การครอบแก้ว ครอบกระปุก (Cupping Therapy)

Last updated: 3 ม.ค. 2568  |  158013 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การครอบแก้ว ครอบกระปุก (Cupping Therapy)

          หากพูดถึงวิธีการรักษาโรคตามศาสตร์ของการแพทย์แผนจีน เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักและนึกถึงแต่การฝังเข็มเป็นส่วนใหญ่
แต่มีอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นั่นคือ การครอบแก้ว หรือ ครอบกระปุก เป็นวิธีการรักษาโดยใช้กระปุกมาลนไฟให้ร้อน
เพื่อไล่อากาศออก จากนั้นจึงครอบกระปุกลงบนผิวหนัง ซึ่งจะมีแรงดูดจากสูญญากาศทําให้เส้นเลือดฝอยบริเวณนั้นแตกตัว
เกิดเป็นจ้ำเลือดคั่งขึ้นในบริเวณที่ครอบแก้ว แก้วครอบจะติดแน่นกับบริเวณผิว ช่วยดึงกล้ามเนื้อ เส้นประสาท เส้นเลือด
ที่อยู่ภายใต้ผิวหนังบริเวณที่ครอบ ทําให้เกิดการกระตุ้นระบบประสาท ฮอร์โมน และทําให้ระบบหมุนเวียนเลือดสมดุลไม่ติดขัด

          อย่างไรก็ตาม ตรงบริเวณผิวหนังที่มีการครอบแก้วลงไปนั้น จะมีรอยเป็นจ้ำๆ สีม่วงหรือสีดำเข้มให้เห็นอยู่บ้าง
ซึ่งอาจจะดูว่าน่ากลัวไปสักนิด แต่ใช้เวลาไม่นาน รอยจ้ำนั้นจะเลื่อนหายไปได้เอง ในปัจจุบันการครอบแก้ว
ก็ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งของศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่ให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมากและยังเป็นที่นิยมในหลายประเทศอีกด้วย
โดยเฉพาะในวงการกีฬาจะเห็นรอยจากการครอบแก้วอยู่บนร่างกายของนักกีฬาอยู่บ่อยครั้ง
ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาในแถบประเทศยุโรปหรือในแถบเอเชียเองก็ตาม

 

          ในทางประวัติและวิวัฒนาการของการครอบแก้วนั้น  ได้บันทึกเกี่ยวกับเรื่องของการครอบแก้วในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการฝังเข็ม และเป็นวิธีการรักษาที่มีมาแต่โบราณ โดยได้มีการบันทึกเอาไว้ว่า การครอบแก้ว มีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์จิ๋น หรือประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว แต่ในสมัยก่อนยังไม่มีแก้ว แล้วคนยุคนั้น ใช้อะไรครอบ?

 ประวัติและวิวัฒนาการการครอบแก้ว คลิ๊ก ประวัติและวิวัฒนาการ "การครอบแก้ว (Cupping Therapy)" - huachiewtcm

          ในยุคเริ่มแรกที่มีการริเริ่มการรักษาโดยการครอบแก้วจึงได้มีการนำเอาเขาของสัตว์ มาใช้ในการครอบ เมื่อเวลาผ่านไป มีวิวัฒนาการเกิดขึ้นมากมาย จากเดิมที่มีการนำเอาเขาของสัตว์มาครอบ ได้เปลี่ยนมาใช้กระบอกไม้ไผ่และแก้วเซรามิกแทน ซึ่งในปัจจุบันนี้มีแก้ว ที่นำมาใช้ครอบหลากหลายรูปแบบนำมาใช้เพื่อการรักษาโรคอยู่มากมาย ดังนี้

ลักษณะอุปกรณ์ที่ใช้ในการครอบแก้ว ครอบกระปุก
1. กระปุกไม้ไผ่ (เป็นไม้ไผ่ที่แก่) นํามาตัดด้านหนึ่งเป็นปากเปิด อีกด้านเก็บไว้เป็นก้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 3-5 ซม. ยาวประมาณ 8-10 ซม. แต่มีข้อเสียคือ เปราะแตก เกิดรอยรั่วได้ง่ายทำให้เวลาครอบแก้วจะไม่แน่น
2. กระปุกเซรามิก ทําจากดินเหนียว ทําเป็นรูปปากกลมท้องใหญ่ด้านนอกและด้านในเรียบลื่น
3. กระปุกแก้ว นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีความทนทานสูง

