รักษาอาการปวดประสาทจากเชื้องูสวัด

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  245953 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รักษาอาการปวดประสาทจากเชื้องูสวัด

อาการปวดประสาทจากโรคติดเชื้อไวรัส งูสวัด (Herpes Zoster) เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการปวดที่รักษาให้หายได้ยาก มีการรักษาหลายวิธีการ แต่ก็มักจะได้ผลไม่ดี ทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่สามารถทุเลาจากอาการปวดได้ แม้จะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยหลายรายต้องมีอาการปวดอย่างรุนแรงติดตัวไปตลอดชีวิต

งูสวัด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส varicella-zoster โดยผู้ป่วยจะมีผื่นลักษณะเป็นตุ่มน้ำ มีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือเจ็บเหมือนของแหลมทิ่มเป็นบริเวณเฉพาะที่ มักขึ้นเป็นแถบด้านใดด้านหนึ่งของลำตัวหรือใบหน้า มีช่วงระยะเวลาการเป็นโรคอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์

สาเหตุการเกิดโรค
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส varicella-zoster ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อที่ก่อโรคอีสุกอีใส หลังจากเป็นอีสุกอีใสแล้วเชื้อจะไปหลบที่ปมประสาทและกลายเป็นงูสวัดเมื่อผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเชื้อจะวิ่งไปตามแนวเส้นประสาททำให้เกิดการอักเสบ มีอาการปวดและผื่นตามมา เมื่อผื่นหายไปตามภาวะภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น แต่เส้นประสาทยังมีการอักเสบฟื้นฟูได้ช้าจึงทำให้ยังคงมีอาการปวดถึงแม้ผื่นจะหายไปแล้ว

อาการของโรค
หลังจากผื่นงูสวัดหายแล้ว ยังคงมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือปวดแบบเหมือนมีเข็มมาทิ่มแทง อาจเป็นตลอดเวลา หรือเป็นๆหายๆเป็นช่วงๆ หรือ อาการปวดเจ็บแบบแปร๊บๆตามแนวเส้นประสาทหลังจากที่ผื่นหรือตุ่มน้ำของงูสวัดหายไปแล้วยังคงมีอาการปวดอยู่ บางรายอาจมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือมีการขยับตัวลำบาก ยกของหนักไม่ได้ โดยมากมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป หรือมีอาการเสียว ปวดเมื่อมีการสัมผัส เสียดสี ตามแนวเส้นประสาทบริเวณที่มีผื่นของงูสวัดเกิดขึ้น หากเป็นหนักอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น นอนไม่หลับ อวัยวะบริเวณนั้นๆไม่มีแรง ขยับหรือเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนนั้นๆได้น้อยลง


ความเข้าใจผิดของผู้ป่วยที่คิดว่าโรคงูสวัดนั้นเป็นโรคผิวหนังโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่คิดว่าไม่เป็นไรมาก และมักหาซื้อยามาใช้เองหรือใช้การรักษาแบบพื้นบ้านตามความเชื่อของแต่ละถิ่น เมื่อมีอาการปวดรุนแรงมากจึงมาพบแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งมักช้าไป ทำให้การรักษายาก บางรายได้รับยาต้านเชื้อไวรัสในขนาดน้อยเกินไป  หรือเพียงครึ่งเดียวของขนาดที่ควรจะได้ เช่น Acyclovir ซึ่งขนาดของยาดังกล่าวจะเพียงพอสำหรับการรักษาเชื้อเริม (Herpes Simplex) เท่านั้น แต่ไม่เพียงพอสำหรับการกำจัดเชื้องูสวัด ทำให้การรักษาในภายหลังได้ผลไม่ดี เพราะการใช้ยาจะได้ผลดี เมื่อได้รับในขนาดที่เพียงพอ และได้รับในระยะแรก ๆ ของโรค ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อไวรัสกำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเท่านั้น

สาเหตุและพยาธิสภาพของโรค
โรคติดเชื้องูสวัด มิใช่โรคผิวหนัง แต่เป็นโรคระบบประสาท อาการที่ผิวหนังเป็นส่วนหนึ่งของโรคเท่านั้น เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสงูสวัดครั้งแรก (primary infection) ซึ่งมักเป็นในวัยเด็กเล็ก อาการแสดงของโรคจะปรากฏให้เห็นเป็นออกสุกใส ซึ่งมีอาการแสดงเฉพาะผิวหนังจริง ๆ เมื่ออาการทางผิวหนังหายแล้ว ร่างกายจะไม่สามารถกำจัดเชื้อนี้ได้หมด เนื่องจากไวรัสงูสวัดสามารถที่จะไปแอบซ่อนตัวในปมประสาทรับความรู้สึก และเม็ดเลือดขาวบางชนิด การอยู่อย่างซ่อนเร้นในเซลประสาทรับความรู้สึกของร่างกายนี้ ทำให้กลไกกำจัดเชื้อตามธรรมชาติของร่างกายไม่สามารถตรวจพบและกำจัดเชื้อออกไปได้ เชื้อเหล่านี้จะยังคงอยู่ตลอดไปและรอเวลา

เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง เช่น มีการเจ็บป่วยรุนแรง ระหว่างฟื้นไข้หรือระหว่างฟื้นตัวหลังผ่าตัด อดนอนตรากตรำงานมาก หรือได้ยากดภูมิต้านทานของร่างกาย เชื้อที่ซ่อนอยู่จะเริ่มกำเริบเพราะภูมิต้านทานของร่างกายไม่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะกำราบเชื้อได้ เชื้อที่ซ่อนตัวไว้จะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว (reactivation) จนมีจำนวนเชื้อมากพอถึงระดับที่จะแสดงอาการของโรค เชื้อจะเดินทางไปตามเส้นประสาทที่ออกจากปมประสาทบริเวณใบหน้าและ  2  ข้างของกระดูกสันหลัง วิ่งอ้อมไปทางเส้นประสาทที่อยู่รอบตัว หรือประสาทที่ออกไปเลี้ยงแขนขา หรือไปตามเส้นประสาทรับรู้ความรู้สึกบนใบ หน้า เมื่อเชื้อมาถึงผิวหนังจะทำให้เกิดพุขึ้นเป็นผื่นแดง ต่อมาเป็นตุ่มคล้ายคนเป็นสุกใสนั่นเอง

ดังนั้น ผื่นจึงมักจะเรียงตัวไปตามแนวรากและเส้นประสาทนั้น ๆ หากเราสังเกตตุ่มให้ดี จะเป็นตุ่มใสวางอยู่บนผื่นแดง และตรงกลางยอดของตุ่มใสจะมีบุ๋มลงไปคล้ายสะดือ ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างเฉพาะของผื่นผิวหนังจากงูสวัด



เนื่องจากการลุกลามหลังการติดเชื้อครั้งแรก จะแพร่กระจายมาตามเส้นประสาทรับความรู้สึก (sensory nerve and sensory root) จึงทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทร่วมด้วยเสมอ ไม่มากก็น้อย เพียงแต่จะเกิดชั่วคราวหรือจะเกิดรุนแรงจนเป็นถาวร


อาการปวดประสาทอย่างรุนแรง กับความรุนแรงของแผลของผิวหนัง มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ หากผู้ป่วยมีแผลรุนแรง เป็นบริเวณกว้างและลึกมาก อาการเหล่านี้จะพอทำนายได้ว่าจะตามมาด้วยอาการปวดที่รุนแรง

อีกประการหนึ่ง หากผู้ป่วยได้รับยาฆ่าเชื้อไวรัส ในขนาดที่พอเพียงและเร็วพอ แผลมักจะไม่รุนแรง บางทีขึ้นมาเป็นผื่นแดง ๆ พอเป็นตุ่มเล็ก ๆ ก็ยุบไป ไม่กลายเป็นตุ่มพองขยายวงกว้าง และมีอาการปวดในภายหลังน้อยกว่า จากรายงานในวารสาร American Academy Dermatology พบว่า ในคนสูงอายุเกิน 60 ปี หากเป็นงูสวัด มากกว่าร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการปวดจากงูสวัดตามมา และพบว่า การให้ยาสเตียรอยด์  ในระยะสั้น ๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ตั้งแต่แรก โอกาสเกิดอาการปวดจากเส้นประสาทอักเสบจากเชื้องูสวัดจะน้อยลง

การแยกโรค
เนื่องจากอาการของการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัดมีอาการคล้ายคลึงกับอาการของ โรคปลายประสาทอักเสบ

โรคปลายประสาทอักเสบ คือการที่ระบบเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่างๆของร่างกายมีความผิดปกติ มีอาการมึน ชา อ่อนแรงในบริเวณนิ้วมือ แขน เท้า ขา บางครั้งอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อน คล้ายกับอาการของการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัด แต่มีสาเหตุต่างกัน เช่น การติดเชื้อ การถูกกดทับ โรคเฉพาะตัว การขาดวิตามิน ฯลฯ

ในทางการแพทย์แผนจีนอาการของการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัดจัดอยู่ในขอบเขตของโรคงูสวัด (蛇串疮)

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
สาเหตุของการเกิดโรคงูสวัดส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีประวัติเครียด คิดมาก หรือมีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น การทานอิ่มมากเกินไปหรือทานน้อยเกินไป บวกกับพักผ่อนน้อย อดหลับอดนอน ทำให้เกิดภาวะชี่ของตับและม้ามผิดปกติ เกิดเป็นความร้อน และเมื่อถูกปัจจัยภายนอกมากระทบ เช่น  ลมร้อน ลมเย็น ความชื้น จนทำให้เกิดงูสวัดเกิดขึ้น

