ทุยหนา

  


การนวดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน (ทุยหนา : Tuina)
ทุยหนา เป็นศาสตร์การนวดของแผนจีนอย่างหนึ่งที่มีมาอย่างยาวนาน และเป็นสาขาหนึ่งของการแพทย์แผนจีน
โดยอ้างอิงจากหลักทฤษฎีของแพทย์แผนจีนมาทำการรักษา

การนวดของแพทย์แผนจีนจ
ะใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายในการกด การคลึง การถู การบีบ การดีด หรือการคลึง 
โดยกระทำไปตามจุดต่างๆ ของเส้นลมปราณบนร่างกาย เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนไปตามอวัยวะต่างๆ ได้ดีขึ้น



การนวดทุยหนาสามารถใช้แทนยาหรือการฝังเข็มได้ในบางโรค เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ทารกจนถึงผู้สูงอายุ
ให้ความรู้สึกผ่อนคลายในขณะรับการรักษา ไม่มีผลข้างเคียงจากการนวด



นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคที่แตกต่างกัน สามารถรักษาโรคได้ทั้งทางอายุรกรรม นรีเวช กุมารเวช 
บางกรณีอาจผสมผสานกับการฝังเข็ม การรับประทานยาสมุนไพรจีนหรือการจัดกระดูก เพื่อให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น



โรคที่เหมาะแก่การนวดทุยหนา ได้แก่ ปวดหัว ไมเกรน ปวดต้นคอ คอตกหมอน ปวดบ่า ไหล่ติด ปวดเอว หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ปวดเข่า ข้อเท้าเคล็ด ปวดประจำเดือน กลุ่มอาการปวดคอ หลายคนคงเคยมีอาการปวดคอ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจกับอาการนี้เท่าที่ควร 
หารู้ไม่ว่าอาการปวดคอนี้ สามารถทำให้เกิดอาการต่างๆตามมาได้มากมาย  อาการหลักๆคือ  ปวดบริเวณต้นคอลามไปถึงบ่าและหลัง




โดยสาเหตุมาจากใช้อิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง ขณะระหว่างอ่านหนังสือหรือนั่งทำงานในท่าก้มศีรษะนานๆ
หากปล่อยทิ้งไว้ อาการจะเริ่มรุนแรงขึ้น อาจมีอาการมือชา  ปวดไมเกรน เวียนศีรษะ บ้านหมุนเหงื่อออกผิดปกติ อ่อนเพลีย
นอนไม่หลับ ตาพร่า  แขนขาอ่อนแรง  บางรายอาจเป็นมากจนกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้




อีกอาการหนึ่งที่มักเข้ารับการรักษาคือ อาการปวดเอว  ซึ่งอาการปวดเอวเกิดจากหลายสาเหตุ  เช่น การยกของหนักเกินไป 
เคลื่อนไหวผิดท่ากล้ามเนื้อเอวเมื่อยล้า อุบัติเหตุ และสาเหตุจากโรคอื่น

จากสาเหตุเหล่านี้ ทำให้เกิดอาการปวดเอวที่แตกต่างกันไปตาม  สภาพร่างกาย อายุ และปัจจัยอื่นๆที่เป็นต้นเหตุ อาการหลักๆคือ
ปวดเอว หรือปวดเมื่อยเป็นเวลานาน  ปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง บางครั้งอาจมีอาการขาอ่อนแรงปวด
จนเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก ผลการรักษาขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการปฏิบัติตนของผู้ป่วย



เมื่อได้รับการรักษาไปแล้วอาการค่อยๆดีขึ้น  ผู้ป่วยควรใส่ใจในการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดคอและอาการปวดเอว
ด้วยการใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดเมื่ออยู่ในห้องแอร์ หลีกเลี่ยงการอยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานาน ไม่ควรนอนหมอนสูง
สุดท้ายควรออกกำลังกาย และบริหารต้นคอให้มีความแข็งแรงยืดหยุ่นดีอยู่เสมอ

 

การเตรียมตัวและข้อควรทราบในการรักษาด้วยวิธีทุยหนา

1. ก่อนรับการรักษา ควรพักผ่อนให้เพียงพอไม่เหนื่อยล้า หรือ อ่อนเพลีย

2. สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม เพื่อความสะดวกและผ่อนคลายขณะทำการรักษา