ประเภทของการครอบแก้ว ครอบกระปุก
วิธีกระปุกไฟ ใช้ความร้อนในการเผาของไฟ ไล่อากาศออก ทําให้ในกระปุกเกิดแรงดูด แล้วนํากระปุกไปครอบบริเวณผิว

1.วิธีกระปุกน้ำ (竹罐水煮排气法) คือ การนำกระบอกไม้ไผ่ไปต้มหรือแช่กับน้ำร้อน เพื่อให้ไอความร้อนของน้ำที่เดือดเกิดเป็นสุญญากาศภายในกระบอกไม้ไผ่ก่อนครอบลงบนผิวหนัง วิธีการนี้พบน้อยในยุคสมัยปัจจุบัน



2.วิธีครอบแบบสุญญากาศ (气罐) คือ การใช้แก้วที่เป็นแบบพลาสติกพร้อมเครื่องสูญญากาศซึ่งออกแบบมาสำหรับการครอบแก้วโดยเฉพาะ  วางไปบริเวณที่ผิวหนังแล้วใช้อุปกรณ์การดูดสูญญากาศออกมาจากแก้วทำให้แก้วครอบติดผิวหนัง วิธีการนี้เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันเนื่องจากมีความปลอดภัยพกพาสะดวกแต่ข้อด้อยคือแรงดูดของแก้วไม่เพียงพอ

3.วิธีกระปุกไฟ (火罐) คือ การใช้ความร้อนในการของไฟเพื่อไล่อากาศภายในแก้วออก ทําให้ในแก้วเกิดสูญญากาศ  แล้วนําไปครอบบริเวณ ที่ต้องการ วิธีการนี้เป็นที่นิยมค่อนข้างแพร่หลายในคลินิกแพทย์แผนจีนในประเทศไทยข้อดี คือ มีแรงดูดที่เพียงพอและสามารถทำหัตถการไม่ว่าจะเป็นการวิ่งแก้วหรือแก้วกระพริบได้ค่อนข้างดี แต่ข้อด้อย คือยังมีความอันตรายจากเปลวไฟอยู่ ดังนั้น หัตถการนี้ควรทำอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้ที่ถูกฝึกมาอย่างชำนาญ



ชนิดของการใช้กระปุก
1. แก้วกระพริบ (闪罐法)  คือ การครอบแก้วแล้วดึงออกทันทีแล้วทําซ้ำไปมาหลาย ๆ ครั้ง จน ผิวกลายเป็นสีแดง ใช้กับบริเวณที่มีอาการชา และผู้ป่วยที่อ่อนแอ
2. แก้ววิ่ง/ลากแก้ว (走罐法)  คือ การครอบแก้วในบริเวณที่มีกล้ามเนื้อเยอะ เช่น เอว หลัง โดย ทา ผิวหนังด้วยน้ำมันนวดหรือออยด์ เมื่อครอบกระปุกแล้ว จับแก้วให้มั่นผลักขึ้นลง จนผิวกลายเป็น สีแดงระเรื่อ
3. การวางแก้ว (留罐法)  คือ การครอบกระปุกทิ้งไว้ประมาณ 3-8 นาที จึงดึงออก
4. กระปุกเข็ม (留针拔罐法)  คือ การฝังเข็มลงไปที่จุดฝังเข็ม แล้วนําครอบกระปุกไปครอบโดยให้ตําแหน่งเข็ม เป็นศูนย์กลางในการครอบ นิยมใช้กับโรคปวดจากลมชื้น
5. กระปุกปล่อยเลือด (刺血拔罐)  คือ การใช้เข็มดอกเหมย หรือเข็มที่ค่อนข้างหนา ทําการเจาะปล่อยเลือดตาม ตําแหน่งโรค แล้วนําแก้วไปครอบในบริเวณที่เจาะ เพื่อ ให้เลือดคลั่งบริเวณตำแหน่งที่มีอาการไหลออกมา ซึ่งการครอบแก้วปล่อยเลือดนั้นมักทำในผู้ป่วยที่มีจุดกดเจ็บชัดเจนหรือผู้ป่วยที่มีการอักเสบของร่างกาย เช่น ข้อเท้าแพลง เป็นต้นไม่ใช่ทุกคนหรือทุกโรคสามารถปล่อยเลือดได้ ดังนั้นการทำหัตถการนี้ควรทำโดยแพทย์และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

