เข้าใจอาการปวดศีรษะ.....สัญญาณเตือนจากร่างกาย

Last updated: 22 ม.ค. 2568  |  8 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เข้าใจอาการปวดศีรษะ.....สัญญาณเตือนจากร่างกาย

เข้าใจอาการปวดศีรษะ.....สัญญาณเตือนจากร่างกาย

คนส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันมักจะทำงานหนัก จนเวลาเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็มักจะหาซื้อยาทั่วไปมารับประทานเอง เน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก อย่างเช่นอาการปวดศีรษะ เป็นอาการหนึ่งที่ใครหลายคนมักจะซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเอง แต่การใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดอาจส่งผลเสียต่อตับ ไต และกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้หากใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการพึ่งพายาและทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งมักพบรูปแบบอาการปวดศีรษะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก มือเท้าอ่อนแรง สายตามัว บางครั้งมีอาการวูบหมดสติ หรือมีไข้ หรือปวดต้นคอแข็งตึงร่วมด้วย เป็นต้น หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบเข้ารับตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากอาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้

  อาการปวดศีรษะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทางคลินิก ตามแนวทางมาตรฐานที่ใช้ทั่วโลกในการวินิจฉัยและจำแนกประเภทของอาการปวดศีรษะ (ICHD-3) ได้แบ่งอาการปวดศีรษะออกเป็น ปวดศีรษะแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ ปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ ได้แก่ อาการปวดไมเกรน ปวดศีรษะจากความเครียด ปวดศีรษะจากเส้นประสาทไตรเจมินอล และอื่นๆ ส่วนปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ศีรษะหรือต้นคอ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง การใช้หรือหยุดใช้สารบางอย่าง การติดเชื้อ อาการปวดศีรษะที่เกิดจากโรคเดิม เช่น เคยมีรอยโรคบริเวณกระโหลกศีรษะ ต้นคอ ตา หู จมูก ไซนัส ฟัน ปาก หรือโครงสร้างใบหน้าหรือกระดูกต้นคอมีปัญหา หรืออาการศีรษะที่เกิดจากความผิดปกติทางจิต เป็นต้น

  ในบรรดาคนที่มีอาการปวดศีรษะทั้งหมด ส่วนใหญ่มักเป็นอาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิคิดเป็นร้อยละ 90  โดยอาการปวดศีรษะจากความเครียดพบได้บ่อยที่สุด ตามสถิติพบว่าในตลอดชีวิตของคนเราจะมีอาการปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียดได้บ่อยถึงร้อยละ 30-78 ส่วนอาการปวดศีรษะไมเกรนต่างจากปวดศีรษะจากความเครียด คือ มักจะมีอาการปวดที่ข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ โดยปวดศีรษะจากความเครียดจะมีอาการปวดเหมือนถูกกด บีบ หรือรัดที่ศีรษะทั้งสองข้าง อาจพบอาการปวดบริเวณหน้าผาก กลางศีรษะ ท้ายทอย หรือต้นคอร่วมด้วย ปัจจุบันกลไกของอาการปวดศีรษะจากความเครียดยังไม่ชัดเจน โดยทั่วไปเชื่อว่าอาการปวดศีรษะมาจากความเครียด อารมณ์จิตใจ (เช่น ความวิตกกังวล ซึมเศร้า) หรืออิริยาบถที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดบริเวณกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อพังผืดรอบศีรษะ

  ในทางการแพทย์แผนจีน เชื่อว่าศีรษะเป็นศูนย์รวมของหยางชี่ โดยมีเส้นลมปราณหยางทั้งสามของมือและเท้า เส้นลมปราณเท้าเจวี๋ยอิน และเส้นลมปราณตู ไหลเวียนขึ้นไปที่บริเวณศีรษะ  ส่วนสารจิงและเลือด หยางชี่บริสุทธิ์จะถูกส่งไปตามเส้นลมปราณเหล่านี้และหล่อเลี้ยงบริเวณศีรษะและใบหน้า ช่วยบำรุงสมองและทวารทั้งห้า ถ้าหากไปรับปัจจัยก่อโรคจากภายนอกหรือการบาดเจ็บภายใน และปัจจัยอื่นๆ ก็จะทำให้เส้นลมปราณบริเวณศีรษะทำงานผิดปกติ ชี่และเลือดไม่สมดุล เส้นลมปราณติดขัดหรือทำให้สมองขาดการหล่อเลี้ยงบำรุง เป็นผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ  อาการปวดศีรษะในทางการแพทย์แผนจีนแบ่งประเภทของอาการปวดศีรษะตามตำแหน่งที่ปวดเป็น 4 ประเภท ได้แก่