นอกจากนี้ในผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอมักมีภาวะเลือดน้อยตับแกร่ง ทำให้เกิดความร้อนชื้นสะสมภายใน เกิดภาวะ “เลือดคั่งจากชี่ติดขัด” อุดกั้นเส้นลมปราณ ทำให้เกิดอาการปวด ตามทฤษฎี “หากชี่เลือดเดินไม่สะดวกจะทำให้เกิดอาการปวด”



การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. ภาวะ/กลุ่มอาการตับและถุงน้ำดีร้อนชื้น 
Liver-gallbladder dampness-heat
肝胆湿热证(肝膽濕熱證)龙胆泻肝汤 龙胆草 黄芩 栀子
เป็นภาวะที่มีความร้อนชื้นสะสมทำให้ตับและถุงน้ำดีไม่สามารถทำการระบายได้ตามปกติ มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดแน่นชายโครง เบื่ออาหาร เบื่ออาหารมัน ลิ้นแดงมีฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรตึงลื่นและเต้นเร็ว
วิธีการรักษา ระบายความร้อนตับ ลดความชื้น ขับพิษ
ตำรับยาที่เหมาะสม หลงต่านเซี่ยกานทัง (龙胆泻肝汤)
หลักการเลือกใช้ตำรับยา ภาวะตับร้อนชื้นมักมีปัญหาเชื่อมโยงไปถึงถุงน้ำดีเนื่องจากทั้งสองอวัยวะนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน จึงเลือกตำรับยาหลงต่านเซี่ยกานทัง ซึ่งมียา หลงต่านเฉ่า(龙胆草) หวงฉิน(黄芩) จือจื่อ(栀子) ที่สามารถระบายความร้อนชื้น และระบายไฟในตับได้ดี

เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีไฟแกร่งในตับและถุงน้ำดีรบกวนส่วนบนของร่างกาย ยาตำรับนี้จะทำให้ความร้อนชื้นลงสู่ส่วนล่างของร่างกาย ระบายความร้อน สงบจิตใจ ลดการอักเสบ ขับปัสสาวะ ลดความดัน(ที่เกิดจากภาวะตับร้อนชื้น)ได้ ยาตำรับนี้ไม่เหมาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพราะอาหารเนื่องจากมีฤทธิ์ที่เย็นมาก

2.  ภาวะ/กลุ่มอาการม้ามพร่องถูกชื้นปิดล้อม 
Spleen deficiency with dampness encumbrance pattern/syndrome
脾虚湿困证(脾虛濕困證)
มีอาการแน่นท้อง เบื่ออาหาร มีเสียงลำไส้เคลื่อน คลื่นไส้ คอแห้งแต่ไม่กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ลิ้นมีฝ้าเหนียว เป็นภาวะ/กลุ่มอาการเดียวกับภาวะม้ามพร่องและความชื้นสั่งสม
วิธีการรักษา บำรุงม้าม ขจัดชื้น ขับพิษ
ตำรับยาที่เหมาะสม ฉูซือเว่ยหลิงทัง (除湿胃苓汤)

หลักการเลือกใช้ตำรับยา ตำรับยาฉูซือเว่ยหลิงทัง เกิดจากยาตำรับผิงเว่ย์ส่าน(平胃散)กับอู่หลิงส่าน(五苓散)รวมกัน ซึ่งมีสรรพคุณในการขับความชื้น โดยตำรับยาผิงเว่ย์ส่านมีสรรพคุณเน้นไปทางบำรุงม้าม ประสานกระเพาะอาหาร ส่วนตำรับยาอู่หลิงส่านเน้นไปทางขับน้ำ ปรับสมดุลน้ำภายในร่ายกาย ผู้ที่มีภาวะม้ามพร่องมักมีปัญหาในการขจัดความชื้นและสารน้ำภายในร่ายกายไม่สมดุล ผู้ที่มีภาวะม้ามพร่องถูกชื้นปิดล้อมจึงเหมาะที่จะใช้ยาตำรับนี้ หากมีตุ่มน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากสามารถเพิ่มยา ปี้เซี่ยะ(萆薢) และ เชอเฉียนเฉ่า(车前草)ได้

