ปวดศีรษะ อาการยอดฮิตของคนทุกช่วงวัย

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  1019 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดศีรษะ อาการยอดฮิตของคนทุกช่วงวัย

อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อยมากในทุกเพศทุกวัย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง โดยการทานยาเพื่อบรรเทาอาการ แต่บางกรณีอาจเป็นการปวดศีรษะแบบรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมองหรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งอาการปวดศีรษะแบบรุนแรงและไม่รุนแรงจะมีอาการที่แตกต่างกัน

อาการปวดศีรษะแบบรุนแรง จะมีลักษณะอาการ คือ ปวดเฉียบพลัน หรือปวดรุนแรง หรือปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือทานยา แต่ไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตามัว ชาแขนขา คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะแบบรุนแรงจะต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เนื่องจากเป็นอาการปวดศีรษะเนื่องจากสิ่งผิดปกติทางสมอง

อาการปวดศีรษะแบบไม่รุนแรง จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการลักษณะข้างต้น โดยอาการที่พบได้ทั่วไป เช่น

- การปวดศีรษะจากความเครียด (Tension Type Headache) พบได้มากในทุกเพศทุกวัย จะมีลักษณะการปวดแบบตื้อ ๆ มึน ๆ เหมือนถูกบีบรัดบริเวณขมับ ซึ่งอาจเกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ เนื่องจากเครียด พักผ่อนน้อย หรือทำกิจกรรมที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ อาการปวดเช่นนี้จะเป็นไม่มาก สามารถทานยาแก้ปวดและพักผ่อนให้เพียงพอ อาการก็จะดีขึ้น

- การปวดศีรษะไมเกรน พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ซึ่งจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน ลักษณะการปวดแบบตุ้บ ๆ บริเวณขมับร้าวมาที่กระบอกตา หรือท้ายทอย มักปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย เนื่องจากมีปัจจัยกระตุ้นจากอาการร้อน ความเครียด กลิ่น การมีรอบเดือน เป็นต้น โดยจะปวดมากกว่าการปวดศีรษะจากความเครียด มักปวดตั้งแต่ 4 – 72 ชั่วโมง

- การปวดศีรษะชนิดคลัสเตอร์ (Cluster headache) พบได้บ่อยรองลงมากจากอาการอื่น ๆ ซึ่งจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ช่วงวัยกลางคนขึ้นไป ลักษณะการปวดเป็นชุด ๆ เวลาเดิม ๆ บริเวณรอบกระบอกตา ปวดมากกว่าอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยจะปวดระยะหนึ่ง ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วหายไป และอาจมีอาการตาแดง น้ำตาไหล และหนังตาตกร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทสมองคู่ที่ 5 และหลอดเลือดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ

อาการปวดศีรษะในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

ปวดศีรษะ เป็นอาการทางคลินิกที่พบได้บ่อย โดยอาการอาจพบเป็นอาการเดี่ยว ๆ หรือพบร่วมกับโรคเรื้อรังและโรคเฉียบพลันอื่น ๆ ซึ่งหากปวดศีรษะอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน โดยเกิดซ้ำ ๆ ไปมา ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน จะเรียกว่า "โถวเฟิง"

โดยตำแหน่งของโรคจะเกี่ยวข้องกับ เส้นลมปราณหยางของมือทั้งสาม เส้นลมปราณหยางของเท้าทั้งสาม เส้นลมปราณตับ และเส้นลมปราณตู

สาเหตุและกลไกการเกิด

ศีรษะ เป็น "ศูนย์รวมของหยาง" "ที่อยู่ของหยางบริสุทธิ์" เป็นศูนย์รวมของชี่และเลือด

เนื่องจากเป็นอวัยวะส่วนบน จัดว่าเป็นตำแหน่ง หยาง ซึ่งง่ายต่อการกระทบของลมและไฟ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นได้

สาเหตุการปวดศีรษะมีหลายประการ โดยมักเกี่ยวข้องกับสาเหตุหลัก คือ ปัจจัยเกิดจากภายนอกและภายใน

ปัจจัยเกิดจากภายนอกปัจจัยเกิดจากภายใน
เกิดจากลมเป็นสาเหตุหลัก "ลมมักจะรุกรานส่วนบนของร่างกายก่อนเสมอ" มักมีความเย็น ความชื้น ความร้อนร่วมด้วย ขึ้นไปโจมตีทวารสมอง เส้นลมปราณถูกอุดกั้น ทำให้ปวดศีรษะเกิดจากอารมณ์ อาหาร ความอ่อนแอของร่างกาย การเจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นต้น ทำให้หยางของตับทะยานขึ้นสูง ไตพร่อง เลือดพร่อง เสมหะขุ่น เลือดคั่ง ทำให้ปวดศีรษะ

 

การวินิจฉัยและวิเคราะห์แยกกลุ่มอาการ

ในลำดับแรก แพทย์ควรจะต้องแยกลักษณะอาการปวดศีรษะว่า เกิดจากปัจจัยเกิดโรคภายนอกหรือภายใน

