ฉันเป็นคนแบบไหน ? เช็คพื้นฐานสุขภาพตนเองด้วยทฤษฎีแพทย์จีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  65484 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ฉันเป็นคนแบบไหน ? เช็คพื้นฐานสุขภาพตนเองด้วยทฤษฎีแพทย์จีน

**เข้าสู่ระบบการตรวจสอบสุขภาพพื้นฐานของท่าน * * คลิกที่นี่

คำแนะนำในการตรวจสอบพื้นฐานสุขภาพของร่างกาย
การทดสอบนี้จะใช้เวลาและความละเอียดในการพิจารณาตนเอง ดังนั้น ท่านควรมีเวลาและสมาธิในการตอบแบบทดสอบทีละข้อ

 

ทฤษฎีพื้นฐานสุขภาพของร่างกายทางศาสตร์การแพทย์แผนจีน 
องค์ความรู้ทางการแพทย์แผนจีน ซึ่งเกี่ยวกับพื้นฐานทางสุขภาพของร่างกายมาศึกษาวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์กับการแพทย์แผนใหม่ โดยการศึกษาจะครอบคลุมทั้งในด้านนิยาม ความเป็นมา ลักษณะพิเศษ การจัดแบ่งกลุ่ม และกฎเกณฑ์ความแตกต่าง รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเกิด การเจ็บป่วย การดำเนินของโรค การเปลี่ยนแปลง และการลุกลามของโรค ตลอดจนการนำเอาทฤษฎีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ การวิเคราะห์ เพื่อป้องกันและรักษาโรคในสังคมยุคใหม่

พื้นฐานสุขภาพของร่างกาย
นิยามพื้นฐานสุขภาพของร่างกาย (TiZhi : 体质) คือ ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ที่ถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์ โดยปัจจัยที่ถ่ายทอดจากบิดามารดาและปัจจัยหลังคลอดที่ได้รับขณะดำรงชีวิต ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบของการกำหนดรูปร่าง ลักษณะ และสภาวะสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ

องค์ประกอบพื้นฐานสุขภาพของร่างกาย
คือ การมีพร้อมทั้งรูปร่าง ลักษณะ และ เสิน (神: Shen) โดยแบ่งแยกลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลออกได้ทั้งหมด 3 ประเภท โดยจะมีความเกี่ยวโยง สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานสุขภาพของร่างกายแบบองค์รวมได้ 


ลักษณะเฉพาะของรูปร่างลักษณะภายนอก
เช่น โครงสร้าง ลักษณะ เพศ น้ำหนัก ท่าทาง สีหน้า เส้นผม เส้นขน ลักษณะลิ้น และชีพจร

รูปร่างลักษณะภายใน
เช่น อวัยวะภายใน เส้นลมปราณ ชี่ เลือด และสารเหลวในร่างกาย

ลักษณะเฉพาะของสภาวะสุขภาพทางร่างกาย
เช่น ระบบการทำงานของอวัยวะภายใน เส้นลมปราณ สารจำเป็น ชี่ เลือด และสารเหลวในร่างกาย


ลักษณะเฉพาะของสภาวะสุขภาพทางจิตใจ

เช่น ความแตกต่างของบุคลิก อุปนิสัย และคุณสมบัติ

ปัจจัยบ่งชี้พื้นฐานสุขภาพของร่างกาย
จำเป็นต้องมีปัจจัยบ่งชี้ต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะพื้นฐาน โดยการนำรูปร่างลักษณะของร่างกาย ประสิทธิภาพการทำงาน และสภาวะสุขภาพทางจิตมาวิเคราะห์ร่วมกัน โดยปัจจัยบ่งชี้ต่าง ๆ ได้แก่

รูปร่างลักษณะ 
โครงสร้างภายนอกและภายในของร่างกาย รวมไปถึงระบบการทำงานที่สมบูรณ์และเกื้อหนุนกัน

ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย
รวมถึงระบบเมตาบอลิซึม (metabolism) และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ

พื้นฐานสมรรถภาพร่างกาย 
รวมถึงความเร็ว พละกำลัง ความทนทาน การตอบสนอง ความสอดคล้องของการทำงานต่าง ๆ และความสามารถในการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การกระโดด การวิ่ง การหยิบจับ การโยน เป็นต้น

ระดับพัฒนาการทางจิตใจ
สติปัญญา สภาวะอารมณ์ พฤติกรรม ความรู้สึก อุปนิสัย บุคลิก ความมุ่งมั่น

ความสามารถในการปรับตัว
การปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อม เช่น ธรรมชาติ สังคม อารมณ์ รวมไปถึงความสามารถในการต้านทานโรค การควบคุมโรค และการฟื้นฟูหลังการเจ็บป่วย

 
ปัจจัยกระทบระบบการทำงานของอวัยวะภายใน 
รวมถึง เส้นลมปราณ สารจำเป็น ชี่ เลือด และสารเหลวภายในร่างกาย ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่กำหนดพื้นฐานสุขภาพของร่างกาย ดังนั้น สาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบการทำงานของร่างกายเหล่านี้ จึงจัดเป็นปัจจัยกระทบที่มีผลต่อลักษณะพื้นฐานสุขภาพของร่างกาย ดังนี้

