Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 19874 จำนวนผู้เข้าชม |
การนวดทุยหนา (Tuina) เป็นวิธีการนวดรักษาในแบบวิธีแพทย์แผนจีน ดังนั้น ท่าทางการนวด และวิธีการนวดของแพทย์จีน จะมุ่งเน้นไปในเชิงของการรักษามากกว่าวิธีการแบบ Relax Therapy ดังนั้น ระยะเวลาในการนวดจะใช้เวลาไม่นาน
ในช่วงของการนวดรักษา ในบางกรณีผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บและปวดในตำแหน่งที่แพทย์จีนนวดในบางช่วงขณะรับการรักษา ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ผู้ป่วยมีการเตรียมความพร้อมก่อนการรับการรักษา แพทย์จีนแผนกทุยหนาและกระดูกจึงมีคำแนะนำสำหรับหลายๆท่านที่สนใจการรักษาด้วยวิธีนี้
อาการที่อาจเกิดขึ้น หลังจากการรักษาด้วยวิธีนวดทุยหนา
1. มีอาการปวดตึง หรือ เมื่อสัมผัสที่บริเวณที่มีการนวดแล้วรู้สึกแสบผิวเล็กน้อย หลังการนวดทุยหนา เกิดจากการบาดเจ็บกล้ามเนื้อเล็กน้อย มักเป็นในผู้ที่ไม่ค่อยได้รับการนวดผ่อนคลายมาก่อน ถ้าระบมผิวค่อนข้างมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวด ถ้าเป็นไม่มากดื่มน้ำมาก ๆ อาการจะค่อยๆ หายไปได้เอง เมื่อรับการรักษาครั้งต่อไปจะไม่มีอาการแบบนี้อีก
2. มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออกตามตัว
มือเท้าเย็น คลื่นไส้อาเจียน
มักเป็นในผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนน้อย เหน็ดเหนื่อยจากการออกกำลังกาย หรือการเดินทางไกล อาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ หรือตื่นเกร็งในการรักษา เพียงแค่รับประทานน้ำหวาน หรือนอนพักสักระยะหนึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
3. มีรอยเขียวเป็นจ้ำ ๆ ตามบริเวณที่นวด
เกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับประทานยาละลายลิ่มเลือดเป็นเวลานาน ๆ จากการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ เกิดจากภาวะโลหิตจาง ถ้ามีอาการเหล่านี้ รอยจ้ำจะสามารถหายไปได้เอง
4. มีไข้ หรือ อ่อนเพลีย มักเป็นในผู้ที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง หรือมีการกดนวดบริเวณต่อมน้ำเหลือง ถ้ามีอาการเหล่านี้ สามารถทานยาลดไข้ หรือ ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ก็จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ เมื่อเข้ารับการรักษาครั้งต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
5. มีอาการคัน หรือ มีผื่นแพ้ จากยาที่ใช้ภายนอก อาจเกิดจากการแพ้ยา หรือ ผิวแห้ง/บางจนเกินไปจนทำให้ระคายเคืองได้ง่าย ควรงดการใช้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ยา ควรงดการพอกยานานเกิน 4 ชั่วโมง หรือพอกยาทิ้งไว้ข้ามคืน
6. มีอาการมึนศีรษะ ตาลาย หลังจากนอนคว่ำนาน ๆ อาการนี่จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง เมื่อผ่านไปสัก 10 ~ 15 นาที
การเตรียมตัวและข้อควรทราบในการรักษาด้วยวิธีทุยหนา
1. ก่อนรับการรักษา ควรพักผ่อนให้เพียงพอไม่เหนื่อยล้า หรือ อ่อนเพลีย
2. สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม เพื่อความสะดวกและผ่อนคลายขณะทำการรักษา
3. ควรรับประทานอาหารก่อนรับการรักษาประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 1 ชั่วโมง
4. หากมีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาแผนปัจจุบันเป็นประจำควรแจ้งแพทย์ก่อนการรักษา
5. ผู้ป่วยที่มีเลือดออกง่าย หรือเป็นโรคผิวหนังบางชนิด โรคมะเร็ง วัณโรค หญิงตั้งครรภ์ ไม่เหมาะกับการรักษา
โรคหรืออาการที่แผนกกระดูกและทุยหนาสามารถรักษาได้ผล
• โรคกระดูกคอเสื่อม
• โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
• ข้อไหล่อักเสบ
• ไหล่ติด
• ข้อศอกอักเสบ
• กล้ามเนื้อเนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรัง
