาว 2 ซ.ม. และลากมาที่หน้าผาก ยาว 2 ซ.ม. รวมเขตนี้ยาว 4 ซ.ม. (รูปที่ 5.10)
ข้อบ่งใช้: เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ใจสั่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หอบหืด สะอึก
14. เขตระบบสืบพันธุ์ (生殖区 ShēngZhíQū: The reproductive area)
ตำแหน่ง: จุดเริ่มต้นอยู่ที่มุมไรผมด้านหน้า ลากเส้นขนานกับเส้นกึ่งกลางศีรษะขึ้นไปทางด้านหลัง ยาว 2 ซ.ม. (รูปที่ 5.10)
ข้อบ่งใช้:
- เลือดออกจากมดลูกผิดปกติ ตกขาว ช่องท้องน้อยอักเสบ ปวดอวัยวะเพศ
- ใช้ร่วมกับ เขตการเคลื่อนไหวและรับรู้สึกของขา เพื่อรักษา ปัสสาวะมาก-ดื่มน้ำมาก ในผู้ป่วยเบาหวาน; ปัสสาวะเล็ด-กลั้นไม่อยู่; ชายหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรืออสุจิเคลื่อนเอง; มดลูกหย่อนหรือยื่นจากช่องคลอด
วิธีฝังเข็มศีรษะ
แพทย์จีนจะให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือท่านอน ตามความสะดวกของผู้ป่วยและตำแหน่งในการฝังเข็ม และจะเลือกใช้เข็มตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึงวิธีการปักเข็ม กระตุ้นเข็มในรูปแบบการรักษาต่างๆกันไป ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ระหว่างกระตุ้นเข็มและคาเข็ม แพทย์จีนจะให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว-ออกแรง แขนขาข้างที่มีปัญหา เท่าที่สามารถทำได้ กรณีผู้ป่วยเคลื่อนไหวไม่ได้ ให้ช่วยเหลือโดยการจับให้เคลื่อนไหว เช่นเดียวกับการทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยอัมพาต
- ถ้าผู้ป่วยมีความรู้สึกอุ่น ชา เย็น หรือกระตุก ขณะฝังเข็ม บ่งชี้ว่า การรักษาจะได้ผล
การกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า: สามารถใช้ได้ แทนการกระตุ้นด้วยมือ โดยปฏิบัติเช่นเดียวกับการฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ นิยมใช้ความถี่สูง และกระตุ้นเบา ด้วยคลื่นแบบ continuous wave หรือ disperse-dense wave
อ่านต่อ การฝังเข็มร่วมกับกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า Electro-Acupunctureคืออะไร ?
รักษาอย่างไร ?
การกระตุ้นจุดด้วยวิธีอื่น: การนวดกดจุด การใช้เข็มดอกเหมยมาเคาะ การรมยาให้อุ่น และการใช้แม่เหล็กที่จุดฝังเข็ม ก็ได้ผลการรักษาระดับหนึ่ง วิธีเหล่านี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ทนความเจ็บไม่ได้
รอบการรักษาและระยเวลาการรักษา : ฝังเข็มทุกวัน หรือวันเว้นวัน 10 - 15 ครั้ง เป็น 1 รอบการรักษา จากนั้นพัก 5 - 7 วัน จึงเริ่มการรักษารอบต่อไป
หากระยะเวลาป่วยไม่เกิน 3 เดือน ฝังเข็มวันละ 1 ครั้ง และยืดเวลาในการคาเข็มเพื่อสะสมปริมาณการกระตุ้น หากป่วยนานเกินครึ่งปีขึ้นไป ฝังเข็มวันเว้นวันหรือ 3 วันต่อครั้ง
การเลือกข้างในการฝังเข็มศีรษะ
