Last updated: 12 ต.ค. 2567 | 443 จำนวนผู้เข้าชม |
มนุษย์เราทุกคนเมื่อกาลเวลาผ่านไป ร่างกายย่อมเสื่อมโทรมลง ภาวะโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็จะเริ่มเกิดขึ้นกับร่างกายเราเป็นสัจธรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้รวมถึงโรคมะเร็งก็อาจเกิดขึ้นได้ โรคมะเร็งจัดเป็นหนึ่งในโรคที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นกับร่างกายเรามากที่สุด ด้วยกระบวนการดำเนินของโรคและการรักษานั้นหลายครั้งทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานและคุณภาพชีวิตที่ยํ่าแย่ลง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัดหรือฉายแสง วิธีการเหล่านี้ถึงแม้จะส่งผลเสียต่อร่างกายมาก แต่ก็มีผลดีในการควบคุมโรคหรืออาจทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ จึงเป็นวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับในทางการแพทย์แผนตะวันตกมาหลายทศวรรษ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีวิธีอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น ยามุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูงทำให้ยังยากต่อการเข้าถึงในผู้ป่วยทุกราย การผ่าตัด เคมีบำบัด และฉายแสงจึงยังคงได้รับความนิยมและใช้อย่างแพร่หลายถึงปัจจุบัน ด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายกว่าและประสิทธิภาพการรักษาที่ดี
การลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด เคมีบำบัดและฉายแสงนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อผู้ป่วย ทั้งในแง่การเพิ่มโอกาสในการรับการรักษาได้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้ การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังการรักษา และการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การรักษาโรคมะเร็งประสบความสำเร็จได้
จุดเด่นที่ชัดเจนของแพทย์แผนจีนอย่างหนึ่งคือการปรับสมดุลที่เสียไปของร่างกายผู้ป่วยและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว ดั่งที่เรามักพบยาบำรุงร่างกายสูตรต่าง ๆวางขายตามท้องตลาด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นยาสมุนไพรจีนหรือมียาสมุนไพรจีนเป็นองค์ประกอบเป็นส่วนใหญ่ ในการรักษาโรคมะเร็งก็เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัดหรือฉายแสง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ “ผลข้างเคียง” ซึ่งจะส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแย่ลง ถึงแม้ว่าเราจะรักษาทางแผนปัจจุบันจนครบถ้วนทุกกระบวนการแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถการันตีได้เลยว่าเซลล์มะเร็งจะหมดไปจากร่างกายผู้ป่วยได้อย่าง 100% และระบบที่จะมาจัดการเซลล์มะเร็งที่ยังมีหลงเหลือบ้างในร่างกายเราไม่ให้กลับมาเป็นซํ้าหรือลุกลามได้ง่าย ๆ ก็คือ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ของเราเองนั่นเอง โดยหลังการรักษาหากผู้ป่วยยังคงฟื้นตัวจากผลข้างเคียงได้ช้า ทานอาหารได้น้อย ระบบย่อยอาหารไม่แข็งแรง อ่อนเพลีย มีความเครียดสูง ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดตํ่ากว่าเกณฑ์ไปมาก ระบบภูมิคุ้มกันของผุ้ป่วยก็จะทำงานได้แย่ลงตามไปด้วย หากในระหว่างนั้นร่างกายผู้ป่วยยังคงมีเซลล์มะเร็งเหลือรอดอยู่ ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นซํ้าหรือพัฒนาลุกลามต่อไปได้ ในอีกด้านหนึ่งหากระหว่างหรือหลังการรักษาผู้ป่วยใช้แพทย์แผนจีนมาช่วยฟื้นฟูร่างกายและลดผลข้างเคียงจากการรักษาของแผนปัจจุบันควบคู่ไปด้วยกัน (ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน) ผู้ป่วยก็จะได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาที่น้อยลง ร่างกายฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นเดียวกัน เซลล์มะเร็งที่อาจเหลือรอดอยู่ก็จะกลับมาเป็นซํ้าหรือลุกลามได้ยากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง
หากแยกเป็นแต่ละรูปแบบการรักษาของแผนปัจจุบัน โดยแบ่งข้อดีข้อเสียและการแก้ไขในมุมมองของแพทย์แผนจีนแล้วจะสามารถแบ่งได้ดังนี้
1.การผ่าตัด|
เป็นเทคนิคการรักษาโรคมะเร็งแบบดั้งเดิม ที่ในปัจจุบันยังคงเป็นมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด
ข้อดี : สามารถกำจัดตัวก้อนมะเร็งได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ในมะเร็งระยะต้นที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย เพิ่มโอกาสหายขาดได้มาก
ข้อเสีย : การผ่าตัดในมุมมองของแพทย์แผนจีนจะทำให้ร่างกายผู้ป่วยสูญเสียพลังชี่และเลือดในปริมาณมาก ส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอลงกระทันหัน นอกจากนี้แพทย์แผนจีนยังเชื่อว่าการผ่าตัดจัดเป็นการบาดเจ็บของร่างกายชนิดหนึ่ง ดังนั้นจะมีโอกาสเกิดเลือดเสียคั่งค้างในร่างกายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในนั้นๆหรือกระตุ้นการเกิดก้อนใหม่ๆขึ้นมาได้
การแก้ไขโดยวิธีทางการแพทย์แผนจีน : บำรุงพลังชี่และเลือด พร้อมกับสลายเลือดคั่ง เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยฟื้นตัวจากการบาดเจ็บจากการผ่าตัดได้รวดเร็วที่สุด
2. เคมีบำบัด
เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็ว และต่อเนื่อง ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หลายรูปแบบ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด
ข้อดี : กำจัดมะเร็งได้แทบทุกตำแหน่งของร่างกาย ทั้งที่มองเห็นหรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า รวมถึงในกระแสเลือด เหมาะสำหรับมะเร็งระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย หรือมะเร็งระยะต้นที่เซลล์มีความดุร้ายเสี่ยงต่อการแพร่กระจายได้ง่าย เพิ่มโอกาสหายขาดหรือช่วยควบคุมก้อนมะเร็งได้ดี
ข้อเสีย : เคมีบำบัดในมุมมองของแพทย์แผนจีนนั้นจัดเป็นยาก่อพิษ(药毒)ประเภทหนึ่งซึ่งจะไปทำลายพลังชี่ของม้าม กระเพาะอาหารและไต ส่งผลให้การสร้างและการไหลเวียนของพลังชี่และเลือดถูกบั่นทอน เกิดอาการอ่อนเพลีย ผมร่วง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงานจากเคมีบำบัด (chemotherapy-induced myelosuppression) ซึ่งจะส่งผลให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดลดตํ่าลง โดยหากลดตํ่าลงไปมากจนเกินไปจะทำให้ไม่สามารถเข้ารับเคมีบำบัดได้ครบตามแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลถึงประสิทธิภาพในการรักษาที่อาจไม่ได้ตรงตามที่คาดหวังไว้ โอกาสที่มะเร็งจะแพร่กระจายหรือตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีก็จะมีมากกว่าผู้ที่สามารถให้ยาได้ครบตามกำหนด
การแก้ไขโดยวิธีทางการแพทย์แผนจีน : หลักการรักษาโดยพื้นฐานในช่วงก่อนและระหว่างให้เคมีบำบัดจึงเน้นที่การเสริมสร้างพลังชี่และเลือด บำรุงกระเพาะอาหาร ม้ามและไตให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม และลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดให้ได้มากที่สุด
3.ฉายรังสี(ฉายแสง)
คือ การใช้รังสีพลังงานสูงฉายตรงไปที่ตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น ๆ โดยการฉายแสงจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งที่ได้รับรังสีมีการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน ซึ่งในแต่ละครั้งที่ฉายแสงนั้น เซลล์มะเร็งจะสะสมความผิดปกติของยีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้และเซลล์นั้นก็จะตายลง
ข้อดี : กำจัดมะเร็งได้แบบเฉพาะจุดและเข้าถึงจุดที่ยากจะเข้าถึงได้ เช่นสมอง เป็นต้น อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดบางชนิดได้ และบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งได้ นอกจากนี้มะเร็งบางชนิดจะตอบสนองต่อการฉายรังสีได้ดี ก็จะถูกเลือกเป็นแนวทางหลักในการรักษา