• เส้นเอ็นอักเสบจากการออกกำลังกายหรือใช้งาน
• โรคข้อเข่าเสื่อม
• กระดูกสันหลังส่วนเอวอักเสบเฉียบพลัน
• ข้อเท้าเคล็ด ข้อเท้าแพลง และโรคเกี่ยวกับกระดูกที่พบบ่อย รวมทั้งการจัดกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลังช่วงอก เพื่อบรรเทาอาการโรคกระดูกต้นคอที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเช่นวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ปวดศีรษะ ปวดเอวร้าวลงมา ปวดขา อีกทั้งทุยหนายังสามารถช่วยฟื้นฟูดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหัก หรือภาวะกระดูกเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การนวดแบบทุยหนามีข้อจำกัดบางประการ ผู้ป่วยที่สนใจการรักษาแขนงนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะและความชำนาญเฉพาะด้าน
อาการแบบไหนที่ “ห้ามนวด”
1. กลุ่มอาการโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ จุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ร้าวลงแขนซ้าย หายใจเหนื่อยหอบ คลื่นไส้อาเจียน หน้าซีดเหงื่อออก วียนศีรษะหน้ามืด
2. ไข้หวัด สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
หากมีไข้อุณหภูมิสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ไม่ควรนวดเนื่องจากการนวดจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ส่งผลให้ความดันและอุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเพลียและอ่อนแรงได้
3. ความดันโลหิตสูงเกิน 160/100 mmHg
หากมีความดันโลหิตสูงเกิน 160/100 mmHg ควรพักจนกว่าความดันจะต่ำลงมาในเกณฑ์จึงจะสามารถนวดได้ หากยังคงมีความดันสูงเกินเกณฑ์ไม่ควรนวดเนื่องจากการนวดจะส่งผลให้ความดันเพิ่มสูงขึ้น อาจจะเป็นอันตรายแก่คนไข้
4. ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (DVT)
ลักษณะมีน่องบวมแดง หรือมีเส้นเลือดขอดขึ้นมาที่ชัดเจนให้ควรระวังภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ซึ่งภาวะหลอดเลือดดำอุดตันจะส่งผลทำให้เลือดผ่านหลอดเลือดนั้นได้ยากมีผลเสียต่ออวัยวะที่เกี่ยวข้อง การนวดจะทำให้ระบบการไหลเวียนคล่องขึ้นซึ่งอาจทำให้ตะกรัน (PLAGUE) หลุดจนเกิดการอุดตันในหลอดเลือดได้
5. Hemophilia (โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก)
เป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบการแข็งตัวของเลือด ทำให้มีอาการเลือดออกง่ายแล้วหยุดยาก
6. แผลเปิด และ โรคติดต่อทางผิวหนัง
ไม่ควรนวดบริเวณที่เป็นแผลเปิด แผลเรื้อรัง หรือบริเวณที่มีรอยโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อได้
7.โรคกระดูกพรุนรุนแรง
โรคกระดูกพรุนรุนแรงจะมีความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดน้อยลง มีผลทำให้กระดูกไม่สามารถรับน้ำหนัก หรือแรงกดดันได้ตามปกติ การนวดที่แรงเกินไปอาจทำให้กระดูกหักได้
8. มะเร็ง
การนวดในคนไข้โรคมะเร็งอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของมะเร็งมากขึ้นได้ เช่นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองถ้าถูกนวดหรือกระตุ้นอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆได้ นอกเสียจากได้รับการยืนยันจากแพทย์ที่รักษามะเร็งว่าเป็นมะเร็งชนิดไม่แพร่กระจาย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง : การรักษาด้วยวิธีนวดทุยหนาควรรับการรักษากับแพทย์จีนเฉพาะทางที่มีมาตรฐานตรวจสอบใบประกอบโรคศิลปะได้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
ข้อมูลโดย
แพทย์จีนธีรา อารีย์ (หลินซีหยวน)
คลินิกกระดูกและทุยหนา
- อ่านข้อมูลเพื่มเติม -
การนวดรักษาด้วยวิธีทุยหนาคืออะไร ? นวดแบบไหน ? รักษาโรคได้อย่างไร ?
ตรวจสอบ - รายชื่อแพทย์จีนเฉพาะทางด้านทุยหนาและกระดูก
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567