การถ่ายทอดจากบิดามารดา

ปัจจัยพื้นฐานซึ่งก่อเกิดลักษณะพื้นฐานสุขภาพของร่างกาย เช่น

- การได้รับถ่ายทอดสารจำเป็นก่อนกำเนิดที่เพียงพอและสมบูรณ์ พื้นฐานสุขภาพแข็งแรง
- หากได้รับถ่ายทอดสารจำเป็นก่อนกำเนิดพร่อง มักมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย พื้นฐานสุขภาพขาดการสมดุล ไม่แข็งแรง

อายุ 
"วัยเด็ก"
อวัยวะภายในอ่อนนุ่ม ง่ายต่อการถูกกระทบ รูปร่างและชี่ยังไม่สมบูรณ์ จึงทำให้มีพื้นฐานสุขภาพที่ง่ายต่อการเกิดกลุ่มอาการพร่องหรือแกร่ง หรือเปลี่ยนเป็นกลุ่มอาการเย็นหรือร้อน

"วัยหนุ่มสาว"
สารจำเป็น ชี่ เลือด และสารเหลวในร่างกายเพียงพอและสมบูรณ์ ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ แข็งแรงและสมบูรณ์ พื้นฐานสุขภาพจึงมักแบ่งแยกกลุ่มได้ชัดเจน

"วัยชรา"
ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง ลักษณะเด่น คือ อินและหยางขาดความสมดุล การทำงานของระบบเมตาบอลิซึมลดลง ชี่และเลือดอุดอั้นและติดขัด ระบบการทำงานของอวัยวะถดถอย


เพศ 
เพศชายจัดเป็นหยาง

ส่วนใหญ่จะได้รับการถ่ายทอดชี่แกร่ง ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ สมบูรณ์ รูปร่างแข็งแรง สูง ใหญ่ มีนิสัยร่าเริง กล้าแสดงออก ไม่รอบคอบ ใจกว้าง

เพศหญิงจัดเป็นอิน
ส่วนใหญ่จะได้รับการถ่ายทอดชี่อ่อนนุ่ม ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เปราะบาง รูปร่างเล็ก ขี้อาย ละเอียดรอบคอบ อารมณ์เปราะบาง คิดเล็กคิดน้อย

เพศชายมีไตเป็นทุนตั้งต้นแต่แรกเกิด
ซึ่งมีสารจำเป็นและชี่เป็นพื้นฐาน เพศหญิงมีตับเป็นทุนตั้งต้นแต่แรกเกิด ซึ่งมีเลือดเป็นพื้นฐาน

เพศชายเผาผลาญชี่เป็นหลัก
ชี่จึงมักจะไม่เพียงพอ เพศหญิงเผาผลาญเลือดเป็นหลัก เลือดจึงมักจะไม่เพียงพอ

การเกิดโรคของเพศชาย
ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการสูญเสียสารจำเป็นและชี่ ส่วนในเพศหญิง ส่วนใหญ่มีสาเหตุการเกิดโรคมาจากการสูญเสียเลือด

การเปรียบเทียบระหว่างเพศชายกับเพศหญิง
เพศชายมักเกิดโรคได้ง่ายกว่า อาการแสดงของโรครุนแรงกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าเพศหญิง

เพศหญิงในช่วงรอบเดือน ตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตร
มักถูกปัจจัยก่อโรคกระทบได้ง่าย

การรับประทานอาหาร 
- บริโภคอาหารไม่เพียงพอ 

- บริโภคอาหารมันหรือรสหวาน เผ็ด หรือเค็ม มากเกินไป 
- บริโภคอาหารสดหรือมีฤทธิ์เย็นมากเกินไป 
- ดื่มสุรามากเกินไป ทำให้ความร้อนชื้นเก็บกักอยู่ภายใน ส่งผลต่อตับและม้าม และพื้นฐานสุขภาพของร่างกายมักจัดอยู่ในกลุ่มร้อนชื้น

ตรากตรำมากเกิน หรือ ออกกำลังน้อยเกิน
ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเหมาะสม
จะช่วยให้เส้นเอ็นและกระดูกแข็งแรง เลือดและชี่เกิดความสมดุล การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ สมบูรณ์แข็งแรง

ตรากตรำมากเกินไป
จะส่งผลกระทบต่อเส้นเอ็นและกระดูก เผาผลาญเลือดและชี่ และทำให้พื้นฐานสุขภาพของร่างกายเปลี่ยนไปอยู่ในกลุ่มพร่อง

พักผ่อนอย่างเพียงพอ
นอกจากช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทำให้พื้นฐานสุขภาพของร่างกายจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น

ไม่ขยับร่างกาย
จะส่งผลให้การไหลเวียนของชี่และเลือดไม่สะดวก เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ประสิทธิภาพการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหารลดลง ทำให้พื้นฐานสุขภาพของร่างกายมีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มเสมหะอุดตันหรือเลือดคั่ง

สภาวะอารมณ์ 
อารมณ์ที่ดี
ส่งผลให้ชี่และเลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ อวัยวะต่าง ๆ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้พื้นฐานสุขภาพของร่างกายแข็งแรง

อารมณ์ไม่ดี
อาจก่อให้เกิดการอุดอั้นของชี่ และทำให้เกิดความร้อนภายใน ส่งผลให้พื้นฐานสุขภาพของร่างกายจัดอยู่ในกลุ่มหยางแกร่ง หรือกลุ่มอินพร่อง 
ทำให้ชี่ไหลเวียนติดขัด ส่งผลให้พื้นฐานสุขภาพของร่างกายจัดอยู่ในกลุ่มเลือดคั่ง

