การฝังเข็มกระตุ้นระบบเผาผลาญ

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  151 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มกระตุ้นระบบเผาผลาญ

ระบบเผาผลาญ (Metabolic) ระบบเผาผลาญพลังงานเป็นระบบที่ทำงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายดำเนินชีวิตอยู่ได้ พลังงานที่เหลือใช้ก็จะสะสมในร่างกาย หากมีมากเกินไปก็มีโอกาสที่จะมีไขมันส่วนเกินเพิ่มขึ้นได้ โดยแต่ละบุคคลมีอัตราการเผาผลาญที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ในบางรายแม้จะพยายามลดความอ้วนก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ต้องกลับมาคำนึงถึงวิถีชีวิต การเลือกรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และวิธีในการลดความอ้วนว่าถูกต้องตามหลักธรรมชาติของร่างกายหรือไม่  อาหารเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเติบโต พัฒนาการ และการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่หากอาหารที่ทานเข้าไปนั้นไม่มีคุณภาพ คุณค่าทางอาหารต่ำ ไม่เกิดประโยชน์อีกทั้งยังมีโทษต่อร่างกาย มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนได้ง่าย

ซึ่งโรคอ้วนสามารถแบ่งได้ดังนี้ 
- อ้วนแบบปฐมภูมิ สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ปริมาณมากเกินไป นอนผิดเวลา ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆตามมาได้
- อ้วนแบบทุติยภูมิ คือโรคอ้วนที่มีความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือขั้นตอนทางเคมีของร่างกาย โรคบางโรคที่ส่งผลต่อระบบการเผาผลาญ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่  โรคไทรอยด์ ฮอร์โมนเพศผิดปกติ ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคอ้วน 
1. ดัชนีมวลกาย (BMI = น้ำหนัก(kg) /ความสูง²(m²)

BMI

มาตรฐานสากล(ยุโรป)
BMI

มาตรฐานอาเซียน(เอเชีย)
การแปรผล
<18.5<18.5น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน
18.5 – 24.918.5 – 22.9ปกติ
25 – 29.923 – 24.9อ้วนระดับ 1
30 – 34.925 – 29.9อ้วนระดับ 2
358 – 39.9มากกว่าหรือเท่ากับ 30อ้วนระดับ 3
มากกว่าหรือเท่ากับ 39.9-อ้วนระดับ 4

ข้อมูล : กรมอนามัย 2543 และ ACSM 2001

2. น้ำหนักตัวมากกว่า BMI มาตรฐานเกิน 20% ขึ้นไป
3. รอบเอวผู้หญิงมากกว่า 80 เซนติเมตร รอบเอวผู้ชายมากกว่า 90 เซนติเมตร ชั้นไขมันมากกว่า 2.5 เซนติเมตร

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคตามหลักการแพทย์แผนจีน
1. อายุเพิ่มขึ้นร่างกายอ่อนแอ
2. อาหารไม่สมดุล 
3. ขาดการออกกำลังกาย
4. ทุนก่อนกำเนิด

กลไกการเกิดโรค
- พลังงานหยางในร่างกายเสื่อมลง เสมหะชื้นสะสมมากขึ้น ชี่ของม้ามพร่องส่งผลให้การย่อยและดูดซึมสารอาหารแย่ลง สารน้ำต่างๆในร่างกายไม่กระจายออกไป ทำให้คั่งค้างอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย  หรือ ไตหยางพร่อง ไม่มีแรงส่งเลือดไปทั่วร่างกาย เลือดเคลื่อนที่ได้ช้าลง ก่อเกิดเป็นความชื้นสะสม ซึ่งอวัยวะที่เกี่ยวข้องคือ ม้าม ไต หัวใจ ปอด  

- เกิดภาวะไม่สมดุล สะสมไขมันมากเกินไปในส่วนต่างๆของร่างกาย ประสิทธิภาพของระบบเผาผลาญลดลง

การวินิจฉัยแยกโรค
โรคอ้วนกับภาวะบวมน้ำ 
อาการบวมน้ำ (Edema) เป็นภาวะที่มีน้ำหรือน้ำเหลืองสะสมคั่งค้างอยู่ภายในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของร่างกายในปริมาณมากจนทำให้เกิดอาการบวม ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่อเกิดขึ้นบริเวณมือ แขน ขา ข้อเท้า และเท้า ผิวหนังกดบุ๋ม หากบวมน้ำในระดับสูงน้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้น แต่เมื่อน้ำหรือน้ำเหลืองที่คั่งค้างลดลง อาการบวมหรือน้ำหนักตัวก็จะลดลงตามไปด้วย

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. เสมหะชื้นสะสม : แขนขารู้สึกหนัก เหนียวเหนอะตัวง่าย เวียนศีรษะ ชอบทานของมันๆทอดๆ
2. ม้ามพร่องไม่ดูดซึมสารอาหาร : อ่อนเพลียง่าย ทานน้อยแต่อ้วนง่าย แขนขาบวมเล็กน้อย
3. หยางของม้ามและไตพร่อง : ใบหน้าไม่สดชื่น ง่วงนอนตลอดเวลา ขี้หนาว เหนื่อยง่าย
4. ชี่ตับติดขัด : เจ็บแน่นหน้าอกหรือชายโครง ถอนหายใจบ่อย หงุดหงิดง่าย 

