Last updated: 9 เม.ย 2568 | 468 จำนวนผู้เข้าชม |
จิตวิญญาณทั้งห้า: จากอารมณ์สู่สมดุลลำไส้
การแพทย์แผนจีนมีแนวคิด 五脏藏五神 (WǔZàngCángWǔShén) หรือ "ห้าอวัยวะผู้ซึ่งเป็นที่สถิตย์ของจิตวิญญาณทั้งห้า" เป็นหลักการสำคัญที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะภายในทั้งห้าได้แก่ ตับ หัวใจ ม้าม ปอด ไต กับจิตและวิญญาณทั้งห้าอย่าง หุน(魂 Hún) เสิน(神 Shén)อี้(意 Yì) โพ่(魄 Pò) จื้อ(志 Zhì) หลักการนี้ไม่เพียงแต่เน้นถึงสมดุลของร่างกายและจิตใจเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นว่าอวัยวะเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพโดยรวม ทั้งยังรวมถึงระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
ดังนั้นบทความนี้จึงอยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักการประยุกต์แนวคิดในการดูแล “จิตวิญญาณทั้งห้า” เพื่อปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร โดยใช้สมุนไพรจีนและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้เข้ามามีส่วนช่วยในการเสริมสร้างสุขภาพ ดังนั้นเรามาไล่เรียงกันไปทีละอวัยวะได้เลยครับ
1. ตับเชื่อมโยงจิตวิญญาณ หุน(魂)
1.1 หุน (魂): วิญญาณแห่งการเคลื่อนไหวและการเชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์และจินตนาการ ซึ่งตับจะมีบทบาทในการกักเก็บและปลดปล่อยชี่และเลือดที่ไหลเวียนทั่วร่างกาย
1.2 ความคล้ายคลึงทางวิทยาศาสตร์: ความเครียดที่สะสมในร่างกายสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งมีผลต่อการทำงานของตับ ความเครียดเรื้อรังเกี่ยวข้องกับการลดการไหลเวียนโลหิตในระบบย่อยอาหารอีกด้วย
สมุนไพรที่จีนเกี่ยวข้อง:
ไฉหู 柴胡 (Chái Hú): ช่วยระบายชี่ตับ ลดความเครียด และบรรเทาอาการแน่นท้อง
ไป๋เสา白芍 (Bái Sháo): ลดการตึงของกล้ามเนื้อที่เกิดจากความเครียดสะสม
1.3 แนวทางการดูแล: การฝึกไทเก๊กหรือโยคะช่วยลดความเครียด เสริมการไหลเวียนของพลังงานในตับ และเพิ่มความสมดุลทางอารมณ์
2.หัวใจเชื่อมโยงจิตวิญญาณ เสิน(神)
2.1 เสิน (神): วิญญาณแห่งจิตสำนึก การตื่นตัว และการนอนหลับที่สงบ โดยหัวใจจะเป็นศูนย์กลางของอารมณ์และความคิด
2.2 ความคล้ายคลึงทางวิทยาศาสตร์ : หัวใจได้รับอิทธิพลจากระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน คือ ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) และซิมพาเทติก (Sympathetic) เมื่อมีความเครียด ระบบซิมพาเทติกจะถูกกระตุ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง และลดการทำงานของระบบย่อยอาหารอาหาร จึงส่งผลต่อการทำงานของระบบทางเดินอาหารด้วยเช่นกัน
สมุนไพรที่เกี่ยวข้อง:
ซวนเจ่าเหริน酸枣仁 (Suān Zǎo Rén): ช่วยให้จิตสงบและส่งเสริมการนอนหลับ
หย่วนจื้อ 远志 (Yuǎn Zhì): ลดความวิตกกังวลและปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร
2.3แนวทางการดูแล: การทำสมาธิหรือการฝึกการหายใจแบบลึก ( Deep Breathing) ช่วยเสริมการทำงานของหัวใจ ลดความเครียด และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น และสร้างกิจวัตรก่อนนอนที่สงบ เช่น การอ่านหนังสือหรือการฟังเพลงเบา ๆ ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย
3.ม้ามเชื่อมโยงจิตวิญญาณ อี้(意)
3.1 อี้意 (Yì): วิญญาณแห่งความคิด ความจำ และสมาธิ ม้ามมีบทบาทสำคัญในกระบวนการย่อยและดูดซึมพลังงาน
3.2 ความคล้ายคลึงทางวิทยาศาสตร์: ความผิดปกติของม้าม เช่น ชี่ม้ามพร่อง อาจเชื่อมโยงกับปัญหาระดับจุลินทรีย์ในลำไส้ ( Gut Microbiota) ซึ่งมีผลต่อการย่อยและระบบภูมิคุ้มกัน
