โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  342 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีมวลกระดูกต่ำผิดปกติ (Low bone mass) ร่วมกับมีความเสื่อมของโครงสร้างภายในเนื้อกระดูกระดับจุลภาค (Microarchitectural deterioration) จนนำไปสู่ความเปราะของกระดูก (Bone fragility) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก โรคกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบสำหรับผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ได้ให้ความหมายของ “ผู้สูงอายุ” ว่าหมายถึงบุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน อัตราการสลายกระดูกจะสูงขึ้นมาก

โรคกระดูกพรุนจะยังไม่มีอาการใดๆที่บ่งบอกให้ทราบได้ นอกจากการตรวจสุขภาพทั่วไป เช่น การตรวจพื้นฐานทางชีวเคมีเลือด ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ แม้แต่การตรวจทางรังสีเอกซเรย์ทั่วไปก็ยังไม่สามารถบ่งบอกถึงโรคกระดูกพรุนได้ในระยะแรก ยิ่งกว่านั้นผู้หญิงที่มีกระดูกสันหลังหักถึงร้อยละ 60 ไม่ทราบมาก่อนว่ามีความผิดปกตินี้เกิดขึ้นกับตนเอง อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้ จากการศึกษาพบว่าโรคกระดูกพรุนกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น จึงทำให้อุบัติการณ์ของกระดูกหักเพิ่มขึ้นด้วย มีการคาดการณ์ไว้ว่าในเอเชียอุบัติการณ์ของกระดูกหักที่ข้อสะโพกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 ในปี ค.ศ.2025 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 45 ในปี ค.ศ.2050

ในด้านผลกระทบจากโรคกระดูกพรุน สามารถนำไปสู่การเกิดกระดูกหักที่กระดูกสันหลังกระดูกข้อสะโพก (Proximal femur) และกระดูกท่อนแขนส่วนปลาย (Distal forearm) โรคกระดูกพรุนจัดว่าเป็น

สาเหตุสำคัญอันดับต้นๆของการที่ทำให้ประชากรอยู่ในสภาพติดเตียง (Bedridden) และมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุกคามต่อชีวิตได้

อาการของโรคกระดูกพรุน
ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดเรื้อรัง หลังค่อม งอตัวหรือยืดตัวลำบาก กระดูกหัก หากกระดูกสันหลังส่วนอกหักหลายๆชิ้นจะทำให้การหายใจของผู้ป่วยไม่สามารถขยายทรวงอกได้เป็นปกติ (Restrictive lung disease) ถ้ากระดูกสันหลังส่วนเอวหักจะทำให้ส่วนท้องผิดรูป อาจทำให้มีอาการท้องผูก ปวดท้อง ท้องอืด ไม่เจริญอาหารหรืออิ่มเร็วกว่าปกติ โดยผู้ป่วยที่กระดูกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุนจะมีอัตราการตายเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีกระดูกหัก

โครงสร้างของกระดูก
กระดูกประกอบด้วยส่วนประกอบหลักได้แก่
1) เซลล์ มี 3 ชนิด
1.1 Osteocyte เป็นเซลล์กระดูกตัวแก่ที่เป็นโครงสร้างของกระดูก
1.2 Osteoblast มีหน้าที่ในการสร้างเนื้อกระดูกและกลายเป็น Osteocyte มีการหลั่งสารชนิดต่างๆได้แก่ Collagen type I, Osteocalcin, Alkaline phosphatase
1.3 Osteoclast มีหน้าที่สลายกระดูกไปพร้อมๆกับการสร้างกระดูกโดย Osteoblast ในขบวนการนี้จะมีการหลั่งสารชนิดต่างๆได้แก่ Calcium hydroxyproline, Pyridium cross-links
2) Organic matrix เป็นเนื้อเยื่ออินทรีย์เป็นที่อยู่ของเซลล์ชนิดต่างๆ
3) Mineral matrix เป็นเนื้อเยื่อที่มีแร่ธาตุต่างๆมาสะสมเพื่อให้ความแข็งแรงกับตัวกระดูก

กลไกการเกิดโรคกระดูกพรุน
ในวัยเด็ก Osteoblast จะทำงานมากกว่า Osteoclast ทำให้กระดูกเจริญเติบโตขณะที่ในผู้สูงอายุและหญิงวัยหมดประจำเดือน Osteoclast จะทำงานมากกว่า ทำให้การสลายกระดูกมากกว่าการสร้างเนื้อกระดูก การที่เซลล์ Osteoblast สร้างเนื้อกระดูกใหม่และ Osteoclast สลายกระดูกเก่าจึงเรียกหน่วยของเซลล์ทั้ง สองนี้ว่า Bone remodeling unit โดย Bone remodeling unit ในกระดูกแต่ละส่วนไม่เท่ากัน ทำให้สามารถแบ่งลักษณะของกระดูก ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

- Cortical bone ส่วนเปลือกด้านนอกของกระดูก มีจำนวน Bone remodeling unit น้อย การเรียงตัวของเนื้อกระดูกเป็นระเบียบ ( Lamella bone ) จึงทำให้เกิดความแข็งแรงของกระดูกได้มาก

- Trabecular bone ส่วนที่อยู่ด้านในของกระดูก มีจำนวน Bone remodeling unit มากกว่าและมีการเรียงตัวของเนื้อกระดูกคล้ายฟองน้ำ ( Sponge bone )

