Last updated: 8 ส.ค. 2567 | 707 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อบวม ขยับข้อไม่ไหลลื่น โดยมีสาเหตุมาจากหรือเนื้อเยื่อเยื่อบุบริเวณข้อมีการอักเสบหรือแบ่งตัวเพิ่มขึ้นจนกระทบกับกระดูกอ่อนบริเวณข้อ ทำให้ข้อมีการบวม ผิดรูป จนสูญเสียการทำงานไปในที่สุด เนื่องจากปัจจัยหรือสาเหตุการเกิดโรคนี้ยังหาสาเหตุไม่ได้แน่ชัด แต่พบว่าพันธุกรรม การติดเชื้อ หรือระดับฮอร์โมนอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ โรครูมาตอยด์พบได้ในทุกวัย ช่วงอายุที่พบได้บ่อยอยู่ในช่วง 25-50 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยในบุคคลที่อาศัยอยู่ในบริเวณมีอากาศหนาวเย็นมีความชุกของประชากรโรคนี้มากกว่าที่อื่น
ในสมัยโบราณการแพทย์แผนจีนจัดโรครูมาตอยด์อยู่ในกลุ่มโรคปี้เจิ้ง (痹症) เฟิงซือ(风湿) ฯลฯ แต่แพทย์จีนในปัจจุบันได้กำหนดชื่อให้กับโรคนี้ว่า วังปี้ (尪痹) และมีการใช้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนสาเหตุการเกิดโรครูมาตอยด์ในแพทย์แผนจีนแบ่งออกเป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในเกิดจากภาวะเจิ้งชี่อ่อนแอ ปัจจัยภายนอกมาจากปัจจัยก่อโรคภายนอกทั้ง 6 โดยปัจจัยทั้งสองนี้มีกลไลการเกิดโรคดังนี้
1. ปัจจัยภายใน ทุนร่างกายก่อนกำเนิดไม่เพียงพอ หรือเหน็ดเหนื่อยหักโหม หรืออารมณ์แปรปรวนมากละนานวัน หรือจากอาหารการกินที่ผิดสุขลักษณะ ต่างก็เป็นสาเหตุพื้นฐานที่จะถูกปัจจัยภายนอกกระทบได้โดยง่าย กล่าวโดยสรุปร่างกายอ่อนแอเป็นทุนแล้วกระทบปัจจัยภายนอก
2. ปัจจัยก่อโรคภายนอก(ไว่เสียชี่)ที่สำคัญของโรครูมาตอยด์ ได้แก่ ลม ความร้อน ความชื้น ความเย็น เมื่อเสียชี่(ปัจจัยก่อโรคภายนอก)เข้ามาอุดกั้นจิงลั่ว(เส้นลมปราณ) ทำให้เลือดและชี่ไม่ไหลเวียน หรือเสมหะอุดกั้นเลือดไม่ไหลเวียน สะสมอยู่ที่ข้อ
3. เมื่อเป็นโรคระยะเวลานาน เสียชี่รุกรานเข้าสู่อวัยวะภายใน ทำให้ตับและไตอ่อนแอไม่เพียงพอ ขาดเลือดและชี่หล่อเลี้ยงเอ็นและกระดูก
อาการของโรครูมาตอยด์
1. อาการทางข้อ ข้อแข็ง ปวดข้อ ข้อบวม ข้อผิดรูป โดยมักมีอาการข้ออักเสบแบบสมมาตร มีอาการที่ข้อเดียวกันทั้ง 2 ข้าง อาการข้อแข็งยึดมักเป็นในตอนเช้า หรือหลังจากไม่เคลื่อนไหวร่างกายสักระยะ โดยมักมีอาการที่ข้อเล็กๆก่อน เช่น นิ้วมือ แล้วข้อใหญ่ค่อยๆมีอาการตามมา เช่น ข้อศอก ไหล่
2. ช่วงที่อาการกำเริบอาจมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
3. อาการที่ระบบอื่นๆ เนื่องจากโรครูมาตอยด์เป็นโรคในกลุ่มแพ้ภูมิตัวเองจึงสามารถพบอาการได้ที่ระบบอื่นด้วย เช่น ปอด ไต
สาเหตุและกลุ่มอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในทางการแพทย์แผนจีน