ความสัมพันธ์ของสภาวะอารมณ์กับการเกิดโรค
อารมณ์โกรธหรือกระวนกระวาย จะง่ายต่อการเกิดโรคเวียนศีรษะและโรคหลอดเลือดสมอง การคิดมากเป็นเวลานาน อารมณ์เก็บกด จะง่ายต่อการเกิดโรคมะเร็ง


ภูมิประเทศ

ผู้ที่อาศัยในภาคเหนือ
จะมีร่างกายที่บอบบาง อ่อนแอ รูขุมขนจะเปราะบาง

ผู้ที่อาศัยในภาคใต้
จะมีร่างกายแข็งแรงกำยำ รูขุมขนปิดแน่น

ผู้ที่อาศัยในเขตใกล้แหล่งน้ำ
จะพบโรคที่เกี่ยวกับความชื้นและเสมหะมาก

ผู้ที่อาศัยในเขตที่มีอากาศหนาวและชื้น
จะมีพื้นฐานสุขภาพแบบอินแกร่งหรือความชื้นแกร่ง

ปัจจัยกระทบอื่น ๆ
ความเจ็บป่วย การใช้ยา การฝังเข็ม เป็นต้น

การแบ่งกลุ่มพื้นฐานสุขภาพของร่างกาย
ตามหลักการของแพทย์แผนจีนนั้นจะใช้ทฤษฎีสุขภาพองค์รวมเป็นหลัก นำมาจัดแบ่งกลุ่ม โดยอาศัยทฤษฎีอิน-หยาง และทฤษฎีปัญจธาตุ ผสานกับพื้นฐานทฤษฎีอวัยวะภายใน สารจำเป็น ชี่ เลือด และสารเหลวในร่างกาย

1. กลุ่มสมดุล(PingHe : 平和)

ลักษณะโดยรวม  
อิน-หยาง ชี่และเลือดสมดุล ลักษณะเด่น คือ รูปร่างสมส่วน สีหน้าสดใสเปล่งปลั่ง มีชีวิตชีวา 
กล้ามเนื้อเป็นมัดสมบูรณ์ 

อาการแสดง
สีหน้าและผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง เส้นผมเป็นประกายและดกหนา แววตามีประกายสดใส ปลายจมูกมีประกาย กลิ่นสัมผัสดี ริมฝีปากแดงชมพูเป็นประกาย ยากต่อการเหน็ดเหนื่อย มีชีวิตชีวา ทนทานต่อสภาพอากาศ นอนหลับปกติ ทานอาหารได้ปกติ การขับถ่ายปกติ ลิ้นแดงชุ่มชื้นพอดี มีฝ้าบางขาว ชีพจร เต้นเนิบเป็นจังหวะและมีแรง (HeHuanYouLiMai : 和缓有力脉)

สภาวะจิตใจ
เบิกบานแจ่มใส

แนวโน้มเกิดโรค
ไม่ค่อยเจ็บป่วย และเมื่อเจ็บป่วยจะมีพยากรณ์โรคที่ดี 
ความสามารถในการปรับตัว ปรับตัวต่อธรรมชาติและเข้ากับสังคมได้ดี

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดมาตรฐานผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงไว้ 10 ประการ ดังนี้

  1. กำลังวังชาเข้มแข็ง
  2. มีความกระตือรือร้น 
  3. นอนหลับได้อย่างสบาย
  4. ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดี
  5. ความสามารถต้านทานโรค เช่น หวัด โรคระบาด
  6. มีน้ำหนักตัวเหมาะสม 
  7. สายตาแวววาว มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ว่องไว
  8. ฟันสะอาด ไม่มีฟันผุ 
  9. เส้นผมเป็นประกาย ไม่มีรังแค
  10. ผิวหนังดูเนียนไม่บางหรือหนาผิดปกติ มีความยืดหยุ่นนุ่มนวล

2. กลุ่มชี่พร่อง (QiXu : 气虚)

ลักษณะโดยรวม
เหนื่อยง่าย หายใจสั้น เหงื่อออกเอง

ลักษณะรูปร่าง  
กล้ามเนื้อไม่กระชับ

อาการแสดง
พูดเสียงเบา หายใจสั้น  อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ขาดชีวิตชีวา ลิ้นสีซีด ขอบลิ้นมีรอยฟัน ชีพจรจมอ่อน (RuoMai) 
ไม่ชอบความท้าทาย

ไม่ทนต่อความเย็น ความชื้นความร้อนอบอ้าว เป็นหวัดง่ายเมื่ออากาศเปลี่ยน หลังเจ็บป่วยร่างกายฟื้นตัวช้า ภูมิต้านทานอ่อนแอจึงมักมีการเจ็บป่วยเฉียบพลันได้อีก หากป่วยเป็นมะเร็ง ขนาดของก้อนมะเร็งขยายโตได้ง่าย ระบบการสร้างเม็ดเลือดไม่มีประสิทธิภาพจึงมีโลหิตจาง

ระบบการไหลเวียนของเลือดช้าไม่มีแรงส่งพอ ทำให้ปวดศีรษะ มีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ เป็นเหตุให้เกิดการคั่งของเลือด ระบบการย่อยไม่มีกำลังจึงมีอาการอาหารไม่ย่อย มีอาการท้องเดิน โภชนาการไม่ดี ระบบเมตาบอลิซึมถดถอย แก่เร็ว

