Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 42284 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคหลอดเลือดสมอง ได้กลายเป็นโรคใกล้ตัวที่ทุกคนควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ เพื่อการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมให้ห่างไกลจากการเกิดโรค ในด้านการรักษาปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และแม่นยำ การรักษาก็ได้มีการคิดค้นตัวยาใหม่ ๆ เพื่อการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และเมื่อผู้ป่วยมีการดำเนินโรคไปได้ในระดับหนึ่ง การรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันเพียงอย่างเดียวจะเป็นเพียงการชะลออาการโรค โดยเฉพาะในผู้ป่วยอัมพาตเรื้อรัง ซึ่งทำให้เป็นปัญหาทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง และญาติที่ต้องคอยให้การดูแลเอาใจใส่
การแพทย์แผนจีนมีวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมาแต่ในอดีตกาล โดยเรียกชื่อโรคว่า “จ้งเฟิง” รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้ความสนใจในการนำการแพทย์แผนจีนมาใช้รักษาโรคดังกล่าวร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้เป็นจำนวนมากทั้งในเขตเมืองและชนบท
ศาสตร์การแพทย์แผนจีน เรียกโรคหลอดเลือดสมองว่า “จ้งเฟิง (中风)” หมายถึง โรคที่มีอาการหน้ามืด ล้มลงหมดสติฉับพลัน ร่างกายครึ่งซีกอ่อนแรง ปากเบี้ยว เห็นภาพซ้อน พูดติดขัด หรืออาจไม่มีอาการล้มลงหมดสติ แต่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก จนถึงอาการ ปากเบี้ยว เห็นภาพซ้อน
ลักษณะพิเศษของโรคจ้งเฟิง คือ เกิดอาการฉับพลันชัดเจน จากหลายสาเหตุ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีลักษณะคล้ายกับลมในธรรมชาติ ซึ่งเคลื่อนไหวเร็วและเปลี่ยนแปลงง่าย
คำว่า 中 (จ้ง ) แปลว่า ถูกกระทำ และ 风 (เฟิง) แปลว่า ลม
"จ้งเฟิง" โดยรูปศัพท์จึงหมายถึง "โรคที่ถูกกระทำโดยลม"
โรคจ้งเฟิงจัดเป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้น ๆ ของการแพทย์จีน และยังเป็นโรคที่ได้ชื่อว่า “สามสูงในหนึ่งเดียว (三高一多)” คือ เป็นโรคที่มี อัตราการเกิดโรคสูง อัตราตายสูง และอัตราพิการสูง
อัตราความถี่การเกิดโรคในปัจจุบันก็เพิ่มสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยารักษาและการฟื้นฟูสุขภาพล้วนแล้วเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลของครอบครัวและส่งผลกระทบต่อสังคม
ดังนั้น แพทย์ประจำคลินิกฯ จะเลือกใช้วิธีผสมผสานรักษาซึ่งใช้มานานทางคลินิกอย่างได้ผล ร่วมกับการลดอาการตกค้างจากอาการหลอดเลือดสมองหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เพื่อมาช่วยให้การฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย ก็จะลดภาระต่อสังคมและครอบครัวได้เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันคุณภาพชีวิต ความรู้สึกของผู้ป่วยในเรื่องคุณค่าของตนเอง ความสุขในชีวิตก็จะเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นบทบาทการดูแลผู้ป่วยของแพทย์จีนที่จะช่วยส่งเสริมการรักษาให้ได้ผลยิ่งขึ้น
