การรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยการฝังเข็ม

Last updated: 22 เม.ย 2568  |  54 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยการฝังเข็ม

การรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยการฝังเข็ม

โรคกรดไหลย้อน หรือที่เรียกว่าโรคกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร (Gastroesophageal Reflux Disease, GERD) เป็นอาการไม่สบายที่เกิดจากการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดอาหาร ซึ่งอาจแสดงอาการเป็นการแสบร้อนที่บริเวณกลางอก, การไหลย้อนของกรด, การเรอ, ความรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในคอ และในบางกรณีอาจทำให้เกิดการอักเสบในหลอดอาหารได้ ศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน เชื่อว่า สาเหตุหลักของกรดไหลย้อนคือการทำงานที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดที่หลอดอาหารส่วนล่าง ซึ่งทำให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับ และอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี, ความเครียด, และภาวะอ้วน   

มุมมองตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

  ศาสตร์การแพทย์จีนมองว่า ม้ามและกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ในการควบคุมระบบทางเดินอาหาร  ประกอบกับการขับเคลื่อนชี่ของตับในการรักษาความสมดุลของการไหลเวียนของชี่และการเคลื่อนไหวอาหารลงไปยังช่องท้อง ดังนั้นหลักการในการรักษาโรคกรดไหลย้อนจึงให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูการทำงานม้าม กระเพาะอาหาร และตับร่วมด้วย

การรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

1.อารมณ์กระทบทำให้ตับและม้ามทำงานไม่สมดุลกัน (肝胃不和)

ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่า ตับและม้าม สัมพันธ์กับอารมณ์ อารมณ์โกรธทำร้ายตับ ครุ่นคิดทำร้ายม้าม ดังนั้นคนที่มักอยู่ในสภาวะความเครียด, ความวิตกกังวล, หรือความกดดัน มักจะมีอาการของกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติและมีอาการตึงเครียดในช่องท้อง ซึ่งสอดคล้องกับระบบทางเดินอาหารของเรามีเส้นประสาทอัตโนมัติจำนวนมาก ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร 

2.ร่างกายอ่อนแอส่งผลต่อม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ (脾胃虚弱)

ม้ามและกระเพาะอาหารถือเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในร่างกายของเรา การที่ร่างกายอ่อนแอเรื้อรัง ประกอบกับมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี เช่น การรับประทานอาหารทอด, ของหวาน, อาหารเย็นหรือร้อนจัด และแอลกอฮอล์ จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้เกิดความชื้นและเสมหะสกปรกในม้ามและกระเพาะอาหาร ชี่ของกระเพาะอหารไหลย้อนขึ้น ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน 

3.พฤติกรรมการรับประทานอาหารส่งผลให้กระเพาะอาหารร้อน (胃热炽盛)

  ผู้ที่ชอบทานอาหารรสจัด, อาหารที่มีรสเค็มและเผ็ด, หรือการกินอาหารมากเกินไปเป็นประจำจะเกิดการกระตุ้นกรดในกระเพาะอาหารระยะยาวอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการอักเสบ ซึ่งในทางการแพทย์จีนมองว่า ทำให้เกิดภาวะไฟในกระเพาะอาหารสะสมมากเกิน และมักพบว่าจะทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา เช่น มีกลิ่นปาก, รู้สึกแสบร้อนกลางอก, อาจจะมีอาการปวดแสบบริเวณกระเพาะอาหาร ฝ้าลิ้นมีลักษณะหนาและเหนียว

การรักษาด้วยการฝังเข็ม

  การฝังเข็มรักษาเพื่อปรับสมดุลของระบบเส้นลมปราณของร่างกาย จะช่วยปรับการไหลเวียนของชี่และเลือด รวมถึงการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในการรักษากรดไหลย้อน ซึ่งการฝังเข็มจะมีการทำงานผ่านกลไกดังนี้