จากปริมาณกระดูกทั้งหมดของร่างกาย ร้อยละ 80 จะเป็น Cortical bone และอีกร้อยละ 20 เป็น Trabecular bone และเมื่อพิจารณาถึงความแข็งแรงของกระดูก พบว่าความหนาแน่นกระดูกเป็นส่วน สำคัญที่กำหนดความแข็งแรงของกระดูกได้ประมาณร้อยละ 60 - 85 ขณะที่อีกประมาณร้อยละ 15 – 25 เกิดจากลักษณะโครงสร้างทางจุลภาคที่พบอยู่ใน Trabecular bone 

ในโรคกระดูกพรุน ปริมาณมวลกระดูกทั้งหมดจะลดลง ขณะที่สัดส่วนระหว่างปริมาณ Organic matrix ต่อ Mineral matrix ยังเป็นปกติไม่เปลี่ยนแปลง พยาธิสภาพที่นำไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุนจะเริ่มตั้งแต่ในช่วงวัยหนุ่มสาว

ปัจจัยหลักการเกิดโรคกระดูกพรุน
1) การสะสมมวลกระดูกในช่วงวัยหนุ่มสาว
- เพศหญิงสะสมสร้างเสริมมวลกระดูกปริมานสูงสุด (Peak bone mass) ที่อายุราว 16 ปี ขณะที่เพศชายจะอยู่ที่อายุ 20 ปี ถือว่าน้อยกว่าเพศชายร้อยละ 20-30
- ภาวะโภชนาการ การได้รับธาตุแคลเซียมจากอาหาร ผู้ที่ได้รับแคลเซียมเพียงพอในช่วงวัยหนุ่มสาว จะมี Peak bone mass มากกว่าคนที่รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ
- การออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะประเภทลงน้ำหนักจะเพิ่มมวลกระดูกได้ดีกว่าการออก กำลังกายประเภทอื่นๆ 

2. การสลายของกระดูก (Bone resorption)

2.1 การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาเนื่องจากความชรา
เมื่อพ้นจากระยะที่ร่างกายสะสมมวลกระดูกให้ได้ปริมาณสูงสุดแล้ว มวลกระดูกจะมี ปริมาณคงที่จนถึงอายุประมาณ 40 ปี จากนั้น Osteoclast จะเริ่มทำงานมากกว่า Osteoblast ทำให้มีการสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างช้าๆโดยเกิดขึ้นที่ Trabecular bone ก่อน Cortical bone โดยลดลงประมาณร้อยละ 0.7 ต่อปี ส่วนมวลกระดูกที่ Cortical bone จะลดลงร้อยละ 0.6 ต่อปี
2.2 พฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้อง
- ภาวะขาดสารอาหารและการได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ จะทำให้มีการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น จากการศึกษาในหญิงไทย พบว่าการไม่ดื่มนมเป็นประจำและการมีระดับแคลเซียมในซีรั่มต่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำนายการเกิดกระดูกหักที่ข้อสะโพก
- การออกกำลังกาย การไม่เคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน ทำให้มีแรงกระทำต่อกระดูกลดลงและกระตุ้นให้มีการสลายของกระดูกมากขึ้น
- การสูบบุหรี่ บุหรี่จะกระตุ้นระบบเอ็นไซม์ในตับ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับเอสโตรเจนและอนุพันธ์ของวิตามินดีจึงทำให้ฤทธิ์ของเอสโตรเจนที่มีผลดีต่อมวลกระดูกลดลง 
- การดื่มแอลกอฮอล์ ผลของการดื่มแอลกอฮอล์มีลักษณะที่ไม่แปรผันเป็นเส้นตรงกับมวลกระดูกเหมือนปัจจัยการสูบบุหรี่ 
- การดื่มกาแฟ มีหลักฐานว่าการดื่มกาแฟดำปริมาณมากทำให้มีการขับแคลเซียมออกทาง ปัสสาวะและในลำไส้มากกว่าที่จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมลดลงและมีผลต่อมวลกระดูกในที่สุด 
- การได้รับแสงแดด เนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงอาทิตย์สามารถกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่ผิวหนังได้ 
2.3 การหมดประจำเดือน (Menopause)
เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะลดลง ปกติ เอสโตรเจนมีผลลดการสลายของกระดูก ดังนั้นในระยะวัยหมดประจำเดือนจะมีการเสียมวลกระดูกในอัตราที่สูงกว่าเดิมอย่างมาก ประมาณร้อยละ 3 - 5 ต่อปี และจะมีผลต่อเนื่องเช่นนี้ไปอีกเป็นเวลา ประมาณ 5 - 10 ปี
2.4 การมีโรคในระบบอวัยวะอื่นๆ ที่มีผลต่อมวลกระดูก
- ผู้ที่มีกระดูกหักหลายแห่ง โดยเกิดจากอุบัติเหตุที่ไม่ร้ายแรงเพียงพอหรืออธิบายได้
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ( Hyperthyroidism )
- โรคต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน ( Hyperparathyroidism ) 
- ภาวะฮอร์โมนคอร์ติโคสเตียรอยด์สูงผิดปกติ ( Hypercorticism ) 
- ภาวะฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองต่ำผิดปกติ ( Hypopituitarism )
- ภาวะฮอร์โมนเพศต่ำผิดปกติ ( Hypogonadism ) เช่น การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยวิธีการลดระดับฮอร์โมนเพศชาย ( Androgen deprivation therapy )
- การสูญเสียความสามารถในการเดิน
- โรคไตเรื้อรังโรคตับเรื้อรัง
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ( Rheumatoid arthritis )
- โรคเลือดธาลัสซีเมีย( Thalassemia ) 
- ภาวะดูดซึมสารอาหารจากลำไส้ปกติ( Malabsorption )
- การได้รับยาบางชนิด ได้แก่ ยากันชักหลายชนิดเช่น Phenytoin, Carbamazepine,phenobarbital) ยาประเภทคอร์ติโคสเตียรอยด์ Heparin, Methotrexate ยาขับปัสสาวะชนิด Loop ยาเคมีบำบัด การได้รับวิตามินเอ หรือวิตามินดี มากเกินไป เป็นต้น

