Last updated: 5 พ.ย. 2567 | 611 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการท้องผูก ในทางการแพทย์แผนจีนหมายถึง กลุ่มอาการที่มีอาการแสดงสำคัญคือ อุจจาระแข็ง เป็นก้อน ถ่ายลำบาก และไม่ถ่ายเป็นเวลาหลายวัน หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นถ้าไม่มีการรับประทานยาระบาย ใช้ยาเหน็บทวารหรือสวนทวารก็ไม่สามารถ่ายอุจจาระได้ด้วยตนเอง กลไกของโรคเกิดจากความสามารถในการขับหรือลำเลียงของเสียของสำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ ทำให้อุจจาระตกค้างอยู่ในลำไส้เป็นระยะเวลานาน น้ำถูกดูดซึมกลับจึงทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้งแข็ง และขับถ่ายลำบากนั่นเอง
สาเหตุของโรค(病因病机)
ตำแหน่งโรค:ลำไส้ใหญ่ และสัมพันธ์กับม้าม กระเพาะอาหาร และไตอย่างใกล้ชิด
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ(辨证论治)
1. กลุ่มอาการร้อน(热秘):อุจจาระแห้งเป็นก้อน ท้องอืดหรือปวดท้อง ร่วมกับมีอาการหน้าแดงลำตัวร้อน กระสับกระส่าย ปากแห้งและมีกลิ่น ชอบรับประทานเครื่องดื่มเย็น ปัสสาวะสีเข้ม ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองหรือแห้ง ชีพจรลื่นและเร็ว(脉滑数)
2. กลุ่มอาการชี่ติดขัด(气秘):อุจจาระเป็นก้อนแห้งและแข็ง อยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก หากอารมณ์อัดอั้นอาการท้องผูกจะรุนแรงขึ้น ร่วมกับมีอาการเรอบ่อย ท้องอืดหรือปวดท้อง แน่นหน้าอกและสีข้าง รับประทานอาหารได้น้อย ปากขม ฝ้าบางและเหนียว ชีพจรตึง(脉弦)
3. กลุ่มอาการพร่อง(虚秘):ชี่พร่องจะพบอาการท้องผูก อุจจาระไม่แห้งแข็ง อยากถ่ายแต่ถ่ายยาก เมื่อออกแรงเบ่งจะรู้สึกเหนื่อย หน้าซีดขาว ลิ้นซีดนุ่มฝ้าบาง ชีพจรพร่องและเล็ก(脉虚细);เลือดพร่องจะพบอาการอุจจาระเป็นก้อนแห้งและแข็ง สีหน้าไม่ผ่องใส เวียนศีรษะ ใจสั่น ริมฝีปากซีด ชีพจรเล็ก(脉细)
4. กลุ่มอาการเย็น(寒秘):อุจจาระแข็งถ่ายยาก ร่วมกับมีอาการปวดเย็นบริเวณท้อง หน้าซีด ปลายมือและเท้าไม่อุ่น กลัวหนาวชอบความอบอุ่น ปัสสาวะใส ลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรจมและช้า(脉沉迟)
แนวทางการรักษา(治疗原则)
เลือกใช้หลักการ“ปรับสมดุลลำไส้และกระเพาะอาหาร ระบายความติดขัด ระบายอุจจาระ(调理肠胃,行滞通便)” เน้นเลือกจุดบนเส้นลมปราณเท้าหยางหมิงกระเพาะอาหาร และเส้นลมปราณมือเส้าหยางซานเจียวเป็นหลัก
วิธีการดูแลตัวเอง
1. ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ช่วงเวลาที่ดีคือยามเหม่า(卯时)นั่นคือช่วงเวลาตี 5 ถึง 7 โมงเช้า
2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง
3. ดื่มน้ำอุ่นและสะอาด 8-10แก้วต่อวัน เพื่อป้องกันอุจจาระแข็งมากไป
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้การเคลื่อนไหวและการทำงานของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น
ตัวอย่างกรณีการรักษาอาการท้องผูกโดยการฝังเข็ม
ชื่อ : XXX เพศ : ชาย อายุ : 13 ปี
เลขประจำตัว:XXXXXX
เข้ารับการรักษาครั้งแรก:25 มิถุนายน 2566
อาการสำคัญ:ขับถ่ายอุจจาระลำบากเป็นเวลาหลายปี
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน: ขับถ่ายอุจจาระลำบาก รู้สึกอยากถ่ายแต่ไม่มีแรงเบ่ง ลักษณะอุจจาระเป็นก้อนและไม่แข็ง ถ่ายอุจจาระ 2ครั้ง/สัปดาห์ รู้สึกไม่สบายท้อง มีอาการท้องอืดบางเวลา