 

 

ประสิทธิภาพในการรักษา
1. การถูกกระตุ้นด้วยวิธีการครอบแก้ว
เมื่อครอบแก้วลง ยึดติดกับผิวหนังเกิดการดึงเส้นประสาท กล้ามเนื้อ หลอดเลือดภายในชั้นผิวหนัง ทํา ให้มีผลกระทบต่อระบบในการหลั่งฮอร์โมน ปรับสมดุล การคลายตัวหดตัวของหลอดเลือดและการ ไหลเวียนของหลอดเลือด ทั้งยังปรับเปลี่ยนระบบหมุนเวียนของเลือดของบริเวณนั้น
2. ผลจากแรงดัน
แรงดันของการครอบกระปุกมีบทบาททําให้ เส้นเลือดฝอยแตกแตกตัว ฮีโมโกลบินถูกปล่อยออกสู่ระบบร่างกายถือเป็นการ กระตุ้นที่ดีผ่านทางระบบประสาท ปรับสมดุลทั้งสองทิศทาง กับการทํางานของเนื้อเยื่ออวัยวะ ในขณะเดียวกันยังกระตุ้นการทํางานของเม็ดเลือดขาว ทําให้ไวต่อความรู้สึกของการเปลี่ยนแปลงผิวหนังภายนอก เพิ่มความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน การทํางานของต่อมเหงื่อและต่อมไขมันได้รับการกระตุ้น เซลล์ผิวหนังชั้นกําพร้าถูกผลัดออก ทําให้สารพิษในการร่างกายของเสียถูกขับออกมา
3. ความอุ่นร้อน
บทบาทของความอุ่นร้อนที่บริเวณครอบกระปุกทําให้เส้นเลือดขยายตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทั้งยังทะลวงผนังของหลอดเลือด ลดความตึงของหลอดเลือด ช่วยเพิ่มการดูดซึมของเนื้อเยื่อ เสริมสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน

การรักษาโรคด้วยการครอบแก้ว
          การครอบแก้ว สามารถรักษาได้หลายโรคหลายอาการ เช่น ไอ ไข้หวัด หอบหืด ลมพิษ ทั้งยังนิยมนำมาใช้เพื่อลดต้นขา ลดหน้าท้องอีกด้วย โดยอาการที่นิยมนำเอาการครอบแก้วมาใช้รักษามากที่สุด คือ อาการปวดที่บริเวณต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น อาการปวดบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ เอว ขา  ซึ่งในศาสตร์การแพทย์จีน เชื่อว่า สาเหตุของการเกิดอาการปวดต่าง ๆ นี้ เกิดมาจาก "เสียชี่" หรือ พิษต่าง ๆ จากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย (คำว่า พิษ ในศาสตร์การแพทย์จีนจะหมายถึง ความเย็น ความชื้น) และเมื่อได้รับพิษเข้ามาอุดกั้นภายในเส้นเลือดและเส้นลมปราณ จะทำให้เส้นเลือดหรือชี่ติดขัด และเมื่อชี่เกิดติดขัด เกิดการไหลเลือดของเลือดลมไม่สะดวก ก่อให้เกิดอาการปวดตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น การครอบแก้ว ก็คือการดูดเอาพิษหรือเสียชี่จากภายนอกออกจากร่างกาย เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น และเมื่อเลือดลมไหลเวียนดีอาการติดขัดก็หายไป ส่งผลให้อาการปวดต่าง ๆ บรรเทาหรือทุเลาลงได้

 