ศาสตร์การรักษาทางการแพทย์แผนจีน ถือเป็นจิตวิญญาณของวัฒนธรรมจีนโบราณ ซึ่งผ่านการปฏิบัติจริงมาหลายพันปีทางคลินิก นับวันจะเป็นที่ยอมรับในเชิงวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการรักษาโรคหลอดเลือดสมองและการฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งมีเอกลักษณ์และมีจุดเด่นในการรักษาที่แน่นอน หากรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันในเวลาที่เหมาะสมสอดคล้อง ก็ยิ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวนมากได้รับการรักษาที่ดี ทั้งการเปี้ยนเจิ้ง (การตรวจวินิจฉัย) แบ่งกลุ่มอาการ รวมถึงวิธีการรักษาด้วยการฝังเข็ม การให้ยาและการฟื้นฟูทั้งที่ใช้กันทั่วไป รวมไปถึงการรักษาแบบหัตถการเฉพาะ เช่น สิ่งเหน่าไคเชี่ยว (การฝังเข็มปลุกสมองเปิดทวาร) , เข็มศีรษะ , เข็มตา ซึ่งช่วยยกระดับการรักษาให้เพิ่มมากขึ้น
Stroke 中风 จ้งเฟิง : อัมพฤกษ์ อัมพาต
"จ้งเฟิง" 中风 zhongfeng ในที่นี้หมายถึง "เน่ยจ้งเฟิง" (内中风) มีอาการแสดงทางคลินิกคือหมดสติล้มลงฉับพลันทันที ร่างกายซีกหนึ่งใช้การไม่ได้ดั่งใจคิด ปากและลิ้นเบี้ยว พูดไม่ชัด ร่างกายซีกหนึ่งชา หรือไม่มีอาการหมดสติมีเพียงแค่ปากและลิ้นเบี้ยว ร่างกายซีกหนึ่งใช้การไม่ได้ดั่งใจคิดเป็นอาการหลัก เนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีอาการแสดงหลากหลายมีการเปลี่ยนแปลงของโรครวดเร็ว เปรียบเสมือนกับลักษณะเด่นของ “เฟิง 风 (ลม)” ที่มักเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนรวดเร็ว จึงเรียกชื่อว่า “จ้งเฟิง 中zhongfeng : โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต
โรคนี้มีอัตราการเกิดโรคและอัตราการตายค่อนข้างสูงมักจะมีอาการหลงเหลือหรือความพิการไว้หลังจากเป็นโรคในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มีอัตราการเกิดโรคที่สูงมากขึ้นและนอกจากนี้อายุของผู้ที่ป่วยเป็นโรคมีแนวโน้มเกิดในวัยหนุ่มสาวมากขึ้นเป็นอาการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติอย่างรุนแรง
ทางการแพทย์ปัจจุบันจัดอยู่ในขอบเขตของ “โรคหลอดเลือดสมอง”: “Cerebral infarction”
“Cerebral hemorrhage”
“Subarachnoid hemorrhage”
การแพทย์แผนตะวันตกแบ่งโรคหลอดเลือดสมองออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) และ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic stroke) มักจะสัมพันธ์กับอาการโรคดังนี้
- ภาวะความดันโลหิตสูงภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (Arteriosclerosis) หลอดเลือดสมองเจริญผิดรูป (Cerebrovascular malformation) เส้นเลือดโป่งพองในสมอง (Cerebral aneurysm) มักก่อให้เกิดหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke)
- โรคหัวใจรูห์มาติค (Rheumatic heart disease) ภาวะการสั่นของหัวใจห้องบน (Atrial Fibrillation) โรคหลอดเลือดแดงอักเสบทากายาสุ (Takayasu arteritis) เยื่อบุหัวใจอักเสบ (endocarditis) มักก่อให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบตัน (Ischemic stroke)
นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือด (blood rheology) ผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ
ส่วนของเสียและเสมหะที่อุดตันนั้น เทียบเคียงได้จากการมีไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูงทำให้เส้นเลือดอุดตัน ในที่สุดก็อุดตันเส้นเลือดในสมอง ทำให้สมองขาดเลือด เกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตเช่นเดียวกัน
