Last updated: 12 ต.ค. 2567 | 249 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวทับเส้นประสาท ในผู้สูงอายุ คือ ผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และได้รับการวินิจฉัยเป็น โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวทับเส้นประสาท เนื่องจากการเสื่อมสภาพของข้อกระดูกสันหลังจนทรุดตัว ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นเพื่อต้านการทรุดตัวและไปกดทับเส้นประสาท หรือบางครั้งอาจเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท มีอาการทางคลินิก เช่น อาการปวดเอว ปวดชาร้าวลงขา ความผิดปกติในการควบคุมปัสสาวะและอุจจาระ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น อีกทั้งผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้ป่วยเปราะบาง มีโรคร่วมหลายโรค จึงเสี่ยงต่อการใช้ยาหลายชนิด ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ บทความนี้จึงขอนำเสนอมุมมองของแพทย์แผนจีน สาเหตุและกลไกการเกิดโรค วิธีการรักษาที่เห็นผลของแพทย์แผนจีน เช่นการฝังเข็ม ทุยหนา ยาสมุนไพรจีนหรือกายบริหารต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยโรค และนำไปประยุกต์ต่อยอดในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุต่อไป
ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวทับเส้นประสาท ในผู้สูงอายุ คือ ผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีประวัติการเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนเอว เนื่องจากการปลิ้นของหมอนรองกระดูก มากดทับรากประสาท เส้นประสาท cauda equina ทำให้เกิดอาการปวดเอว ปวดชาร้าวลงขา กล้ามเนื้อขาอ่อนแรง หรือสูญเสียการควบคุมการปัสสาวะและอุจจาระ
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Lumbar disc herniation, LDH) คือ ภาวะที่หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ เมื่อได้รับแรงภายนอกเข้ามากดดัน ทำให้ส่วนของ Anulus Fibrosus เกิดการปริแตก Nucleus Pulposus ถูกดันออกมาไปกดทับรากประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเอว ปวดร้าวลงขา ขาอ่อนแรง เดินได้ลำบากและได้ระยะสั้นลง บางรายมีสูญเสียการควบคุมอุจจาระปัสสาวะร่วมด้วย
พบมากในกลุ่มคนทำงานที่ต้องยกของหนัก การบิดเอี้ยวตัวบ่อยๆ หรืองานที่ใช้แรงหลังและขาอย่างหนัก และงานต้องอยู่ในอิริยาบถใด ๆ เป็นเวลานาน เช่น ยืนนาน ๆ นั่งนาน ๆ ร่วมทั้งการสูบบุหรี่เป็นประจำมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมากขึ้น
- อายุกับภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอว
พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบมากในผู้ป่วยที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดหลังที่พบบ่อยในวัยสูงอายุ ( อายุ 60 ปีขึ้นไป )
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการทำงานในชีวิตประจำวัน หมอนรองกระดูกสันหลังก็จะได้รับแรงกด แรงบิด แรงดึงเข้ามากระทำ ทำให้หมอนรองกระดูกค่อยๆ เกิดการเสื่อมสภาพ สารน้ำและความยืดหยุ่นของ Nucleus Pulposus ก็ค่อย ๆ ลดลง จากนั้นความสูงของหมอนรองกระดูกก็จะลดลงไปด้วย เส้นเอ็นที่อยู่โดยรอบเกิดการหย่อนตัวลง หรือเกิดจากปัจจัยภายในที่มาจากการปริแตกของหมอนรองกระดูกทำให้ Nucleus Pulposus ปริ้นออกมาด้านนอก ปัจจัยภายนอกมักเกิดจากการบาดเจ็บทั้งจากระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังได้รับแรงกดดันอย่างฉับพลันหรือต่อเนื่อง เช่นการก้มยกของหนัก การยืนเดินนั่งนอนในท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือ การเคลื่อนย้ายสิ่งของหรือการยกของหนักในลักษณะท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือเมื่อก้มทำงานเป็นระยะเวลานานแล้วเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงไปทางด้านหลัง ทำให้หมอนรองกระดูกด้านหลังได้รับแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น ที่เกิดจากการบิดหมุนของกล้ามเนื้อช่วงเอว ; เช่น การก้มล้างหน้าแล้วมีการไอ จามทำให้ Anulus Fibrosus เกิดการปริแตก และดัน Nucleus Pulposus ออกไปทางดันหลัง