การตรวจร่างกายของโรคกระดูกพรุน

- ลักษณะทั่วไปในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน มักเป็นผู้ที่มีรูปร่างเล็กค่อนข้างผอมลักษณะที่จำเพาะ คืออาการแสดงของกระดูกหักที่มักพบในโรคกระดูกพรุนได้แก่ กระดูกข้อมือผิดรูปเนื่องจากเคยมี Colles’ fracture ความสูงของร่างกายเตี้ยลง หลังโก่งหลังค่อม ( Dowager hump ) เนื่องจากกระดูกสันหลังยุบตัวทำให้ท่าเดินผิดปกติ กล้ามเนื้อเกร็ง โดยเฉพาะบริเวณช่วงเอว การเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังลดลง 
- โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มวลกระดูกโดยรวมลดลง โดยที่ส่วนประกอบของกระดูกยังเป็นปกติ ดังนั้นการตรวจทางชีวเคมีเลือดเช่นระดับ Calcium, Phosphorus, Alkaline phosphatase รวมทั้ง Complete blood count จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามของโรคนี้ไว้ว่า เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีมวลกระดูกต่ำผิดปกติ ( Low bone mass ) ซึ่งการตรวจที่เป็นมาตรฐานในการวัดมวลกระดูกคือค่าความหนาแน่นกระดูก ( Bone mineral density - BMD ) ค่า BMD มีความสัมพันธ์กับความแข็งแรงของกระดูก ( Bone strength ) และเป็นตัวทำนายที่ดีมากถึงความเสี่ยงการเกิดกระดูกในอนาคต 
- ปัจจุบันวิธี Dual energy x-ray absorptiometry หรือ DEXA ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับรังสี x-ray ในปริมาณเล็กน้อยต้องวัดโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีและยังมีค่าใช้จ่ายสูงก็ยังเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุด เพราะให้ความเที่ยงตรงและสามารถวัดที่กระดูกได้หลายจุดในเวลาเดียวกันด้วยเวลาไม่นาน มีหน่วยเป็นกรัมต่อตารางเซนติเมตร 
- Quantitative computed tomography (QCT) การตรวจวิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเท่ากับ DEXA เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงเหมือนกันหรืออาจมากกว่า แต่ผู้ป่วยต้องได้รับปริมาณรังสีมากกว่า 
- การส่งตรวจภาพรังสีวินิจฉัยกระดูกสันหลัง อาจใช้ทดแทนการวัด BMD ได้ในกรณีที่ไม่มีเครื่อง DEXA ในสถานพยาบาล โดยอาศัยข้อมูลอายุเพียงอย่างเดียวได้ 
- Osteoporosis Self-Assessment Screening Tool for Asians (OSTA) สูตรใช้คำนวณมีดังต่อไปนี้ คะแนนความเสี่ยง (Risk score) = [ น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม – อายุเป็นปี ] x 0.2 ถ้าผลการคำนวณ OSTA ได้ค่าน้อยกว่า -1 แสดงว่าผู้สูงอายุรายนั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน

การป้องกันโรคกระดูกพรุน
1. การได้รับธาตุแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอ 
- กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,000มก. ต่อวัน ขณะที่ผู้ใหญ่ทั่วไปต้องการ 800มก.ต่อวัน ส่วนในหญิงอายุ 51 ปีขึ้นไปและชายอายุ 71 ปีขึ้นไป มีการแนะนำให้บริโภคแคลเซียมมากถึง 1,200 มก.ต่อวัน
- อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์นม ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก เช่น ปลา กระป๋อง ปลาซิว ปลาเกล็ดขาว ปลาข้าวสาร รวมทั้งสัตว์ขนาดเล็กที่กินได้ทั้งตัว ได้แก่ กุ้งฝอย กุ้งแห้ง กะปิ ถั่วและผลิตภัณฑจ์ากถั่ว ได้แก่ เต้าหู้ ( ยกเว้นเต้าหู้ที่ทำจากไข่และน้ำเต้าหู้ ) เต้าฮวย งาดำ งาขาว และผักใบเขียวบางชนิด โดยเฉพาะผักคะน้า ผักกาดเขียว จะมีแคลเซียมสูงและมีการดูดซึมแคลเซียมได้ดี
- วิตามินดีสำคัญต่อการดูดซึมแคลเซียม การทำงานของกล้ามเนื้อ การทรงตัวและการลดความ เสี่ยงต่อหกล้ม ร่างกายอาจได้วิตามินดี จากแสงแดดกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างขึ้นมาได้ และ ได้รับจากอาหารในรูปของวิตามิน D3 และ Ergocalciferol ( วิตามิน D2 ) อาหารที่แนะนำ ได้แก่ นมวัว น้ำมันตับปลา ไข่และ ตับ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัย ในการดูดซึมแคลเซียมในร่างกายน้อยลง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันสูง การดื่ม แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ ที่มากเกินไป