ข้อเสีย : การฉายแสงนั้นในทางแพทย์แผนจีนมองว่าเป็นการรับเอาพิษไฟ(火毒)ปริมาณมากเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดการทำลายพลังชี่(气)และอิน(阴)รวมถึงอวัยวะบริเวณที่ได้รับการฉายแสง ส่งผลให้อวัยวะนั้นๆทำงานได้ลดลงหรือเกิดความเสียหายขึ้น เช่น หากมีการฉายแสงบริเวณทรวงอก ก็อาจทำให้เกิดปอดอักเสบ หากมีการฉายแสงบริเวณศีรษะก็อาจทำให้เกิดภาวะปากแห้ง มีแผลในช่องปากและกลืนลำบากเกิดขึ้นได้ สุดท้ายก็อาจส่งผลถึงความสามารถในการทานอาหารและทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง คุณภาพชีวิตแย่ลงในที่สุด
การแก้ไขโดยวิธีทางการแพทย์แผนจีน: บำรุงชี่และอิน เสริมสารนํ้าในร่างกาย ขับพิษร้อน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ไม่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉายแสงมากจนเกินไป สามารถฟื้นตัวจากการฉายแสงได้ดีและรวดเร็ว
เหล่านี้คือแนวทางในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเมื่อต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด คีโมและฉายแสงในแบบแพทย์แผนจีน
การฟื้นฟูร่างกายในผู้ป่วยมะเร็งด้วยโภชนาบำบัดแบบแพทย์แผนจีน (药膳-เย่าซ่าน)
โภชนาบำบัดแบบแพทย์แผนจีน(เย่าซ่าน)นั้นเป็นการนำสรรพคุณ และการให้ประโยชน์ของอาหารนั้นเข้าสู่เส้นลมปราณแต่ละอวัยวะ มาประยุกต์ใช้กับอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน เพื่อฟื้นฟูร่างกายในผู้ป่วยมะเร็ง โภชนาบำบัดนั้นยังสามารถช่วยบำบัดโรคในแต่ละช่วงที่ไม่เหมือนกันได้อาทิ ช่วงหลังผ่าตัด ช่วงให้เคมีบำบัด ช่วงฉายแสง ช่วงพักฟื้น เป็นต้น
1) อาหารในผู้ป่วยมะเร็งที่พบบ่อย
ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเลือกทานอาหารให้เข้ากับโรคได้อาทิเช่น
- มะเร็งหลอดอาหาร: นมวัว ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ปลาชนิดต่างๆ ผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ ขนมปัง มันฝรั่ง กล้วย แปะก๊วย แตงโม สาลี่ มะเขือเทศ ถั่วลิสง แตงกวา ส้ม เป็นต้น
- มะเร็งกระเพาะอาหาร: ผลิตภัณฑ์จากนม ปลา เนื้อสัตว์ ผักสีเหลืองและเขียว ผลิตภัณฑ์จากไข่ ผลไม้ มะเขือเทศ เป็นต้น
- มะเร็งลำไส้ใหญ่: ผักสีเหลืองและเขียว มันฝรั่ง ถั่วต่าง ๆ ผักกาดขาว ขนมปัง นมวัว เนย ปลาประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
- มะเร็งเต้านม: ธัญพืชต่าง ๆ และวิตามินต่างๆ เป็นต้น
- มะเร็งปอด: ผักสีเหลืองและเขียว นมวัว หัวไชเท้า วิตามินซี แครอท ตับ เป็นต้น
2) อาหารที่ควรห้ามในผู้ป่วยมะเร็ง
ผู้ป่วยมะเร็งในช่วงพักฟื้นนั้นไม่ควรรับประทานอาหารหมักดอง และปิ้งย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ทำการย่างจนมีรอยไหม้ ไม่ทานอาหารขึ้นราหรืออาหารที่ใส่สารกันบูดต่าง ๆ อาทิอาหารกระป๋อง ไส้กรอก ควรเลิกบุหรี่ และสุราทุกชนิด ไม่ทานอาหารอิ่มจัดเกินไป ไม่ปรุงแต่งรสชาติอาหารมากจนเกินไป เพราะพฤติกรรมเหล่านี้อาจไปเร่งให้ DNAในเซลล์ร่างกายเราเกิดการกลายพันธุ์ได้ อาหารที่มีสรรพคุณต้านมะเร็งต่างๆก็ไม่ควรที่จะรับประทานจนเกินพอดี อาทิเช่น ลูกเดือยถึงแม้ว่าจะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ยับยั้งการกลายพันธุ์ของเซลล์อันเกิดจาก Aflatoxin B1ได้ แต่การรับประทานมากเกินไปก็จะทำให้อุจจาระแข็ง ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ควรทานร่วมกับอาหารที่มีสรรพคุณเสริมสารน้ำ ช่วยให้ลำไส้ชุ่มชื้น ขับร้อนและเสริมสารอิน
การหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้ในโรคมะเร็ง อาทิ เนื้อแกะ เนื้อแพะ กุ้ง ปู หอย บุหรี่ สุรา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นั้นมักจะก่อให้เกิดลมและไฟภายใน เกิดเสมหะขึ้นได้ อาหารเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการแพ้ขึ้น หากทานอาหารแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นจะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่สัมพันธ์ทั่วทั้งร่างกาย ผู้ป่วยมักจะมีความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องลง รวมไปถึงต่อมผลิตน้ำย่อยต่าง ๆทำงานผิดปกติ ส่งผลให้การย่อยอาหารผิดปกติตามไปด้วย ถ้าหากทานอาหารอิ่มจนเกินไป ทานปูและกุ้งมากเกินไป เป็นต้น จะการกระตุ้นให้เกิดการแพ้อาหารหรือแพ้โปรตีนในอาหารขึ้นได้ง่าย ทำให้มีอาการไข้ ปวดท้อง ความอยากอาหารลดลง ซึ่งจะส่งผลให้พลังของเจิ้งชี่(ประสิทธิภาพภูมิต้านทาน)ในร่างกายถดถอยลง ภูมิคุ้มกันก็จะทำงานแย่ลง ทำให้เสี่ยงต่อการที่มะเร็งจะรุนแรงขึ้นหรือเกิดซ้ำได้ ในความเป็นจริงแล้วในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดๆที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้กับการเกิดซ้ำหรือกระจายของมะเร็ง ในทางวิทยาศาสตร์อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงนั้นจะอิงตามประวัติการแพ้ยาและอาหาร แต่หากมองในมุมมองของแพทย์แผนจีนแล้วหากการแพ้นั้น ๆ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ก็ย่อมส่งผลให้เจิ้งชี่ในร่างกายถูกทำลาย ภูมิคุ้มกันก็จะอ่อนแอลง มะเร็งก็จะควบคุมได้ยากขึ้นตามไปด้วย
การปรับอาหารให้เหมาะสมในแต่ละช่วงการรักษา
2.1) ช่วงผ่าตัด
ช่วงก่อนผ่าตัดนั้นอาหารจะเน้นเพื่อสนับสนุนให้การผ่าตัดดำเนินไปได้อย่างราบรื่นที่สุด สรรพคุณที่ต้องการจึงมักเน้นบำรุงพลังชี่และเลือดเป็นหลัก ตัวอย่างอาหารเช่น พุทราจีน เม็ดบัว เป็นต้น ในช่วงหลังการผ่าตัดพักฟื้นอาหารจะมีการเพิ่มชนิดที่มีสรรพคุณเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารอาทิเช่น ซานจา เป็นต้น
2.2) ช่วงเคมีบำบัด
ช่วงที่ให้เคมีบำบัดผลข้างเคียงที่พบได้มากที่สุดคือภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงานและระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ โดยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซีด เลือดออกง่าย ติดเชื้อง่าย เป็นต้น โภชนาการเพื่อการลดผลกระทบจากภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงาน เน้นการบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร บำรุงเลือด บำรุงตับและไต แนะนำให้ทานอาหารอาทิ ฮ่วยซัว ลำไยแห้ง พุทราจีน ถั่วลิสง เห็ดหูหนูดำ ตับหมู ข้าวเหนียว กระดูกหมู/วัว เป็นต้น หากมีอาการเบื่ออาหารร่วมกับมีฝ้าบนลิ้นหนา จะปรับสมดุลการไหลเวียนชี่ของกระเพาะอาหาร สลายความชื้น และระงับอาการคลื่นไส้อาเจียน แนะนำให้ทาน ขิงสด เปลือกส้ม ซานจา ลูกเดือย ฮ่วยซัว พุทราจีน นมวัว น้ำผึ้ง เป็นต้น หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้นำขิงแก่มาฝานบาง ๆ และเคี้ยวในปากเป็นประจำจะช่วยลดอาการได้ดี
หากค่าตับผิดปกติจากยาเคมีบำบัด ต้องการบำรุงดูแลตับแนะนำให้ทานอาหารที่บำรุงอินของตับ ขับความร้อนชื้นและกระจายชี่ตับเช่น เปลือกแตงโม เก๋ากี้ ดอกเก็กฮวย แห้ว ซานจา ตะพาบนํ้า มะระ ฟัก บวบ มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย เป็นต้น
หากค่าไตผิดปกติจากยาเคมีบำบัด ต้องการบำรุงดูแลไตแนะนำให้ทานอาหารที่บำรุงไต ขับปัสสาวะอาทิ ถั่วเขียว เปลือกฟัก เปลือกแตงโม หนวดข้าวโพด ตะพาบ เป็นต้น
หากต้องการลดพิษต่อหัวใจจากยาเคมีบำบัดแนะนำให้ทานอาหารที่บำรุงชี่ เสริมอิน ปรับการไหลเวียนของชี่ ปรับการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่งอาทิ พุทราจีน หัวดอกลิลลี่(百合) เก๋ากี้ ซานจา เป็นต้น
หากมีแผลในปากแนะนำให้ทานอาหารที่เสริมอิน ขับพิษร้อนอาทิ แตงโม มะระ รากบัว นํ้าผึ้ง ถั่วเขียว สาลี่ มะเขือเทศ รังนก กล้วย เป็นต้น
2.3) ฉายรังสี (ฉายแสง)
ช่วงฉายแสงอาหารจำเป็นต้องเน้นกระตุ้นความอยากอาหาร แต่ต้องมีรสชาติอ่อนๆ สารอาหารครบถ้วน หลังจากการฉายแสงแล้วมักจะมีภาวะขาดสารนํ้า อาหารต้องมีสรรพคุณเสริมอินและสารนํ้าอาทิ นํ้าสาลี่ นํ้าแห้ว รังนก เนื้อเป็ด เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน รสจัด สุรา บุหรี่ เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อแกะ ของทอด ของมัน ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน พริกต่างๆ เป็นต้น
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567