ตำแหน่งที่มักพบได้บ่อย
กระดูกสันหลังส่วนล่างเป็นตำแหน่งที่รับน้ำหนักของร่างกาย จะมีทั้งแรงกดทับที่มาจากน้ำหนักและแรงบิดที่มาจากการเคลื่อนไหวของร่างกายค่อนข้างเยอะ จึงทำให้มีโอกาสการบาดเจ็บค่อนข้างสูง และมักพบพยาธิสภาพที่ตำแหน่งนี้เป็นประจำคือ กระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ L5-S1 และ L 4-5
สำหรับผู้สูงอายุ พบการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกร่วมกับโพรงกระดูกสันหลังส่วนเอวตีบแคบ มักพบการกดทับเส้นประสาทได้หลายตำแหน่งและตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่น ตำแหน่งกระดูกสันหลังส่วนเอวข้อที่ L1-2 L2-3 และ L3-4
การตรวจวินิจฉัย
1. อาการหลัก
มีอาการปวดเอวปวดสะโพกร้าวขา อาการปวดเอวหรือปวดสะโพกอาจเกิดจากแรงดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น เช่น การไอ จาม หรือการเบ่งอุจจาระเป็นต้น การเคลื่อนไหวในท่าทางที่ทำให้เส้นประสาทถูกดึงยืดจะทำให้มีอาการปวดมากขึ้นเช่น การเดิน การก้ม หรือการลุกขึ้นจากเก้าอี้ เป็นต้น ไม่สามารถก้มไปทางด้านหน้าได้ เมื่องอเข่าเข้ามาติดกับลำตัว หรือ การนอนพักอาการจะดีขึ้น ในผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างหนักจะเคลื่อนไหวตัวลำบากจนลุกจากเตียงไม่ขึ้น พลิกตัวยากลำบาก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้เป็นระยะเวลานานบริเวณที่มีอาการปวดร้าวลงขาจะมีความรู้สึกชา รู้สึกเย็นๆ ที่บริเวณผิวหนัง และกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในผู้ที่หมอนรองกระดูกปริ้นออกมาตรงกลางของกระดูกสันหลัง (central disc herniation)จะไปกดทับ Cauda Equina จะมีอาการชาบริเวณอวัยวะเพศ ปวดเหมือนถูกเข็มแทง การขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะมีปัญหา เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือขาทั้งสองข้างอ่อนแรงจนขยับไม่ได้ ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการปวดขาในช่วงระยะแรก แต่ไม่ปวดเอว
2. การตรวจร่างกาย
- กระดูกสันหลังช่วงเอวผิดรูป
กล้ามเนื้อช่วงเอวค่อนข้างตึง หดเกร็ง ความโค้งของกระดูกเอวลดลงหรือหายไป (Decrease lumbar lordosis) หรือมีอาการหลังค่อม (Kyphosis) ผู้ป่วยอาจจะมีภาวะกระดูกสันหลังคด ( Scoliosis ) ที่มากน้อยแตกต่างกันไป ให้ผู้ป่วยยืนตรง ผู้ตรวจประคองผู้ป่วยอยู่ทางด้านหลัง ให้ผู้ป่วยเอียงตัวไปด้านที่มีอาการปวดร้าวลงขา หลังจากนั้นให้เอียงตัวไปด้านตรงกันข้าม ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นเมื่อเอียงตัวไปด้านที่มีอาการ และมีอาการน้อยลงเมื่อเอียงตัวไปด้าน ตรงข้าม แสดงว่า disc herniation เป็นแบบ shoulder type ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นเมื่อเอียงตัวไปด้านกันตรงข้ามที่มีอาการ และมีอาการน้อยลงเมื่อเอียง ตัวไปด้านที่มีอาการ แสดงว่า disc herniation เป็นแบบ axilla type
- การคลำ (Palpation)
การคลำจะเริ่มจากแนวปุ่มกระดูกตรงกลาง (Spinus process) แล้วคลำกล้ามเนื้อด้านข้าง (paravertebral muscle) จะพบจุดที่ผิดปกติ เมื่อเคาะหรือกดจะมีอาการปวดร้าวลงขาไปทางด้านต้นขาด้านหลัง , น่องด้านนอก จนถึงเท้าหรือหลังฝ่าเท้าด้านนอก มีจุดกดเจ็บไปตามแนวเส้นประสาท Sciatic nerve