ข้อสังเกต
พบได้บ่อยในเด็กเล็ก และผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนจนถึงวัยชรา พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รูปร่างผอม หรือดูฉุ ๆ บวม ๆ กล้ามเนื้อเหลวหย่อน ผิวหนังไม่ยืดหยุ่น เวลานั่งดูเหมือนหมดแรง ถ่ายอุจจาระแล้วจะรู้สึกเพลีย มักรู้สึกกลวงโล่งในท้อง ในสตรีเมื่อประจำเดือนหมดจะเพลียมาก เวลาเหนื่อยมักนึกอยากทานของหวาน ๆ

ข้อแนะนำ 
1. ปรับสภาพอารมณ์ ออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ หากิจกรรมหรือสิ่งที่ตนสนใจ
2. อาหารสำหรับคนพื้นฐานชี่พร่อง ได้แก่ นม ไข่ ปลา นมผึ้ง อาหารที่ทำจากผลิตภัณฑ์ถั่ว ซันเหย้า พุทราแดง เชอรี่ องุ่น โจ๊กข้าวเหนียว น้ำตาลมอลต์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์บั่นทอนชี่ เช่น ผักบุ้ง หัวไชเท้า


3. กลุ่มหยางพร่อง (YangXu : 阳虚)

  • กลัวหนาว แขนขาเย็น
  • กล้ามเนื้อไม่กระชับ ชอบทานของอุ่น ขาดชีวิตชีวา ลิ้นซีดอ้วนนุ่ม ชีพจรจมและช้า ไวต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง มือ-เท้าเย็น แผ่นหลังรู้สึกเย็นวาบเหมือนรดน้ำ ใบหน้าขาวซีดไม่สดใส  อ่อนเพลียไม่มีแรง โดยเฉพาะอาการเป็นมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว ใจสั่น หายใจสั้น เหงื่อออก รู้สึกปวดท้องแบบเย็น ๆ ถ่ายเหลว

    หากถูกกระทบความเย็นมักท้องเสีย หากตรากตรำเล็กน้อยจะบวมน้ำ หรือกลางคืนปัสสาวะบ่อย ความต้องการทางเพศลดลง สตรีประจำเดือนมาน้อย อารมณ์หดหู่ ไม่ชอบพบปะผู้คน ความดันโลหิตต่ำ ความต้านทานโรคต่ำ ต่อมไร้ท่อทำงานน้อยกว่าปกติ 

    ในผู้ที่หยางพร่อง มักแสดงอาการกลุ่มความเย็นเด่น ขณะเดียวกันมีกลุ่มอาการชี่พร่องปรากฏร่วมด้วย อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ มือเท้าเย็น จิตใจเหนื่อยล้า กลางวันง่วงนอน เคยมีประวัติเสียเลือดมาก่อน เช่น ประจำเดือนมามาก ริดสีดวงทวารเลือดออก เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หรือมีท้องเสียเรื้อรัง มักพบในผู้สูงอายุ และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเวลานาน

  • ไม่กล้าแสดงออก เงียบขรึม
  • ง่ายต่อการได้รับผลกระทบจากปัจจัยอิน เช่น ลม ความเย็น และความชื้น
  • ง่ายต่อการเกิดเสมหะและสารเหลวปฏิกูล อาการบวม อุจจาระร่วง มีแนวโน้มที่จะเกิดโรคในกลุ่มอาการเย็น เมื่อได้รับความเย็นชื้นมากระทบ จะทำให้ปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลังและเอว ภูมิต้านทานลดลง ทำให้เป็นหวัดง่าย และมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ง่าย 

    หยางพร่อง เกิดความเย็นขึ้นภายใน เส้นเลือดในสมองตีบ ในสตรีจะมีอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนไม่มา ระบบการย่อยอาหารอ่อนแอ โลหิตจาง ท้องเสียเรื้อรัง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ มีบุตรยาก 

ข้อแนะนำ 

1. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น เนื่องจากน้ำเย็นจัดเป็นอิน โดยหากอินที่แกร่งจะส่งผลกระทบต่อ หยางชี่ของร่างกาย เมื่อนานวันจะสามารถก่อให้เกิดอาการหยางพร่องได้

2. หลีกเลี่ยงการอดนอน เนื่องจากช่วงกลางคืนเป็นเวลาที่หยางชี่จะถูกเก็บกักเข้าสู่ภายใน หาก อดนอนจะทำให้หยางชี่ไม่สามารถเก็บกักเข้าสู่ภายในได้ ส่งผลให้หยางชี่ไม่ได้รับการฟื้นฟู เมื่อนานวันจะสามารถก่อให้เกิดอาการหยางพร่องได้

3. หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน เนื่องจากเป็นสาเหตุของกลุ่มอาการร้อนชื้น อาการแสดง คือ ร้อนใน เกิดสิว เกิดการอักเสบต่าง ๆ โดยการรักษามักใช้ตัวยาที่มีรสขม ฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณระบายความร้อน แก้อักเสบ ยาเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อหยางของม้าม เมื่อนานวันจะสามารถก่อให้เกิดอาการหยางพร่องได้

4. รักษาความอบอุ่นของเท้าอยู่เสมอ เนื่องจากความเย็นส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายได้จากทางเท้า เมื่อนานวันจะสามารถก่อให้เกิดอาการหยางพร่องได้

