ปวดเมื่อยล้าจากดวงตาจากภาวะตาแห้ง

Last updated: 23 ม.ค. 2568  |  11 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดเมื่อยล้าจากดวงตาจากภาวะตาแห้ง

เนื่องจากปัจจุบันการทำงานของคนส่วนใหญ่คือการทำงานผ่านหน้าจอโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือการขับรถบนถนนเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลกระทบต่อความชุ่มชื้นของผิวตา ผิวตาอาจได้รับความเสียหาย ทำให้เกิดอาการไม่สบายตา การมองเห็นผิดปกติ ตาแห้ง แสบร้อน ตาเมื่อยล้าได้ง่าย เป็นต้น ในทางการแพทย์แผนจีนอาการตาแห้งอยู่ในกลุ่มของไป๋เซอะเจิ้ง (白涩症)ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะตันทั้งห้า โดยเฉพาะอวัยวะตับและไต เนื่องจากตับในทางการแพทย์จีนเป็นอวัยวะที่มีทวารเปิดที่ดวงตา ตับกักเก็บเลือดช่วยในการมองเห็น ส่วนไตคือธาตุน้ำ เป็นตัวควบคุมน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา เมื่อตับและไตไม่เพียงพอ อินและสารน้ำพร่อง(肝肾不足,阴津亏虚)ทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่าย ในการรักษาจะเน้นบำรุงตับและไต เพิ่มอินช่วยในการมองเห็น (补益肝肾,滋阴明目)

วิธีการรักษาอาการปวดเมื่อยล้าดวงตาในทางการแพทย์จีนมีหลากหลายวิธี เช่น การฝังเข็ม ยาจีน อบยาสมุนไพรบริเวณดวงตา ทุยหนา แต่วิธีการที่เกิดผลข้างเคียงต่ำ ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ตลอดจนผู้ป่วยสามารถทำเองได้ง่ายๆทุกวัน คือ การนวดทุยหนา เนื่องจากเป็นวิธีการที่ช่วยกำจัดไขมันที่สะสมบริเวณต่อไขมันเปลือกตา (Meibomian gland) ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด กระตุ้นกระบวนการผลิตน้ำตาเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา ลดอาการระคายเคืองดวงตา

ซึ่งจุดที่เหมาะในการนวดทุยหนาด้วยตนเองง่ายๆ ได้แก่ จุดเฉิงชี่(ST1承泣),ซือจู๋คง(TE23丝竹空),ยฺหวีอฺวี๋เยา(EX-HN4鱼腰),ไท่หยาง(EX-HN5太阳),ฉิวโห้ว(EX-HN7球后),ถงจื่อเหลียว(GB1瞳子髎),จิงหมิง(BL1睛明)และจ่านจู๋(BL2攒竹)

ใช้นิ้วกลางกดคลึงตามเข็มนาฬิกาโดยค้างไว้จุดละประมาน 10 วินาที วนทุกจุดประมาน 5 รอบ จากนั้นใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดหมาดๆประคบบริเวณดวงตาค้างไว้ 3-5 นาที สามารถทำเป็นประจำ 3-5 วันต่อสัปดาห์ หากทำต่อเนื่อง 1-2 อาทิตย์ อาการปวดเมื่อยล้าดวงตายังไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์





ภาคผนวก

จุดเฉิงชี่(ST1承泣)
ตำแหน่ง : ตามองตรง จุดนี้อยู่ใต้ตาตรงกับรูม่านตา อยู่กึ่งกลางระหว่างเส้นที่เชื่อมรูม่านตากับขอบเบ้าตาด้านล่าง
ซือจู๋คง(TE23丝竹空)
ตำแหน่ง : อยู่ตรงรอยบุ๋มบริเวณหางคิ้ว
อฺวี๋เยา(EX-HN4鱼腰)
ตำแหน่ง : จุดกึ่งกลางของคิ้ว อยู่ตรงกับแนวเส้นรูม่านตา (แนวเส้นสมมติที่ลากผ่านรูม่านตาในท่ามองตรง ขนานกับเส้นกึ่งกลางลำตัว)
ไท่หยาง(EX-HN5太阳)
ตำแหน่ง : ตรงรอยบุ๋มขมับ โดยวัดจากจุดกึ่งกลางระหว่างหางคิ้วและหางตามาด้านข้างประมาน 1 ความกว้างนิ้วมือ
ฉิวโห้ว(EX-HN7球后)
ตำแหน่ง : ตรงรอยเว้าขอบล่างกระดูกเบ้าตา ใช้มือคลำขอบเบ้าตาล่าง ตำแหน่งจุดอยู่ประมานระยะ ¼ จากมุมด้านนอกหรือ ¾ จากมุมด้านใน
ถงจื่อเหลียว(GB1瞳子髎)
ตำแหน่ง : อยู่ตรงรอยบุ๋มด้านนอกหางตา 0.5 ชุ่น
จิงหมิง(BL1睛明)
ตำแหน่ง : อยู่ที่รอยบุ๋มเหนือมุมหัวตา 0.1 ชุ่น
จ่านจู๋(BL2攒竹)
ตำแหน่ง : ตรงรอยบุ๋มบริเวณหัวคิ้ว


--------------------------------------------------

บทความและภาพประกอบโดย

แพทย์จีนธนภรณ์ ธนศรีวนิชชัย (หมอจีน หลิว ฉาย เผิง)  
刘财蓬 中医师
TCM. Dr. Tanaporn  Tanasrivanichchai (Liu Cai Peng)
แผนกกระดูกและทุยหนา


อ้างอิง

การฝังเข็ม – รมยา เล่ม 1 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2551
桂炎香,李青松,赵黎,张斌,王亚卉,许愿
上海中医药大学附属普陀医院,上海200062

Modern Journal of Integrated Traditional Chinese and Western Medicine 2020 Mar, 29(9) 干眼的中医治疗进展 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้