Last updated: 6 ก.ย. 2567 | 540 จำนวนผู้เข้าชม |
กลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือน หมายถึงกลุ่มอาการที่มีลักษณะของความผิดปกติที่เกิดจากการทำงานของรังไข่ที่ลดลงในสตรีก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือนที่เรียกว่า "กลุ่มอาการวัยหมดประจำเดือน" หรือ "กลุ่มอาการวัยทอง" นั่นเอง ในทางการแพทย์แผนจีนเรียกอาการนี้ว่า "กลุ่มอาการก่อนและหลังวัยหมดประจำเดือน"(绝经前后诸症)ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 45-55 ปี
สาเหตุการเกิดโรค
การเกิดขึ้นของกลุ่มอาการในช่วงวัยหมดประจำเดือน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการที่สารสำคัญก่อนกำเนิด (先天之精) และสารสำคัญหลังกำเนิด (后天之精) ได้รับความเสียหายหรือพร่องลง ซึ่งอาจมาจาก การมีบุตรจำนวนมาก ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ การทำงานหนักเกินไป และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม และวัฒนธรรม และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความสมดุลของอินและหยาง ทำให้อวัยวะทำงานผิดปกติ
ลักษณะอาการของโรค
1. อาการร้อนวูบวาบ (hot flush) โดยเฉพาะบริเวณลําตัวส่วนบน เช่น บริเวณหน้า คอ และอก มักเกิดอาการนานประมาณ 1-5 นาที
2. โรคกระดูกพรุน สําหรับเพศหญิงวัยหมดประจําเดือนความหนาแน่นของกระดูกจะลดลงร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้สูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็ว
3. มีความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์เร็ว รู้สึกวิตกกังวล หดหู่ใจ ความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งกดดันในชีวิตประจําวันลดลง
4. นอนหลับยาก แต่ตื่นเช้า
5. ผิวหนังร่างกายแห้งและบางลง บางครั้งมีอาการคัน เกิดผื่นแพ้ง่าย เส้นผมหยาบแห้ง หลุดร่วงง่าย ไม่ดกดําเป็นเงางาม
6. ช่องคลอดแห้ง ติดเชื้อและคันในช่องคลอด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ความต้องการทางเพศลดลง
การวินิฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการไตอินพร่อง (肾阴虚证):ปวดเมื่อยเอว หูอื้อ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ร้อนตามฝ่ามือฝ่าเท้าและหน้าอก นอนไม่หลับ ฝันมาก คอแห้งกระหายน้ำหรือคันตามผิวหนัง รอบประจำเดือนผิดปกติ สีแดงเข้ม
2. กลุ่มอาการไตหยางพร่อง (肾阳虚证):มึนหัว หูอื้อ มือเท้าเย็น ปวดเมื่อยเอว เย็นบริเวณหน้าท้อง ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะได้ ปริมาณตกขาวมาก ประจำเดือนไม่ปกติ สีซีดจาง
3. กลุ่มอาการไตอินและหยางพร่อง (肾阴阳两虚证):บางเวลารู้สึกหนาว บางเวลารู้สึกร้อน เหงื่อออก ปวดเมื่อยเอว ไม่มีแรง มึนหัว หูอื้อ ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน รอบประจำเดือนผิดปกติ
การรักษา
อาการของวัยทองเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายของผู้หญิงตามวัย หากสามารถควบคุมและอยู่ร่วมกับอาการเหล่านั้นได้ ก็ไม่มีความจําเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากอาการเหล่านั้นสร้างปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจจนเกินควบคุม หรือสงสัยว่าเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควร สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้
แนะนำอาหารสำหรับผู้ป่วยวัยทอง
โจ๊ก Qibao(七宝粥):ช่วยเสริมบำรุงไตและม้าม
วัตถุดิบ :(红豆)ถั่วแดง 50 เมล็ด(黑豆)ถั่วดำ 64 เมล็ด(黄豆)ถั่วเหลือง 56 เมล็ด (莲子)เมล็ดบัว 21 เมล็ด(红枣)พุทราจีน 24 เมล็ด(核桃仁)วอลนัท 8 เมล็ด(桂圆)ลำไย 16 เมล็ด
วิธีทำ : ต้มถั่วแดง ถั่วดำ และถั่วเหลืองเป็นเวลา 15 นาที จากนั้นใส่เมล็ดบัวและวอลนัทลงไป ต้มต่ออีก 10 นาที จึงใส่พุทราจีนและลำไยลงไปเป็นลำดับสุดท้าย ต้มต่ออีก3นาที จึงรับประทานได้ สามารถรับประทานได้ 3 ครั้งต่อวัน
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ปะการัง เขตคาม (หมอจีน ข่าย ซิน)
凯心 中医师
TCM. Dr. Pakarung Khetkam (Kai xin)
แผนกอายุกรรม 内科 (Internal TCM Department)
หัวเฉียวแพทย์แผนจีน สาขาโคราช
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567