2. การออกกำลังกายที่ลงน้ำหนักและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
2.1 การออกกำลังกายที่ลงน้ำหนัก ( Weight-bearing ) เป็นการออกกำลังกายที่กล้ามเนื้อและกระดูกทำงานต้านแรงโน้มถ่วงของโลก ขณะที่ขาและเท้า คอยรับน้ำหนักตัว เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ การรำมวยจีนแบบไทเก็ก (Tai Chi) การเต้นรำ เป็นต้น 
2.2 การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ( Muscle-strengthening exercise ) เช่นการยกน้ำหนัก การออกกำลังที่มีแรงต้าน ( Resistive exercise ) เช่น โยคะ เป็นต้น 
3. การหยุดสูบบุหรี่
4. การหยุดดื่มแอลกอฮอล์
5. การลดปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะหกล้ม เช่น การจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยจากหกล้ม หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และการแก้ไขปัญหาสายตา 
6. การป้องกันภาวะทุพโภชนาการ เนื่องจากภาวะขาดอาหาร ( Under-nutrition ) 

การฟื้นฟูบำบัดโรคกระดูกพรุน
1. หลีกเลี่ยงการที่ผู้ป่วยนอนติดเตียงเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดข้อติด กล้ามเนื้อลีบ และ แผลกดทับ เป็นต้น
2. สอนให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ปลอดภัย อาจใช้อุปกรณ์ช่วยทรงตัวขณะเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการหกล้ม เพราะอาจเกิดกระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
3. ฝึกเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อต้นขา Quadriceps เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลุกขึ้นจากที่ได้เอง
4. ฝึกออกกำลังกายชนิดต้านแรง เพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกระดูก เพื่อช่วยในการทรงตัวไม่ให้หกล้มง่าย
5. หากผู้ป่วยมีกระดูกสันหลังหักเฉียบพลัน หรือ มีการปวดหลังเรื้อรังจากกระดูกสันหลังหักหลายข้อ ควรใช้อุปกรณ์ยึดลำตัว ( Trunk orthoses ) เช่น Back brace, Corset เพื่อลดอาการปวดและลดแรงกระทำต่อกระดูกสันหลัง
6. มีการเยี่ยมบ้านของผู้ป่วยเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุภายในบ้าน

การออกกำลังกายป้องกันโรคกระดูกพรุน
แนะนำให้ผู้สูงอายุฝึกออกกำลังกายด้วยวิธีการบริหารกล้ามเนื้อ 4 กลุ่มหลักดังนี้
1. กล้ามเนื้อสะโพกที่กางขาด้านข้าง ( Hip abductor )
ให้ผู้สูงอายุยืนด้านหลังเก้าอี้ที่มีพนักพิง เท้าชิดกัน มือจับขอบบนของพนักพิงเก้าอี้ กางขาออกด้านข้าง คงอยู่ในตำแหน่งนั้นแล้วนับ 1 – 10 จากนั้นหุบขาลงให้เท้าทั้งสองชิดกัน จากนั้นให้กางขาอีกข้างออกด้านข้างเหมือนกับที่ทำมา ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง ทำซ้ำวันละ 3–4 รอบ 

ในท่านอนตะแคง ให้ยกขาข้างบนขึ้นในแนวดิ่ง ตั้งฉากกับพื้นจนสุด แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1 – 10 เช่นกัน แล้วลดขาลง ทำซ้ำติดต่อกัน 10 ครั้ง วันละ 3 – 4 รอบ

2. กล้ามเนื้อสะโพกที่กางขาไปด้านหลัง ( Hip extensor )
ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังคดงอ ( Kyphoscoliosis ) ให้นอนคว่ำราบกับพื้นเตียง แล้วยกขาเหยียดขึ้นบนไปด้านหลัง แล้วค้างไว้ตำแหน่งนั้นและนับ 1 – 10 จากนั้นยกขาลง แล้วทำซ้ำแบบเดียวกันกับขาอีกข้าง ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง ทำซ้ำวันละ 3 – 4 รอบ

ผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาหลังคดงอ ให้บริหารในท่านอนหงาย ชันเข่าสองข้าง แล้วยกก้นขึ้นให้สะโพกลอยขึ้น นับ 1 – 10 แล้วหย่อนสะโพกลงพื้น ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง ทำซ้ำวันละ 3 – 4 รอบ 

ผู้สูงอายุยืนหลังพนักเก้าอี้ที่มั่นคง มือทั้งสองจับขอบบนพนักเก้าอี้ ยกขาข้างหนึ่งไปด้านหลัง แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1 – 10 ติดต่อกัน 10 ครั้ง ทำซ้ำวันละ 3 – 4 รอบ

3. กล้ามเนื้อต้นขาที่ยกขาขึ้น ( Knee extension )
ในท่านั่งให้หลังพิงพนักเก้าอี้ ยกขาข้างหนึ่งขึ้นขนานกับพื้น กระดกปลายเท้าขึ้น แล้วเกร็งค้างไว้ นับ 1 – 10 ติดต่อกัน 10 ครั้ง ทำซ้ำวันละ 3 – 4 รอบ

เมื่อฝึกบริหารในท่าข้างบนจนคล่องแล้ว อาจเพิ่มน้ำหนักลงที่ขาข้างที่ฝึก ด้วยการให้ขาอีกข้างไขว้มาวางบนขาที่ฝึก เพื่อเพิ่มน้ำหนักแล้วฝึกบริหารด้วยวิธีการเช่นเดิม จะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

ในท่ายืน อาจบริหารกล้ามเนื้อส่วนนี้ได้ด้วยการยืนชิดกำแพง เท้าทั้งสองห่างจากกำแพงเล็กน้อย แล้วค่อยๆ ย่อตัวลงให้หลังพิงกำแพงตลอดเวลา จนรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อแล้วจึงหยุด แล้วเกร็งกล้ามเนื้อหน้าขา ดันตัวขึ้นช้าๆ ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง ทำซ้ำวันละ 3 – 4 รอบ

4. กล้ามเนื้อหลัง ( Back muscle )
ท่านอนคว่ำที่ 1 ใช้หมอนเล็กหนุนที่หน้าผาก แล้วยกศีรษะขึ้นในแนวดิ่ง โดยหลังไม่แอ่นมากเกินไป เกร็งค้างไว้ในท่านี้ นับ 1 – 10 ติดต่อกัน 10 ครั้ง ทำซ้ำวันละ 3 – 4 รอบ

ท่านอนคว่ำที่ 2 ขณะหน้าผากหนุนหมอน ให้ยกแขนข้างหนึ่งขึ้นในแนวดิ่งจนสุด เกร็งค้างไว้ในท่านี้ นับ 1 – 10 ติดต่อกัน 10 ครั้ง จากนั้นให้ยกทั้งแขนและขาข้างเดียวกัน เพียงข้างเดียว ขึ้นในแนวดิ่งจนสุด เมื่อชำนาญแล้วให้ยกพร้อมกันทั้งสองข้าง เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังทำงานมากที่สุด

ในท่าคลาน ให้ฝึกยกแขนข้างใดข้างหนึ่งขึ้นในแนวดิ่งจนขนานกับพื้น เกร็งค้างไว้ในท่านี้ นับ 1 – 10 ทำติดต่อกัน 10 ครั้ง ฝึกแขนตรงข้ามสลับกัน จากนั้นให้ฝึกยกขาขึ้นในแนวดิ่ง จนขาขนานกับพื้น ฝึกด้วยวิธีการข้างต้น ฝึกขาตรงข้ามสลับกัน เมื่อชำนาญแล้ว ให้ยกแขนและขาข้างที่ตรงข้ามกัน ขึ้นในแนวดิ่งด้วยวิธีการเดียวกัน ฝึกข้างตรงข้ามสลับกัน เพื่อให้กล้ามเนื้อหลังทำงานมากที่สุด แล้วทำซ้ำวันละ 3 – 4 รอบ

มุมมองในทางแพทย์แผนจีน
ไต เป็นรากฐานของอวัยวะภายใน และ อิน-หยาง ไต เป็นกำเนิดของชีวิต ไตเป็นรากฐานของชีวิตก่อนคลอด ไตมีรูปร่างรูปไข่มนโค้ง คล้ายเมล็ดถั่วแดง ด้านนอกมีเนื้อเยื่อไขมันสีเหลืองห่อหุ้ม เนื้อไตตรงกลางสีขาวขอบมีสีดำ ไตมี 2 ข้าง ข้างซ้ายและข้างขวา อยู่ในช่องท้องบริเวณด้านข้างของกระดูกสันหลังระดับเอวอันที่ 2 ไตข้างขวาอยู่ต่ำกว่าข้างซ้ายเล็กน้อย ไตเป็นธาตุน้ำ 肾主骨、生髓、通于脑,齿为骨之余,其华在发สารจำเป็นของไตสร้างสมอง และ ไขสันหลัง เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน เลี้ยงบำรุงเส้นผมและขน ถ้าไตแข็งแรงจะทำให้พละกำลังดีและสมองเป็นปกติ 

หากไตพร่อง จึงมักแสดงการเปลี่ยนแปลงในด้านการเจริญเติบโตช้าหรือแก่ชราไว มีปัญหาการสืบพันธุ์หรือสมรรถภาพทางเพศ ความสมดุลของน้ำในร่างกายผิดปกติไป การหายใจถดถอย มีปัญหาทางด้านความจำ กระดูก ไขกระดูก เส้นผม การได้ยินหรือระบบขับถ่าย ซึ่งมักมีอาการแสดงออก เช่น ปวดเมื่อยเอวหรือเข่า หูอื้อ หูหนวก ฟันโยกหรือหลุดง่าย ผมร่วง องคชาติไม่แข็งตัว ฝันเปียก เชื้ออสุจิไม่แข็งแรง ประจำเดือนไม่มา มีบุตรยาก บวมน้ำ หายใจตื้น หอบ ปัสสาวะและอุจจาระผิดปกติ เป็นต้น 

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
ภาวะกระดูกพรุนจะจัดอยู่ในกลุ่ม “กู่ปี้”(骨痹)“กู่เหว่ย”(骨痿) ในทางการแพทย์แผนจีนมีบันทึกในตำราซู่เวิ่น(素问)ระบุว่าไตมีความสัมพันธ์กับกระดูก ไตมีหน้าที่กักเก็บสารจิง ซึ่งสารจิงให้กำเนิดน้ำหล่อเลี้ยงและช่วยหล่อเลี้ยงบำรุงกระดูก หากชี่ไตมากสารจิงมีปริมาณเพียงพอหล่อเลี้ยงกระดูกก็จะทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ในทางกลับกันหากชี่ไตพร่องสารจิงน้อยก็ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลงก่อเกิดเป็นกู่เหว่ย(骨痿)กระดูกพรุนได้

ปกติทั่วไปของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนตามหลักทฤษฎีเจ็ดเจ็ด(七七) ในคัมภีร์โบราณระบุถึงการเปลี่ยนแปลงตามวัยของผู้หญิงไว้ว่า ผู้หญิงเมื่ออายุ 49 ปี เส้นลมปราณเญิ่น(任脉)และเส้นลมปราณชง(冲脉)พร่อง ส่งผลให้ไม่มีประจำเดือนและไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ สารจิงในไตพร่อง เพราะสารจิงในไตมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้มีประจำเดือน อีกทั้งไตยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการระบบการสืบพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและมีภาวะกระดูกพรุน ล้วนสัมพันธ์กับอวัยวะไตเป็นหลักตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการและวิธีการรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