การฝังเข็มในประเทศจีนนั้นใช้รักษาโรคจ้งเฟิง (โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต) มานานกว่า 2,000 ปีแล้ว แพทย์จีนอธิบายว่าเกิดการอุดตัน Qi ของตับ (พลังลมปราณของตับ) จากของเสียและเสมหะ (ของสกปรก) เมื่อพลังของตับหมุนเวียนไม่ได้ ก็จะคั่งค้างเกิดเป็นไฟในตับ ซึ่งจะเป็นต้นกำเนิดของลมตับ ธรรมชาติของลมจะลอยขึ้นสู่เบื้องสูง ในที่สุดลมจึงเคลื่อนมาทำอันตรายต่อไขสมอง เกิดอัมพฤกษ์-อัมพาต ไฟที่มีมากจะทำให้ร้อนจนเลือดไหลออกนอกหลอดเลือด เกิดเป็นเลือดคั่งในสมอง คือ เส้นเลือดในสมองแตกตามแนวการแพทย์แผนปัจจุบัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะวิเคราะห์ผู้ป่วยด้วยมุมมองใด ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งแพทย์จะต้องหาหนทางรักษา แต่แนวทางนั้นอาจจะต่างกันไปบ้าง
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในมุมมองการแพทย์แผนจีน
จ้งเฟิง (中风) มีปัจจัยก่อโรคมากมายทำให้มีการดำเนินโรคที่ซับซ้อน ปัจจัยการเกิดโรคนี้ได้แก่ลม (风-เฟิง) ไฟ(火-หั่ว) เสมหะ (痰-ถาน) เลือดคั่ง (瘀-อวี) โดยตำแหน่งของโรคอยู่ที่สมอง
กลไกของอาการ
1. อินของตับและไตพร่อง ทำให้น้ำไม่หล่อเลี้ยงไม้ เกิดลมตับโหมสะพัด
2. อารมณ์ทั้งห้ารุนแรงเกิดระดับปกติ ทำให้หยางของตับลอยขึ้นสูง ไปเหนี่ยวนำให้เกิดไฟในหัวใจ ลมกับไฟร่วมโบกโหมสะพัด ทำให้เลือดและชี่ไหลพุ่งขึ้นสู่เบื้องสูง (ศีรษะ)
3. รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะชอบทานอาหารมันหรือรสจัด ทำให้เกิดเสมหะสกปรกขึ้นภายใน
4. การเคลื่อนที่ของชี่เสียสมดุล ชี่ติดขัดทำให้เลือดไหลเวียนไม่คล่อง
5. ร่างกายอ่อนแอทุนแต่กำเนิดไม่เพียงพอ ชี่พร่องไม่มีแรงผลักดันเลือดให้ไหลเวียน นานวันเข้าเกิดเป็นเลือดคั่ง
เมื่อเสียชี่จำพวกลม (风เฟิง) ไฟ(火ฮั่ว) เสมหะสกปรก (痰浊ถานจั๋ว) เลือดคั่ง (瘀血อวีเสวี่ย) ฯลฯ ขึ้นไปรบกวนทวารสมอง ทำให้เกิด ทวารสมองปิดกั้น เสิน(神) ถูกอำพรางอยู่ภายใน เสินจึงควบคุมกำกับชี่ไม่ได้ทำให้เกิดเป็นจ้งเฟิง (Stroke)
การเปี้ยนเจิ้ง (ตรวจวินิจฉัยและการรักษา)
1. จ้งจิงลั่ว(中经络)
อาการหลัก : ร่างกายซีกหนึ่งใช้การไม่ได้ดั่งใจลิ้นแข็งพูดลำบากติดขัด ปากเบี้ยว
อาการร่วม
1. หยางของตับทะยานขึ้นสูง : หน้าแดง ตาแดง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หงุดหงิด โมโหง่าย ปากขม คอแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ลิ้นสีแดงหรือแดงเข้ม ฝ้าที่ลิ้นสีเหลืองหรือแห้ง ชีพจรตึงมีแรง
2. ลมและเสมหะอุดกั้นเส้นลมปราณ : แขนขาชาหรือกล้ามเนื้อแขนขาเกร็ง เวียนศีรษะ ตาลาย ฝ้าที่ลิ้นสีขาวเหนียวหรือเหลือง เหนียว ชีพจรตึงลื่น
3. เสมหะและความร้อนสะสมในอวัยวะกลวง : ปากเหนียว มีเสมหะมาก ท้องอืดแน่น ท้องผูก ลิ้นสีแดง ฝ้าที่ลิ้นสีเหลืองเหนียว หรือเทาดำ ชีพจรตึงลื่นใหญ่
4. ชี่พร่องมีเลือดคั่ง : แขนขาอ่อนแรง ร่างกายซีกหนึ่งมีอาการชา มือเท้าบวม หน้าขาวซีด หายใจตื้น ไม่มีแรง ใจสั่น เหงื่อออกง่าย ลิ้นสีคล้ำ ฝ้าที่ลิ้นสีขาวเหนียว ชีพจรเล็กบาง ฝืด
5. อินพร่องมีลมเคลื่อนอยู่ภายใน : แขนขาชา กระสับกระส่ายวุ่นวายใจ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ มีเสียงดังในหู กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งเป็นตะคริวหรือแขนขาสั่น ลิ้นสีแดง ฝ้าที่ลิ้นมีน้อย ชีพจรเล็กบาง เร็ว(ซี่ซู่)
2. จ้งจ้างฝู่ (中脏腑)