โรคที่เหมาะกับการรักษาด้วยการครอบแก้ว
1. โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ไอ ภูมิแพ้อากาศ
2. โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด กระตุ้นการเผาผลาญ
3. โรคระบบหมุนเวียนเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง  ปรับสมดุลร่างกาย ประจำเดือนมาไม่ปกติ
4. โรคของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น ปวดต้นคอ ข้อไหล่ ปวดไหล่สะบัก ปวดข้อศอก ข้อต่อต่างๆ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดก้นกบ ปวดสะโพก โรคหมอนรองกระดูก ข้อเท้าพลิกแพลงปวดสะโพก ปวดเข่า ปวดข้อเท้า ปวดส้นเท้า
5. โรคระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน โรควิตกกังวล นอนไม่หลับ อัมพาตบนใบหน้า ปวดจากงูสวัด กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองอัมพฤกษ์อัมพาต รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยพาคินสันที่มีการหดเกร็งหรือมีความตึงของกล้ามเนื้อ
6. โรคอายุรกรรมภายนอก เช่น กลุ่มโรคฝีหนอง หรือบริเวณที่มีการอักเสบ

 

สีจากการครอบแก้ว
          เมื่อทำการรักษาโดยการครอบแก้วเสร็จแล้ว ตรงบริเวณของผิวหนังที่โดนครอบแก้วจะเกิดเป็นรอยจ้ำสีแดงหรือม่วงขึ้น ซึ่งความเข้มของรอยจ้ำดังกล่าว สามารถบอกได้ถึงความตึงของกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยยิ่งมีสีที่เข้มมากเท่าไร ก็แสดงได้ว่า บริเวณดังกล่าวมีอาการปวดหรือมีเสียชี่มากเป็นพิเศษ (รอยจ้ำ ๆ ของผิวหนังบริเวณที่โดนครอบแก้ว จะเป็นรอยอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วจางหายได้เอง)




รอยที่ปรากฏหลังจากครอบแก้ว เป็นสื่อที่ร่างกายส่งสัญญาณแจ้งมาบอกถึงสภาพร่างกายของเรานั่นเอง

  • หลังครอบแก้ว หากไม่ปรากฏรอย หรือ มีรอยแต่จางหายไปย่างรวดเร็ว แสดงว่า สุขภาพโดยรวมของเรายังไม่มีปัญหา ยกเว้น กรณีผู้ป่วยที่มีรูปร่างอ้วน หรือ เป็นโรคโลหิตจาง ซึ่งมักจะไม่เกิดรอยจากการครอบแก้ว

  • หากเกิดรอยเป็นเวลาหลายวันโดยไม่จางลง ชี้ว่าอาการได้สะสมเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว ต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่องในการครอบแก้ว

  • ถ้ารอยเกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายในเวลา 3 นาที หมายความว่าบริเวณนั้นเป็นตำแหน่งที่มีโรค

หลังการครอบแก้วแบบเดินกระปุก บนแผ่นหลังมีจุดแดงเล็กๆจำนวนหนึ่ง เกิดขึ้นใกล้บริเวณจุดฝังเข็มใด ชี้ว่าอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับจุดนั้นผิดปกติ

รอยสีม่วงและสีแดงสดต่างกันอย่างไร ?
รอยครอบแก้วสีม่วง มักเกี่ยวกับ เลือด ชี่ และพิษเย็น ส่วนรอยสีแดงสด แสดงว่าอินพร่อง หยางแกร่ง
1. รอยมีสีม่วง ดำคล้ำ บ่งชี้ว่าเลือดคั่งและได้รับพิษเย็น
2. รอยแก้วแบบวิธีเดินแก้ว หากมีสีดำ ม่วง เป็นบริเวณกว้าง บ่งชี้ว่าได้รับพิษจากลมเย็น ลมหนาว
3. รอยด่างสีม่วงกระจาย อ่อนเข้มไม่เท่ากัน บ่งชี้ว่าชี่อุดตัน เลือดคั่ง
4. รอยสีม่วงอ่อน แกมเขียวเป็นก้อน บ่งชี้ว่า ชี่อ่อนแอ เลือดคั่ง

