กระดูกต้นคอเสื่อมประเภทต่างๆ

Last updated: 22 พ.ย. 2567  |  191 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กระดูกต้นคอเสื่อมประเภทต่างๆ



Credit : https://chiropractic-uk.co.uk/neck-pain/


กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมหรือเกิดพยาธิสภาพบริเวณกระดูกต้นคอและหมอนรองกระดูกต้นคอ แล้วไปกดทับโครงสร้างโดยรอบ ได้แก่ รากประสาท หลอดเลือดระดับคอ ไขสันหลัง ระบบประสาทซิมพาเทติก ทำให้เกิดอาการที่ต่างกันไปตามโครงสร้างที่ถูกกดทับ

1. ประเภทปวดกล้ามเนื้อต้นคอ
มีอาการปวดต้นคอ กล้ามเนื้อตึงแข็ง ปวดบริเวณสะบัก ไม่มีอาการชาเป็นต้น

2. ประเภทกดทับรากประสาท
มีอาการเหมือนประเภทปวดต้นคอ แต่จะมีอาการปวดร้าวขึ้นท้ายทอยหรือร้าวลงแขนซึ่งเกิดจากการกดทับของรากประสาทหรือมีอาการชาร่วมด้วย โดยการกดทับแต่ละรากประสาทจะมีอาการดังนี้
     - กดทับเส้นประสาท c4 : มีอาการปวดร้าวบริเวณท้ายทอย
     - กดทับเส้นประสาท c5 : มีอาการปวดร้าวบริเวณหัวไหล่และต้นแขน
     - กดทับเส้นประสาท c6 : มีอาการปวดร้าวบริเวณท่อนแขนล่าง นิ้วโป้งและนิ้วชี้
     - กดทับเส้นประสาท c7 : มีอาการปวดร้าวบริเวณท่อนแขนล่าง นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง
     - กดทับเส้นประสาท c8 : มีอาการปวดร้าวบริเวณท่อนแขนล่างและนิ้วก้อย

3. ประเภทกดทับหลอดเลือดระดับคอ
มีอาการเหมือนประเภทปวดต้นคอ แต่จะมีอาการที่เกิดจากการกดทับหลอดเลือดระดับคอ ได้แก่ เวียนศีรษะ (เกิดทันทีขณะเอนคอไปด้านหลังหรือหมุนคอ) อ่อนเพลีย ขี้ซึมเซา คลื่นไส้ ตาพร่า มีเสียงในหู เป็นต้น

4. ประเภทกดทับไขสันหลัง
มีอาการเหมือนประเภทปวดต้นคอ แต่จะมีอาการที่เกิดจากการกดทับไขสันหลัง ได้แก่ การรับความรู้สึกผิดปกติบริเวณขาและเท้า ท่าเดินเก้งก้าง รู้สึกเหมือนเหยียบสำลีหรือปุยนุ่น ในระยะหลังพบตะคริวหรืออ่อนแรงบริเวณขา

5. ประเภทกดทับเส้นประสาทซิมพาเทติก
มีอาการเหมือนประเภทปวดต้นคอ แต่จะมีอาการผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งเกิดจากเส้นประสาทซิมพาเทติกถูกกดทับ ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ แขนเย็น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เป็นต้น
 
ในทางการแพทย์แผนจีนจัดอยู่ในกลุ่มอาการปวด “痹证” สาเหตุเกิดจากลมและความเย็นกระทบจากภายนอก ตับและไตพร่อง ชี่และเลือดไหลเวียนติดขัด กลไกการเกิดโรคเกิดจากการไหลเวียนของเส้นลมปราณติดขัด ชี่และเลือดทำงานไม่สมดุล

เราสามารถป้องกันการเกิดโรคกระดูกต้นคอเสื่อมได้โดยการหลีกเลี่ยงการก้มหน้าเป็นระยะเวลานาน เปลี่ยนท่าทางทุก 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง จัดท่าทางการนั่งให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ ในวันนี้ผู้เขียนบทความได้นำรูปที่น่าสนใจมาให้ผู้อ่านได้ลองปฏิบัติตาม

 หากอาการปวดต้นคอไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
 
------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน ฉันทัช เฉิน
陈泰任  中医师
TCM. Dr. Chantouch Chen (Chen Tai Ren)
แผนกกระดูกและทุยหนา 骨伤推拿科 (Orthopedic and Tuina TCM Department)


เอกสารอ้างอิง

1. FanFanHua.   Tuinaxue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2008.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้