ภาวะวัยทองและโรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน Menopausal syndrome

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  102140 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะวัยทองและโรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน Menopausal syndrome

โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน (Menopausal syndrome)
โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน (กลุ่มอาการสตรีวัยหมดระดู) เป็นภาวะที่พบในช่วงใกล้และวัยหมดประจำเดือน คือ ในช่วงอายุระหว่าง 40-59 ปี ซึ่งนิยมเรียกว่า วัยทอง

วัยหมดประจำเดือน (Menopausal syndrome) จะนับตั้งแต่ระยะเวลา 12 เดือน หลังจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยทั่วไปมักอยู่ในช่วงอายุประมาณ 51-55 ปี (เฉลี่ย 51.3 ปี) บางรายอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนอายุ 40 ปี เรียกว่า วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด (Premature menopause) 

ส่วนในกลุ่มอาการวัยใกล้หมดประจำเดือน จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นที่มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของประสาทอัตโนมัติในช่วงใกล้หมดประจำเดือน
  
สาเหตุ
เกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของผู้หญิง ในวัยนี้ที่รังไข่ค่อยๆลดลงจนกระทั่งหยุดทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนอย่างถาวร ทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือน ที่เคยเกิดขึ้นเป็นวงจรในแต่ละเดือน

เนื่องจากความแปรปรวนของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงก่อนถึงวัยหมดประจำเดือนและการลดลงของเอสโตรเจนอย่างมากในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจต่างๆ ซึ่งค่อยๆเป็นมากขึ้น และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะพร่องเอสโทรเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต่อมาอีกหลายปีจนเข้าสู่วัยสูงอายุ

ส่วนวัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด อาจมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ (มีมารดาที่เกิดภาวะเดียวกัน) หรือเกิดปฏิกิริยาภูมิต้านทานต้านตนเองก็ได้ และบางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

ในกลุ่มสตรีที่ก่อนประจำเดือนจะหมด  ในช่วงที่มีประจำเดือนนั้น จะเริ่มประจำเดือนผิดปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกร้อนๆหนาวๆ รู้สึกหงุดหงิด โมโหง่าย เวียนศีรษะ วิงเวียน อาการของระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ เช่น hypofunction of ovary, hyperthyroidism and hyper -adrenalism อาการเหล่านี้คล้ายกับอาการทางการแพทย์จีนที่เรียกว่า อาการก่อนและหลังวัยหมดประจำ เดือน “syndromes before and after menopause” และอาการ  “visceral irritability”  ศาสตร์การแพทย์จีนอธิบายว่าเกิดจากการลดลงของพลังชี่ของไต   การหมดไปของ reproductive essence การไม่พอเพียง (insufficiency) ของ essence และเลือด  ความพร่อง (asthenia) ในเส้นลมปราณตู่และม่าย  การไม่สมดุลกันของไตอินและไตหยาง หรือเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะภายใน



อาการ
ระยะใกล้ถึงวัยหมดประจำเดือน อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 40-50 ปี ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติซึ่งมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนประมาณ 2-8 ปี บางรายอาจจะไม่มีอาการแสดงให้เห็นเด่นชัดก็ได้

อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เกี่ยวเนื่องกับความแกว่งขึ้น-ลง ของระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน รวมทั้งภาวะพร่องเอสโทรเจนในที่สุด โดยมักมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเป็นอาการแรกเริ่ม อาจมาก่อนหรือช้ากว่าปกติ อาจออกน้อยหรือมากไม่แน่นอน บางรายประจำเดือน อาจหายไปหลายเดือนแล้วกลับมามีประจำเดือนเป็นปกติใหม่ หรืออาจมีประจำเดือนสม่ำเสมอทุกเดือนจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก็ได้

ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการร้อนซู่ซ่าตามผิวกาย ซึ่งพบได้ประมาณ 3 ใน 4 คน โดยมีอาการร้อนตามใบหน้า ต้นคอ หัวไหล่ แผ่นหลังในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 30 วินาที ถึง 5 นาที (เฉลี่ยประมาณ 2-3 นาที) และมักเป็นในช่วงกลางคืน 

