พังผืดกดทับเส้นประสาทในโพรงข้อมือ

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  99616 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พังผืดกดทับเส้นประสาทในโพรงข้อมือ

Carpal tunnel syndrome เกิดจาก median nerve ที่อยู่ในอุโมงค์ข้อมือ หรือโพรงข้อมือ (carpal tunnel) ถูกกด  อาจเกิดจาก โพรงที่แคบลง หรือเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มที่อยู่ภายในหนาตัวขึ้น



Trigger finger หรือ นิ้วล็อคเกิดจากการหนาตัวของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อที่ควบคุมการงอนิ้วมือกับเยื้อหุ้มเส้นเอ็น ทำให้ช่องที่ให้เส้นเอ็นผ่านขณะงอหรือเหยียดนิ้วแคบลง

ทั้ง Carpal tunnel syndrome และ Trigger finger เกิดจากการหนาตัวของเส้นเอ็นและพังผืด สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สัมพันธ์กับการใช้งานข้อมือหรือนิ้วมากเกิน  เป็นภาวะเส้นประสาท midian ถูกกดทับที่บริเวณใต้ต่อ transverse carpal ligament ซึ่งบริเวณนี้จะมีลักษณะเป็นโพรงหรืออุโมงค์(carpal tunnel) ที่ประกอบไปด้วยผนังด้านหน้าได้แก่เอ็นที่เรียกว่า tranverse carpal ligament ส่วนผนังด้านหลังได้แก่กระดูกข้อมือ และเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาทบริเวณต่างๆของร่างกาย

ค่าความดันใน carpal tunnel ของคนปกติมีประมาณ 2.5-10 mmHg ขณะที่ผู้ป่วย CTS จะสูงประมาณ 30 mmHg ซึ่งความดันขนาด 20-30 mmHg จะปิดกั้นการไหลเวียนของเลือด(venous blood flow) และลดการส่งสัญญาณประสาท (axonal transport) ของเส้นประสาท ทำให้ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดได้ทั้งจากการกดทับโดยตรงหรือการขาดเลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทก็ได้




Carpal tunnel syndrome : CTS : สาเหตุการกดทับ

1.ความผิดปกทางกายวิภาค เช่น การมีก้อน ถุงน้ำ หรือการผิดรูปของกระดูกที่เกิดจากกระดูกหัก ทำให้ช่องที่อยู่ของเส้นประสาท median บริเวณข้อมือแคบลง

2.ความผิดปกติของร่างกายที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทน้อยลง เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน หรือการบวมของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นจนเกิดการเบียดเส้นประสาทในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคไตวาย โรคไฮโปทัยรอยด์ และภาวะตั้งครรภ์ซึ่งภาวะตั้งครรภ์นี้อาจจะเกิดขึ้นชั่วคราว

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาชีพหรือการทำงานที่ต้องงอหรือแอ่นข้อมือมากๆ และ ซ้ำๆ อยู่เป็นประจำ เช่น ผู้ที่ใช้การคีย์คอมพิวเตอร์ แม่บ้าน ชาวสวน คนที่กรีดยางพารา กีฬาบางประเภท หรืออาชีพเย็บปักถักร้อย 

อาการและอาการแสดงทางคลินิก

Carpal tunnel syndrome มีอาการชา เหมือนมีเข็มทิ่ม (tingling) แสบร้อนที่นิ้วมือทั้งห้าโดยเฉพาะนิ้วชี้และนิ้วกลาง บางรายอาจไม่สามารถกำมือได้   และอาจปวดทั้งแขนจน ถึงหัวไหล่ หรือมือบวม อาการมักจะเป็นมากตอนกลางคืน  ซึ่งความรุนแรงแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย

Trigger finger มีอาการเหยียดนิ้ว หรืองอนิ้วไม่สะดวก เหมือนนิ้วถูกล็อก และอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น ปวดบริเวณฝ่ามือ บวม มีเสียงและปวดเวลาเคลื่อนไหวข้อนิ้ว

การวินิจฉัย Carpal tunnel syndrome และTrigger finger สามารถวินิจฉัยได้จากอาการและอาการแสดง