- การเคลื่อนไหว (Motion)
ในระยะเฉียบพลันจะมีการเคลื่อนไหวอย่างยากลำบาก คนไข้ส่วนใหญ่จะมีการเคลื่อนไหวก้ม แอ่นหลัง การเอียงตัวซ้ายขวาได้ในองศามากน้อยไม่เท่ากัน
- ความรู้สึกผิดปกติ
เมื่อรากประสาทถูกกดทับจะส่งผลต่อความรู้สึกที่ผิวหนังผิดปกติ ในระยะแรกมักจะรู้สึกมากกว่าปกติ หลังจากนั้นจะค่อย ๆ รู้สึกชา ปวดเหมือนถูกเข็มแทง หรือมีความรู้สึกลดลง หมอนรองกระดูกเอวข้อที่ 3-4 กดทับรากประสาท L 4 ทำให้กล้ามเนื้อหน้าแข้งด้านในมีความรู้สึกผิดปกติ หมอนรองกระดูกเอวข้อที่ 4-5 กดทับรากประสาท L 5 ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าแข้งด้านนอก, บริเวณหลังเท้าด้านในมีความรู้สึกผิดปกติ หมอนรองกระดูกเอวข้อที่ 5 ต่อกับกระดูกกระเบนเหน็บ กดทับรากประสาท S1 ทำให้กล้ามเนื้อน่องด้านนอกและบริเวณหลังเท้าด้านนอกรู้สึกผิดปกติ ถ้ามีการกดทับไขสันหลังตรงกลางจะมีอาการชาตรงบริเวณขาหนีบและอวัยวะเพศ กล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะและอุจจาระทำงานผิดปกติ
กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือฝ่อลีบ
เมื่อรากประสาทถูกกดทับจะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้ออ่อนกำลังลง กล้ามเนื้อฝ่อลีบ รากประสาท L4 เมื่อถูกกดทับจะทำให้กล้ามเนื้อ Quadriceps Femoris อ่อนแรง หรือฝ่อลีบ รากประสาท L5 เมื่อถูกกดทับจะทำให้กล้ามเนื้อ Extensor hallucis longus อ่อนแรงหรือฝ่อลีบ รากประสาท S1 เมื่อถูกกดทับจะทำให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเขย่งข้อเท้าอ่อนแรงหรือฝ่อลีบ
การทดสอบ Reflex รากประสาท L4 เมื่อถูกกดทับจะทำให้การทดสอบ Reflex ที่หัวเข่า แสดงความไวน้อยลงหรือไม่มีการตอบสนอง รากประสาท S1 เมื่อถูกกดทับจะทำให้การทดสอบ Reflex ที่ข้อเท้า แสดงความไวน้อยลงหรือไม่มีการตอบสนอง
3. การทดสอบ special test
- Straight leg raising test (SLRT)
เป็นการตรวจที่ทำให้เส้นประสาท sciatic และรากประสาท (L4, L5, S1) รวมทั้งถุงหุ้มไขสันหลังใกล้เคียงที่อักเสบถูกดึงยืด การตรวจให้ผู้ป่วยนอนหงาย ผู้ตรวจจับข้อเท้าของผู้ป่วยข้างที่มี อาการ ค่อย ๆ ยกขาขึ้นโดยให้ข้อเข่าอยู่ในท่าเหยียด ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดสะโพกร้าวลงมาทางด้านหลังของต้นขาลง ไปถึงบริเวณน่องหรือข้อเท้า แสดงว่าการตรวจให้ผลบวก วัดมุมที่แนวขาทำมุมกับพื้นเตียงตรวจ ในกรณีที่การตรวจ ให้ผลบวกจะวัดมุมได้ในช่วง 30-70 องศา ถ้ามุมที่วัดได้เกิน 70 องศาสาเหตุของอาการปวดอาจเกิดจากการตึงของ กล้ามเนื้อ hamstring ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดตึงบริเวณด้านหลังของต้นขา แต่ไม่ร้าวลงมาบริเวณน่อง การยกขา ในช่วง 30 องศาแรก ไม่ควรจะเกิดอาการปวดเนื่องจากมุมที่ยกขึ้นไม่ทำให้เกิดการดึงรั้งต่อถุงหุ้มไขสันหลัง
- Lasegue test
เป็นการตรวจที่ทำหลังการตรวจ SLRT จนผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวมาที่ขาแล้วจึงลดระดับของ ขาลงจนผู้ป่วยหายปวดแล้วจึงกระดกข้อเท้าผู้ป่วยขึ้นเต็มที่ ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงมาที่ขาอีกแสดงว่าการตรวจ ให้ผลบวก หรือตรวจโดยให้ผู้ป่วยนอนหงายบนเตียงข้อสะโพกและข้อเข่างอ 90 องศา ค่อยๆเหยียดเข่าออกจนกระทั่ง ผู้ป่วยเกิดอาการปวด แสดงว่าการตรวจให้ผลบวก
Cross over test
ตรวจโดยการยกขาข้างที่มีอาการปวดชนิด sciatica แล้วผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงไปที่ขา อีกข้างหนึ่งที่ไม่มีอาการปวด ซึ่งชี้ว่าสาเหตุของ sciatica อาจเกิดจาก central disc herniation หรือขนาดใหญ่