ในรายที่เป็นมากอาจทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย หงุดหงิด นอนไม่หลับ การกินอาหารรสเผ็ด รสจัด แอลกอฮอลล์ กาแฟ ความร้อน  ความเครียด ความกดดัน เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการถี่ขึ้นได้ 

ผู้ป่วยอาจมีอาการเหงื่อออก โดยเฉพาะตอนกลางคืน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์
และจิตใจ เช่น หงุดหงิดง่าย โมโหบ่อยๆ อารมณ์ขึ้นๆลงๆแปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้า จิตใจห่อเหี่ยว ความจำเสื่อม หลงๆลืมๆ ไม่มีสมาธิ เป็นต้น

นอกจากนี้อาจมีอาการปวดหัว เวียนหัว บ้านหมุน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดตามข้อ ในระยะต่อมา เมื่อเกิดภาวะพร่องเอสโทรเจน ก็อาจมีอาการเยื่อบุช่องคลอดแห้ง อาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ ผิวหนังแห้ง ริมฝีปากแห้ง ผมแห้ง ผมร่วง 

สิ่งตรวจพบ
- มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน
- บางรายอาจพบว่ามีอาการผมบาง เต้านมลดความเต่งตึง เริ่มมีไขมันที่หน้าท้อง
- อาจพบว่ามีความดันโลหิตสูง หรือน้ำหนักตัวขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นเหตุปกติตามวัย ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาวะพร่องเอสโทรเจน

ภาวะแทรกซ้อน
มักเป็นผลมาจากภาวะพร่องเอสโทรเจนที่สำคัญ ได้แก่
- เยื่อบุช่องคลอดบาง แห้ง และขาดความยืดหยุ่น อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดระหว่างกิจกรรมทางเพศ และช่องคลอดอักเสบได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน

- กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานหย่อนยาน ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดเวลาไอจาม ยกของหนักหรือหัวเราะ ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน

- เยื่อบุท่อปัสสาวะบาง ทำให้มีอาการแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่วัยใกล้หมดประจำเดือน

- ผิวหนังบาง แห้ง ขาดความยืดหยุ่น อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

- ภาวะกระดูกพรุน

- ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ โดยพบว่าในบางรายค่าแอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูงและเอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ

- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังหมดประจำเดือน อายุมากกว่า 60-65 ปี

- โรคสมองเสื่อม หลงๆลืมๆ ซึ่งมักเกิดช่วงย่างเข้าวัยผู้สูงอายุ

มุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนจีน
เมื่อระดับฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ ผู้หญิงเราก็มักจะรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ขี้หงุดหงิด และโมโหง่าย แถมยังมีอาการวิงเวียนศรีษะ อาการเหล่านี้ทางการแพทย์แผนจีนเรียกว่า อาการก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือน (Syndromes before and after Menopause / Visceral Irritability)


ศาสตร์ทางการแพทย์แผนจีน ได้อธิบายว่า อาการก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือน เกิดจาก

  • การลดลงของพลังชี่ (Qi) ของไต
  • การหมดไปของ Reproductive Essence
  • การไม่พอเพียงของ Essence และเลือด
  • ความพร่องในเส้นลมปราณตู่และม่าย
  • การไม่สมดุลกันของไตอินและไตหยาง 
  • ความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกาย

การวิเคราะห์อาการก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือนแบบแพทย์แผนจีน
1. ภาวะ / กลุ่มอาการอินพร่อง  Yin deficiency pattern / syndrome  
陰虛證   (阴虚证)  Yīn xū zhèng
เป็นกลุ่มอาการที่มีภาวะอินและสารน้ำของร่างกายขาดพร่องทำให้หยางชี่มีดุลกำลังแรงขึ้น   มีอาการได้แก่  ปากแห้ง  ลิ้นแห้งขาดความชุ่มชื้น  รูปร่างผอมแห้ง  ร้อนอุ้งมืออุ้งเท้าและในอก  มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่าย  เหงื่อออกขณะนอนหลับเวลากลางคืน  ลิ้นแดงมีฝ้าน้อย  ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว โดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ หูอื้อ รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ เหงื่อออกตอนกลางคืนและมีไข้ ปวดบริเวณเอว ปวดหัวเข่า หรือเมื่อมีประจำเดือนก็จะรู้สึกเจ็บปวดตรงท้องน้อย ประจำเดือนที่ออกมาจะมีสีแดงสดในปริมาณมากหรือน้อย และมักจะมาไม่สม่ำเสมอกัน

2.  ภาวะอินและเลือดพร่อง Yin-blood depletion pattern / syndrome  
陰血虧虛證  (阴血亏虚证)  Yīn xuè kuī xū zhèng                             
ภาวะสารน้ำ  สารจิง  และเลือดพร่อง  ทำให้ร่างกายขาดสารหล่อเลี้ยง  จึงมีอาการแสดงได้แก่ร่างกายซูบผอม  หน้าเหลืองหม่นหมอง  มีไข้ต่ำ  แก้มแดงขึ้นเป็นพักๆ  ชาตามแขนขา  เวียนศีรษะตาลาย  ใจสั่น  นอนไม่หลับ  ลิ้นมีสีแดงและไม่ค่อยมีฝ้า  ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว

เมื่อม้ามและไตหยางพร่อง มักจะตัวซีด แขนขาเย็น มีอาการบวมที่ขา ตกขาวอาจมีน้อยหรือมาก อุจจาระมีลักษณะเหลว รวมถึงมีอาการแน่นท้องจากอาหารไม่ย่อย และปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน  

3. ภาวะ / กลุ่มอาการชี่ติดขัดจากหยางพร่อง  Pattern / syndrome of yang deficiency with qi stagnation 陽虛氣滯證  (阳虚气滞证) Yáng xū qì zhì zhèng อาการได้แก่กลัวหนาว  แขนขาเย็น  หน้าซีด  ตึงเจ็บตามอก ชายโครงและท้อง  มีเสียงท้องลั่น  ถ่ายอุจจาระเหลว  ปัสสาวะใสและมีปริมาณมาก  ลิ้นอวบซีด  ชีพจรจมเต้นช้าและอ่อน

4. ภาวะ / กลุ่มอาการอินและหยางล้วนพร่อง   Pattern / syndrome of dual deficiency of yin and yang  陰陽兩虛證 (阴阳两虚证) Yīn yáng liǎng xū zhèng
สาเหตุเกิดจากทั้งอินและสารน้ำกับหยางชี่ของอวัยวะภายในต่างพร่อง  มีอาการได้แก่เวียนศีรษะ  มีเสียงในหู  อ่อนเพลีย  กลัวหนาว  แขนขาเย็น  แต่ร้อนที่อุ้งมืออุ้งเท้าและในอก  ใจสั่น เมื่อยเอว  ลิ้นซีดและแห้ง  ชีพจรเต้นเร็วแต่อ่อน 

5. ภาวะ / กลุ่มอาการขาดสารน้ำจากอินพร่อง Pattern / syndrome of yin deficiency with fluid depletion  陰虛津虧證  (阴虚津亏证) Yīn xū jīn kuī zhèng
 อาการได้แก่กระหายน้ำ  ผิวแห้ง  ตาโบ๋  ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม  อุจจาระแห้งแข็ง  อุ้งมืออุ้งเท้าและในอกร้อน  ผอมแห้ง  มีเหงื่อออกเวลากลางคืนขณะนอนหลับ  ลิ้นมีสีแดงและไม่มีฝ้า ชีพจรเล็กและเต้นเร็ว