จากการวิจัยพบว่า ความแตกต่างของการฝังเข็มศีรษะในข้างปกติและข้างที่มีพยาธิสภาพของโรคหลอดเลือดสมอง ไม่มีความสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้น ทีมแพทย์ เฉินเท่อลี่ ได้วิจัยฝังเข็มจุด BaiHui (GV 20) โท่วไปยังจุด TaiYang (EX-HN 5) รักษาโรคสมองขาดเลือดตายเฉียบพลัน (acute cerebral infarction) พบว่าการฝังเข็มทั้งในข้างปกติและข้างที่มีพยาธิสภาพร่วมกัน มีประสิทธิภาพในการรักษาเหนือกว่าการฝังเข็มในข้างที่มีพยาธิสภาพเพียงอย่างเดียว จึงเสนอว่า การฝังเข็มศีรษะทั้ง 2 ข้างจะให้ผลการรักษาที่กว้างขวางและมีประสิทธิภาพกว่า
ข้อควรระวังในการฝังเข็มศีรษะ
1. การฝังเข็มศีรษะ จัดเป็นการกระตุ้นเข็มที่ค่อนข้างแรง ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นลมขณะฝังเข็มได้ ทีมแพทย์จีนที่ทำการรักษาจะเฝ้าระวัง สังเกตสีหน้าและท่าทางของผู้ป่วย และจะปรับความแรงในการกระตุ้นเข็มให้พอเหมาะสม
2. เข็ม อุปกรณ์ และขั้นตอนการฝังเข็ม จะมีการปฏิบัติตามขั้นตอนการป้องกันการติดเชื้อ โดยอาศัยหลักการเดียวกันกับการฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ
3. หนังศีรษะมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก จึงมีเลือดออกได้ง่าย รวมทั้งมีเส้นผมปกคลุม ทำให้ยากในการสังเกตพบเลือดออกในช่วงแรก ขณะถอนเข็มแพทย์จีนที่มีประสบการณ์การรักษาและมีความเชี่ยวชาญจะใช้เทคนิคพิเศษในการกดรูเข็ม เพื่อป้องกันเลือดออก
4. ผู้ป่วยเลือดออกสมองระยะเฉียบพลัน ที่อาการยังไม่คงที่ เช่น ไข้สูง ความดันโลหิตสูง หรือมีอาการวิกฤติอื่น ๆ ควรงดการฝังเข็มศีรษะไว้จนกว่าจะเข้าสู่ระยะคงที่ หากมีข้อบ่งชี้ในการฝังเข็มศีรษะ แพทย์จีนที่ทำการรักษาจะทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
ข้อห้ามในการฝังเข็มศีรษะ
1. เด็กเล็กที่กะโหลกศีรษะยังไม่ปิดสมบูรณ์ แพทย์จีนที่ทำการรักษาจะไม่ใช้เข็มศีรษะในการรักษา
2. กะโหลกศีรษะที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีการผ่าตัดเปิดสมอง มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่บริเวณศีรษะ มีแผลหนอง หรือมีรอยแผลเป็น จะไม่ทำการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มศีรษะ
3. ผู้ป่วยเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะวิกฤติต่าง ๆ ควรงดการฝังเข็มศีรษะจนกว่าจะมีอาการคงที่
4. ผู้ป่วยที่หวาดวิตกมาก หิวหรืออิ่มเกินไป ไม่ควรใช้เข็มศีรษะและไม่ใช้การกระตุ้นที่แรงเกินไป
สอบถามข้อมูลหรือปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ท่านสามารถแอดไลน์ เพื่อพูดคุย หรือสอบถามแนวทางการรักษาเบื้องต้น
LINE@ ได้ที่ : @huachiewtcm (พิมพ์ @ ด้วยนะคะ)
ตอบคำถาม 24 ชั่วโมง
HOTLINE : 095-884-3518
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
1. ฝังเข็มเจ็บไหม ? อันตรายหรือไม่ ?
2. ฝังเข็มรักษาโรคได้อย่างไร ?
3. รายชื่อแพทย์จีนเฉพาะทางด้านระบบประสาทและสมอง
ข้อมูลประกอบบทความ : การฝังเข็มรมยา เล่ม 4
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ร่วมกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเทียนจิน กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐประชาชนจีน
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567