- Bilateral SLRT
ตรวจโดยให้ผู้ป่วยนอนหงายบนเตียงตรวจ ผู้ตรวจยกขาทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วยขึ้นพร้อมๆกัน การยกขาทำให้เชิงกรานเอียงขึ้นเป็นการลดแรงดึงต่อเส้นประสาท sciatic มุมของการยกจนกว่าจะเกิดอาการปวดจะ มากกว่าการยกขาข้างเดียว ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดก่อน 70 องศา อาการปวดอาจเกิดจากข้อ sacroiliac ถ้ามุมเกินกว่า 70 องศา อาการปวดจึงจะเกิดจากกระดูกสันหลังระดับเอว
4. การตรวจอื่น ๆ
- การเอกซเรย์ ภาพถ่าย AP view กระดูกสันหลังคด ช่องว่างระหว่ากระดูกมีการตีบแคบ หรือกระดูกบิดไปทางซ้ายหรือทางขวา ด้านที่มีอาการมักจะมีช่องระหว่างกระดูกค่อนข้างกว้าง ภาพถ่าย LAT view พบ Decrease lumbar lordosis ระยะห่างระหว่างกระดูกด้านหน้าและหลังอยู่ในระดับเดียวกัน หรือด้านหน้าแคบ ด้านหลังกว้าง ที่ตัวกระดูกอาจพบ Schmorl node หรือพบกระดูกงอก เป็นต้น ภาพถ่ายเอกซเรย์ควรนำมาประกอบการตรวจวินิจฉัยทางคลินิกว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องตรวจเช็คด้วยว่าพบโรคอื่น ๆ หรือไม่ เช่น วัณโรคกระดูก หรือมะเร็ง เป็นต้น
- การตรวจด้วยเครื่อง CT หรือ MRI การตรวจนี้สามารถแสดงภาพโพรงไขสันหลังได้อย่างชัดเจน ตำแหน่งการปริ้นของหมอนรองกระดูกและตำแหน่งที่รากประสาทและไขสันหลังถูกกดทับ ถ้ามีความจำเป็นอาจใช้การตรวจด้วยการเอกซเรย์แบบ Myelography การตรวจด้วยเครื่อง CT และMRI นี้มีความสำคัญต่อโรคนี้ค่อนข้างมาก
มุมมองแพทย์แผนจีน
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน มองว่า หมอนรองกระดูกส่วนเอวทับเส้นประสาท จัดอยู่ในกลุ่ม เยาท่ง(ปวดเอว) แพทย์แผนจีนมองว่า บริเวณเอวเป็นที่อยู่ของไต ดังนั้นอาการปวดบริเวณเอวจึงสัมพันธ์กับไตอย่างใกล้ชิด ในคัมภีร์แพทย์แผนจีนโบราณ “ซู่เวิ่น ” อธิบายไว้ว่า ไตเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์กับกระดูก ผลิตไขกระดูก ตับเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์กับเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เก็บกักเลือด กระดูกอาศัยกล้ามเนื้อประคับประคองให้ตั้งมั่น
ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนเอวในผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์กับ อายุ การเพิ่มลดของเลือดชี่และความแข็งแรงของกระดูกและเส้นเอ็น ในคัมภีร์หวงตี้เน่ย์จิง ได้กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายของแต่ละช่วงวัย เมื่ออายุถึงวัยกลางคน ผู้หญิงอายุ 35-49 ปี และผู้ชายอายุ 40-64 ปี เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มเสื่อมถอย โดยมีสาเหตุจากภายในและภายนอก ดังนี้
สาเหตุจากภายใน คือ ชี่ตับไตพร่อง สารจิงในไตถดถอย ไตเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์กับกระดูก ผลิตไขกระดูก ตับเป็นอวัยวะคู่สัมพันธ์กับเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เก็บกักเลือด กระดูกอาศัยกล้ามเนื้อประคับประคองให้ตั้งมั่น เมื่อตับพร่อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นไม่แข็งแรง ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นมีปัญหา ในระยะยาวสามารถส่งผลให้เป็นโรคกระดูกได้ นอกจากนี้ ตับและไตมีต้นกำเนิดเดียวกัน( 肝肾同源 ) สารจิงในไตและเลือดในตับ มีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน เมื่อใดที่เลือดในตับพร่องลง ย่อมส่งผลให้สารจิงในไตพร่องลงไปด้วย สารจิงและเลือดพร่องลง ไม่สามารถหล่อเลี้ยงกระดูก ส่งผลต่อการเสริมสร้างและความแข็งแรงของกระดูก กระดูกสันหลังส่วนเอวและเส้นเอ็นเสื่อมสภาพ