แนวทางการบำรุงรักษาด้วยวิธีแพทย์แผนจีน
1. การรักษาด้วยตำรับยาจีน เป็นตำรับยาเพื่อบำรุงในทางนรีเวช ตามสภาวะของผู้ป่วย โโดแพทย์จีนผู้ทำการรักษาจะวิเคราะห์สภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อระบุกลุ่มอาการของโรคตามสภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยก่อน จากนั้นจะเลือกตำรับยา จัดยาตามพยาธิสภาพของผู้ป่วย / พื้นฐานสุขภาพผู้ป่วย และเมื่อติดตามอาการดูแล้วเห็นว่าดีขึ้น หรือ ไม่ดีขึ้น แพทย์จีนที่ทำการรักษาจะปรับเปลี่ยนยาตำรับใหม่ให้ตามความเหมาะสมกับอาการในช่วงเวลานั้นๆด้วย 

สมุนไพรจีนแต่ละชนิดที่ผสมอยู่ในตำรับยาจีนนั้นมีบทบาทแตกต่างกันออกไป ในยา 1 ตำรับจะประกอบด้วย
- สมุนไพรที่ทำหน้าที่เป็นตัวหลัก
- สมุนไพรที่เป็นตัวประกอบ
- สมุนไพรที่เป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบในร่างกาย
- สมุนไพรที่เป็นตัวยาเสริม ทำหน้าที่ปรับสมดุล

2. การรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม
หลักการรักษา โดยการฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ จุดหลักและจุดเสริมบนจุดฝังเข็มเพื่อบำรุงอวัยวะในร่างกาย  
- ภาวะพร่องของตับและไต  
- ภาวะพร่องของม้ามและไตหยาง 
- ภาวะขาดสมดุลระหว่างหัวใจกับไต 
- ภาวะคั่งของเสมหะและชี่ 
ใช้เทคนิควิธีการกระตุ้นเข็มแบบระบาย และ/หรือ ร่วมกับการรมยาและเข็มอุ่น 

2. การฝังเข็มหู
แต่ละครั้งใช้ 2-3จุด ที่หูข้างใดข้างหนึ่งปิดด้วยเม็ดหวังปู่หลิวสิง Semeon Vaccariae แพทย์จีนจะแนะนำให้กดวันละ 3 ครั้ง เปลี่ยนเม็ดทุก 3-4 วัน 5-7 วัน นับเป็นหนึ่งช่วงการรักษา

 
ข้อแนะนำ
1. ข้อควรปฏิบัติตนเพื่อบรรเทาอาการและลดภาวะแทรกซ้อนจากภาวะหมดประจำเดือน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น  เดิน การฝึกโยคะ มวยจีน ทำสมาธิ เป็นต้น
- ควบคุมน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหาร เลือกกินอาหารที่พอเหมาะและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย
- ไม่สูบบุหรี่
- เพิ่มอาหารชนิดถั่วเหลือง เต้าหู้ 
- หลีกเลี่ยงอาหารกระตุ้นอาการกำเริบ เช่น คาเฟอีน แอลกอฮอลล์ อาหารรสเผ็ด เป็นต้น

2. ผู้หญิงที่ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างตั้งแต่ก่อนวัยหมดประจำเดือน จะมีภาวะพร่องฮอร์โมนเอสโทรเจน ซึ่งเกิดอาการแบบโรคของวัยหมดประจำเดือนได้

3. ผู้หญิงในวัยใกล้หมดประจำเดือน (40-50 ปี) ถ้าหากมีเลือดออกจากช่องคลอดกระปริดกระปรอยหรือออกนานกว่าปกติ หรือกลับมามีประจำเดือนครั้งใหม่หลังจากหมดไปนานกว่า 6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว อาจเป็นอาการของมะเร็งปากมดลูกก็ได้ อย่าคิดว่าเป็นเพียงอาการของภาวะใกล้หมดประจำเดือน

4. ในปัจจุบันพบว่า การใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนร่วมกับโพรเจสเทอโรนติดต่อกันนานๆ อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็งเต้านม ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด

สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม 
LINE@ : @huachiewtcm


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้