 

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการครอบแก้ว

1. สภาพร่างกายของผู้ที่จะครอบแก้ว ถ้าสภาพร่างกายอ่อนแอเกินไปไม่เหมาะจะครอบเพราะการครอบแก้วเป็นวิธีการระบาย หากทำในผู้ป่วยที่มีอาการพร่องหรืออาการอ่อนเพลีย อาจจะทำให้ร่างกายยิ่งเพลียมากขึ้นได้
2. สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนป่วยโรคหัวใจ ครอบแก้วควรต้องระมัดระวังอย่างมาก ส่วนเอวและท้องของสตรีมีครรภ์ห้ามครอบแก้ว ตำแหน่งที่ครอบแก้วผิวหนังบริเวณนั้นได้รับแรงดูดมากขึ้น ทําให้ร่างกายบริเวณนั้นบวมและปวด ซึ่งคนที่ร่างกายปกติทนรับได้แต่ผู้สูงอายุและ ผู้ป่วยโรคหัวใจต้องระมัดระวังในการครอบแก้วเป็นพิเศษ
3. คนไข้ที่บริเวณผิวหนังมีแผลเปิดและโรคผิวหนัง ไม่ควรครอบแก้ว
4. ระยะเวลาในการครอบแก้ว ไม่ควรครอบไว้นานเกินไป ปกติเวลาที่เหมาะสมอยู่ในช่วงเวลา 3-5 นาที เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดตุ่มน้ำ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ควรพยายามหลีกเลี่ยง การเกิดตุ่มน้ำ เพราะอาจจะเป็นแผลเรื้อรังหรือติดเชื้อได้
5. ถ้าครอบแก้วโดยไม่ระวังอาจเกิดตุ่มน้ำ ปกติเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 มม. กระจายอยู่ ภายใน แต่ละกระปุกน้อยกว่า 3 อัน ตุ่มน้ำจะยุบไปเอง แต่ถ้าเส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 1 มม. แต่ละ กระปุกมากกว่า 3 อัน หรือ มีโรคเบาหวานและภูมิคุ้มกันต่ำควรพบแพทย์
6. ความสะอาดของกระปุกแก้ว เช่น คนไข้ 1 คนต่ออุปกรณ์ 1 ชุด เมื่อ ใช้อุปกรณ์ครอบแก้วในการรักษาคนไข้ต่อรายคนแล้ว จะนำอุปกรณ์ไป ล้างทำความสะอาด และอบฆ่าเชื้อ ครั้งต่อครั้ง
7. การครอบแก้วในเด็ก เด็กผิวหนังยังอ่อน การเจริญเติบโตยังไม่สมบูรณ์ ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์
 

 

การครอบแก้ว วางแก้วทิ้งไว้บนผิวหนังระยะเวลาประมาณ 3-5 นาที จึงเอาแก้วออก ขนาดของกระปุกที่แพทย์เลือกใช้จะขึ้นกับตำแหน่งที่จะทำการรักษา มักใช้บริเวณที่มีกล้ามเนื้อมาก ขนน้อย และไม่มีปุ่มกระดูก เปลวไฟควรแรงพอให้เกิดสุญญากาศ  และแพทย์จะไม่ทำการครอบแก้วบริเวณที่มีแผล บวม อักเสบ หรือบริเวณที่มีเส้นเลือดใหญ่ ผู้ป่วยที่มีไข้สูงและอาการชัก ไม่ครอบแก้วบริเวณท้องหรือก้นกบของหญิงตั้งครรภ์ หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกง่าย การครอบแก้วนั้นถือเป็นส่วนหนี่งในการรักษาโรคทางแพทย์แผนจีน สำหรับบางโรคอาจต้องควบคู่กับการฝังเข็มร่วมด้วย วิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับอาการ ระยะเวลา รวมถึงดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นหลัก

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนรติกร อุดมไพบูลย์วงศ์  (หมอจีน เวิน เจิน ฮุ่ย)
温珍慧 中医师
TCM. Dr. Ratikon Udompriboonwong (Wen Zhen Hui)
แผนกฝังเข็ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้