สาเหตุจากภายนอก คือ ปัจจัยก่อโรคจากภายนอก (เสียชี่邪气เช่น ลม ความเย็น ความชื้น) รุกรานเข้าสู่ร่างกาย หรือ การบาดเจ็บจากการทำงานหนัก ทำให้เส้นลมปราณติดขัด ชี่และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก ถูกสะสมอยู่ในกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อต่อ จนเกิดอาการปวด
อ้างอิงจาก มาตรฐานการวินิจฉัยโรคและผลการรักษาของโรคกระดูกทางด้านแพทย์แผนจีน แบ่งแยกประเภทของ โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวทับเส้นประสาท ออกเป็นกลุ่มอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้
1. กลุ่มชี่ติดขัดและเลือดคั่ง สาเหตุจากได้รับบาดเจ็บ บริเวณเส้นลมปราณ และกล้ามเนื้อบริเวณเอว ทำให้การไหลเวียนของชี่และเลือดบริเวณดังกล่าวถูกรบกวนติดขัด เช่น ได้รับอุบัติเหตุจากตกที่สูงหรือถูกกระแทก ใช้งานบริเวณเอวหนักมากเกินไป หรือเคลื่อนไหวผิดท่าผิดจังหวะ
ลักษณะอาการปวด มีอาการปวดเฉพาะที่เหมือนถูกเข็มทิ่มแทง อาการหนักขึ้นตอนกลางคืนหรือนั่งนาน หรือเวลาทำงานหนักตรากตรำ หลังส่วนล่างแข็งเกร็ง
2. กลุ่มความเย็นและความชื้น สาเหตุที่พบบ่อย เช่น อาจเกิดจากอยู่กลางสายฝนเป็นเวลา นาน นั่งในที่ชื้นแฉะ ถูกลมโกรกใบหน้าขณะที่มีเหงื่อออก สวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น ทำงานในที่ชื้นเย็น ชอบนอนบนพื้นปูน ทำให้ความเย็นและความชื้นเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลทำให้เกิดชี่ติดขัดและเลือดคั่งในเส้นลมปราณ
ลักษณะอาการปวด ผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อย ตึง รู้สึกหนักๆ เย็นๆ หรือเกร็ง บริเวณเอวกระเบนเหน็บ ทำให้ก้ม เงย เคลื่อนไหวไม่สะดวกหรือขัด เมื่ออยู่กลางสายฝนเป็นเวลานาน หรือนั่งในที่ชื้นแฉะจะทำให้อาการหนักขึ้น
3.กลุ่มความร้อนชื้น สาเหตุจากได้รับเสียชี่ความร้อนและความชื้นเข้าสู่ร่างกาย หรือได้รับความเย็นและชื้นสะสมอยู่เป็นเวลานาน จนแปรสภาพเป็นความร้อนชื้น ทำให้ข้อต่อเกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน
ลักษณะอาการปวด ผู้ป่วยมีอาการปวดร้าวลงขา ขาอ่อนแรง มักมีอาการปวดแสบร้อนร่วมด้วย เมื่อเจออากาศร้อนหรือเจอความชื้นอาการจะหนักขึ้น เมื่อได้ขยับเคลื่อนไหวจะทำให้อาการปวดลดลง
4.กลุ่มชี่ของไตพร่อง สาเหตุจากร่างกายอ่อนแอแต่กำเนิด เจ็บป่วยเรื้อรัง คนสูงอายุ หรือมีกามกิจมากเกินไป ทำให้สารจำเป็นของไตพร่อง และมีผลต่อภาวะขาดสารอาหารในกล้าม เนื้อ รวมทั้งเส้นลมปราณ
ลักษณะอาการปวดจะดำเนินไปอย่างช้าๆ ปวดเมื่อยไม่รุนแรง บริเวณกระเบนเหน็บ อาการปวดมากขึ้นหลังทำงาน เอวและขาอ่อนแรง สีหน้าซีด
วิธีการรักษา
เน้นการรักษาด้วยการหัตถการนวดทุยหนาเป็นหลัก ร่วมกับการทำดึงหลัง (traction) การฝังเข็ม การใช้ยาสมุนไพรจีน รวมไปถึงการกายบริหาร
การนวดทุยหนา ช่วยคลายกล้ามเนื้อ สลายพังผืด คลายความแข็งตึง ระงับอาการปวด ปรับโครงสร้างให้เข้าที่เพื่อลดการกดทับ
- กลุ่มชี่ติดขัดและเลือดคั่ง: กระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง กระตุ้นการไหลเวียนชี่ ระงับอาการปวด ( 活血祛瘀、理气止痛 )
- กลุ่มความเย็นและความชื้น: อบอุ่นเส้นลมปราณ ทะลวงเส้นลมปราณ ขับความเย็นความชื้น ( 温经通络、散寒除湿 )
- กลุ่มความร้อนชื้น: คลายกล้ามเนื้อ ทะลวงเส้นลมปราณ ดับความร้อน ขจัดความชื้น (舒筋通络、清热祛湿)
- กลุ่มชี่ของไตพร่อง: บำรุงกระดูกกล้ามเนื้อ บำรุงไต (强筋骨、滋补肾气)
ขั้นตอนการทำหัตถการ :
1. คลายกล้ามเนื้อ ทะลวงเส้นลมปราณ: ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากุ่นฝ่า(㨰法), ท่ากด (按法), ท่าคลึง(揉法) ลงบนเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ บริเวณเอว สะโพก และขาด้านนอก ประมาณ 3-5 นาที เน้นทำหัตถการบริเวณเอวเป็นหลัก