3. ภาวะ/กลุ่มอาการเลือดคั่งจากชี่ติดค้าง 
Qi stagnation and blood stasis
气滞血瘀证(氣滯血瘀證)
เกิดจากชี่ไหลเวียนไม่คล่องทำให้การไหลเวียนของเลือดติดขัดตามไปด้วย ที่บริเวณหน้าอก ชายโครง ใต้ลิ้นปี่ หรือท้องมีอาการตึงเจ็บ เจ็บแปลบ หรือมีก้อนเกิดขึ้นเป็นพักๆ ลิ้นมีสีม่วงหรือมีจุดจ้ำ ชีพจรตึงและเต้นแบบติดขัด
วิธีการรักษา ปรับการไหลเวียนชี่ สลายเลือดคั่ง ลดอาการปวด
ตำรับยาที่เหมาะสม ไฉหูซูกันส่าน(柴胡疏肝散) และ ซื่ออู้ทัง(四物汤)

หลักการเลือกใช้ตำรับยา เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดงูสวัดเกี่ยวกับสภาวะทางอารมณ์โดยเฉพาะความเครียด ความกังวลเป็นหลัก ซึ่งมีความสัมพันธ์กับตับ นอกจากนี้ทฤษฎีแพทย์จีนยังมีคำกล่าวว่า “หากชี่เลือดเดินไม่สะดวกจะทำให้เกิดอาการปวด(不通则痛)”  

ไฉหูซูกันส่าน เป็นตำรับยาที่มีฤทธิ์ ในการปรับการไหลเวียนชี่ของตับ สลายเลือดคั่ง ลดอาการปวด โดยเน้นไปที่เส้นลมปราณตับ ตำรับยานี้เกิดจากยาตำรับ ซื่อหนี้ส่าน(四逆散) และตัวเพิ่มตัวยากลุ่มกระตุ้นการไหลเวียนชี่ของตับ เพื่อเพิ่มกำลังในการกระตุ้นการไหลเวียนของชี่ ส่วนตำรับยาซื่ออู้ทัง มีสรรพคุณในการบำรุงเลือด ปรับสมดุลเลือด หากผู้ป่วยมีภาวะเลือดคั่งมาก ลิ้นสีคล้ำเข้ม สามารถเพิ่มยา เถาเหริน(桃仁) และ หงฮวา(红花) เพื่อเพิ่มกำลังในการสลายเลือดคั่งและลดอาการปวด หากมีอาการปวดจนมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันสามารถเพิ่มตัวยา เหยียนหูสั่ว(延胡索) หรู่เซียง(乳香) ม่อเย่า(没药)ได้ ทั้งนี้ยาตำรับซื่ออู้ทังมีสรรพคุณในการสลายเลือดคั่ง หากผู้ป่วยมีการทานยาละลายลิ่มเลือดต้องระวังปริมาณการใช้ยา



ตัวอย่าง กรณีการรักษาผู้ป่วยอาการของการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัด
ที่คลินิกโรคผิวหนัง หัวเฉียวแพทย์แผนจีน


กรณีศึกษาที่ 1
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ-นามสกุล นาง XXX เพศหญิง อายุ 59 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย XXX
วันที่รับการรักษา 6 ตุลาคม 2561

อาการสำคัญ ปวดศีรษะด้านขวา 1เดือน
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
- 9 กันยายน 2561 มีอาการตุ่มน้ำขึ้นที่ศีรษะและหน้าผากด้านขวา ร่วมกับมีอาการปวด
- ผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคงูสวัด
- แพทย์จ่ายยา Acyclovir มาให้ทาน
- ตุ่มน้ำค่อยๆแห้งลง อาการปวดเริ่มน้อยลง
- 28 กันยายน 2561 อาการปวดรุนแรงขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผู้ป่วยไปพบแพทย์อีกครั้ง แพทย์ได้ทำการฉีดยา triamcinolone ให้เฉพาะที่
- ช่วงเวลาที่มีอาการปวดลดน้อยลง แต่เวลาที่มีอาการปวดก็ปวดรุนแรง

ประวัติปัจจุบัน
- มีอาการปวดศีรษะด้านขวาเป็นเส้นยาวมาถึงหน้าผากซีกขวา จนถึงเบ้าตาด้านขวา
- เวลากลางคืนมีอาการปวดมากเป็นพิเศษ
- บางครั้งปวดจนน้ำตาไหล
- หงุดหงิดโมโหง่าย
- คอแห้งกระหายน้ำบ่อย
- ท้องผูก (ต้องทำd-tox)
- รับประทานอาหารได้ตามปกติ
- การนอนหลับปกติ

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต - ไม่มี

การตรวจร่างกาย
ผิวบนหนังศีรษะมีร่อยรอยของผื่นที่ตอนนี้เหลือสีผิวคล้ำ ลิ้นสีแดงฝ้าสีเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเล็ก

การวินิจฉัย แพทย์แผนจีน : งูสวัด แพทย์แผนปัจจุบัน : PHN
จากกลุ่มอาการเลือดคั่งจากชี่ติดขัด(气滞血瘀型)

การรักษา : รับประทานยาสมุนไพรจีน โดยแพทย์เลือกใช้ยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการปรับการไหลเวียนชี่เพิ่มการไหลเวียนเลือด ทะลวงเส้นขับความชื้นลดอาการปวด