อาการหลัก : สติปัญญาเลื่อนลอย เลืองลาง ง่วงสะลึมสะลือ อยากนอนตลอดเวลาหรือหมดสติร่วมกับร่างกายซีกหนึ่งใช้การไม่ได้
อาการร่วม
1. ปี้เจิ้ง (闭证 / กลุ่มอาการปิด) หมดสติ ตัวร้อน กัดฟันแน่น ปากปิดสนิท มือทั้งสองข้างกำแน่น แขนขาเกร็ง ไม่มีอุจจาระปัสสาวะ
2. ทัวเจิ้ง (脱证 / กลุ่มอาการหลุด) หมดสติ หน้าขาวซีด มือแบออก ปากเปิดอ้า อุจจาระปัสสาวะเรี่ยราด มีเหงื่อ ออกเหมือนน้ำมัน ชีพจรแตกซ่าน(ส่านม่าย)หรืออ่อนเบา(เวย)
การรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม
การฝังเข็ม ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดไหลเวียนเข้าสู่หลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆมากขึ้น ทั้งสมอง หัวใจ และแขนขา เพราะมีการศึกษาพบว่า การฝังเข็มจะไปลดการส่งกระแสประสาทซิมพาเทติกที่มีปมประสาทวางเรียงอยู่สองข้างของแนวไขสันหลัง ตั้งแต่บริเวณช่วงคอถึงเอว ปมประสาทในแต่ละช่วงก็จะควบคุมหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองทั้งหมด เมื่อแพทย์ฝังเข็มโดยใช้จุดฝังเข็มบริเวณท้ายทอยและคอส่วนบนก็จะส่งผลต่อปมประสาทช่วงคอ เลือดจะไหลเวียนสู่สมองมากขึ้นในทันที ทำให้สมองที่ขาดเลือดแต่ยังไม่ตาย ได้เลือดกลับมาเลี้ยงและมีชีวิตรอด ไม่กลายเป็นเนื้อสมองตาย ผู้ป่วยจึงรอดพ้นจากอัมพาต
ด้วยการฝังเข็มสามารถทำให้หลอดเลือดทั้งหมดของสมอง ทุกๆเส้นขยายตัวออก แล้วทำให้หลอดเลือดอื่นที่อยู่รอบๆบริเวณเนื้อสมองที่ขาดเลือดขยายตัวออกด้วย จึงเกิดการลำเลียงเลือดเข้ามาช่วย ผ่านทางหลอดเลือดฝอยจิ๋วๆ (Collateral circulation) ที่สานเชื่อมกันเป็นร่างแหไปทั่วร่างกาย หรือ หลอดเลือดตัวช่วย เมื่อสมองขาดเลือดแล้วทำฝังเข็มครั้งแรกในช่วงเวลาที่เหมาะสม เลือดจะถูกนำผ่านมาทางหลอดเลือดตัวช่วย ไปสู่เซลล์สมอง
การฝังเข็มเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดสมองนั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งถ้าทำเร็ว มักจะได้ผลดีเกินคาด อย่างไรก็ตามผลการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการตอบสนองต่อการรักษาได้แตกต่างกันไป จำเป็นต้องทำและต้องคอยสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของอาการระหว่างรักษา การฝังเข็ม การให้ยาแผนปัจจุบัน การทำกายภาพบำบัด เป็นสามแนวทางที่ประสานกันเป็นหนึ่ง และเกื้อกูลกัน ไม่มีขัดแย้งกัน หากได้ร่วมกันทั้ง 3 แนวทางมักจะได้ผลดีที่สุด
หากโชคร้าย เกิดหลอดเลือดในสมองขึ้นกับท่านหรือคนในครอบครัวต้องรีบมาถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่าการฝังเข็มจะได้ผลดีหรือไม่ หากได้ผลดีควรตัดสินใจทำโดยเร็วที่สุด อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆจนพ้นระยะเวลาทอง ก็คือพ้นระยะเวลาแห่งการรักษาไปแล้ว การรักษาเมื่อนั้นก็จะได้ผลไม่ดีอย่างน่าเสียดาย
อ่านข้อมูล : การรักษาด้วยการฝังเข็ม
ข้อมูลประกอบบทความ
1. หนังสือการฝังเข็มรักษาโรคตามกลุ่มอาการ โดย ศาสตราจารย์เหยียนลี่ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2556
2. บทความ ฝังเข็ม ทำไมรักษาอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ โดย นพ.กิตติศักด์ เก่งสกุล โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
ในการประชุมวิชาการและนิทรรศการ "TCM Services Open House"
5 กรกฎาคม 2558 ณ หัวเฉียวแพทย์แผนจีน
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567