จากนั้นผู้ทำหัตถการใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างประสานกันออกแรงกด จากกระดูกสันหลังส่วนเอวไปจนถึงกระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ ท่านี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียน คลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อบริเวณเอวและหลัง ลดการอักเสบ ใช้เวลาในการทำหัตถการประมาณ 5 นาที
2. คลายความแข็งตึง ระงับอาการปวด: ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนคว่ำ ผู้ทำหัตถการใช้นิ้วโป้งหรือศอกกด คลึง บนจุดเยาหยางกวาน(DU3腰阳关), จุดต้าฉางซู(BL25大肠俞), จุดหวนเที่ยว(GB30环跳), จุดจวีเหลียว (GB29居髎), จุดเหว่ยจง(BL40委中) จุดเฉิงซาน(BL57 承山) จุดเฉิงฝู(BL36承扶) จุดเสวียกู่(GB39悬钟) ,จุดกดเจ็บ (Ashi 阿是穴) ประมาณ 5-8 นาที เพื่อคลายความตึงตัว ลดอาการเกร็ง ระงับอาการปวด
3. เพิ่มช่องว่างของกระดูกสันหลัง: ผู้ป่วยอยู่ในท่าเดิม ใช้ท่าดึงขา (牵引法)หรือใช้เครื่องดึงหลัง เพื่อช่วยในการเพิ่มช่องว่างของกระดูกสันหลัง จากนั้นใช้ท่าดัดเอว เพื่อปรับโครงสร้างของกระดูกสันหลังข้างที่มีปัญหา ลดการกดทับระหว่างของเส้นประสาทกับหมอนรองที่ปลิ้นออกมา ตามหมอนรองกระดูกสันหลังข้อที่มีอาการ ใช้นิ้วโป้งสองข้างวางซ้อนกันหรือใช้ข้อศอก ออกแรงกดหรือดันไปในทิศทาง45 องศากับกระดูกสันหลัง ประมาณ 5-8 นาที เพื่อลดการกระตุ้นและการระคายของเส้นประสาทจากการถูกกดทับของหมอนรองกระดูก ลดภาวะบวมของเส้นประสาท จุดประสงค์เพื่อให้เกิดการลดอาการบวม อักเสบ และอาการปวด
4. ลดแรงกดทับ: หลังจากทำหัตถการข้างต้นแล้ว ให้ใช้ท่ายกขาดัดหลัง(双上肢后伸扳法) (รูป1) โดยที่ผู้ป่วยอยู่ในลักษณะแอ่นหลัง จากนั้นให้เปลี่ยนท่าผู้ป่วยมาอยู่ในท่านอนหงาย ทำท่า knee to chest และ ทำท่า Straight leg raising ระหว่างยกขาขึ้นสูง หากมีความจำเป็นสามารถเพิ่มทิศทางการหมุนของขาเข้า-ออกไปมาได้ เพื่อเพิ่มแรงดันจากด้านนอกของหมอนรองกระดูก ช่วยลดการปลิ้นของหมอนรองกระดูกและลดการกดทับของไขสันหลังกับเส้นประสาท ทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น
5. คลายกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ผู้ทำหัตถการใช้ท่ากุ่นฝ่า(㨰法), ท่ากด (按法), ท่าคลึง(揉法), ท่าดีดงัด(拨法) ลงบนเอวและข้างที่มีอาการตามแนวของเส้นประสาทไซอาติก ประมาณ 2-3 นาที เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่มีอาการ ลดการเกิดภาวะอักเสบ ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงลง และเส้นประสาทที่ถูกกดทับ
การฝังเข็ม
การฝังเข็มตามระบบเส้นลมปราณ เน้นเลือกจุดหลักได้แก่ จุดบนเส้นลมปราณที่มีอาการ จุดกดเจ็บ (Ashi 阿是穴) และเลือกจุดเสริม ตามสาเหตุของการเกิดโรค เช่น กลุ่มชี่ติดขัดและเลือดคั่ง กลุ่มความเย็นและความชื้น กลุ่มความร้อนชื้น กลุ่มชี่ของไตพร่อง
การใช้ยาสมุนไพรจีน
ในระยะเฉียบพลันควรใช้ยาขับเลือดคลายกล้ามเนื้อ ตำรับยาที่ใช้คือ ซูจินหัวเสวี่ยทัง (舒筋活血汤)ในระยะเรื้อรังหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ควรใช้ยาที่มีสรรพคุณบำรุงตับไต ทะลวงลมปราณ ตำรับยาที่ใช้คือ ปู่เซิ่นจ้วงจินทาง (补肾壮金汤)ถ้าผู้ป่วยมีสาเหตุจากปัจจัยที่การเกิดโรคจากลม ความชื้น ความเย็นร่วมด้วย ควรใช้ตำรับยาที่สามารถอบอุ่นเส้นลมปราณ ตำรับที่ใช้คือ ต้าหัวลั่วตัน (大活络丹)
อบสมุนไพร ใช้ตํารับยาไห่ถงผีทัง ที่มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณระงับปวด(活血散瘀,通络止痛) อบบริเวณเอวประมาน 15-20 นาที วันละ 1 ครั้ง
การกายบริหาร
การโหนบาร์ ลดอาการปวดเอวร้าวลงขา