5. สตรีหลังคลอดบุตร มีการเสียชี่และเลือด ในช่วงเวลา 1 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการถูกปัจจัยอินเข้ามากระทบ เช่น ความเย็น ลม ความชื้น

6. เนื่องจากผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการหยางพร่องนั้น มักจะมีลักษณะเก็บตัว มีจิตใจที่หดหู่ ดังนั้นการพบปะสังสรรค์ผู้คนจะเป็นวิธีการขจัดปัจจัยการเกิดโรค

7. ควรได้รับแสงแดดอย่างเหมาะสม 

8. หมั่นแช่เท้าในน้ำอุ่น 

9. เลือกรับประทานอาหารที่มีสรรพคุณในการบำรุงหยางชี่ของม้ามและไต เช่น เนื้อวัว  นมวัว นมแพะ ไก่ กุ้ง ผักกุยช่าย พริก กระเทียม ขิง เม็ดยี่หร่า อบเชย (ผงพะโล้) พริกไทย มันเทศ ซันเย่า เซี่ยนสือ น้ำตาลมอลต์  ลำไย พุทราแดง เกาลัด ลิ้นจี่ น้ำตาลทรายแดง เชอรี่ 

** หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีความเย็น เช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม แตงโมแช่เย็น 

4. กลุ่มอินพร่อง (YinXu : 阴虚)

ลักษณะโดยรวม
ปากแห้งคอแห้ง ฝ่ามือและฝ่าเท้าร้อน 

ลักษณะรูปร่าง
ผอมบาง 
ประทานของเย็น อุจจาระแห้งแข็ง ลิ้นแดงไม่ชุ่มชื้น ชีพจรเล็กและเร็ว (XiShuMai)

อินไม่พอ 
มีอาการแห้งขาดน้ำ ทำให้วิงเวียน ตาลาย ผ่ายผอม ผิวพรรณแห้ง เส้นผมแห้งแตกปลาย ใบหน้าหมองคล้ำ ปากคอแห้งโดยเฉพาะเวลากลางคืน หรือมักไอแห้งมานาน ตาแห้ง เมื่อยเอวเข่าอ่อน เสียงดังในหู หลงลืม ปัสสาวะน้อย ท้องผูก ลิ้นแดงมีฝ้าน้อยและแห้ง หรือลิ้นไม่มีฝ้า สตรีประจำเดือนน้อยหรือช่องคลอดแห้ง

อาการร้อนพร่อง 
ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้า มีไข้ต่ำเวลาบ่ายหรือค่ำคืน มักร้อนที่ใบหน้า หรือในช่องปากมักมีแผลร้อนในแบบเป็น ๆ หาย ๆ อารมณ์ร้อน รู้สึกเพลียแต่นอนหลับยาก ใจหวิว ชีพจรเล็กและเร็ว (XiShuMai) ในผู้ชายมักมีความต้องการทางเพศมากหรือมีอาการฝันเปียก

ในผู้หญิงประจำเดือนมีปริมาณเพิ่มขึ้น ลิ้นแดงมีฝ้าน้อย หรือหลุดลอกหรือไม่มีฝ้า ลำคอแห้งและแดง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ วัยทอง หรือในผู้ที่มีจิตใจมีความกดดันมาก นอนหลับไม่พอ และวัยทำงานที่ใช้กำลังมากเกินไป ส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะผ่ายผอม มักมีจิตใจเป็นทุกข์

- หงุดหงิดกระวนกระวาย ชอบแสดงออก ลุกลี้ลุกลน 
- ทนต่อฤดูหนาวแต่ไม่ทนต่อฤดูร้อน 
- นอนไม่หลับ ในชายมักมีอสุจิเคลื่อนเอง ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคในกลุ่มอาการร้อน มักมีอาการเจ็บป่วยระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น หัวใจเต้นเร็วเกินไป นอนไม่หลับ เมื่ออินพร่อง หยางมักจะแกร่ง ทำให้ความดันโลหิตสูง อินพร่องมักทำให้ขบวนการเผาผลาญแปรปรวน ทำให้เกิดเบาหวานได้ง่าย

หากขบวนการเผาผลาญมากเกินไปจะป่วยด้วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ขณะเดียวกันภูมิต้านทานมักลดลงจึงป่วยเป็นโรคได้ง่าย กรณีที่นอนหลับยาก หรือจิตใจมีความทุกข์หรือตึงเครียดนาน จะส่งผลต่อการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารให้แปรปรวนได้ ในที่สุดเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร

ข้อแนะนำ 

1. พื้นฐานสุขภาพของบุคคลจะถูกกำหนดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ดังนั้น ในหญิงมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทปิ้งย่าง รสเผ็ด เพราะอาหารเหล่านี้สามารถกระทบถึงร่างกาย และความร้อน ความแห้งสามารถกระทบถึงสารอิน ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทารกในครรภ์มีลักษณะอินพร่องได้ 

2. อารมณ์ของผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มอินพร่องนั้นง่ายต่อการเกิดไฟภายใน การปรับสมดุลอารมณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรหากิจกรรมเพื่อการผ่อนคลาย เช่น การฟังเพลง ท่องเที่ยว 

3. ผู้ที่มีลักษณะพื้นฐานร่างกายที่จัดอยู่ในกลุ่มอินพร่อง จะมีรูปร่างที่ผอมซูบ ตัวเล็ก อาการแสดงที่พบได้บ่อย คือ กระหายน้ำ หน้าแดง ปัสสาวะน้อย ท้องผูก ผิวหนังแห้งกร้าน โพรงจมูกแห้ง การออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับคนในกลุ่มนี้ เช่น การว่ายน้ำ และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหมจนเกินไป หรือการอบซาวน่า