คำแนะนำจากแพทย์จีน
1. ระวังไม่ให้โดนลมโดนตรง ไม่ว่าจะลมจากพัดลม ลมแอร์ หรือการนั่งมอเตอร์ไซด์
2. ปรับสภาพจิตใจให้แจ่มใส หลีกเลี่ยงการเครียด คิดมาก
3. พักผ่อนให้เพียงพอ
4. เน้นทานอาหารรสไม่จัด
5. รักษาโดยใช้การฝังเข็มควบคู่

หลังการประเมินผลการรักษา ครั้งที่ 1 วันที่ 20ตุลาคม 2561
- หลังการทานยาร่วมกับฝังเข็ม อาการปวดลดลง 50%
- บริเวณที่ปวดเหลือเพียงบนคิ้วด้านขวา
- อาการแสบร้อนไม่ชัดเจน
- ท้องผูก (ต้องทำd-tox)
- อาการกระหายน้ำลดลง
- นอนหลับดี
- ผู้ป่วยขอหยุดการฝังเข็มเนื่องจากไม่สะดวกเดินทาง
- ลิ้นสีแดง ฝ้าเหนียวสีเหลืองบาง ชีพจรเล็ก

หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่ 2 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561
- อาการปวดเหลือเพียง 20% หากมีการสัมผัสถึงมีอาการปวด
- กระหายน้ำบ่อย
- นอนหลับดี
- ลิ้นสีแดง ฝ้าเหนียวสีเหลืองบาง ชีพจรเล็ก

กรณีศึกษาที่ 2 
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ-นามสกุล นาย XXX เพศชาย อายุ 33 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย XXX
วันที่รับการรักษา 25 สิงหาคม 2561

อาการสำคัญ มีผื่นแดงขึ้นที่ศีรษะและหน้าผากด้านซ้ายและมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย 1 อาทิตย์

ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
วันที่ 18 สิงหาคม เริ่มมีอาการปวดบริเวณศีรษะด้านซ้ายลักษณะเป็นเส้นจากด้านหลังศีรษะมาด้านหน้าจนถึงกระบอกตา วันที่ 21สิงหาคม เริ่มมีผื่นสีแดงขึ้นเป็นตุ่ม โดยมีขอบเขตชัดเจน มีอาการปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนเข็มทิ่ม ผู้ป่วยได้รับการทานยา Acyclovir และผ่านการพบจักษุแพทย์แล้ว อาการปวดทุเลาลงเล็กน้อย  มีประวัติเครียด งานยุ่งและพักผ่อนน้อย ขับถ่ายทุกวัน นอนหลับปกติ

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต - ไม่มี
การตรวจร่างกาย
ผิวบนหนังศีรษะและใบหน้าด้านซ้ายบริเวณหน้าผากยาวจนถึงจมูกมีสีแดงจัด มีตุ่มน้ำขนาดเล็กเกาะเป็นกลุ่ม ต่อกันเป็นเส้นคล้ายสร้อยไข่มุก บริเวณที่มีผิวสีแดงไม่เกินไปทางด้านขวา มีสีตัดกันชัดเจน ลิ้นสีแดงฝ้าสีเหลืองเหนียว ชีพจรตึงเร็ว

การวินิจฉัย แพทย์แผนปัจจุบัน / แพทย์แผนจีน : งูสวัด
จากกลุ่มอาการตับและถุงน้ำดีร้อนชื้น(肝胆湿热证)

การรักษาโดยวิธีแผนจีน รับประทานยาสมุนไพรจีน โดยแพทย์เลือกใช้ยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการระบายความร้อนตับ ลดความชื้น ขับพิษ ระงับอาการปวด พร้อมแนะนำให้ผู้ป่วยพักงาน

หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่1 วันที่ 1 กันยายน 2561
- หลังรับประทานยาสมุนไพร ตุ่มน้ำตกสะเก็ด อาการปวดแสบปวดร้อนไม่ชัดเจน สีผิวกลับมาเป็นสีปกติไม่แดง มีอาการชาบริเวณที่มีการปวดก่อนหน้า

หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่ 2 วันที่ 8 กันยายน 2561
- ผู้ป่วยกลับไปทำงาน เนื่องจากความเครียดจากงานทำให้มีอาการชา เจ็บเหมือนเข็มแทงกลับมา ลิ้นสีแดงออกคล้ำฝ้าเหนียว ชีพจรเล็กตึง

การรักษา รับประทานยาสมุนไพรจีน โดยแพทย์เลือกใช้ยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการทะลวงเส้น ปรับการไหลเวียนของเลือด ลดอาการปวด แนะนำผู้ป่วยหลีกเลี่ยงภาวะเครียด

