Last updated: 20 ก.พ. 2568 | 29 จำนวนผู้เข้าชม |
มุมมองแพทย์จีนออกกำลังกายทุกวันดีจริงหรือ?
หลายคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าการออกกำลังกายมีข้อดีหลากหลายประการ สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ ความดัน ไขมัน เบาหวาน โรคอ้วน โรคกระดูกพรุน เป็นต้น และยังสามารถช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้จิตใจแจ่มใส หลับได้ดีขึ้น กระตุ้นระบบขับถ่าย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก
ในมุมมองของแพทย์แผนจีน หยางชี่ถือเสมือนเป็นรากฐานของชีวิต การออกกำลังกายเป็นการเสริมสร้างหยางชี่ เมื่อหยางชี่ในร่างกายเพิ่มขึ้น เราก็จะแข็งแรงขึ้นตามธรรมชาติ การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่ออวัยวะภายในทั้งห้าเป็นอย่างมาก ม้ามเปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการของแขนขาและกล้ามเนื้อ ช่วยให้เราเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องตัว ตับมีหน้าที่ควบคุมเส้นเอ็นต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นของร่างกาย ไตเปรียบเสมือนคลังพลังงานที่สะสม “ไฟ” ของร่างกาย ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและแข็งแรง หัวใจเป็นเหมือนผู้ควบคุมสติ จิตใจ และอารมณ์ ช่วยให้เราสงบ มีความสุข ไม่ฟุ้งซ่าน ปอดมีหน้าที่ควบคุมชี่ การหายใจ และช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย
แต่รู้หรือไม่ หากออกกำลังหักโหมหรือมากจนเกินไป หยางชี่ในร่างกายจะถูกทำลาย เมื่อหยางชี่ลดน้องลงร่างกายก็จะอ่อนแอลง ดังในตำราแพทย์แผนจีนโบราณได้กล่าวไว้ว่าการใช้สายตาที่มากเกินไปทำลายเลือด การนอนที่มากเกินไปทำลายชี่ การนั่งที่นานเกินไปทำลายกล้ามเนื้อ การยืนที่นานเกินไปทำลายกระดูก การเคลื่อนไหวร่างกายที่มากเกินไปทำลายเส้นเอ็น (久视伤血,久卧伤气,久坐伤肉,久立伤骨,久行伤筋)ไม่ว่ากิจกรรมใด ๆ ที่ทำมากจนเกินไปสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน
การออกกำลังกายที่มากจนเกินไปทำให้กล้ามเนื้อเกิดความตึงเครียด หยางชี่ของอวัยวะม้ามถูกนำมาใช้มากจนเกินไปจนไปกระทบและทำลายสารจิงของอวัยวะไต สารจิงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการซ่อมแซมร่างกาย การทำเช่นนั้นทำให้ร่างกายสูญเสียพลังชี่ไตโดยใช่เหตุ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและยาว
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องทำอย่างพอดีและเหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละคน ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 3-5 วันต่อสัปดาห์ และให้เวลาร่างกายได้พักฟื้นอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ ก่อนและหลังออกกำลังกายควรอบอุ่นร่างกาย และยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกครั้ง ปรับลดความหนักหากรู้สึกเหนื่อยล้าจนเกินไป ผู้มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ และผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย
เอกสารอ้างอิง
[1]运动一定健康吗?让中医告诉你什么是真正健康的运动. 青岛永新中医医院微信公众平台,2023年10月.
-------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ปภาวรินทร์ อัศวเดชเมธากุล (หมอจีนหม่า หุ้ย หมิ่น)
马惠敏 中医师
TCM. Dr. Paphawarin Asawadethmetakul (Ma Hui Min)
คลินิกกระดูกและทุยหนา
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์จีนหัวเฉียว
20 ก.พ. 2568
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
20 ก.พ. 2568