ตัวอย่างกรณีการรักษาผู้ป่วยที่ต้องการปรับสมดุลระบบเผาผลาญที่มารักษา
ที่แผนกฝังเข็ม คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ข้อมูลทั่วไป
HN30XXXX
ชื่อ นางธิญาดา XXX
เพศหญิง อายุ 44 ปี
วันที่เข้ารับการรักษา 2 พฤษภาคม 2562
อาการสำคัญ ไขมันสะสมที่หน้าท้อง ต้องการปรับสมดุลระบบเผาผลาญ
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน 
- หญิงไทยคู่ อายุ 44 ปี
- สามเดือนก่อนเข้ารับการรักษาที่คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 3 กิโลกรัม
- ณ วันที่รับการรักษา น้ำหนัก 52.25 กิโลกรัม
- ออกกำลังกายเป็นประจำแต่น้ำหนักและสัดส่วนคงที่ มีไขมันหน้าท้องสะสม
- ไม่ควบคุมอาหาร
- นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก
- ขับถ่ายปกติวันละ 1 ครั้งเป็นก้อนดี
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ไม่มี
ประวัติการแพ้ ยาเพนนิซิลิน
การตรวจร่างกาย ลิ้นซีดฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็ก
ลักษณะของผู้ป่วยรายนี้สัมพันธ์กับกลุ่มอาการม้ามพร่องไม่ดูดซึมสารอาหาร
การรักษา ฝังเข็มตามระบบเส้นลมปราณ กระตุ้นการทำงานของตับ ไต บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร
การประเมินผลการรักษาครั้งที่ 1 
- ในการรักษาครั้งที่ 1 น้ำหนักลดลง 0.85 กิโลกรัม ไขมันหน้าท้องกระชับขึ้น
- ผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมอาหาร นอนดึก แต่ยังออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
- ระยะเวลาในการรักษาแต่ละครั้งห่างกันเฉลี่ย 2 สัปดาห์
การประเมินผลการรักษาครั้งที่ 2 
- ควบคุมน้ำหนักและสัดส่วนได้ดี
- ผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมอาหาร นอนดึก แต่ยังออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
- ปัจจุบันยังคงรักษาต่อเนื่อง
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการเผาผลาญลดลง ได้แก่ การอดนอน การอดอาหาร การลดน้ำหนักแบบผิดธรรมชาติ(ยาลดความอ้วน) อ้วนหลังคลอดบุตร อายุมากขึ้น ฮอร์โมนเพศลดลง(วัยทอง) แต่ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมานี้สามารถลดความอ้วนให้สัดส่วนคงที่ได้ การฝังเข็มช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ป่วยต้องปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับการมีสุขภาพที่ดีด้วย คือ กินดี หลับดีตามเวลา ออกกำลังกายตามสมควร
คำแนะนำเพื่อให้ผู้ที่ต้องการลดความอ้วนนำไปปฏิบัติเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา 
- ห้ามอดอาหาร เพราะร่างกายจะลดการใช้พลังงานและเก็บสะสมพลังงานในรูปของไขมันมากขึ้น
- เลือกทานอาหารที่คุณภาพดีแต่พลังงานต่ำ เช่น ไข่ ข้าวไม่ขัดสี เนื้อปลา ไก่ หมู ธัญพืช ผัก ผลไม้รสหวานน้อย 
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปมาก เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม อาหารกระป๋อง
- ปฏิเสธการทานยาลดความอ้วน เพราะเป็นการลดน้ำหนักแบบผิดธรรมชาติ ยาลดความอ้วนส่งผลในการกดความหิวไว้ ร่างกายเราถูกสร้างมาให้เอาชีวิตรอด ร่างกายจึงเพิ่มความหิวมากขึ้น เมื่อเราหยุดทานยาลดความอ้วน หรือเมื่อเริ่มดื้อยา เราจะหิวมากกว่าเดิมหลายเท่า สะสมพลังงานเพิ่มหลายเท่า และอ้วนขึ้นหลายเท่า หรือที่รู้จักกันในชื่อ "โยโย่เอฟเฟค” นั่นเอง
- ลดอาหารจำพวกข้าว แป้ง น้ำตาล เพราะอาหารเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและไตรกลีเซอไรด์
- นอนหลับพักผ่อนตามเวลาของนาฬิกาชีวิต ไม่เกิน 23:00 น. และตื่นไม่เกิน 07:00 น. เพื่อเริ่มกิจกรรมต่างๆต่อไป 
- ออกกำลังกายตามสมควร สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 45 นาที และทานโปรตีนเพิ่มขึ้น
- ให้ความสำคัญกับสัดส่วน ไม่ใช่ตัวเลขน้ำหนัก
- หลีกเลี่ยงเครื่องประเภทแอลกอฮอล์ น้ำหวาน 
- ทำจิตใจให้ผ่อนคลายจากความเครียด หรือครุ่นคิดมากเกินไป เพื่อลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งมีผลในการสะสมไขมันในร่างกาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้