หลังการประเมินผลการรักษาครั้งที่ 3 วันที่ 15 กันยายน 2561
ตกสะเก็ดเริ่มลอกออก อาการปวดและชาลดลง ไม่มีอาการชัดเจน

 สรุปผลการรักษา
จากทั้ง 2 กรณีตัวอย่าง จะเห็นว่าการรักษาด้วยยาจีนร่วมกับการฝังเข็มสามารถลดอาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นงูสวัดได้เป็นอย่างดี แนะนำว่าหากมีอาการควรรีบมารักษาไม่ควรทิ้งระยะนาน หากรีบมารักษาการรักษาก็จะใช้เวลาไม่นาน หากทิ้งไว้นานการรักษาก็จะยากยิ่งขึ้นและใช้เวลานานมากขึ้น


กล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับงูสวัดในปัจจุบัน ดังนี้

1. เชื้องูสวัดที่เป็น ไม่ได้ติดมาจากใคร แต่เป็นเชื้อเดียวกับโรคสุกใสที่เคยเป็นมาก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาแต่เด็ก เชื้อไวรัสบางส่วนอาศัยแอบซ่อนอยู่ในปมประสาท และถูกกระตุ้นปลุกขึ้นมาใหม่ (reactivation) เมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสม

2. งูสวัดเป็นโรคระบบประสาท โดยอาการทางผิวหนังเป็นเพียงอาการแสดงส่วนหนึ่งของโรค

3. อาการปวดประสาทจากงูสวัด มีความหลากหลาย อาจเป็นอาการถาวร ที่รักษาไม่หาย และอาจปวดรุนแรงมาก จนถึงกับไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป หรืออาการอาจเป็นชั่วคราวและหายเองได้

4. หากได้รับยาต้านไวรัส ในขนาดที่เหมาะสมและรวดเร็วเพียงพอ จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคลงได้ ทั้งอาการปวดประสาท และความรุนแรงของผื่นผิวหนังและแผลเป็น

ความทุกข์ทรมานของอาการปวดประสาทจากงูสวัด เป็นการยากที่จะอธิบายให้คนที่ไม่เคยเป็นเข้าใจได้ เพียงแค่เสื้อผ้าสัมผัสกับผิวหนังบริเวณที่เป็น (ซึ่งแผลหายแล้ว) ยังปวดมากจนต้องร้องไห้ เมื่อเชื้องูสวัดเพิ่มจำนวนออกมาจากปมประสาทจะทำให้เกิดการอักเสบไปตามรากประสาท เส้นประสาทไปถึงไหน อาการปวดก็ติดตามไปทุกที่ ตัวอย่าง รากประสาทบริเวณเอวจะไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและผิวหนังของรอบเอว อาการปวดก็จะเกิดรอบ ๆ เอว จากผิวหนังลึกลงไปถึงกล้ามเนื้อชั้นใน อาการปวดอาจเป็นได้หลายแบบ เช่น ร้อนแสบเหมือนไฟลวก หรือเหมือนเอาพริกทา หรือปวดแปลบแบบไฟช็อต วิ่งไปตามรากประสาทหรือปวดเหมือนถูกเข็มแทงทีละหลาย ๆ เล่ม

ระยะแรก อาการปวดเกิดเฉพาะบริเวณที่รากประสาทนั้นเลี้ยงอยู่ ต่อมาอาจปวดในบริเวณข้างเคียง ทั้งด้านบนและล่างต่อรากประสาทที่รับผิดชอบอีก 2 - 3 ราก   รวมกันเป็นบริเวณปวดเป็นแถบกว้างขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วย เมื่อมีอาการปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาการปวดจะถูกบันทึกไว้อย่างถาวร ในระบบประสาทส่วน กลางระดับไขสันหลังและสมอง ซึ่งเป็นระยะที่การรักษาใด ๆ ก็มักจะไม่ได้ผล และอาการปวดจะเป็นไปตลอด แม้จะฉีดยาระงับความรู้สึกที่เส้นประสาท หรือตัดเส้นประสาทที่มีปัญหาออกอาการปวดก็ไม่หาย


เนื่องจากอาการปวดรุนแรง การใช้ยาแก้ปวดธรรมดามักไม่ได้ผล แพทย์มักต้องใช้ยาแก้ปวดอย่างแรง ซึ่งอาจเสพติดได้ เช่น Morphine, Pethidine และอาจต้องให้ยากันชักบางอย่างซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวดประสาทได้ เช่น Gabapentin, Carbamazepine, Pregabalin, Oxcarbamazepine ยาเหล่านี้ เพียงช่วยบรรเทาอาการชั่วคราวแต่โรคไม่หาย มีราคาแพงและมีฤทธิ์แทรกซ้อนที่สำคัญ คือ กดการทำงานของสมอง ทำให้ง่วงซึมทำงานไม่ได้  แต่ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องใช้ยา เพราะง่วงก็ยังดีกว่าปวด รวมทั้งยาบางชนิด เช่น Carbamazepine ยังอาจทำให้เกิดอาการผื่นแพ้ยาอย่างรุนแรงในผู้ใช้บางรายด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็น ต้องใช้ยาในขนาดสูงจนกดการทำงานของไขกระดูก จนไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้ ทำให้เกิดโรคเลือด  