4. อาหารของผู้ที่พื้นฐานแบบอินพร่อง ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น รสหวาน บำรุงอินของไต อาหารที่แนะนำ ได้แก่ เห็ดหูหนู ปลิงทะเล ไก่ดำ งาดำ เห็ดหอม รังนก นม น้ำซุปต้มเป็ด ปูทะเล หอย เม็ดบัว เม็ดเก๋ากี้ ถั่วเขียว ไป่เหอ รากบัวสด บวบ เต้าหู้ อ้อย ผลท้อ มัลเบอรี่ แปะก๊วย ห่วยซัว แมงกะพรุน สาลี่ แตงโม 

5. กลุ่มเสมหะชื้น (TanShi : 痰湿)

ลักษณะโดยรวม  
รูปร่างอ้วน หน้าท้องใหญ่หนา ปากเหนียว ลิ้นมีฝ้าหนา ใบหน้ามัน เหงื่อออกง่ายและเหนียว แน่นหน้าอก เสมหะเยอะ  ชอบอาหารมันหรือมีรสหวาน ลิ้นมีฝ้าเหนียว  ชีพจรลื่น (HuaMai) รู้สึกหนักตื้อ เมื่อยตัว แขนขาหนักอึ้ง เมื่อยตามข้อ หน้าและเท้าบวม อึดอัดทรวงอก ไอเสมหะมาก คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเสมหะเหนียว อุจจาระไม่จับตัว หรืออาจจะเหนียวถ่ายไม่สะดวก ปัสสาวะขุ่น

มีระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง เลือดหนืดข้น ตรวจการทำงานของต่อมไร้ท่อพบความผิดปกติ เช่น การทำงานของต่อมไทรอยด์ลดลง การทำงานของหัวใจและปอดลดลง

ข้อสังเกตใช้อ้างอิงวิเคราะห์ว่ามีเสมหะมาก 
มักมีรูปร่างอ้วน (คนอ้วนมักมีเสมหะความชื้น) เมื่อเคลื่อนไหวจะหายใจถี่ เหงื่อออกมาก (ผู้ที่อ้วนมักชี่พร่อง) ฝ้าลิ้นหนาเหนียว เหนื่อยหน่าย อยากนอน (เสมหะความชื้นปิดบังทวารศีรษะ) ขับถ่ายอุจจาระเหนียวติดโถส้วมชำระล้างยาก

- ลักษณะนิสัยค่อนข้างอ่อนโยน สุขุม มีความอดทนสูง
- ปรับตัวเข้ากับฤดูฝน หรือพื้นที่อากาศชื้นได้ยาก
- ง่ายต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และกลุ่มอาการเจ็บหน้าอก คัมภีร์แพทย์โบราณมีบันทึกว่า “ผู้ที่อ้วนมักเกิดจ้งเฟิงง่าย” ซึ่งหมายถึง ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง

จากการศึกษาผู้ป่วยกว่าสามร้อยรายที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วย มีพื้นฐานสุขภาพชนิดที่มีเสมหะความชื้นมาก มักตรวจพบไขมันในเลือดสูง มีโรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในตับ ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี เป็นเนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์

ในสตรีมักมีปัญหาของต่อมน้ำนมเจริญผิดปกติ หรือมีเนื้องอก คนที่อ้วนจากสาเหตุเสมหะความชื้นตกค้างสะสม มักพบว่ามีโรคของต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ 

ในเพศชายอาจเกิดเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความต้องการทางเพศลดลง ในสตรีมีประจำเดือนแปรปรวน  มีการตกไข่ผิดปกติหรือไม่ตกไข่ มีบุตรยาก และผู้ที่มีเสมหะความชื้นมาก เมื่อเจ็บป่วยมักรักษายาก (โรคที่รักษายาก หรือโรคแปลกประหลาดมักเกิดจากเสมหะ)

ข้อแนะนำ 
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อับชื้นเป็นระยะเวลานาน
- ออกกำลังกายที่มีการเผาผลาญพลังงานได้ดี ทำอย่างสม่ำเสมอ 
- ปรับสมดุลอารมณ์ ทำกิจกรรมที่มีลักษณะรื่นเริงและกระฉับกระเฉง เพื่อกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น 
- เลือกรับประทานอาหารประเภทที่มีสรรพคุณกระจายชี่ปอด กระตุ้นระบบการทำงานของม้าม บำรุงไต สลายความชื้น ควรเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำ และมีใยอาหาร เป็นหลัก เช่น แตงกวา ฟัก คึ่นช่าย กุยช่าย ผักกาดขาว ถั่วงอก หัวไชเท้า แห้ว สาหร่าย แมงกะพรุน หอมใหญ่ เห็ด ลูกเดือย กะหล่ำปลี ถั่วแดง พริก