สมุนไพรที่เกี่ยวข้อง:
ไป๋จู๋ 白术 (Bái Zhú): ช่วยเสริมพลังม้ามและลดความชื้น
ฝูหลิง茯苓 (Fú Líng): สนับสนุนการทำงานของม้ามและการดูดซึม
3.3 แนวทางการดูแล: การปรับอาหารให้สมดุล เช่น การรับประทานอาหารอุ่น ย่อยง่าย และหลีกเลี่ยงอาหารเย็นจัดหรือมันมากเกินไป รวมถึงการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการกินดึก และเคี้ยวอาหารช้า ๆ เพื่อช่วยการย่อย
4.ปอดเชื่อมโยงจิตวิญญาณ โพ่ (魄)
4.1 โพ่魄 (Pò): วิญญาณแห่งปฏิกิริยากายภาพและการเชื่อมโยงกับจิตใต้สำนึก ปอดควบคุมพลังงานชี่และการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างภายนอกและภายใน
4.2 ความคล้ายคลึงทางวิทยาศาสตร์ : การหายใจที่ลึกและสม่ำเสมอ เช่น การฝึกหายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม สามารถช่วยลดความตึงเครียดในระบบทางเดินอาหารได้
สมุนไพรที่เกี่ยวข้อง:
เฉินผี 陈皮 (Chén Pí): ช่วยกระตุ้นชี่ ของปอดและลดอาการแน่นท้อง
ซิ่งเหริน杏仁 (Xìng Rén): สนับสนุนการทำงานของปอดและม้าม
4.3 แนวทางการดูแล: การฝึกหายใจอย่างลึกหรือการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินเล่นในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ช่วยเสริมการทำงานของปอดและลดความตึงเครียดในระบบย่อยอาหาร รวมถึงการใช้เวลากลางแจ้งในธรรมชาติเป็นประจำเพื่อกระตุ้นพลังชี่ของปอด
5.ไตเชื่อมโยงจิตวิญญาณ จื้อ (志)
5.1 จื้อ志(Zhì): วิญญาณแห่งความตั้งใจ ความกล้าหาญ และพลังชีวิต ไตมีบทบาทในการเก็บสะสมพลังงานนั้นไว้
5.2 ความคล้ายคลึงทางวิทยาศาสตร์ : ไตและต่อมหมวกไตมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการผลิตฮอร์โมน เช่น อะดรีนาลีน โดยจะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ขยายหลอดลม และลดการทำงานของระบบย่อยอาหารชั่วคราวเพื่อให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอในการเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด จึงมีโอกาสส่งผลต่อระบบย่อยอาหารได้เช่นกัน
สมุนไพรที่เกี่ยวข้อง:
ตู้จ้ง 杜仲 (Dù Zhòng): ช่วยเสริมพลังไตและลดความเหนื่อยล้า
ซันเหยาเย่า山药 (Shān Yào): ช่วยบำรุงหยินอินของไตและม้าม
5.3 แนวทางการดูแล: ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมและหลีกเลี่ยงการทำงานหนักเกินไปเพื่อป้องกันการสูญเสียพลังงานไต รวมถึงการพักผ่อนอย่างเพียงพอและการทำสมาธิยังสามารถเสริมความมั่นคงทั้งจิตใจและร่างกาย ช่วยฟื้นฟูพลังงานของไตได้อีกด้วย
แนวคิดจิตวิญญาณทั้งห้าสะท้อนถึงความซับซ้อนของการเชื่อมโยงระหว่างจิต วิญญาณ และร่างกาย รวมถึงบทบาทของอวัยวะภายในที่มีต่อสุขภาพทางเดินอาหาร การประยุกต์สมุนไพรจีน การดูแลอารมณ์ และการปรับพฤติกรรมการกินมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหารและสมดุลโดยรวม การทำความเข้าใจแนวคิดนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดร่วมกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เพื่อการดูแลสุขภาพในมุมมององค์รวมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ในอนาคต
________________________________________
บทความโดย
แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง (หมอจีน ซ่ง เซียน เนี่ยน)
宋先念 中医师
TCM. Dr. Tonsakul Sungthong (Song Xian Nian)
แผนกอายุรกรรม ทางเดินอาหาร
22 ม.ค. 2568
22 เม.ย 2568
22 เม.ย 2568
22 ม.ค. 2568