- ปวดศีรษะแบบไท่หยาง: ปวดที่ท้ายทอย และบริเวณต้นคอ
- ปวดศีรษะแบบเส้าหยาง: ปวดที่ขมับหรือบริเวณข้างศีรษะ มักปวดร้าวไปบริเวณกกหูและปลายหางตาด้านนอก
- ปวดศีรษะแบบหยางหมิง: ปวดที่หน้าผากถึงกระดูกโหนกคิ้ว
- ปวดศีรษะแบบเจวี๋ยอิน: ปวดที่กลางศีรษะ บางครั้งอาจมีอาการปวดตาหรือบริเวณขมับทั้งสองข้างร่วมด้วย


โดยทั่วไปแล้วในการรักษาด้วยการฝังเข็ม จะใช้วิธีเลือกจุดฝังเข็มตามเส้นลมปราณที่เหมาะสมจึงจำทำให้ได้ผลการรักษาที่ดี จุดฝังเข็มที่ใช้บ่อยในการรักษา ได้แก่ จุดบนเส้นลมปราณไท่หยาง เช่น จุดทงเทียน (通天, BL7) เทียนจู้ (天柱, BL10) เฉิงซาน (承山, BL57) คุนหลุน (昆仑, BL60)  โฮ่วซี (后溪, SI3) เป็นต้น จุดบนเส้นลมปราณเส้าหยาง เช่น ซือจู๋คง (丝竹空, TE23) ซ่วยกู่ (率谷, GB8) เฟิงฉือ (风池, GB20) ชิวซวี (丘墟, GB40) ไว่กวน (外关, TE5) เป็นต้น จุดบนเส้นลมปราณหยางหมิง เช่น โถวเหวย (头维, ST8) ซวีฉื่อ (曲池, LI11) เหอกู่ (合谷, LI4) เป็นต้น จุดบนเส้นลมปราณเจวี๋ยอิน เช่น ไท่ชง (太冲, LR3) สิงเจียน (行间, LR2) เป็นต้น

  จากประสบการณ์การรักษาทางคลินิก การฝังเข็มสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ประสิทธิผลการรักษาดี เนื่องจากการฝังเข็มมีสรรพคุณในการบรรเทาปวดและช่วยผ่อนคลายและลดแรงตึงของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อ และยังปรับปรุงการไหลเวียนเลือดบริเวณรอบๆ ได้ ดังนั้นการฝังเข็มจึงสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีษะได้ โดยเฉพาะอาการปวดศีรษะจากความเครียด สำหรับผู้ที่กลัวการฝังเข็ม ศาสตร์การแพทย์แผนจีนยังมีวิธีการรักษาที่ไม่ต้องใช้เข็ม เช่น การแปะเม็ดผักกาดที่หู การครอบแก้ว การประคบร้อน การอบสมุนไพรจีน การรับประทานยาสมุนไพรจีนตำรับเฉพาะบุคล และการใช้ยาสมุนไพรจีนพอกจากภายนอก เป็นต้น เพื่อบรรเทารักษาอาการปวดศีรษะ