สาเหตุหลักของการเกิดภาวะกระดูกพรุนในวัยทองมาจากสารจิงของไตพร่องส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลง จนก่อให้เกิดเป็นภาวะกระดูกพรุนในที่สุด นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับอวัยวะตับ ม้าม และกระเพาะอาหาร ซึ่งมีหน้าที่กักเก็บเลือดและสร้างเลือดมาหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงสมดุลอินหยางในร่างกาย ดังนั้นวิธีการรักษาจะเน้นการบำรุงไตและปรับสมดุลร่างกายตามสภาวะอินและหยางที่เปลี่ยนแปลง

1. กลุ่มอาการสารจิงของไตพร่อง
อาการ :ปวดเอวปวดหลัง ปวดหน้าขาและหัวเข่า อาการร่วมอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะ มีเสียงในหู ผมบาง ผมร่วง ฟันโยก ปัสสาวะเล็ด ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าบางขาว ชีพจรเฉินซี่ม่ายและไม่มีแรง(脉沉细无力)
วิธีการรักษา:บำรุงไตเพิ่มสารจิง
อาหารที่แนะนำ:งาดำ(黑芝麻)ถั่วดำ(黑豆)และเห็ดหูหนูดำ(黑木耳)

2. กลุ่มอาการร้อนภายในจากอินพร่อง
อาการ:ปวดเอวปวดหลัง หรือปวดส้นเท้า อาการร่วมอื่นๆ เช่น ใจร้อน หงุดหงิดง่าย ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน กระวนกระวายใจ นอนหลับได้น้อย ปวดหัวเข่าไม่มีแรง ใบหน้าแดงร้อน มีเหงื่อออก ลิ้นแดงหรือแดงเข้ม ชีพจรซี่ซู่ม่าย(脉细数)
วิธีการรักษา:บำรุงอินระบายความร้อน บำรุงไต
อาหารที่แนะนำ:เก๋ากี้(枸杞子)และฮ่วยซัว(山药)

3. กลุ่มอาการอินและหยางทั้งสองอย่าง
อาการ:มือเท้าเย็น ปวดกระดูกบางครั้งหรือปวดเอวปวดหลัง หรือปวดส้นเท้า ปวดหัวเข่า อาการร่วมอื่นๆ เช่น กลัวหนาวชอบความอบอุ่น แขนขาเมื่อยล้าไม่มีแรง อ่อนเพลีย ลิ้นแดงอ่อน ชีพจรเฉินซี่ม่าย(脉沉细)
วิธีการรักษา:บำรุงไตเพิ่มหยาง เพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงกระดูก
อาหารที่แนะนำ:กุ้ยช่าย(韭菜)เก๋ากี้(枸杞子)และเก๋าลัด(栗子)

4. กลุ่มอาการม้ามและไตพร่อง
อาการ:ปวดเอวปวดหลัง ปวดหน้าขาและหัวเข่า อาการร่วมอื่นๆ เช่น สีหน้าไม่ผ่องใส แขนขาเมื่อยล้าไม่มีแรง ทานอาหารได้น้อย อุจจาระเหลว ลิ้นแดงอ่อน ด้านข้างลิ้นมีรอยฟัน ฝ้าบางขาว ชีพจรซี่ม่าย(脉细)
วิธีการรักษา:บำรุงไตและม้าม
อาหารที่แนะนำ:กุ้ยช่าย(韭菜)ไก่ดำ(乌鸡)ลูกเดือย(薏苡仁)และพุทราจีน(大枣)

การฝังเข็มและทุยหนาโรคกระดูกพรุน
หลักในการรักษา : ทะลวงเส้นจิงลั่ว ปรับสมดุลอินหยาง ประคองเจิ้งชี่ กำจัดเซียชี่ (疏通经络、调和阴阳、扶正祛邪)
การทุยหนา
- ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูกได้มากขึ้น คลายความหนาแน่นของพังผืด ช่วยให้ข้อต่อยืดหยุ่น 
- โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย จากนั้นผู้ทำหัตถการทำท่านิ้วโป้งกดคลึง(大拇指按揉法)บริเวณจุดกวานเหยฺวียน (CV4关元)、จู๋ซานหลี่ (ST36 足三里) และซานอินเจียว (SP6 三阴交) 
- ท่านอนตะแคงบริเวณจุดเซิ่นซู (BL23肾俞)、ต้าฉางซู (BL25大肠俞) และเจี๋ยจี่ (EX-B2夹脊) จุดละประมาน 3 – 5 นาที 
การฝังเข็ม
จุดกวานเหยฺวียน (CV4关元)、ซานอินเจียว (SP6 三阴交)、เซิ่นซู (BL23肾俞)、ต้าฉางซู (BL25大肠俞)、จู๋ซานหลี่ (ST36 足三里) และเจี๋ยจี่ (EX-B2夹脊)

งานวิจัยของโรคกระดูกพรุน

1. การฝังเข็ม ทุยหนาร่วมกับการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวและโรคเบาหวาน (针灸推拿联合功能锻炼在骨质疏松性腰椎退变合并糖尿病的效果分析)
- เป้าหมาย 
เปรียบเทียบผลของการรักษาของผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวและเบาหวาน ระหว่างการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม ทุยหนา กับ วิธีการฝังเข็ม นวดทุยหนา และออกกำลังกาย ว่าวิธีใดจะช่วยให้ประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น ช่วยลดปัจจัยการอักเสบภายในร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์และมีความปลอดภัยสูง
- วิธีการ
มกราคม 2020 - มีนาคม 2021 นำผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนและเบาหวาน 100 ราย กลุ่มควบคุมคือกลุ่มที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม นวดทุยหนา 50 ราย และกลุ่มทดลองฝังเข็ม นวดทุยหนา ร่วมกับการออกกำลังกาย 50 ราย เพื่อเปรียบเทียบผลของการรักษา 