1. สาเหตุจากลมและความชื้น(风湿痹阻) มีอาการปวดบวมที่ข้อ บางรายอาจรู้สึกข้อหนักๆ ปวดที่ข้อเดิมๆ ยืดงอข้อลำบาก ลิ้นสีแดงเรื่อฝ้าสีขาวเหนียว ชีพจรลื่น(脉滑)
2. สาเหตุจากความเย็นและความชื้น(寒湿痹阻) มีอาการปวดเย็นที่ข้อ ข้อบวม เป็นตะคริวหรือยืดงอข้อลำบาก ยิ่งอยู่ในอากาศเย็นยิ่งมีอาการหนัก ลิ้นอ้วนสีซีดคล้ำฝ้าเหนียวสีขาว ชีพจรตึงช้าหรือจมแน่น(脉弦缓或沉紧)
3. สาเหตุจากความร้อนและความชื้น(湿热痹阻) มีอาการปวดบวมแดงที่ข้อ จับแล้วรู้สึกร้อน กระหายน้ำแต่ไม่ค่อยอยากทานน้ำ หงุดหงิดง่าย ลิ้นสีแดงฝ้าสีเหลืองเหนียว ชีพจรลอยแผ่วเร็วหรือลื่นเร็ว(脉濡数或滑数数)
4. สาเหตุมาจากเสมหะอุดกั้น(痰瘀痹阻) มีอาการปวดข้อ ข้อบวมโต แข็ง ยืดงอข้อลำบาก มีก้อนแข็งเกิดขึ้นที่บริเวณข้อ ลิ้นสีม่วงคล้ำฝ้าสีขาวหนาเหนียว ชีพจรเล็กจมฝืดหรือจมลื่น(脉沉细涩或沉滑)
5. สาเหตุมาจากชี่และอินพร่อง(气阴两虚) ข้อบวมโต ปากแห้งตาแห้ง อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย กล้ามเนื้อลีบผอม ลิ้มสีแดงมีรอยแตกเนื้อลิ้นแห้ง หรือลิ้นใหญ่มีรอยฟัน ฝ้าบางสีขาว ชีพจรเล็กจมอ่อนแรง(脉细沉弱)
6. สาเหตุมาจากตับและไตพร่อง(肝肾不足) ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ข้อบวมใหญ่หรือมีภาวะข้อผิดรูป ยืดงอข้อลำบาก มีอาการปวดเอวปวดเข่าไม่มีแรง รู้สึกร้อนหรือเย็นที่บริเวณข้อ ลิ้นสีแดงฝ้าขาวบาง ชีพจรจมอ่อนแรง (脉沉弱)
7. สาเหตุมาจากเลือดคั่งอุดกั้นเส้นลมปราณ(瘀血阻络) ปวดข้อ หรือปวดมากในเวลากลางคืน หรือมีอาการเจ็บแบบเข็มทิ่ม ผิวแห้งหนา ลิ้นสีคล้ำมีรอยคล้ำที่ด้านข้างลิ้นหรือปลายลิ้น ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กฝืด (脉细脉涩)
การดูแลตัวเอง
1. หลีกเลี่ยงความเครียดหรือทำงานใช้งานข้อมากเกินไป
2. รักษาความอบอุ่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เย็นและชื้น โดยเฉพาะเมื่ออากาศเปลี่ยน
3. ในผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนควรดื่มนมเพื่อเสริมแคลเซียม
4. ผู้ป่วยในกลุ่มความร้อนและความชื้นควรหลีกเลี่ยงของมัน อาหารรสจัด แอลกอฮอล์ เน้นทานผักและผลไม้
5. ระมัดระวังการเคลื่อนไหวหรือการท่าทางผิดท่าไปจากปกติ หลีกเลี่ยงการขยับหรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
6. ออกกำลังกายแต่พอดี ขณะที่มีอาการปวดควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือใช้ข้อนั้นๆแต่น้อย รอจนอาการดีขึ้นค่อยกลับมาออกกำลังอีกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดข้อติด เกิดพังผืด หรือกล้ามเนื้อหดเกร็ง และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายชนิดที่รุนแรงต่อข้อมากเกินไป
เคสตัวอย่าง
ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 37 ปี เข้ารับการรักษา เดือนพฤศจิกายน 2019
ชีพจร 61ครั้ง/นาที BP : 108/64 mmHg น้ำหนัก 53 กก.
