รักษาผมร่วงผมบางตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  2971 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รักษาผมร่วงผมบางตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ผมบางกลางกระหม่อมหนังศีรษะมันหรือมีรังแคจำนวนมากร่วมกับอาการผมร่วง จัดเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มักจะมีประวัติพบคนในครอบครัวเป็นเช่นกัน หนังศีรษะของผู้ป่วยมีน้ำมันมากผิดปกติ เส้นผมบริเวณไรผมด้านหน้าและกลางกระหม่อมบางนุ่ม หลุดร่วงจนดูล้าน พบบ่อยตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไปและพบมากในเพศชาย โรคนี้เทียบเคียงได้กับ ผมร่วงจากโรคเซ็บเดิร์ม(seborrheic alopecia)  ผมร่วงในเพศชาย(male pattern alopecia) อาการผมร่วงจากกรรมพันธุ์ (androgenic Alopecia)  ผมร่วงก่อยวัย(premature alopecia) และผมร่วงในเพศหญิง

สาเหตุและกลไกของโรค

ในระยะแรกของโรคมักเกิดจากภาวะลมแห้งจากความร้อนในเลือดหรือจากม้ามและกระเพาะอาหารร้อนชื้น ส่วนระยะท้ายของโรคมักพบภาวะอินและเลือดพร่อง ตับไตพร่อง

กลไก

1. เดิมพื้นฐานร่างกายมีภาวะเลือดร้อน เมื่อโดนลม(เสียชี่)กระทบ หรืออารมณ์แปรปรวนก่อให้เกิดโรค(ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เป็นสาเหตุของโรค) ล้วนสามารถทำลายเลือดและอิน เกิดความแห้งจนทำให้ทั้งอินและเลือดไม่สามารถหล่อเลี้ยงเส้นผม ทำให้รากผมแห้ง ส่งผลให้เส้นผมแห้งหลุดร่วง

2. การทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ทานอาหารรสหวานมัน รสจัด เป็นประจำจะทำลายม้ามและกระเพาะอาหาร การทำงานของม้ามกระเพาะเสียสมดุล ทำให้ของเสียตกค้างสะสมเป็นความชื้นจนเกิดเป็นความร้อน ความร้อนและชื้นรวมกันในร่างกายลอยขึ้นสู่ส่วนบน ส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน เลือดและสารจิงที่จะไปหล่อเลี้ยงเส้นผมเป็นไปได้ยากทำให้เส้นผมหลุดร่วง

3. การใช้สมองใช้ความคิดมากเกินไป จะไปทำลายอินและเลือด นานวันกระทบถึงตับกับไต สารจิงและเลือดของตับไตลดลงจนไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเส้นผม รากผมขาดการหล่อเลี้ยง ผมจึงหลุดร่วงจนล้าน

อาการทางคลินิก

มักพบในเพศชายช่วงวัย20-30 ปี พบน้อยในเพศหญิง มีประวัติของคนในครอบครัว โดยผมจะเริ่มร่วงจากบริเวณไรผมด้านหน้าทั้งสองข้าง เส้นผมเริ่มเล็กบาง หน้าผากเริ่มสูงไปถึงกลางกระหม่อม หรืออาจเริ่มผมร่วงจากบริเวณกลางกระหม่อม นานวันบริเวณหนังศีรษะที่ล้านมันวาวพบแค่เส้นขนอ่อนๆ ในเพศหญิงอาการจะเบากว่าถึงแม้กลางกระหม่อมผมจะดูบางแต่จะไม่หลุดร่วงจนหมด โดยทั่วไปหนังศีรษะจะมันหรือมีรังแคจำนวนมากร่วมกับอาการคันที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ส่วนใหญ่ระยะของโรคดำเนินช้า ระดับความรุนแรงของการหลุดร่วงขึ้นกับแต่ละคน อาจจะร่วงเร็วจนเป็นระดับผมร่วงในผู้สูงวัย ส่วนใหญ่จะเป็นผมร่วงชนิดถาวร

การแบ่งกลุ่มอาการตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

1.กลุ่มอาการลมแห้งจากความร้อนในเลือด : เส้นผมแห้งสีน้ำตาล ผมบางหลุดร่วง และมีรังแคมากร่วมกับอาการคันหนังศีรษะ

2.กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารร้อนชื้น : มักพบในผู้มีพฤติกรรมชอบทานรสจัด หวานมัน ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เส้นผมเล็กบาง และมันวาวเหมือนทาน้ำมันเคลือบผม จนอาจมีลักษณะเหมือนเส้นผมเหนียวติดกัน ร่วมกับมีรังแคชนิดเปียก มีอาการคันหนังศีรษะ

3.กลุ่มอาการตับและไตพร่อง : มีการดำเนินโรคมายาวนาน กลางกระหม่อม ไรผมด้านหน้าเส้นผมบางและน้อยหรืออาจร่วงจนล้าน บริเวณที่ผมร่วงหนังศีรษะมันวาว มักมีอาการเวียนศีรษะ หูมีเสียง ตาลาย ปวดเมื่อยเอวและหัวเข่า

หลักการรักษา

ทางการแพทย์แผนจีนมองว่า การงอกของเส้นผมมีความสัมพันธ์กับอวัยวะ ม้าม ตับ ไต เดิมอาการผมร่วงนั้นเกิดจากสาเหตุภาวะเลือดร้อนและร้อนชื้นเป็นส่วนใหญ่ อวัยวะตับทำหน้าที่ควบคุมการกระจายและระบายของชี่ ม้ามทำหน้าที่ย่อยอาหาร หากอารมณ์จิตใจเสียสมดุล ตับร้อนไฟกำเริบ หรือทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ กินอาหารเผ็ดร้อนหวานมันมากเกินไป ส่งผลให้ร่างกายเกิดความร้อนชื้นสะสม ลอยสู่ส่วนกลางกระหม่อม ทำให้หนังศีรษะมัน ผมบางกลางกระหม่อม โดยพิจารณาตามกลุ่มอาการของแต่ละบุคคล และทานยาจีนเพื่อปรับร่างกายให้เข้าสู่สมดุลเพื่อเป็นการรักษา การชะลอและการป้องกันอาการของโรค ในรายที่เป็นมากอาจพิจารณารักษาร่วมกับการฝังเข็ม

การดูแลและการป้องกัน

- หลีกเลี่ยงการทานอาหารเผ็ดร้อนรสจัดและหวานมันมากเกินไป ทานผักผลไม้สดใหม่ให้เพียงพอ

- หลีกเลี่ยงความเครียดหรือการตรากตรำเหน็ดเหนื่อยมากไป ใช้ชีวิตให้สมดุลและมีกฏเกณฑ์ ไม่อดนอนเป็นประจำ

- ไม่สระผมบ่อยเกินไป ไม่ใช้แชมพูที่มีค่าความเป็นด่างมากไป

------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร  (หมอจีน หวง เหม่ย ชิง)
黄美清 中医师
TCM. Dr. Mananya Anurakthanakorn (Huang Mei Qing)
แผนกอายุรกรรมภายนอก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้