1 ท่าบริหาร: ใช้มือทั้งสองข้างกำบาร์โหนให้แน่น โดยจับให้กว้างกว่าหัวไหล่เล็กน้อย หันฝ่ามือออกนอกตัว ค่อยๆปล่อยตัวลงมาช้า ๆจนสุดแขน เท้าสูงลอยจากพื้น เกร็งหน้าท้องเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ลำตัวแกว่งไปมา ปล่อยตัวให้เป็นไปตามธรรมชาติ ในขณะโหนบาร์ กระดูกสันหลังจะเกิดการเหยียดตรง ซึ่งเมื่อทำเป็นประจำก็จะช่วยให้ช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังจะกว้างขึ้นและหลังยืดตรงมากขึ้น ยังช่วยป้องกันอาการกระดูกสันหลังคดได้อย่างดี
2 ระยะห่างจากพื้น: ควรให้เท้าทั้งสองข้างห่างจากพื้น 2-3 ซม. เพื่อความป้องกันไม่เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ ระยะแรก ในรายที่กำลังแขนมีไม่มาก สามารถใช้ปลายนิ้วเท้าแตะยันพื้น เมื่อฝึกเป็นประจำสักระยะหนึ่งแล้ว สามารถนำเท้าทั้งสองข้างขึ้นเหนือพื้น เพื่อเพิ่มน้ำหนักและแรงดึงให้กระดูกสันหลังยืดเหยียดมากขึ้น
3 ระยะเวลา: 1 เซ็ตโหนค้าง 2 นาที จากนั้นหยุดพัก 1 นาที ทำ10เซ็ตต่อวัน ในกรณีที่ไม่สามารถโหนค้างได้นาน สามารถลดระยะเวลาในการโหนลงได้
ประโยชน์: แรงดึงขยายช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลังให้กว้างขึ้น บรรเทาอาการเกร็งตึงของกล้ามเนื้อ ปรับความผิดปกติของข้อต่อ บรรเทาการกดทับของเส้นประสาท ช่วยเพิ่มการไหลเวียน ลดการอักเสบและบวมของเนื้อเยื่อ ทำให้อาการปวดและชาลดลง อีกทั้งการไหลเวียนที่เพิ่มขึ้น ยังช่วยกระตุ้นให้เลือดนำพาสารอาหารและออกซิเจนไปสู่บริเวณหมอนรองกระดูก เป็นผลให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมและฟื้นฟูได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
หลังจากที่อาการปวดหลังร้าวลงขาทุเลาลง ค่อยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อหลัง
1. ท่าcobra stretching ออกกำลังกายกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง นอนคว่ำแล้วค่อยๆ เลื่อนแขนท่อนล่าง และศอกเข้าหาลำตัว จนข้อศอกเข้ามาอยู่ใต้ไหล่ และน้ำหนักตัวท่อนบนวางลงบนข้อศอก และแขนท่อนล่าง จะทำให้ลำตัวท่อนบนอยู่ในท่าแอ่น ส่วนสะโพกและขายังติดพื้นอยู่ ทำค้างไว้ 1-2 นาที ทำ 3-5 ครั้ง
2. ท่า Bridging เป็นท่าที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อก้น สะโพก หน้าท้อง และหลังส่วนล่างรวมถึงกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor)เริ่มจากนอนหงาย ไม่ใช้หมอนรองศีรษะ กางออกเท่าความกว้างของสะโพก ชันเข่า 2 ข้างขึ้น ให้ข้อสะโพกงอประมาณ 40 องศา และข้อเข่างอประมาณ 80 องศา จากนั้นเกร็งขมิบก้น เกร็งหน้าท้อง ยกสะโพกขึ้นจนหลังตรง พยายามควบคุมไม่ให้สั่น หากสั่นสามารถลดระดับความสูงลงได้ เกร็งค้างไว้ 10 วินาที แล้วนำสะโพกกลับสู่ท่าเริ่มต้น ทำซ้ำ 10 ครั้ง
ข้อควรระมัดระวัง
1. ในช่วงที่มีการทำหัตถการ แนะนำให้นอนเตียงแข็ง เพื่อลดการทำงานของหมอนรองกระดูกสันหลัง
2. สามารถเลือกใช้เข็มขัดพยุงหลัง เพื่อทำให้บริเวณเอวอบอุ่น
3. หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแบบ Midline (central) herniation ไม่แนะนำให้ใช้ท่ายกขาดัดหลัง(双上肢后伸扳法) และหัตถการที่มีน้ำหนักแรง หากมีอาการ Cauda Equina Syndrome แนะนำให้รีบทำการผ่าตัดเพื่อทำการรักษาต่อไป
4. เพื่อลดการทำงานของเอว ให้ระมัดระวังการทำท่าต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น ท่าลุกจากเตียง ท่านั่ง ท่ายื่น เป็นต้น
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
จากการศึกษาการนวดทุยหนารักษาหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวทับเส้นประสาทจำนวน 100 เคส ของสวู่ ลี่ เจ๋อ ได้แบ่งขั้นตอนรักษาไว้ดังนี้ คือ
