การฝังเข็มรักษาโรคกรดไหลย้อน

Last updated: 12 ต.ค. 2567  |  425 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การฝังเข็มรักษาโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน (gastro-esophageal reflux disease,GERD) 胃食管反流病 
คือ อาการที่เกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หรือแม้กระทั่งเวลาที่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม โดยความผิดปกตินั้นทำให้เกิดการระคายเคืองของกรด เช่น อาจทำให้เกิดอาการหลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล หรือหลอดอาหารอักเสบโดยมีแผล หรือหากกรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการบริเวณนอกหลอดอาหาร (atypical or extraesophageal GERD) เช่น อาการที่ปอด หรืออาการที่คอและกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux : LPR)

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น การบีบตัวของหลอดอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน และส่วนล่าง เยื่อบุของหลอดอาหารมีกลไกป้องกันการทำลายจากกรด ซึ่งการเกิดโรคกรดไหลย้อนนั้น เชื่อได้ว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น เนื่องจากโดยปกติแล้วเมื่อกรดไหลย้อนขึ้นไปบริเวณคอหอย ย่อมเกิดการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนหดตัว ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นไปอีก

อาการที่เด่นชัดของกรดไหลย้อน
1. เรอเปรี้ยว เนื่องจากการคลายตัวของหูรูดทำให้อาหาร ของเหลว น้ำดี น้ำย่อยหรือแม้กระทั่งแก๊สไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหาร ช่องคอ หรืออาจมีลมออกมาถึงช่องปากเลยก็ได้เช่นกัน
2. แสบกลางอก เนื่องจากความเป็นกรดกระตุ้นและส่งผลถึงระบบประสาทการรับรู้ ซึ่งอยู่บริเวณหลอดอาหาร ดังนั้นจึงสามารถรับรู้ได้ถึงความแสบจากภาวะกรดไหลย้อน
3. ไม่สบายท้องหรือเหนือสะดือมีอาการแสบร้อน
4. เจ็บหน้าอก โดยส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่และมักร้าวลงไปหน้าท้อง คอ หน้าอก แขน เป็นต้น

โรคกรดไหลย้อนในศาสตร์การแพทย์แผนจีน
โรคกรดไหลย้อน ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เรียกว่า 吐 酸TuSuan โดยตำแหน่งของโรคจะเกี่ยวข้องกับหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร รวมทั้งตับ ถุงน้ำดี ม้าม และปอด มีสาเหตุจากความผิดปกติทางอารมณ์ ความเครียด คิดมากเกินไป พื้นฐานร่างกายอ่อนแอ โภชนาการที่ไม่เหมาะสม สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ จนทำร้ายร่างกายภายใน รวมถึงโรคของถุงน้ำดี-ถุงน้ำดีร้อนโจมตีกระเพาะอาหาร รวมทั้งม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง นำไปสู่การล้มเหลวของการลำเลียงอาหารและน้ำ ทำให้เกิดการไหลย้อนขึ้นของชี่ที่ไม่สะอาด


การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการเพื่อการรักษา

1. ตับและกระเพาะอาหารมีความร้อนสะสม
อาการหลัก : แสบร้อนหน้าอก อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหาร
อาการร่วม : ปวดแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด เรอบ่อย คลื่นไส้ โมโหง่าย หิวง่าย ลิ้นแดง ฝ้าเลือง ชีพจรเสียน(弦)
หลักการรักษา : ระบายความร้อน กระจายชี่ตับ ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

2. ไฟถุงน้ำดีไหลย้อนขึ้นข้างบน
อาการหลัก : แสบร้อนหน้าอก ปากขมคอแห้ง
อาการร่วม : ปวดเสียดบริเวณชายโครง เจ็บหน้าอก ปวดหลัง อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหาร เรอบ่อย คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หิวง่าย ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรเสียนหฺวาซู่(弦滑数)
หลักการรักษา : ขจัดความร้อน ปรับสมดุลถุงน้ำดีและกระเพาะอาหาร ทำให้ชี่ไหลลง

3. ชี่และเสมหะอุดกั้น
อาการหลัก : รู้สึกคล้ายมีก้อนเสมหะอยู่ในคอ ไม่สบายหน้าอก
อาการร่วม : คลื่นไส้อาเจียนหรือเรอบ่อย กลืนลำบาก เสียงแหบหรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอหรือรู้สึกสำลักในเวลากลางคืน ลิ้นมีฝ้าขาวเหนียว ชีพจรเสียนหฺวา(弦滑)
หลักการรักษา : ระบายเสมหะ ขับเคลื่อนชี่ให้ไหลเวียนเป็นปกติ 