6. Type กลุ่มร้อนชื้น  (ShiRe : 湿热)

ลักษณะโดยรวม
หน้าหมองและมันวาว ปากขม ฝ้าลิ้นเหลืองเหนียว 

ลักษณะรูปร่าง
ค่อนข้างผอมบาง

- ง่ายต่อการเกิดสิว ปากขมปากแห้ง ร่างกายหนัก อ่อนล้า อุจจาระเหนียวหนืด ถ่ายไม่คล่องหรือแห้งแข็ง ปัสสาวะน้อยและมีสีเหลืองเข้ม ในเพศชายบริเวณถุงอัณฑะจะอับชื้น ในเพศหญิงตกขาวจะมีปริมาณมากขึ้น ลิ้นค่อนข้างแดง มีฝ้าเหลืองเหนียว  ชีพจรลื่นและเร็ว (HuaShuMai)
- หงุดหงิด กระวนกระวาย ใจร้อน
- ง่ายต่อการเกิดแผลหนอง ดีซ่าน ปัสสาวะแสบขัดร้อน 
- ช่วงปลายฤดูร้อนต้นฤดูฝน ที่มีอากาศร้อนชื้นจะยากต่อการปรับตัว

ข้อแนะนำ 

1. ที่อยู่อาศัยควรมีลักษณะที่ปลอดโปร่งและแห้งอยู่เสมอ ไม่ควรมีลักษณะที่อับชื้น หลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานาน

2. เลือกการออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมาก เพื่อเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ขับสารน้ำส่วนเกิน

3. เนื่องจากผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ มีปัจจัยความชื้นเป็นสาเหตุด้วย ซึ่งความชื้นจะมีลักษณะหนัก ขุ่น สกปรก เป็นน้ำไหลลงที่ต่ำ ขังอยู่ตามส่วนล่างของร่างกาย มักพบโรคบริเวณอวัยวะเพศ จึงควรป้องกันการอับชื้น และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ

4. รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ถั่วเขียว แตงกวา รากบัว  อาหารที่มีสรรพคุณในการระบายความร้อน สลายความชื้น เช่น ลูกเดือย เม็ดบัว ฟัก บวบ มะระ ผักกาดขาว ผักบุ้ง เลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด ฤทธิ์ร้อน ทอด ปิ้งย่าง ควบคุมการบริโภคเกลือ

7. กลุ่มเลือดคั่ง (XueYu: 血瘀)

ลักษณะโดยรวม  
สีผิวหมองคล้ำ ลิ้นม่วงคล้ำ 
พบได้ทั้งคนที่รูปร่างอ้วนและรูปร่างผอม ง่ายต่อการเกิดจ้ำเลือด ริมฝีปากหมองซีด ลิ้นคล้ำมีจุดจ้ำเลือด หลอดเลือดใต้ลิ้นม่วงคล้ำ หนาหยาบและขยายโต ชีพจรฝืด (SeMai) ปวดเฉพาะที่แบบเข็มทิ่มแทง หรือปวดบิด ใบหน้ามีฝ้า ขอบตาคล้ำ ปวดประจำเดือน เลือดสีคล้ำมีลิ่มเลือด หรือประจำเดือนหยุด ลิ้นคล้ำหรือมีจุดจ้ำเลือดบนลิ้น ชี่ติดขัด และการมีเลือดคั่ง มักมีผลถึงกัน จึงมักปรากฏอาการเหล่านี้ร่วมกัน

- หงุดหงิดง่าย ขี้ลืม
- ไม่ทนต่อความหนาวเย็น
- ง่ายต่อการเกิดก้อนในร่างกาย โรคปวด โรคเลือด การไหลเวียนไม่คล่องของเลือดในหลอดเลือดบริเวณไกล ๆ หรือหลอดเลือดฝอย จะเป็นพื้นฐานของพยาธิสภาพที่ทำให้เกิดโรคหลายชนิด

สรุปได้ว่า “ชี่ติดขัด เลือดคั่ง ทำให้เป็นบ่อเกิดแห่งโรค” ซึ่งแนวความคิดนี้มีค่าอย่างยิ่งในการเตือนให้ระวัง ขณะเดียวกันเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังที่รักษายาก 

มักมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง  นอนไม่หลับ ซึมเศร้า หลอดเลือดแดงแข็งตัว เส้นเลือดในสมองตีบ เกิดอาการสมองเสื่อมจากการขาดเลือด โรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี ลำไส้อักเสบเรื้อรัง การทำงานของลำไส้แปรปรวน ต่อมน้ำนมเพิ่มปริมาณผิดปกติ ปวดประจำเดือน เกิดเนื้องอกในมดลูก 

ข้อแนะนำ 
- ปรับสมดุลอารมณ์ 
- ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเสมอ 
- ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม 
- รับประทานอาหารที่มีสรรพคุณในกระตุ้นการไหลเวียนของชี่ สลายเลือดคั่ง เช่น ดอกกุหลาบ ส้มจี๊ด มะละกอ  ถั่วดำ เหล้าองุ่นแดง หอมใหญ่ ขิง พริก แปะก๊วย กระเทียม  หัวผักกาด ส้ม ยี่หร่า อบเชย กานพลู มะนาว ส้มโอ หรือดื่มไวน์เล็กน้อยก่อนเข้านอน หรือน้ำส้ม (กรด) ช่วยลดไขมัน และลดความหนืดในเลือด
- ไม่ควรรับประทานอาหารรสเค็ม


8. กลุ่มชี่อั้น (QiYu : 气郁)