3. ควรรับประทานอาหารก่อนรับการรักษาประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 1 ชั่วโมง

4. หากมีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาแผนปัจจุบันเป็นประจำควรแจ้งแพทย์ก่อนการรักษา

5. ผู้ป่วยที่มีเลือดออกง่าย หรือเป็นโรคผิวหนังบางชนิด โรคมะเร็ง วัณโรค หญิงตั้งครรภ์ ไม่เหมาะกับการรักษา


โรคหรืออาการที่แผนกกระดูกและทุยหนาสามารถรักษาได้ผล เช่น

• โรคกระดูกคอเสื่อม
• โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
• ข้อไหล่อักเสบ
• ไหล่ติด
• ข้อศอกอักเสบ
• กล้ามเนื้อเนื้อเยื่ออักเสบเรื้อรัง
• เส้นเอ็นอักเสบจากการออกกำลังกายหรือใช้งาน
• โรคข้อเข่าเสื่อม
• กระดูกสันหลังส่วนเอวอักเสบเฉียบพลัน
• ข้อเท้าเคล็ด ข้อเท้าแพลง และโรคเกี่ยวกับกระดูกที่พบบ่อย  รวมทั้งการจัดกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลังช่วงอก
เพื่อบรรเทาอาการโรคกระดูกต้นคอที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเช่นวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ปวดศีรษะ
ปวดเอวร้าวลงมา ปวดขา อีกทั้งทุยหนายังสามารถช่วยฟื้นฟูดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหัก
หรือภาวะกระดูกเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 การนวดแบบทุยหนามีข้อจำกัดบางประการ ผู้ป่วยที่สนใจการรักษาแขนงนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะและความชำนาญเฉพาะด้าน

อาการที่อาจเกิดขึ้น หลังจากการรักษาด้วยวิธีนวดทุยหนา

1. มีอาการปวดตึง  หรือ เมื่อสัมผัสที่บริเวณที่มีการนวดแล้วรู้สึกแสบผิวเล็กน้อย หลังการนวดทุยหนา  เกิดจากการบาดเจ็บกล้ามเนื้อเล็กน้อย  มักเป็นในผู้ที่ไม่ค่อยได้รับการนวดผ่อนคลายมาก่อน  ถ้าระบมผิวค่อนข้างมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวด  ถ้าเป็นไม่มากดื่มน้ำมาก ๆ อาการจะค่อยๆ หายไปได้เอง  เมื่อรับการรักษาครั้งต่อไปจะไม่มีอาการแบบนี้อีก 

2. มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น เหงื่อออกตามตัว  มือเท้าเย็น  คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น  มักเป็นในผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ  นอนน้อย  เหน็ดเหนื่อยจากการออกกำลังกาย หรือการเดินทางไกล  อาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ หรือตื่นเกร็งในการรักษา  เพียงแค่รับประทานน้ำหวาน หรือนอนพักสักระยะหนึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง   

3. มีรอยเขียวเป็นจ้ำ ๆ ตามบริเวณที่นวด  เกิดจากการได้รับประทานยาละลายลิ่มเลือดเป็นเวลานาน ๆ จากการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ  หรือ เกิดจากภาวะโลหิตจาง  ถ้ามีอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เอง

4. มีไข้หรือ อ่อนเพลีย  มักเป็นในผู้ที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง  หรือ มีการกดนวดบริเวณต่อมน้ำเหลือง  ถ้ามีอาการเหล่านี้ สามารถทานยาลดไข้  หรือ ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ  ก็จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้  เมื่อเข้ารับการรักษาครั้งต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า

5. มีอาการคัน หรือ มีผื่นแพ้  จากยาที่ใช้ภายนอก  อาจเกิดจากการแพ้ยา หรือ ผิวแห้ง/บางจนเกินไปจนทำให้ระคายเคืองได้ง่าย  ควรงดการใช้ยา  เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้ยา ควรงดการพอกยานานเกิน 4 ชั่วโมง  หรือพอกยาทิ้งไว้ข้ามคืน

6. มีอาการมึนศีรษะ ตาลาย หลังจากนอนคว่ำนาน ๆ อาการนี่จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง  เมื่อผ่านไปสัก 10 -15 นาที

 


 


 


 

 


 

 

 




 
 




เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้