อาการร่วม:มีประวัติเจ็บป่วยบ่อย อ่อนเพลียง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่อยากอาหาร สีหน้าค่อนข้างซีด นอนหลับได้ดี ปัสสาวะปกติ ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าบาง ชีพจรเล็ก (脉细)
ประวัติเจ็บป่วยในอดีต:ไม่มี
การวินิจฉัย:ท้องผูก
กลุ่มอาการ:ชี่พร่อง (气虚证)
การรักษา:ปรับสมดุลลำไส้และกระเพาะอาหาร บำรุงและขับเคลื่อนชี่ ระบายอุจจาระ
ตำรับจุด:
支沟(TE6) 天枢(ST25) 中脘(CV12) 下脘(CV10)
归来(ST29) 水道(ST28) 气海(CV6) 足三里(ST36)
三阴交(SP6)
ประเมินผลการรักษา ครั้งที่ 1 (16 กรกฎาคม2566)
ถ่ายอุจจาระ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ ขับถ่ายคล่องมากขึ้น อ่อนเพลียน้อยลง รับประทานอาหารได้มากขึ้น ยังคงมีอาการท้องอืดอยู่บ้าง นอนหลับได้ปกติ
ประเมินผลการรักษา ครั้งที่ 2 (13 สิงหาคม 2566)
ถ่ายอุจจาระได้ปกติ 5 ครั้ง/สัปดาห์ อุจจาระเป็นก้อน ไม่มีอาการอ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้ปกติ นอนหลับได้ปกติ
วิเคราะห์ผลการรักษา
เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการขับถ่ายอุจจาระลำบาก รู้สึกอยากถ่ายแต่ไม่มีแรงเบ่ง ความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติ ร่วมกับผู้ป่วยมีประวัติเจ็บป่วยบ่อย อ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่อยากอาหาร ลิ้นแดงอ่อน ชีพจรเล็ก (细) จึงจัดอยู่ในกลุ่มอาการท้องผูกแบบชี่พร่อง(气虚证) ในมุมมองแพทย์แผนจีนลำไส้ใหญ่มีหน้าที่รับสิ่งที่ย่อยจากลำไส้เล็ก ดูดซึมสารอาหารและน้ำที่เหลืออยู่ และขับอุจจาระออกจากร่างกาย หากการทำงานของม้ามและปอดพร่อง สร้างชี่ไม่เพียงพอ จะทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่มีแรงในการลำเลียงและขับของเสียออกจากร่างกาย ดังนั้นวิธีรักษาจึงเลือกใช้หลักการบำรุงกระเพาะอาหาร ปรับสมดุลของลำไส้ ปรับการไหลเวียนชี่ ส่งผลให้อาการท้องผูกของผู้ป่วยดีขึ้นตามลำดับ
สรุปผลการรักษา
จากกรณีตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่าการฝังเข็มสามารถช่วยรักษาอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งการฝังเข็มสามารถช่วยกระตุ้นการบีบรัดตัวของลำไส้และไส้ตรง ช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนักคลายตัวลง และยังกระตุ้นการสร้างน้ำเมือกจากผนังลำไส้ใหญ่ด้านในออกมาหล่อลื่นเพื่อให้ขับถ่ายได้สะดวก นอกจากนี้การฝังเข็มยังช่วยปรับร่างกายให้กลับมาสมดุลได้อีกด้วย
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน พิมพิชญ์ มุจลินทโมลี (หมอจีน เจี่ย จิ้ง เหวิน)
贾靖雯 中医师
TCM. Dr.Pimpitch Muchalintamolee (Jia Jing Wen)
แผนกฝังเข็ม 针灸科 (Acupuncture Department)
อ้างอิง
1. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. การฝังเข็ม-รมยา เล่ม2 (การรักษาโรคที่พบบ่อยด้วยการฝังเข็ม). นนทบุรี: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2553.
2. 梁繁荣. 针灸学(第2版). 上海:上海科学技术出版社,2012
3. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น.
4. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.
15 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
12 พ.ย. 2567