Last updated: 24 ม.ค. 2568 | 42 จำนวนผู้เข้าชม |
ผื่นผิวหนังอักเสบ หรือ Eczema นั้น เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ทำให้ผิวหนังแห้ง คัน ระคายเคือง และอักเสบ ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นโรคติดต่อ แต่ก็สามารถสร้างความรำคาญและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้มาก
โรคนี้สามารถเป็นๆหายๆได้ บางคนรักษาด้วยการใช้สเตียรอยด์ เมื่อใช้ไปนานๆ หรือใช้ผิดวิธีอาจเกิดผลข้างเคียงอื่นๆตามมา
การรักษาโรคนี้ในทางการแพทย์แผนจีนนั้น เราจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับภายใน สาเหตุเกิดโรคที่เกิดขึ้นจากการเสียสมดุลของอวัยวะภายในต่างๆ และปัจจัยก่อโรคที่เป็นตัวกระตุ้นอื่นๆร่วมด้วย เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ในบทความนี้ จะขอยกตัวอย่าง กรณีศึกษาของผู้ป่วยจริง ให้เห็นการวินิจฉัยตามหลักการแพทย์แผนจีน รวมถึงมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ดังนี้
ผู้ป่วยหญิง อายุ 62 ปี มาด้วยอาการผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณหู เป็นมา 4 เดือน รักษาโดยแผนปัจจุบันมาตลอด แต่อาการยังไม่ดีขึ้น จึงมาปรึกษาเพื่อรับการรักษาด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน ขณะที่มา ผู้ป่วยมีอาการคันมากบริเวณหู แห้งเป็นขุย ผื่นมีสีแดงร่วมกับมักมีของเหลวซึมออกจากผื่น ทิ้งเป็นสะเก็ดสีเหลืองเมื่อแห้ง และมีรอยโรคที่บริเวณศอกและเข่าด้วย เมื่อดูลิ้นพบว่า ลิ้นแดงคล้ำ ชีพจรตึงลื่น ประกอบกับการสังเกตขณะที่ซักประวัติ คนไข้มีแนวโน้มจะเป็นคนอารมณ์ร้อน หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย และนอนหลับยากร่วมด้วย จึงได้ถามและคนไข้ยอมรับว่าเป็นตามนั้น
ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน การมอง ลักษณะสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ สีผื่น เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาวินิจฉัย ในทางคัมภีร์แพทย์จีนโบราณกล่าวว่า “เพียงมองก็รู้แจ้ง” แสดงให้เห็นว่า การสังเกตคนไข้นั้น มีประโยชน์และมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะโรคที่เห็นได้จากภายนอกอย่างโรคผิวหนัง ดังนั้นหมอจึงยึดหลักนี้ ในการรักษาคนไข้ตลอดมา โดยอารมณ์หงุดหงิดโมโห ทำร้ายตับและจะทำให้ตับเกิดความร้อนได้ และตำแหน่งเกิดโรคของผื่นเกิดขึ้นที่หู ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สัมพันธ์กับเส้นลมปราณของถุงน้ำดี ที่มีทิศทาง“จากหลังหู เข้าสู่ในหู ผ่านออกหน้าหู” ซึ่งตับกับถุงน้ำดี ในทางแพทย์แผนจีนเปรียบเสมือนพี่น้องคลานตามกันมา จึงทำให้มีความสัมพันธ์กันในด้านการเกิดโรค และส่งผลซึ่งกันและกันได้มาก
รูปที่ 1 เส้นประสีฟ้า แสดงถึงทิศทางการเดินของเส้นลมปราณถุงน้ำดีของหู
ที่มา 中医通
อาการสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ปรากฎของคนไข้ คือ อาการนอนไม่หลับ ซึ่งในทางแผนจีนการนอนหลับนั้น ร่างกายจะต้องปราศจากความร้อนที่มากเกินไป หากร้อนมากไปจะนอนไม่หลับ ซึ่งอาการดังกล่าวข้างต้น และผื่นที่มีสีแดงของคนไข้ก็ สอดคล้องกับลิ้นที่มีความแดงคล้ำ บ่งบอกว่าร่างกายนั้นมีความร้อน และชีพจรที่ตึง บ่งบอกว่าตับมีปัญหาเสียสมดุล จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า เกิดจากว่าภาวะตับและถุงน้ำดีมีความร้อนสะสม จึงได้จ่ายยาจีนตำรับลดความร้อนของตับและถุงน้ำดี 7 วัน ร่วมกับยาทาภายนอกซึ่งเป็นยาสมุนไพรกลุ่มลดความร้อน ผื่นที่หูดีขึ้นอย่างชัดเจน เหลืออาการเพียงเล็กน้อย และสามารถกลับมานอนหลับได้เป็นปกติ สีลิ้นกลับเป็นสีชมพู คนไข้รายนี้รักษาต่อเนื่องโดยใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือน ผื่นที่บริเวณหู ศอกและเข่าก็หายเป็นปกติ
รูปที่ 2 ผื่นบริเวณหู ตลอดระยะเวลาการรักษา 1 เดือน
บทความนี้ต้องการจะสื่อให้รู้ว่า การรักษาโรค สำคัญคือต้องรักษาให้ถึงต้นเหตุ โดยมองอย่างเป็นองค์รวม สังเกตการเปลี่ยนแปลง มองรอบด้าน บางครั้งเพียงแค่อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวกับการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นอาการที่ดูจะไม่เกี่ยวกับใดๆ กับผื่นผิวหนังเลย แต่ก็กลับกลายเป็นจุดที่สำคัญในการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งทำให้ได้รับผลการรักษาที่ดีเยี่ยมอย่างคาดไม่ถึง
--------------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน คณิฏฐ์ษา จิรัฐิติกาล (หมอจีน เซี่ย กุ้ย อิง)
谢桂英 中医师
TCM. Dr. Kharnitsa Jirathitikal (Xie Gui Ying)
แผนกอายุรกรรมภายนอก