อาการสำคัญ : ปวดข้อตามข้อต่างๆ 2-3ปี
ประวัติปัจจุบัน : ผู้ป่วยมีประวัติหน้าแดงบริเวณแก้มมาหลายปี 2ปีก่อนเริ่มมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ 1ปีก่อนเริ่มมีอาการปวดเข่าและข้อนิ้ว ปีนี้ (2019)เริ่มมีอาการปวดตามข้ออื่นๆ เมื่อ 1 เดือนก่อนตรวจเลือดทางระบบภูมิคุ้มกันผลไม่ชัดเจน ANA 1:1000 ESR: 4 Rf (+) Cr 0.54 ไม่พบโรคชิคุนกุนย่า หลังเริ่มทานยาแผนปัจจุบันมีอาการตาพร่า ประจำเดือนปกติแต่ปริมาณน้อย สีแดงสด กลัวหนาว หากมีการตากแดดนานๆใบหน้าจะแดงเข้มขึ้น ขับถ่าย 1-2ครั้ง/วัน นอนหลับปกติ
ตรวจร่างกาย : ลิ้นสีซีดฝ้าบางสีขาว ชีพจรเล็กจม (脉沉细)
วินิจฉัย : หวังปี้ / โรครูมาตอยด์ กลุ่มอาการตับไตพร่อง
การรักษา : ทานยาสมุนไพรจีนตำรับตู๋หัวจี้เซิงทัง เพิ่มลด
ตรวจครั้งที่ 2 , 4 ธันวาคม 2019
อาการปวดข้อลดลงเล็กน้อย หากทานน้ำเย็นจะมีอาการปวดข้อมากขึ้น แน่นหน้าอกลดลง ขับถ่ายปกติ นอนหลับฝันมาก ลิ้นใหญ่สีซีดฝ้าสีขาว มีรอยฟัน ชีพจรเล็กจม(脉沉细)
การรักษา : ทานยาตำรับเดิม เพิ่มยาบำรุงชี่และขจัดลมเย็น/ความชื้น
ตรวจครั้งที่ 3 , 11 ธันวาคม 2019
อาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้อลดลงชัดเจน LMP 9 ธันวาคม 2019 ปริมาณมากกว่าที่เคย ขับถ่ายปกติ นอนหลับไม่สนิท ลิ้นสีซีดฝ้าสีขาว ชีพจร ชีพจรเล็กจม(脉沉细)
การรักษา : ทานยาตำรับเดิม
ตรวจครั้งที่ 4 , 15 ธันวาคม 2019
ผู้ป่วยไปตรวจเลือดกับแพทย์แผนปัจจุบันพบว่ามีภาวะซีดเล็กน้อย ESR 4 อาการปวดตามข้อและกล้ามเนื้อมีเพียงเล็กน้อย ผื่นแดงที่หน้าจางลง ขับถ่ายปกติ นอนหลับปกติ
ลิ้นสีซีดฝ้าสีขาว ชีพจร ชีพจรเล็กจม(脉沉细)
การรักษา : ทานยาตำรับเดิม เพิ่มยากลุ่มบำรุงเลือด
เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ไกลไม่สามารถเดินทางมารักษาต่อได้จึงหยุดการรักษาไว้ แต่ปีถัดมาผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ซ้ำและแจ้งว่าอาการดีขึ้นมาก จะมีอาการเมื่ออากาศเย็นและดื่มแอลกอฮอล์
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย (หมอจีน เจิง ฉ่าย อิง)
曾彩瑛 中医师
TCM. Dr. Nattima Techapipatchai (Zeng Cai Ying)
แผนกอายุรกรรมภายนอก 外科 (External TCM Department)
อ้างอิง
1. 王成德,沈丕安,胡荫奇.实用中医风湿病学[M]. 人民卫生出版社. 1995/2018
2. https://www.cn-healthcare.com/articlewm/20210129/content-1185685.html
3. https://zhuanlan.zhihu.com/p/346160839?utm_id=0