การฝังเข็มช่วยรักษาอาการปวดจากงูสวัดได้ดี แต่ต้องทำภายใน 4 สัปดาห์ หลังจากมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง คือต้องทำก่อนที่ร่างกายผู้ป่วยจะบันทึกความเจ็บปวดอย่างถาวร ไว้ในระบบประสาทส่วนกลาง เพราะผู้ป่วยที่มารับการรักษาในระยะที่ช้าไปจะเกิดอาการปวดภายในระบบประสาทได้ด้วยตัวของมันเอง  โดยไม่ต้องมีการกระตุ้นจากสิ่งอื่น จะนั่งจะนอนอยู่เฉย ๆ ก็มีอาการปวดขึ้นเอง เหมือนระบบประสาทเปิดเล่นเทปที่บันทึกอาการปวดไว้ออกมาเอง

จากประสบการณ์ การรักษาผู้ป่วยที่ปวดจากงูสวัดประมาณ 80 ราย พบว่า ได้ผลดีโดยการฝังเข็มบริเวณรอบ ๆ รอยผื่นและตุ่มที่ผิวหนัง (แต่ไม่ได้แทงเข็มตรงบริเวณที่เป็นแผล) การฝังเข็มบริเวณจุดข้าง ๆ กระดูกสันหลังที่มีรากประสาทที่ส่งเส้นประสาทมาเลี้ยงผิวหนังที่บริเวณที่เป็นแผลประมาณ 4 - 5 จุด จากนั้นกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า ในความถี่สูง ประมาณ 200 เฮิร์ซ พบว่า อาการปวดมักจะลดลงตั้งแต่การฝังเข็มครั้งแรก บางครั้งลดลงร้อยละ 20 – 30 จากอาการเดิม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น สามารถทำนายได้ว่าจะประสบความสำเร็จในการรักษาในที่สุด

อาการปวดจากโรคงูสวัด เป็นอาการที่รักษายาก จึงจำเป็นต้องใช้เวลานานทำการรักษาหลายครั้งจึงจะสำเร็จ   โดยทั่วไปแนะนำให้ทำฝังเข็มครั้งละ 30 นาที โดยแบ่งระยะการรักษาเป็น 3 รอบการรักษา รอบละ 10 ครั้ง โดยรอบการรักษาแรก ฝังเข็มสัปดาห์ละ 3 ครั้ง, รอบการรักษาที่ 2 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และรอบการรักษาที่ 3 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จากประสบการณ์ หากผู้ป่วยมารับการรักษาภายใน 4 สัปดาห์ (1 เดือน) นับจากเริ่มเกิดผื่น พบว่า ผู้ป่วยทุกรายหายเป็นปกติ คือสามารถค่อย ๆ ถอนการใช้ยารับประทานที่เคยใช้อยู่ได้หมด นับว่าเป็นการรักษาที่ดีที่สุด ในการจัดการกับอาการปวดประสาทจากงูสวัด

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดประสาทมานานหลายเดือน หรือเป็นปี การรักษาจะได้ผลไม่ดี และไม่แนะนำให้ทำการรักษาด้วยการฝังเข็ม ดังนั้นการเป็นงูสวัดและมีอาการปวด ควรนึกถึงแพทย์ฝังเข็มและมารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ การฝังเข็มรักษาผู้ป่วยงูสวัดในระยะเฉียบพลัน ที่เริ่มมีผื่นหรือตุ่มใสจะได้ผลดียิ่งขึ้น โดยผื่น ตุ่มพอง และแผลอักเสบต่าง ๆ กลับแห้งและหายเร็วขึ้นมาก ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นงูสวัดไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการปวดก่อนแล้วจึงมาฝังเข็ม สามารถให้การฝังเข็มได้เลย แผลจะหายเร็วและไม่มีอาการปวดติดตามมา  และอาจไม่ต้องทำการรักษาถึง 30 ครั้ง


ตัวอย่างผู้ป่วยเพิ่มเติม
- ผู้ป่วยรายแรก หญิงไทย อายุ 29 ปี มีอาการแทรกซ้อนจากงูสวัด ที่เรียกว่า Ramsay-Hunt syndrome   คือ เป็นงูสวัดบริเวณหูแล้วเข้าทำลายเส้นประสาทสมองเส้นที่ 5, 7 และ 8  โดยมีอาการปวดใบหน้า ปากเบี้ยว  และสูญเสียการได้ยิน (หูดับ) หลังให้การรักษาด้วยการฝังเข็ม 10 ครั้ง อาการหายเป็นปกติ

