Last updated: 13 ม.ค. 2568 | 60 จำนวนผู้เข้าชม |
ไขความลับของ “เลือดกับความงาม” ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
มีคำกล่าวที่ว่า “血气不和,百病及变化而生 ” มีความหมายว่า หากชี่หรือเลือดทำงานไม่ประสานสอดคล้อง ย่อมส่งผลให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้ ผิวหน้าหรือผิวพรรณของคนเราก็เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของเลือดภายในร่างกายของเราได้เช่นกัน ถ้าหากเลือดในร่างกายมีความผิดปกติไป ก็ย่อมส่งผลให้ผิวพรรณไม่สดใสได้เช่นกัน
การวิเคราะห์เลือดกับความงามแบบแพทย์แผนจีน
1. ภาวะเลือดพร่อง (血虚)
หากมีเลือดพร่องหรือเลือดน้อย มักส่งผลให้ใบหน้าขาวซีดหรือค่อนข้างเหลืองดูไม่มีเสิน (ราศี) เนื่องจากการแพทย์แผนจีนมองว่าเลือดต้องมาหล่อเลี้ยงเสินได้อย่างเพียงพอ จึงจะทำให้ใบหน้าดูมีสง่าราศี นอกจากนี้หากเลือดพร่องไปเลี้ยงผิวพรรณได้ไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการ ผิวแห้ง ตกสะเก็ด มีอาการคันหน้าหรือผิวหนังบ่อยๆ ผมร่วงง่าย ผมแห้งเฉาสีออกเหลือง ริมฝีปากซีด เล็บซีดงอกช้า และมักมีอาการเวียนหัวตาลายหรือนอนไม่หลับใจสั่น มือเท้าชา ในเพศหญิงอาจพบประจำเดือนมาน้อย สีซีด ประจำเดือนมาช้า หรือไม่มา ลิ้นซีด ชีพจรเส้นเล็กอ่อนแรง
ภาวะเลือดน้อยหรือเลือดพร่อง ส่งผลให้อวัยวะขาดการหล่อเลี้ยงที่เพียงพอ มักมีสาเหตุจาก ได้รับมาจากพ่อแม่ไม่เพียงพอ การเสียเลือดเป็นจำนวนมาก หรือม้ามกระเพาะพร่องอ่อนแอ ส่งผลให้มีการสร้างและการลำเลียงไม่ดี ทั้งนี้รวมไปถึงภาวะเลือดติดขัดในร่างกาย ทำให้การไหลเวียนของเลือดน้อยลง
2. ภาวะเลือดคั่ง (血瘀)
หากมีการคั่งของเลือด จะส่งผลให้ใบหน้ามีสีคล้ำขึ้น ผิวมีลักษณะหยาบ เปลือกตา ริมฝีปากและเล็บสีออกคล้ำม่วงคล้ายสีเลือดคั่ง สีผิวมักเป็นปื้นคล้ำ ในกรณีมีการคั่งของเลือดที่รุนแรงผิวหนังจะแห้ง แตก มีลักษณะคล้ายเกล็ด รวมไปถึงเส้นผมและเส้นขนมักหลุดร่วงง่ายขึ้น หรือมักพบอาการปวดคล้ายเข็มทิ่ม ตำแหน่งแน่นอนไม่เปลี่ยนที่ ตอนกลางคืนอาการจะเป็นมากขึ้น เมื่อกดจะรู้สึกสบาย ในเพศหญิงอาจพบประจำเดือนไม่มาร่วมด้วย ลิ้นคล้ำ มีจุดเลือดออกหรือเลือดคั่งบริเวณลิ้น ใต้ลิ้นมักเห็นเส้นเลือดชัด ชีพจรเส้นเล็กฝืด
3. ภาวะความเย็นอุดกั้นเส้นเลือด (血寒)
ภาวะความเย็นอุดกั้นเส้นเลือดมักเกิดจากความเย็นกระทบร่างกายและเข้าสู่หลอดเลือด หรือหยางชี่ในร่างกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดความเย็นอุดกั้นชี่คั่งในเส้นลมปราณและส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ช้าลง โดยส่วนใหญ่มักเกิดในเพศหญิง หรือหญิงคลอดลูก มักทำให้ความเย็นเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยหากเลือดถูกกระทบด้วยความเย็นอุดกั้นการไหลเวียน จะส่งผลให้ใบหน้าขาวซีดหรือหมองคล้ำ แขนขามือเท้าเย็น ปวดเมื่อยตามร่างกาย หากได้รับความอุ่น อาการปวดจะทุเลาลง ในเพศหญิงประจำเดือนมักมีสีแดงคล้ำและมีลิ่มเลือดร่วมด้วย ลิ้นคล้ำฝ้าขาวบาง ชีพจรจมช้า
4. ภาวะความร้อนอุดกั้นเส้นเลือด (血热)
ภาวะความร้อนกระทบเส้นเลือด มักเกิดจากมีความร้อนสะสมอยู่ในเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนเร็วขึ้น หากเลือดมีความร้อนจะส่งผลให้ผิวหน้าออกเป็นสีแดง ตาแดง หน้ามันง่าย มีสิวขึ้นเป็นประจำ นอกจากนี้อาจพบอาการหงุดหงิดง่าย กระหายน้ำ ในเพศหญิงอาจพบประจำเดือนมาเร็ว ปริมาณมาก หรือมีเลือดออกกระปริบกระปรอย ลิ้นแดง ชีพจรเร็วตึง หรืออาจพบเป็นฝีหรือสิวที่ผิวหนังได้บ่อย
------------------------
บทความโดย
พจ.รัญชนา ตั้งมั่นเจริญสุข (ซุนหลี)
孙梨 中医师
TCM. Dr. Runchana Tangmancharoensuk (Sun Li)
แผนกอายุรกรรมภายนอก 外科 (External TCM Department)
26 ก.ย. 2567
15 พ.ย. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ม.ค. 2568