เฮยปู้เหย้าเกาตำรับยาจีนโบราณรักษาแผลเป็นคีลอยด์

Last updated: 11 พ.ย. 2567  |  823 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เฮยปู้เหย้าเกาตำรับยาจีนโบราณรักษาแผลเป็นคีลอยด์

ตำรับยา “เฮยปู้เหย้าเกา”( 黑布药膏)นั้นถือกำเนิดมาจาก แพทย์จีนอาวุโส“จ้าวปิ่งหนาน”(赵炳南)แพทย์แผนจีนปักกิ่งผู้มีชื่อเสียงด้านการรักษาโรคผิวหนัง ที่ได้รวบรวมสูตรลับพื้นบ้านจากบรรพบุรุษที่มีประสิทธิภาพใช้ในการรักษาแผลเป็น ต่อมาปี ค.ศ.1955 ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนจีนโรคผิวหนัง ศจ. “หูฉวนขุย”(胡传揆) ได้ทำการวิจัยสำรวจผลการรักษาทางคลินิกในหัวข้อ “การใช้ยาจีนรักษาแผลเป็นคีลอยด์” ตีพิมพ์ในวารสาร และนำเสนอต่อการประชุมผิวหนังกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วม

ตำรับยานี้มีสรรพคุณสลายก้อน กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ขับพิษ ระงับปวด ลดอักเสบซึ่งนอกจากการใช้รักษาแผลเป็นแล้วยังใช้รักษาผิวหนังอักเสบ ฝี ต่างๆหรือโรคผิวหนังที่มีตุ่มแข็งได้อีก

แผลเป็นคีลอยด์ เกิดจากการบาดเจ็บ การติดเชื้อ แผลไหม้จากความร้อนหรือแผลหลังการผ่าตัด ซึ่งผิวหนังได้เกิดกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ที่นูนหนาเกินแผลเดิม คนที่เกิดแผลเป็นคีลอยด์มักมีพื้นฐานร่างกายที่เป็นแผลเป็นได้ง่ายอยู่แล้ว บางกรณีมีประวัติครอบครัวเป็นเช่นกัน ในทางแพทย์แผนจีนมีเชื่อเรียก “โร่วเกอตา”(肉疙瘩), “โร่วกุยชวง”(肉龟疮)โดยทั่วไปมักไม่มีอาการอะไรแต่อาจมีอาการคัน เจ็บจี๊ดคล้ายเข็มทิ่มที่อาจเกิดจากเนื้อเยื่อเส้นใยที่สร้างไปกดทับปลายประสาทโดยเฉพาะบางกรณีที่แผลเป็นคีลอยด์เกิดตามบริเวณข้อต่อต่างๆ จนเกิดการยึดติดทำให้เคลื่อนไหวลำบาก

สาเหตุในมุมมองแพทย์แผนจีน

เมื่อร่างกายเกิดบาดแผล ช่วงที่ผิวหนังซ่อมแซม ร่างกายคนที่มีภาวะปอดกระเพาะร้อนชื้น หรือม้ามชื้นสะสม กระทบกับพิษ ก่อเกิดเป็นภาวะชี่อุดกั้น ชี่ติดขัดเลือดคั่ง ร่วมกับปัจจัยพื้นฐานร่างกายก่อนกำเนิดที่ไม่แข็งแรง ก่อให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์

ส่วนประกอบสำคัญของตัวยา

老黑醋น้ำส้มสายชูดำ : ช่วยขับพิษและทำให้แผลอ่อนนุ่มลง         

五倍子  อู่เป้ยจื่อ : ช่วยสมาน ขับพิษ มีฤทธิ์ต้านไวรัส ต้านแบคทีเรีย ขจัดและต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดอาการปวด ลดการอักเสบ    

金头蜈蚣ตะขาบหัวแดง : ใช้พิษขับพิษ มีสรรพคุณทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด ในการวิจัยพบว่าส่วนผสมของตะขาบและอู่เป้ยจื่อสามารถลดคอลลาเจนของแผลเป็นคีลอยด์และการสร้างเนื้อเยื่อได้                                                                              

วิธีการใช้ยาทา

ก่อนทายาให้ทำความสะอาดบริเวณที่ต้องการทายา ไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่เป็นโลหะในการทา (อาจทำปฏิกิริยากับตัวยาได้) แนะนำให้ใช้ไม้พันสำลีหรือไม้กดลิ้นในการทายาลงบนผ้าก๊อซความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร(ความหนาเหรียญห้าบาท) แล้วปิดเทปให้แน่นสนิท  การทายาจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 วันจึงเปลี่ยน (หากอากาศร้อน หรือมีเหงื่อออกมากอาจเปลี่ยนวันละครั้ง) เมื่อเปลี่ยนยา อาจใช้ผ้าชุบน้ำชาแล้วเช็ดทำความสะอาดอย่างอ่อนโยน พักบริเวณรอยโรคประมาณ 12 ชม. จึงเริ่มทายาอีกครั้ง

ข้อควรระวังในการใช้ยา

1. เพื่อเป็นการป้องกันการแพ้ระคายเคือง แนะนำในการใช้ครั้งแรกควรทดสอบ 1-2 บริเวณก่อนและในการทาครั้งแรกไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป โดยปกติจะทำการทดสอบโดยเริ่มทาทิ้งไว้ประมาณ 2 ชม.  หากวันแรกหลังทาทิ้งไว้ 2 ชม. แล้วไม่เกิดอาการบวม แดง คัน ในวันที่ 2 จึงเริ่มทาทิ้งไว้ 4-6 ชม. หากไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จึงสามารถทาได้ตามปกติ(ทิ้งไว้1-2วันจึงเปลี่ยน) เนื่องจากตัวยามีส่วนประกอบของน้ำส้มสายชู จึงอาจทำให้เกิดอาการแสบเล็กน้อยหรือมีอาการแดงเล็กน้อยเฉพาะที่ได้  แต่หากบริเวณที่ทายา มีอาการบวมแดง คัน หรือน้ำเหลืองซึมแฉะชัดเจน เป็นอาการบ่งบอกอาการแพ้ ควรรีบหยุดใช้ทันที

2. การใช้ยาเฮยปู้เกาไประยะเวลาหนึ่ง (ประมาณ 1-2 เดือนหรือมากกว่านั้น) บริเวณชั้นผิวของรอยโรคอาจบางลงหรือมีอาการลอกได้ ควรหยุดใช้ยาระยะหนึ่ง หากขอบเขตหน้าแผลบริเวณเล็กอาจหยุดใช้ยาและเฝ้าระวังไม่กี่วันบริเวณที่ลอกจะฟื้นตัวได้เองเมื่อหายเป็นปกติสามารถใช้ยาทาต่อได้ แต่หากมีอาการลอกเป็นบริเวณกว้าง แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์

หมายเหตุ ข้อเขียนนี้ต้องการสื่อให้ทราบว่าอายุรกรรมภายนอก(ไว่เคอ) มีการพัฒนาองค์ความรู้และจากประสบการณ์จริง บนพื้นฐานของศาสตร์การแพทย์แผนจีน การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์แผนจีน

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร  (หมอจีน หวง เหม่ย ชิง)
黄美清 中医师
TCM. Dr. Mananya Anurakthanakorn (Huang Mei Qing)

อ้างอิง
1. 黑布药膏治疗瘢痕疙瘩的正确使用方法 (xingren.com)                                      
2. http://www.360doc.com/content/20/0910/13/13888283_934936389.shtml                                                                     

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้