ขั้นตอนที่ 1 นวดผ่อนคลาย เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณเอวและขา ด้วยท่ากุ่นฝ่า(㨰法), ท่ากด (按法), ท่าคลึง(揉法), ท่าเตี่ยน (点法) บนเส้นลมปราณตูและเส้นลมปราณไท้หยางกระเพาะปัสสาวะ ที่บริเวณหลัง และกดจุดอื่น ๆ เช่น จุดเยาหยางกวาน(DU3腰阳关), จุดต้าฉางซู(BL25大肠俞), จุดขวานเที่ยว(GB30环跳) เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 2 ใช้ท่าดึง (牵引法)เอว ประมาณ 5 นาที เพื่อช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทและช่วยให้หมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมากลับเข้าที่
ขั้นตอนที่ 3 ใช้ท่าดัน (推法) ที่เส้นลมปราณไท้หยางกระเพาะปัสสาวะและเส้นลมปราณตู ไปมาให้เกิดความร้อน พบว่ามีคนไข้ ไม่มีอาการกลับมาเป็นซ้ำภายใน 1-6 เดือน ประมาณ 30% รักษาเห็นผล 40 % รักษาดี ขึ้น 24% ไม่เห็นผล 6 % เห็นได้ว่าการรักษาด้วยการนวดทุยหนา ส่งผลให้อาการของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนเอวดีขึ้น โดยไม่ต้องผ่าตัด
จากการศึกษาการแพทย์แผนจีนรักษาอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนเอว ของหวาง เฟิ้ง หยาง
ด้วยการใช้ 1) ยาสมุนไพรจีน ที่มีสรรพคุณบำรุงตับไต กระตุ้นการไหลเวียนชี่และเลือด บำรุงร่างกาย ตำรับยาประกอบไปด้วย ซานยวี๋โย่ว(山萸肉)、เซิงตี้ (生地)、ชื่อเสา (赤芍)、ชวงซฺยง (川芎)、อูเสอ(乌蛇)、ตี้หลง(地龙)、เซียงหัว(羌活)、
ตู๋หัว (独活)、ฝางเฟิง(防风)、ตู้จ้ง (杜仲)、ชวนต้วน (川断)、กานเฉ่า (甘草) 2) อบสมุนไพรจีน ที่มีสรรพคุณ ขับความเย็น กระตุ้นการไหลเวียน สลายเลือดคั่ง ลดอาการปวด ลั่วซือเถิง (络石藤)、จีเสว่ยเถิง(鸡血藤)、มู่กวา(木瓜)、ตู้จ้ง(杜仲)、ชวนชง(川芎)、หยวนหู(元胡)、หงฮวา(红花)、เถาเหริน(桃仁) บริเวณเอวประมาณ 30 นาที 3) การนวดทุยหนาร่วมกับการดึงหลัง 30 นาที พบว่า หายดี 60%; ดีขึ้นแต่ยังหลงเหลืออาการชาบริเวณขา 30%
ภาคผนวก
การเลือกใช้หัตถการและจุดฝังเข็ม
หัตถการที่สามารถเลือกใช้ ท่ากุ่นฝ่า(㨰法), ท่ากด (按法), ท่าคลึง(揉法) ท่าเตี่ยน (点法), ท่าดีดงัด(拨法), ท่าถู(擦法), ท่าเนีย(捏法), ท่าโต่วเยาฝ่า(抖腰法)
เลือกจุดฝังเข็มและตำแหน่ง: จุดเซิ่นซู(BL23肾俞), จุดเยาหยางกวาน(DU3腰阳关), จุดจูเหลียว (GB29居髎), จุด, จุดต้าฉางซู(BL25大肠俞), จุดเสี่ยวฉางซู(BL27小肠俞) ,จุดขวานเที่ยว(GB30环跳), จุดคุนหลุน(BL60昆仑), จุดหยางหลิงฉวน(GB34阳陵泉), จุดอินเหมิน(BL37殷门), จุดเหว่ยจง(BL40委中) จุดเฉิงซาน(BL57 承山) จุดเฉิงฝู(BL36承扶) จุดเจวี๋ยกู่(GB39悬钟) , จุดชิวซวี(ST34 丘墟) และตำแหน่งบนเอว กระเบนเหน็บ และขาข้างที่มีอาการ
เอกสารอ้างอิง
1. กรมพัฒนากรแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3. นนทบุรี : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2554
2. 腰椎间盘突出的中医辨证分型. สืบค้น 3 กรกฎาคม2565, จาก https://health.baidu.com/m/detail/ar_8187581673701741950
3. การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน สืบค้น 7 กรกฎาคม2565, จาก https://www.huachiewtcm.com/การรักษาแบบแผนจีนมีอะไรบ้าง
4. ผศ.นพ.ต่อพงษ์ บุญมาประเสริฐ (2557) ปวดหลัง-ปวดคอ (LOW BACK & NECK PAIN) และ โรคข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม (DEGENERATIVE DISEASES OF THE SPINE) หน่วยโรคกระดูกสันหลัง ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5. 范炳华.推拿学.中国中医药出版社(2003)
6. Results of treatment of lumbar intervertebral disc protrusion with teaditional Chinese medicine. Wang feng yang.china tropical medicine vol.7 Np.11 Noverber 2007
7. treating 100 cases of lumbar disc herniation by the TCM massage.xu li zhe. Clinical Journal of Chinese Medicine 2011 Vol.(3) No.21
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567