ลักษณะโดยรวม  
จิตใจหม่นหมอง อัดอั้นตันใจอารมณ์อ่อนไหวเปราะบาง คิดมาก 
ส่วนใหญ่รูปร่างผอม หดหู่ ไม่สดใส ลิ้นแดงซีด มีฝ้าบางขาว ชีพจรตึง (XianMai) มักมีอาการแน่นทรวงอก ชอบถอนหายใจ มีอาการเสียดชายโครง กระเพาะอาหารและท้อง เรอบ่อย มักรู้สึกมีสิ่งของจุกอยู่ที่คอ นิสัยไม่แสดงออก เมื่อมีอารมณ์แปรปรวนมักปวดท้อง ท้องเสีย สตรีมีอาการปวดแน่นเต้านมและท้องน้อย ง่ายต่อการเกิดอาการซึมเศร้า ทนต่อสภาวะกดดันทางอารมณ์ได้น้อย ปรับตัวเข้ากับฤดูฝนได้ยาก

ข้อแนะนำ 

1. ปรับสมดุลอารมณ์ สร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่ตนเอง เพื่อทำให้ชี่มีการไหลเวียนได้ดี เป็นการป้องกันการอุดกั้นของชี่ 

2. เลือกการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้พลังงานมาก เพื่อช่วยปลดปล่อยอารมณ์ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ฟุตบอล บาสเก็ตบอล รำมวยจีน 

3. รับประทานอาหารที่มีสรรพคุณในการกระจายชี่ปอด กระตุ้นการไหลเวียนของชี่ เช่น ดอกไม้จีน สาหร่ายทะเล  ดอกกุหลาบ ปลา เนื้อสัตว์ นม ถั่ว ส้มและเปลือกส้ม การดื่มไวน์เล็กน้อยยังสามารถกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและชี่ได้อีกด้วย หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด กาแฟ ชาเข้ม อาหารรสมัน รสจัด

9. กลุ่มพิเศษ (เท่อปิ่ง) (TeBing : 特禀)

ลักษณะโดยรวม  
เกิดความผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ลักษณะเด่น คือ เกิดความผิดปกติทางสรีระวิทยา เป็นภูมิแพ้ได้ง่าย 

ลักษณะรูปร่าง  
ผู้ที่อยู่ในจำพวกภูมิแพ้มักไม่มีความผิดปกติทางสรีระวิทยา ส่วนผู้ที่ได้รับสารจำเป็นก่อนกำเนิดจากบิดามารดาไม่เพียงพอ มักเกิดความผิดปกติทางสรีระวิทยา หรือความพิการของร่างกาย

อาการแสดง  
ผู้ที่อยู่ในจำพวกภูมิแพ้มักพบอาการหอบหืด ภูมิแพ้ คัดจมูก คันคอ ไอ จาม ส่วนผู้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรม อาจเกิดเนื่องจากบิดามารดาถ่ายทอด หรือพัฒนาการขณะอยู่ในครรภ์ผิดปกติ หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติการเจ็บป่วย

บางรายอาจเกิดการติดเชื้อหรือเป็นโรคขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากมารดาและส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ทำให้เกิดโรคหรือเป็นโรคขณะอยู่ในครรภ์ พัฒนาการช้าทั้งห้า คือ การยืน การเดิน การงอกของเส้นผม การงอกของฟัน การหัดพูด ศีรษะอ่อน คออ่อน แขนขาอ่อน กล้ามเนื้ออ่อน การพูดหรือการเคี้ยวอาหารผิดปกติ กระหม่อมปิดช้า ลมชักในเด็ก 

ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ยาก ง่ายต่อการเกิดภูมิแพ้และยากในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล อีกทั้งง่ายต่อการกำเริบของโรคประจำตัว

ข้อแนะนำ 

1. ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ในเบื้องต้นนั้น การดูแลสุขภาพของพ่อและแม่ในการวางแผนการมีบุตร การตรวจสุขภาพ การงดปัจจัยกระตุ้น เช่น บุหรี่ แอลกอฮอลล์ และระมัดระวังในการใช้ยาทุกประเภท จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

2. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ควรจัดการที่อยู่อาศัยมีการถ่ายเทของอากาศอยู่เสมอ ใส่ผ้าปิดจมูกหรือแว่นเมื่อเข้าสู่ที่สาธารณะ 

3. รักษาสภาพอารมณ์ให้ร่าเริงหากิจกรรมสร้างความสุข

4. ผู้ที่มีภูมิแพ้ทางผิวหนัง หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่เป็นส่วนหัวหรือส่วนขาของสัตว์ และพืชตระกูลถั่ว เนื่องจากมีสารกระตุ้นการเกิดภูมิแพ้ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ด เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดความแห้งความร้อนซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดไฟภายใน

5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงเปลี่ยนฤดู ในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดสามารถออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ แต่ต้องมีการอบอุ่นร่างกายก่อนเสมอ 

6. เลือกทานอาหารที่มีสรรพคุณในการบำรุงชี่ ปกป้องเปี่ยว เช่น ข้าวเหนียว ข้าวโอ๊ต  รังนก ผักขม แครอท หรือสมุนไพรจีน เช่น หวงฉี ซันเย่า ไท่จื่อเซิน เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เนื้อวัว กุ้ง ปู มะเขือม่วง พริก ชาเข้มข้น กาแฟ สุรา 


* หมายเหตุ *
สภาพร่างกายของเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุปัจจัยต่าง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง สภาพร่างกายก็จะอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มนี้ แต่หากมีปัจจัยมากระทบ เช่น สภาพอากาศ อายุ สภาวะทางจิตใจ ฯลฯ สภาพร่างกายก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยนั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้