การปรับสมดุลของระบบประสาทอัตโนมัติ ช่วยฟื้นฟูการทำงานของหูรูดที่หลอดอาหารส่วนล่างและลดการไหลย้อนของกรด
ส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารโดยการกระตุ้นจุดฝังเข็มที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารสามารถเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและปรับปรุงการย่อยอาหาร
เนื่องจากความเครียดและความวิตกกังวลอาจทำให้อาการกรดไหลย้อนแย่ลง ซึ่งการฝังเข็ม จะช่วยให้สงบจิตใจและลดความวิตกกังวลได้  
จุดฝังเข็มที่ใช้บ่อย

จุดเน่ยกวน (内关,PC6)

  อยู่ที่ด้านในของแขน ระยะห่างจากข้อมือสองชุ่น (ประมาณ 3 นิ้วมือเรียงชิดติดกัน) จุดนี้เป็นจุดบนเส้นลมปราณมือเจวี๋ยอินเยื่อหุ้มหัวใจ (手厥阴心包经) ช่วยในการปรับสมดุลของการย่อยอาหาร ลดการไหลย้อนของกรด แก้อาเจียน สามารถนวดกดจุดบริเวณนี้ได้เป็นประจำสำหรับผู้ที่มีปัญหากระเพาะอาหาร




จุดจู๋ซานหลี่ (足三里,ST36)

  เป็นจุดสำคัญของเส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร (足阳明胃经) ตั้งอยู่ที่ใต้หัวเข่าด้านข้างลงมาประมาณสามชุ่น (ประมาณ 4 นิ้วมือเรียงชิดติดกัน) ห่างจากกระดูกหน้าแข้งประมาณ 1 นิ้วมือ จุดนี้ช่วยเสริมการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร และเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารอ่อนแอ นอกจากนี้ยังสามารถนวดกดจุดบริเวณนี้ได้เป็นประจำ หรือนิยมใช้ในการรมยา เพื่อบำรุงกระเพาะอาหาร และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน



จุดจงหว่าน (中脘,CV12)

  เป็นสำคัญของเส้นลมปราณเญิ่น (任脉) จุดนี้อยู่บริเวณหน้าท้องระหว่างกลางจากแนวสะดือและปลายกระดูกอก จุดนี้ช่วยเสริมการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร รวมถึงการลดการไหลย้อนของกรด แก้อาเจียน จุดนี้สามารถนวดคลึงเบาๆ เป็นวงกลมบริเวณท้องได้สำหรับผู้ที่มีอาการของกระเพาะอาหารเรื้อรัง






ควรให้ความใส่ใจในอาหารและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

การรักษาโรคกรดไหลย้อนควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิตก่อนเป็นอันดับแรก รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารระหว่างทำงาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด, ของทอดของมัน, อาหารฤทธิ์เย็น อาหารที่เย็นหรือร้อนเกินไป และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์ และการดื่มกาแฟมากเกินไป ซึ่งจะกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับเป็นเวลา เข้านอนตามธรรมชาติร่างกายหรือนาฬิกาชีวภาพ จะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้ด้วยตนเอง
ควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ การมีอารมณ์ดี จิตใจแจ่มใสและมีความสุข  จะเป็นผลดีต่อการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักเกินไปหรือนอนหลับทันที หลังทานอาหาร สามารถเดินช้าๆ หลังรับประทานอาหารได้
  การรักษากรดไหลย้อนตามศาสตร์การแพทย์จีนมุ่งเน้นการปรับสมดุลของกระเพาะอาหาร ควบคุมชี่และทำให้กรดที่ไหลย้อนขึ้นกลับคืนสู่ทิศทางปกติ เสริมการทำงานของม้ามช่วยย่อยอาหาร ปรับการไหลเวียนของชี่ตับ  เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการซับซ้อน  ดังนั้นควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อวิเคราะห์และเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสม และแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้การรักษากรดไหลย้อนควรเริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการควบคุมอารมณ์ ควบคู่กับการรักษา การแพทย์แผนจีนอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาปรับสมดุลร่างกายตามแต่ละบุคคล สามารถบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้อย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืน

-----------------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน หลิน ยู่ว เซิง 
林育昇  中医师
TCM. Dr. Peter Lin
แผนกฝังเข็ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้