ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  829 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่าโรคเบาหวาน หรือเซียวเข่อ เมื่อเป็นนานวันเข้า ทำให้อวัยวะตันทั้งห้าเสื่อมถอย อินพร่องสารน้ำถูกทำลาย ชี่และอินพร่อง ชี่และเลือดไหลเวียนติดขัด เส้นลมปราณติดขัด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานต่างๆ และอาจมีความซับซ้อนแกร่งพร่องปะปนกัน สามารถพบได้ทั้งชี่และอินพร่อง ความชื้น เสมหะ เลือดคั่งเป็นต้น ทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนติดขัด ปัจจัยก่อโรคภายนอกรุกรานอุดกั้นเส้นลมปราณ ทำให้เส้นลมปราณลั่วเสื่อมถอย

1.ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก

     1) ภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาท เป็นผลทำให้ปลายประสาทเสื่อมสูญเสียการรับรู้ มีอาการชาตามส่วนปลายแขนขาของผู้ป่วยเบาหวาน

     แพทย์แผนจีนมองว่า เมื่อเจ็บป่วยนานวันร่างกายอ่อนแอ ม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง ชี่และเลือดไม่สามารถสร้างได้เพียงพอ ชี่ไม่สามารถขับเคลื่อนสารจิน ทำให้เสมหะและเลือดคั่ง อุดกั้นเส้นลมปราณ กล้ามเนื้อจึงเกิดอาการชาและปวด

     2) ภาวะแทรกซ้อนที่ไต ระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่จะตรวจพบโปรตีนอัลบูมินหรือไข่ขาวรั่วออกมาทางปัสสาวะในปริมาณเล็กน้อย ต่อมาเมื่อโปรตีนรั่วออกมามากขึ้น อาจพบปัสสาวะเป็นฟองและมีอาการบวมได้ และอาจมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย

     แพทย์แผนจีนมองว่าม้ามและไตพร่อง ควบคุมการแปรเปลี่ยนชี่ผิดปกติ สารจิงไม่ถูกส่งขึ้นด้านบนกลับลงสู่เบื้องล่างกลายเป็นปัสสาวะขุ่นหรือมีฟอง นานวันชี่และเลือดถูกทำลาย เส้นลมปราณขาดการหล่อเลี้ยง ของเหลวไม่มีแรงขับเคลื่อน เส้นลมปราณติดขัด น้ำและของเหลวคั่งค้างภายในทำให้เกิดอาการบวมน้ำ

     3) ภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา ผู้ป่วยเบาหวานมีอัตราเสี่ยงของการตาบอดได้มากกว่าคนธรรมดาถึง 20 เท่า เป็นโรคที่จอประสาทภายในลูกตา ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยตาเปล่า

     แพทย์แผนจีนมองว่าเกี่ยวข้องกับอวัยวะตับ ตับเป็นทวารของดวงตา ตับได้รับเลือดทำให้มองเห็นได้ ดังนั้นเมื่อเลือดหรืออินตับไม่เพียงพอ ดวงตาขาดการหล่อเลี้ยง ไฟพร่องรบกวนเบื้องบน ทำลายเส้นเลือด ทำให้ตาแห้ง แสบตา ปวดตา นอกจากนี้นานวันเข้าอาจมีความชื้นร้อน เสมหะหรือเลือดคั่งอุดกั้นภายในร่วมด้วย

2.ภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดใหญ่

     ระดับน้ำตาลที่สูงทำให้ผนังของหลอดเลือดหนาตัวขึ้น การไหลเวียนเลือดไม่ดี และเกิดหลอดเลือดตีบตัน มักจะเกิดขึ้นที่เส้นเลือดฝอยบริเวณปลายเท้า ทำให้บริเวณปลายเท้าขาดเลือดไปเลี้ยง เน่าดำ บางรายเกิดที่สมองทำให้เป็นอัมพาต เกิดที่หัวใจทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยง

     แพทย์แผนจีนมองว่าเมื่อเป็นนานวัน มักมีภาวะเลือดคั่งอุดกั้นเส้นลมปราณหรือเส้นเลือดร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งชี่พร่องทำให้เลือดคั่ง หยางพร่องทำให้ความเย็นเกาะกุมเลือดไม่สามารถไหลเวียน หรือชี่และอินพร่องทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้  และหลอดเลือดตีบตัน จนในที่สุดอาจเกิดการเน่าเปื่อย ปัจจัยก่อโรคภายนอกอาจรุกรานได้ เกิดความชื้นร้อนสั่งสมภายใน ในระยะท้ายอาจมีภาวะพร่องแกร่งปะปนกัน อินหยางไม่สมดุล อินและหยางพร่อง  หยางพร่องไม่สามารถอบอุ่นภายใน ความเย็นอุดกั้นเลือดคั่งตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

วิธีการรักษา นอกจากการรับประทานยาตามสภาวะของร่างกายแล้ว ยังสามารถรักษาด้วยวิธีฝังเข็มได้ เพื่อปรับการไหลเวียนของชี่และเลือด บำรุงม้ามและไต เลือกใช้จุดจู๋ซานหลี่ (Zusanli,ST36)  จุดเจี๋ยซี (Jiexi,ST41) จุดอินหลิงเฉวียน (Yinlingquan,SP9) จุดหยางหลิงเฉวียน (Yanglingquan,GB34) จุดชวีฉือ (Quchi,LI11) จุดไท่ซี (Taixi,KI3) จุดซานอินเจียว (Sanyinjiao,SP6) จุดเน่ยถิง (Neiting,ST44) เป็นต้น

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ (หมอจีน ไช่ เพ่ย หลิง)
蔡佩玲 中医师
TCM. Dr. Orakoch Mahadilokrat (Cai Pei Ling)
แผนกอายุรกรรมมะเร็ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้