4. หยางทรวงอกไม่เพียงพอ
อาการหลัก : เจ็บไม่สบายหน้าอก รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย  
อาการร่วม : อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหาร ปวดรำคาญบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด ไม่สบายท้อง ชี่ย้อนขึ้นไปข้างบน กลัวหนาว อุจจาระแข็งหรือขับถ่ายลำบาก ลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรซี่หฺวา(细滑)
หลักการรักษา : ปรับชี่ บำรุงหยาง ระบายเสมหะ

5. ชี่ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ
อาการหลัก : อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหารหรืออาเจียนเป็นน้ำใสๆ เรอบ่อยหรือคลื่นไส้  
อาการร่วม : ปวดแบบรำคาญบริเวณลิ้นปี่ จุกแน่นกระเพาะอาหาร ไม่อยากอาหาร เหนื่อยล้าไม่มีแรง อุจจาระเหลว ลิ้นซีดฝ้าบาง ชีพจรซี่รั่ว(细弱)
หลักการรักษา : เสริมชี่บำรุงม้าม ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

6. ม้ามพร่องและมีความร้อนชื้น
อาการหลัก : อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหารหลังจากทานอาหาร ท้องอืดหลังจากทานอาหาร 
อาการร่วม : ปวดแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แน่นหน้าอก อึดอัด ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลียไม่มีแรง อุจจาระเหลว ลิ้นซีดหรือแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรซี่หฺวาซู่(细滑数)
หลักการรักษา : ระบายความร้อน ขจัดความชื้น บำรุงม้าม ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

7. อินกระเพาะอาหารไม่เพียงพอ
อาการหลัก : แสบร้อนกลางอก หิวแต่ไม่อยากทานอาหาร
อาการร่วม : คลื่นไส้ ท้องอืดหลังจากทานอาหาร ปากแห้งลิ้นแห้ง อุจจาระแห้งแข็ง ลิ้นแดง ฝ้าน้อยหรือไม่มีฝ้า ชีพจรซี่ซู่(细数)
หลักการรักษา : เพิ่มสารน้ำบำรุงอิน ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร 

การรักษา
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนใช้หลักการรักษาโรคกรดไหลย้อน คือ “ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร ทำให้ชี่ไหลลง” เป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อซ่อมแซมเนื่อเยื่อบริเวณหลอดอาหาร บรรเทาอาการของโรค ป้องกันการเกิดโรคซ้ำ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม ถูกใช้เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาอาการบริเวณนอกหลอดอาหาร (GERD) ที่ไม่ใช้ยา 

จุดฝังเข็ม
โดยทั่วไปแพทย์จะเลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณเญิ่น เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร เส้นลมปราณตู และเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่ เน่ยกวน จู๋ซานหลี่ จงหว่าน ซึ่งการแยกข้อมูลของจุดฝังเข็มที่ใช้บ่อยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามผลการวิเคราะห์ทางสถิติ ดังนี้

จุดฝังเข็มกลุ่มที่ 1 เลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณตู คือ เสินเต้า จื้อหยาง 
จุดฝังเข็มกลุ่มที่ 2 เลือกใช้จุด เทียนซู กวนหยวน เซี่ยหว่าน ซ่างหว่าน ซินซู ซานอินเจียว ชีเหมิน ไท่ชง
จุดฝังเข็มกลุ่มที่ 3 เลือกใช้จุด กงซุน หยางหลิงฉวน เว่ยซู จู๋ซานหลี่ เน่ยกวน จงหว่าน