วิธีการรักษา

-  การนวดทุยหนา 

ให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยืดกล้ามเนื้อส่วนที่ปวดประมาน 1 นาที และกดจุดคุนหลุน  (BL60 昆仑)、เฉิงฝู (BL36 承扶)、หวนเที่ยว (GB30 环跳)、เหว่ยจง (BL40 委中) และไท่ซี (KI3 太溪) 

ใช้วิธีการดึงยืดเอว ได้แก่ วิธีดึงสามแบบ (三扳法)、วิธีกดเอวและกระเบนเหน็บ (按压腰骶法)、วิธีดึงเส้นประสาทไซอาติก (牵拉坐骨神经法) เพื่อปรับแนวกระดูกสันหลังและลดอาการปวด

กดจุดคลายกล้ามเนื้อ โดยเลือกเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ (膀胱经) เน้นใช้ท่ากดคลึง (按揉) บริเวณขา ช่วยคลายเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ

กดคลึงให้กล้ามเนื้อแต่ละส่วนคลายตัวเพื่อจบการรักษา ใน 1 คอร์ส ผู้ป่วยเข้ารับวิธีการรักษาด้วยวิธีการทุยหนาวันละครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน ทำติดต่อกันทั้งหมด 2 คอร์ส 

- การฝังเข็ม 

เลือกใช้จุดหลัก ได้แก่ จุดชี่ไห่ซู (BL24 气海俞)、 หวนเที่ยว (GB30 环跳)、ผีซู (BL20 脾俞)、จุดกดเจ็บ (阿是穴)、เซิ่นซู (BL23肾俞) และเจี๋ยจี่ (EX-B2 夹脊) จากนั้นเลือกจุดฝังเข็มเพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วย โดยฝังเข็มพร้อมกับใส่แท่งรมยา ค้างไว้ประมาน 30 นาที ใน 1 คอร์ส ผู้ป่วยเข้ารับวิธีการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มวันละครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน ทำติดต่อกันทั้งหมด 2 คอร์ส

การออกกำลังกาย 

หากผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีอาการปวดอย่างเฉียบพลัน แนะนำให้นอนพักเป็นหลัก ไม่ควรออกกำลังกายในช่วงนี้ แต่หากไม่มีอาการปวดเฉียบพลันแนะนำให้ทำท่าออกกำลังกายต่อไปนี้

1. ท่าหลังโค้ง(腰椎弯曲锻炼) : ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย งอเข่าทั้งสองข้าง ยกสะโพกขึ้นลงช้าๆ ทำซ้ำ 20 ครั้ง
2. ท่าจับเข่าแตะหน้าอก(抱膝触胸): ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย งอเข่าทั้งสองข้าง เอามือทั้งสองข้างจับเข่า นำหน้าอกชิดเข่าให้ได้มากที่สุด ทำซ้ำ 30 ครั้ง
3. ท่าออกกำลังกายหน้าท้อง(腹肌锻炼): ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ซิทอัพ 10 ครั้ง คือ 1 ชุด ทำวันละ 10 ชุด
4. ท่าบิดเอว(交叉扭腰): ผู้ป่วยวางขาความกว้างเท่ากับไหล่ ปลายเท้าชี้ตรงไปทางด้านหน้า ยกแขนขวาขึ้นเหนือศีรษะ ยืดไปทางด้านซ้าย จากนั้นสลับยกแขนซ้ายขึ้นเหนือศีรษะ ยืดไปทางด้านขวา ทำซ้ำ 100 ครั้ง
5. ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อเอวและหลัง(腰背肌锻炼): ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ยกสะโพกขึ้นสูงประมาน 10 เซนติเมตร ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำวันละ 10 ครั้ง
6. ท่ายกขาสูง(直腿抬高锻炼): ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย เข่าเหยียดตรง ยกขาขึ้นประมาน 30 -70 องศา ค้างไว้ 5 – 10 วินาที แล้วค่อยๆวางขาลงช้าๆ ทำซ้ำวันละ 3 – 5 ครั้ง 
หลังออกกำลังกายเสร็จ แนะนำให้ช่วยคลายกล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยเล็กน้อย

- ผลลัพธ์
พบว่ากลุ่มทดลองอาการปวด การอักเสบในร่างกาย และอาการไม่พึงประสงค์ดีขึ้น (98.00%) สูงกว่ากลุ่มควบคุม (80.00%) (P<0.05) โดยกลุ่มทดลอง (2.00%) ผลลัพธ์คือระยะเวลาเริ่มปวดสั้นกว่าและอาการปวดคงอยู่นานกว่ากลุ่มควบคุม (P<0.05) แต่กลุ่มควบคุม (4.00%)(P>0.05)

- สรุป
การฝังเข็ม ทุยหนาร่วมกับการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอวและเบาหวาน สามารถบรรเทาอาการปวดได้รวดเร็ว  ช่วยให้ประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น ช่วยลดปัจจัยการอักเสบภายในร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์และมีความปลอดภัยสูง

2. การบำรุงม้ามไต ร่วมกับการฝังเข็มและนวดทุยหนา รักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนชนิดม้ามไตหยางพร่อง จำนวน 41 ราย