อาการหลักที่ผู้ป่วยมาพบ คือ อาการปวดหรือชา บริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ด้านฝ่ามือ ในระยะแรกอาจชาเป็นครั้งคราว จะเป็นมากขึ้นเวลาใช้มือทำกิจกรรมค้างไว้นานๆ ต่อมาจะชามากขึ้นบ่อยขึ้น และมีอาการชามากตอนกลางคืนจนทำให้ตื่นตอนดึก ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าในขณะนอนจะมี venous congestion  ทำให้เลือดไปเลี้ยงเส้นประสาทและเพิ่มการบวมของเยื่อหุ้มเส้นเอ็น อาการดังกล่าวจะลดลงหรือหายไปขณะสะบัดมือ 

ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการรุนแรง ชามือตลอดเวลา ต่อมาจะมีอาการมืออ่อนแรง เมื่อถือของชิ้นเล็ก ของตกจากมือง่าย หรือติดกระดุมเสื้อลำบาก จนกระทั่งถึงกล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือด้านนอกลีบ

มุมมองต่อโรคในศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนจัดกลุ่มอาการดังกล่าวอยู่ใน กลุ่มเอ็นขัดคล่อง หรือ จินปี้ (JinBi: 筋痹) ของข้อมือหรือนิ้ว สาเหตุเกิดจาก ชี่และเลือดบริเวณข้อมือติดขัด จากการใช้งานมากหรือบาดเจ็บ

ในทางการแพทย์แผนจีนจะเรียกกลุ่มอาการเส้นประสาท midian บริเวณมือถูกกดทับว่า เป็นการบาดเจ็บของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ ( 伤筋 ) ซึ่งสาเหตุอาจเกิดโดยฉับพลัน หรือเกิดจากการใช้งานที่หักโหมทำให้เกิดอาการบาดเจ็บสะสมเรื้อรัง จนทำให้เลือดคั่งอุดกั้นเส้นลมปราณ ร่วมด้วยได้รับความเย็น ความชื้น มากระทบเส้นเอ็น จึงทำให้ชี่และเลือดเกิดการติดขัดไหลเวียนไม่คล่อง “ไม่คล่องจึงปวด” เมื่อชี่ (Qi)และเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นกล้ามเนื้อได้ จึงทำให้เกิดอาการปวดชาขึ้น


การรักษา
1. การฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ
หลักการรักษา: กระตุ้นให้เส้นเอ็นทำงานคล่อง  และให้จิงลั่วไหลเวียนดี ลดบวมระงับปวด
 
การฝังเข็มจากการศึกษาทางคลินิก
การวิจัยรักษา Carpal tunnel syndrome โดยใช้เข็มอุ่นในผู้ป่วย 92 ราย โดยผู้ป่วย 46 ราย เลือกจุด DaLing (PC 7),  NeiGuan (PC 6) และโกฐจุฬาลัมพาเม็ด 3 เม็ด ผู้ป่วยอีก 46 รายใช้จุดเดียวกัน แต่ไม่ใช้โกฐจุฬาลัมพา ผลการรักษาด้วยการใช้เข็มอุ่นผู้ป่วยอาการดีขึ้น 91.3% กลุ่มไม่ใช้เข็มอุ่นดีขึ้น 71.7%  P<0.05 สรุปการใช้เข็มอุ่นสามารถอบอุ่นลมปราณสลายความเย็น แก้ปวดขจัดการคั่ง

ข้อสังเกตและคำแนะนำ
1. การรักษาด้วยการฝังเข็มได้ผลค่อนข้างดี
2. ระหว่างการรักษา ควรดูแลบริเวณที่มีอาการให้อบอุ่น ไม่ควรกระทบความเย็น

2.การรักษาด้วยการทุยหนา (นวดแบบแผนจีน)
หลักการรักษา : คลายเส้นเอ็น ทะลวงเส้นลมปราณ เพิ่มการไหลเวียน สลายเลือดคั่ง
ท่าทางที่ใช้ในการรักษา : การกด การคลึง การเค้น การดัน การถู การเขย่า ฯ
ขั้นตอนการรักษา : แช่ยาจีน  -> นวดทุยหนา   ->   ฝังเข็ม   ->  พอกยาจีน





อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
โรคนิ้วล็อค Trigger finger


การรักษาด้วยวิธีทุยหนา
ข้อมูลประกอบบทความ
แพทย์จีน ธีรา อารีย์ (หลิน ซี หยวน)



การฝังเข็มรมยา เล่ม 3
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-616-11-10728-4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้