- ผู้ป่วยรายที่สอง วิสัญญีแพทย์ชาย อายุ 65 ปี นอกจากมีอาการ Ramsay-Hunt syndrome คือปวดใบหน้า อัมพฤกษ์ที่ใบหน้า และหูดับแล้ว ยังทำให้สมองน้อยอักเสบ (cerebellitis) มีอาการมึนศีรษะ เดินเซ เสียการทรงตัว  หลังให้การรักษาด้วยการฝังเข็ม 9 ครั้ง พบว่าอาการปวดใบหน้าหายไป ปากเบี้ยวน้อยลง อาการเดินเซยังมีเล็กน้อย ผลตรวจการได้ยิน (audiogram) เปรียบเทียบกับก่อนการรักษาดีขึ้นจนเกือบปกติ

- ผู้ป่วยรายที่สาม นักศึกษาแพทย์ชาย อายุ 23 ปี เป็นผื่นงูสวัดที่หน้าผาก 4 วัน และเริ่มมีอาการปวด หลังให้การรักษาด้วยการฝังเข็ม 4 ครั้ง อาการปวดหายไป และ แผลแห้งตกสะเก็ดอย่างรวดเร็ว

- ผู้ป่วยรายที่สี่ พยาบาลหญิง อายุ 28 ปี เป็นงูสวัดที่เท้า 6 วัน จึงเริ่มมีอาการปวด หลังให้การรักษาด้วยการฝังเข็ม 2 วัน แผลดีขึ้นอย่างรวดเร็วและอาการปวดหายไป และไม่เกิดขึ้นอีก

ผลการรักษาในผู้ป่วยรายที่สามและสี่ แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยงูสวัดที่ได้รับรักษาด้วยการฝังเข็มในระยะเฉียบพลัน จะได้ผลในการรักษาที่ดีขึ้น คือ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น มีแผลเป็นน้อย ลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดประสาทถาวร และใช้จำนวนการฝังเข็มน้อยลง


เพิ่มเติม : การฝังเข็มสามารถรักษาอาการปวดประสาทจากงูสวัดได้อย่างไร ?

จากการศึกษา พบว่า การฝังเข็มช่วยลดการอักเสบได้เช่นเดียวกับการใช้ยาต้านอับเสบกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) รวมทั้งการฝังเข็มยังกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารสเตียรอยด์ นอกจากนี้การฝังเข็มยังมีผลยับยั้งการหลั่งสารที่กระตุ้นการอักเสบ ได้แก่ ไซโตคายน์ชนิดต่าง ๆ  

การฝังเข็มยังเพิ่มการไหลเวียนในบริเวณที่มีปัญหา ทำให้เร่งกระบวนการดูดซับของเสียและสารสื่อความเจ็บปวด (pain mediators) อาการปวดจึงลดลง และทำให้เกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่ออย่างรวดเร็ว  ผื่นและตุ่มพองจะยุบฝ่อลง แผลจึงหายได้ดีกว่าและรวดเร็วขึ้น

เส้นประสาทที่อักเสบและบวมอยู่จะยุบบวมลงอย่างรวดเร็ว ทำให้อาการปวดทุเลา  การฝังเข็มร่วมกับเครื่องกระตุ้นเข็มไฟฟ้า โดยใช้ความถี่สูง ทำให้ลดความไวต่อการกระตุ้นของระบบประสาทรับความรู้สึก (hypersensitivity) และกระตุ้นการหลั่ง encephalin ซึ่งเป็น endorphine ที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อระงับความเจ็บปวดในระบบประสาท ทั้งในระดับรากประสาท ไขสันหลัง และในสมอง การฝังเข็มจึงมีผลระงับความเจ็บปวดที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะมีผลระงับปวดที่ระบบประสาททุกระดับ  อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยวิธีการของแพทย์แผนจีน จะใช้วิธีผสมผสานกัน ตั้งแต่กระบวนการตรวจวินิจฉัย การประเมินการรักษา ทั้งการใช้ยาจีน การฝังเข็ม หรือหัตถการเสริมอื่นๆ  และในการรักษาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ 

บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน ณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย (หมอจีน เจิง ฉ่าย อิง)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.21
รักษาโรคอายุรกรรมทั่วไป โรคผิวหนัง เช่น สิว ฝ้า เซ็บเดิร์ม ผื่นคัน ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้ต่างๆ สะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ งูสวัด เริม ริดสีดวงทวาร รูมาตอยด์ SLE ผมร่วงชนิดต่างๆ




 

ข้อมูลประกอบบทความ
การฝังเข็มรมยา เล่ม 3
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-616-11-10728-4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้