- เป้าหมาย 
เปรียบเทียบผลของการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนชนิดม้ามไตหยางพร่องด้วยยาแผนปัจจุบันกับการบำรุงม้ามไต ร่วมกับการฝังเข็มและนวดทุยหนาว่าวิธีใดจะช่วยให้ประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของร่างกายดีขึ้น ช่วยลดอาการปวด เพิ่มความหนาแน่นของกระดูก ไม่ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์และมีความปลอดภัยสูง

- วิธีการ
กุมภาพันธ์ 2016 – สิงหาคม 2018 นำผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนชนิดม้ามไตหยางพร่อง จำนวน 82 ราย แบ่งออกเป็นกลุ่มควบคุม 41 ราย รักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน กับกลุ่มทดลอง 41 ราย รักษาด้วยวิธีการบำรุงม้ามไต ร่วมกับการฝังเข็มและนวดทุยหนา 

- วิธีการรักษา

ยาจีน
ปู่เซิ่นเจี้ยนกู่ทัง (补肾健⻣汤) : สูตี้ 40g (熟地)、 ซันเหย้า 40g (山药)、จีเซวี่ยเถิง 30g(鸡血藤)、หวงฉี 25g (⻩芪)、หยินหยางฮั่ว 20g (淫羊藿)、กู่ซุ้ยปู่ 20g (⻣碎补)、โก่วจี่ 20g (狗脊)、ซู่ต้วน 20g (续断)、ไหลฝูจื่อ 15g (莱菔子)、ซาเหริน 15g (砂仁) และไป๋จู๋ 15g (白术) 

การฝังเข็ม 
เลือกใช้จุดหลัก ได้แก่ จุดต้าจุย (CV14 大椎)、ต้าจู้ (BL11 大杼)、จู๋ซานหลี่ (ST36足三里)、ผีซู (BL20 脾俞)、เซิ่นซู (BL23肾俞)、มิ่งเหมิน (GV4 命⻔)、เสินเชฺวี่ย (CV8 神阙)、จงหว่าน (CV12 中脘)、กวานเหยฺวียน (CV4关元)、ไท่ซี (KI3 太溪)และจุดกดเจ็บ (阿是穴) ฝังเข็มค้างไว้ 30 นาที การรักษา 6 วัน คือ 1 คอร์ส ทำติดต่อกันทั้งหมด 3 คอร์ส

การนวดทุยหนา
ให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ ทำท่ากุ๋นฝ่า (滚法) บริเวณหลัง (背腧)、 จื้อหยาง (GV9 至阳) 、 มิ่งเหมิน (GV4 命⻔)、 เยาหยางกวาน (GV3 腰阳关)、เฉิงฝู (BL36 承扶)และเหว่ยจง (BL40 委中)นวดทุยหนาครั้งละ 20 นาที 6 วัน คือ 1 คอร์ส ทำติดต่อกันทั้งหมด 3 คอร์ส

- ผลลัพธ์

เมื่อนำทั้งสองกลุ่มมาเปรียบเทียบค่าความหนาแน่นกระดูก พบว่ากลุ่มทดลองได้ผล 97.56% ซึ่งสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) ก่อนทำการรักษาผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีอาการแตกต่างกัน แบบไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) แต่หลังการรักษาอาการปวดบริเวณเอวเข่า ปวดเมื่อยตามแนวกระดูกสันหลัง เวียนศีรษะ หูมีเสียง การงอและยืดตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (P<0.05) ความหนาแน่นของกระดูก แคลเซียมในเลือดและฟอสฟอรัสในเลือดของผู้ป่วยกลุ่มทดลองสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05)

- สรุป

วิธีการบำรุงม้ามไต ร่วมกับการฝังเข็มและนวดทุยหนา รักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนชนิดม้ามไตหยางพร่อง สามารถเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก แคลเซียมในเลือดและฟอสฟอรัสในเลือดของผู้ป่วยได้ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง

1. https://www2.si.mahidol.ac.th/division/nursing/sins/attachments/article/212/sins_nursing_manual_2557_24.pdf
2. https://www.huachiewtcm.com/content/7919/ไต-กำเนิดของชีวิต-รากฐานของอวัยวะภายในและอิน-หยาง-
3. http://cmed.hcu.ac.th/knowledge.php?num=92
4. https://www.huachiewtcm.com/content/9194/ภาวะกระดูกพรุนในวัยทอง
5. http://cmed.hcu.ac.th/userfiles/files/เมื่อหมอจีนบอกว่า%20“คุณไตพร่อง”.pdf
6. https://m.baidu.com/bh/m/detail/qr_11895811955571313627?frsrcid=rec&searchID=22681539057123&nPageID=22680852880740&lid=15960133596180325588&eqid=85f95fc242522bdd1000000665739b69
7. https://m.baidu.com/bh/m/detail/qr_11922115835848985527?frsrcid=rec&searchID=22713519915623&nPageID=22713120766475&lid=15960133596180325588&eqid=85f95fc242522bdd1000000665739b69
8. https://m.baidu.com/bh/m/detail/ar_14523287703017757534
9. การฝังเข็ม - รมยา เล่ม 1 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2551
10. CHEN Long'an, MA Chunjie, LI Xiulan, MAO Rundi, CHEN Yiying,/Analysis of the Effect of Acupuncture and Massage Joint Function Exercise in Osteoporosis Lumbar Deformation Combined with Diabetes,/(QIU Guoqing Massage Department Clinic/Dongguan Hospital of Traditional Chinese Medicine,/2022),/35.
11. 赖圆根、/补脾益肾法配合针灸推拿治疗脾肾阳虚型⻣质疏松症41例临床观察、/(广东省英德市中医院、/2019) 、/6.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้