การรมยา
แพทย์จะเลือกใช้จุดฝังเข็มบริเวณหลัง ได้แก่ ผีซู เว่ยซู กานซู 

การครอบแก้ว
แพทย์จะเลือกใช้จุด ต้าฉางซู เว้ยซู เฟ้ยซู ต้าจุย ติ้งช่วน 

กรณีศึกษา (Case Study)
ข้อมูลผู้ป่วย
ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 52 ปี เข้ารับการรักษาครั้งแรกวันที่ 6 สิงหาคม 2566
เข้าพบแพทย์ด้วยอาการสำคัญ คือ รู้สึกมีก้อนอยู่บริเวณคอเป็นเวลา 3 เดือน
อาการสำคัญในปัจจุบัน : มีก้อนอยู่บริเวณคอ กลืนอาหารและน้ำลำบาก  ไม่สบายและอึดอัดบริเวณหน้าอก ปวดแน่นจุกบริเวณลิ้นปี่ในบางครั้ง  ท้องอืด เรอบ่อย เสียงเบาเสียงแหบ ตอนกลางคืนมักมีอาการไอหรือสำลัก ความอยากอาหารปกติ นอนหลับปกติ การขับถ่าย 1-2 วัน/ครั้ง 
การตรวจร่างกาย
ความดันโลหิต 132/87 mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 71 ครั้ง/นาที ตรวจลิ้นพบลิ้นสีแดงซีด มีฝ้าขาวเหนียว ชีพจรเสียนหฺวา(弦滑)
การวินิจฉัย
อาการหลักและอาการร่วมของผู้ป่วย ประกอบกับวินิจฉัยลิ้นค่อนข้างมีฝ้าขาว จึงสามารถจัดอยู่ในกลุ่มอาการชี่และเสมหะอุดกั้น 
วิธีการรักษา
กลุ่มอาการชี่และเสมหะอุดกั้น แพทย์ใช้หลักการรักษา คือ ระบายเสมหะ ขับเคลื่อนชี่ให้ไหลเวียนเป็นปกติ โดยฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 ครั้งอย่างต่อเนื่อง

จุดฝังเข็ม

จุดหลัก/จุดประกอบ จุดฝังเข็ม
จุดหลักจุดจงหว่าน เป็นจุดมู่ของกระเพาะอาหารใช้ร่วมกับจุดเน่ยกวนจะช่วยเสริมชี่ของซ่างเจียวและจงเจียว จุดจู๋ซานหลี่ เป็นจุดเหอล่างของกระเพาะอาหาร เมื่อใช้ร่วมกับจุดจงหว่านและจุดเน่ยกวน จะดึงชี่ที่ย้อนขึ้นไปอย่างผิดปกตให้ลงมา และหยุดอาการกรดไหลย้อน
จุดประกอบจุดเฟิงหลง เพื่อระบายเสมหะ และจุดชี่ไห่ เพื่อทะลวงเส้นลมปราณ

ผลการรักษา
ครั้งที่ 1 หลังจากการฝังเข็มครั้งที่ 1 ผู้ป่วยรู้สึกว่า อาการปวด แน่น และจุกบริเวณลิ้นปี่หายไป อาการอื่น ๆ ยังหลงเหลืออยู่บ้าง
ครั้งที่ 2 หลังจากได้รับการฝังเข็มครั้งที่ 2 ผู้ป่วยรู้สึกสบายบริเวณหน้าอกมากขึ้น และสามารถกลืนอาหารและน้ำได้สะดวกมากกว่าเดิมอย่างชัดเจน แต่ยังรู้สึกมีก้อนอยู่บริเวณคออยู่
ครั้งที่ 3 หลังจากการฝังเข็มครั้งที่ 3 ผู้ป่วยแจ้งว่า สามารถกลืนอาหารและน้ำได้ตามปกติ และก้อนบริเวณคอหายไป
หลังจากนั้นผู้ป่วยยังเข้ารับการฝังเข็มอีก 1 ครั้งเพื่อติดตามอาการ และไม่มีความผิดปกติใดเพิ่มเติม

บทสรุปและข้อเสนอแนะ
โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่พบมานานแล้ว จึงไม่ใช่โรคแปลกใหม่ แต่ในปัจจุบันกลับมีอัตราการพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวิธีการที่จะสามารถป้องกันตนเองจากโรคกรดไหลย้อนหรือป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีก คือ การปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต คือ ควบคุมน้ำหนัก บริหารอารมณ์ให้ดี
2. การเลือกรับประทานอาหาร คือ งดอาการรสจัดและอาหารที่มีไขมันสูง ทานอาหารแต่พอดี งดมื้อดึก และไม่นอนทันทีหลังจากรับประทานอาหาร
3. การปรับเวลาและวิธีในการนอน ไม่นอนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ และไม่นอนบนพื้นราบ ควรใช้หมอนหนุนให้ศีรษะสูงขึ้นพอประมาณ

หากสามารถรักษาสมดุลได้ จะทำให้ห่างไกลจากโรคกรดไหลย้อนได้ในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้