  เมื่อมีอาการปวดศีรษะ สามารถกดจุด "เหอกู่ (合谷, LI4) " ซึ่งอยู่บริเวณง่ามนิ้วระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ วิธีการหาง่ายๆ คือ นิ้วมือเรียงชิดติดกัน บริเวณง่ามนิ้วระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ที่โป่งนูนขึ้นมา กดนวดเบาๆ เป็นเวลา 2-3 นาที ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ โดยทั่วไป อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิสามารถบรรเทาได้ แต่ถ้าหากเป็นปวดศีรษะแบบทุติยภูมิซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดศีรษะ นอกจากการรักษาด้วยการฝังเข็มร่วมกับการรับประทานยาต่างๆ แล้ว นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ การรับประทานอาหารให้เป็นเวลาและเหมาะสม การผ่อนคลายความเครียด หลีกเลี่ยงความเครียด มองโลกในแง่ดีและจิตใจแจ่มใสอยู๋เสมอ ก็จะสามารถช่วยบรรเทารรักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากคุณมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ เมื่อทราบสาเหตุแล้วจึงจะสามารถรักษาอาการปวดศีรษะที่น่ารำคาญนี้ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างกรณีการรักษา

ข้อมูลผู้ป่วย :   LXXX เพศหญิง อายุ 57 ปี 

เข้ารับการรักษาครั้งแรก :  วันที่  20 กรกฎาคม 2567

อาการที่มารักษา :  ปวดศีรษะมาเป็นเวลา 1 ปี

ประวัติอาการ :  ผู้ป่วยมักจะมีความเครียด แรงกดดันจากปัญหาทางบ้านค่อนข้างมาก จนในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะบริเวณขมับด้านข้างสลับไปมาอยู่เสมอ วันที่เข้ารับบริการักษาผู้ป่วยมีอาการปวดขมับศีรษะ ร่วมกับอาการปวดตึงบริเวณคอบ่าไหล่ เวลาที่เครียดอาการปวดต่างๆ จะเป็นมากขึ้น (pain score = 6) มีอาการกลัวแสง  ความจำถดถอย รับประทานอาการได้ปกติ นอนไม่หลับ การขับถ่ายเป็นปกติ

ลิ้นและชีพจร : ลิ้นสีแดงคล้ำ ฝ้าขาวบาง (舌质暗红苔薄白) ชีพจรจมและตึง (脉沉弦)     

พฤติกรรมการใช้ชีวิต : เป็นแม่บ้าน  ทำงานบ้านและดูแลคนครอบครัว 

การวินิจฉัย : 1) ชื่อโรค  ปวดศีรษะ (头痛) / ปวดศีรษะไมเกรน (偏头痛)

      2) กลุ่มอาการชี่และเลือดติดขัด เส้นลมปราณติดขัด (气滞血瘀,瘀血阻络)  

การรักษา : ใช้การฝังเข็มรักษาร่วมกับการกระตุ้นไฟฟ้า โดยเทคนิคการฝังเข็มแบบทะลวงสองจุดฝังเข็ม อาการปวดศีรษะของป่วยลดลงทันทีหลังจากฝังเข็ม จากนั้นทำการฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลตามลักษณะแสดงชีพจรของผู้ป่วย หลังจากที่มารับการรักษาต่อเนื่อง 5 ครั้ง ความจำดีขึ้น และไม่พบอาการปวดศีรษะกลับมากำเริบ

วิเคราะห์ผลการรักษา : ผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดศีรษะด้านข้าง ร่วมกับมีอาการปวดตึงคอบ่าไหล่ อยู่ในขอบเขตของโรค
“ปวดศีรษะ (头痛) ”  ซึ่งในศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่า ผู้ป่วยมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ทำให้ชี่และเลือดติดขัด เส้นลมปราณที่ส่งขึ้นไปยังบริเวณสมองติดขัด จึงเป็นผลทำให้เกิดอาการปวดศีรษะนี้ ในการรักษาใช้วิธีระบายชี่ตับและถุงน้ำดี กระตุ้นการหมุนเวียนเลือด ระงับอาการปวดเป็นหลัก จากการวินิจฉัยผู้ป่วยมีอาการปวดตามเส้นลมปราณเส้าหยาง เมื่อเลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณนี้จึงทำให้ผลการรักษาอาการปวดศีรษะได้ผลดี

-----------------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน หลิน ยู่ว เซิง 
林育昇  中医师
TCM. Dr. Peter Lin
แผนกฝังเข็ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้