ปัจจัยเกิดลักษณะอาการ
ภายนอกกำเนิดโรคเร็ว ระยะเวลาสั้น ปวดรุนแรง มักเกิดเพราะเสียชี่ ซึ่งอาจเป็นลม ความเย็น ความชื้น ความร้อน ทำลายเว่ยชี่ของปอด
ภายในการดำเนินโรคช้า ระยะเวลายาวนาน กำเริบซ้ำไปมา เดี๋ยวหนักเดี๋ยวเบา ต้องวิเคราะห์แยกแยะว่ามาจากชี่พร่อง เลือดพร่อง หยางตับ เสมหะความชื้น เลือดคั่ง

 

ลำดับที่สอง แพทย์ควรจะต้องแยกประเภทอาการปวดจากบริเวณที่ปวดศีรษะ

ประเภทอาการปวดบริเวณที่มีอาการปวด
ปวดศีรษะไท่หยางท้ายทอย ไล่ลงมาตามต้นคอ
ปวดศีรษะหยางหมิงหน้าผากตลอดจนตามแนวคิ้ว
ปวดศีรษะเส้าหยางด้านข้างศีรษะทั้ง 2 ข้างและบริเวณหู
ปวดศีรษะเจวี๋ยอินกระหม่อมหรือตลอดจนบริเวณตา

 

ลำดับที่สาม แพทย์ควรจะต้องแยกประเภทจากลักษณะอาการปวดศีรษะ

ประเภทอาการปวดลักษณะอาการปวด
ปวดศีรษะจากลมเย็นปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน มีอาการปวดร้าวไปที่ลำคอและหลัง เมื่อโดนลมและความเย็นจะปวดมาก มักชอบเอาผ้าขนหนูคลุมศีรษะ ไม่กระหายน้ำ หรือมีอาการร่วมกับคัดจมูกมีน้ำมูกใส ฝ้าขาวบางชีพจรฝูหรือฝูจิ่น(浮或浮紧)
ปวดศีรษะจากลมร้อนปวดตึงศีรษะ ถ้าเป็นมากอาจปวดเหมือนศีรษะจะแตก เป็นไข้กลัวลม หน้าแดง ตาแดง ปากแห้งกระหายน้ำ ขับถ่ายไม่สะดวกหรือท้องผูก ปัสสาวะเหลือง ชีพจรฝูซู่(浮数)
ปวดศีรษะจากลมชื้นปวดศีรษะเหมือนโดนบีบรัด รู้สึกว่าแขนขาหนัก แน่นหน้าอกเบื่ออาหาร อุจจาระเหลว ปัสสาวะไม่คล่อง ฝ้าขาวเหนียวชีพจรหรูหฺวา(濡滑)
ปวดศีรษะจากตับหยางปวดศีรษะแบบปวดแน่น ปวดตุบ ๆ หากอาการหนักอาจมีอาการปวดทั้ง 2 ข้าง ตาลาย กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย หน้าแดงปากขม ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรเสียนมีแรงหรือเสียนซี่ซู่(弦有力或弦细数)
ปวดศีรษะจากไตพร่องปวดศีรษะแบบกลวงโล่ง ร่วมกับวิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยเอว เพลียไม่มีแรง ฝันเปียก มีตกขาว มีเสียงในหู นอนหลับไม่ดี ลิ้นแดงฝ้าน้อยชีพจรซี่ไม่มีแรง(细无力)
ปวดศีรษะจากเลือดพร่องปวดศีรษะแบบรำคาญ บางครั้งมีอาการมึนเวียน เมื่อเหน็ดเหนื่อยอาการปวดจะมากขึ้น ใจสั่นนอนไม่หลับ สีหน้าไม่เปล่งปลั่ง อ่อนเพลียไม่มีแรง ลิ้นซีดฝ้าบางขาว ชีพจรซี่(细)
ปวดศีรษะจากชี่พร่องปวดศีรษะแบบหน่วงๆ กำเริบเป็นบางครั้ง ถ้าอ่อนเพลียจะเป็นมากขึ้น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจสั้น ไม่มีแรงพูด เหงื่อออกง่าย สีหน้าออกซีด ลิ้นสีแดงอ่อน หรือซีดอ้วน ขอบมีรอยฟัน ฝ้าขาวบาง ชีพจรซี่รั่ว(细弱)
ปวดศีรษะจากเสมหะขุ่นปวดศีรษะแบบมึนหนัก บางครั้งมีอาการมึนเวียน แน่นหน้าอก แน่นช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเสมหะ ฝ้าขาวหนา ชีพจรหฺวาซู่หรือเสียนหฺวา(滑数或弦滑)
ปวดศีรษะจากเลือดคั่งปวดศีรษะเป็นเวลานาน หรือมีประวัติได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ตำแหน่งปวดแน่นอนไม่เปลี่ยนที่ ปวดเหมือนเข็มทิ่ม ลิ้นคล้ำม่วงหรือมีรอยจุดเลือดคั่ง ฝ้าบาง ชีพจรเฉินซี่หรือเซ่อ(沉细或涩)

 

วิธีการรักษา

หลักการรักษา คือ “ปรับสมดุลชี่และเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด”

ดังนั้นเมื่อวินิจฉัยแล้วพบว่า

- อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจาก “ภาวะแกร่ง” หลักการรักษาจึงมักใช้การระบายลมและขับชี่ที่ก่อโรค เป็นหลัก

- อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน สามารถเกิดขึ้นได้จากทั้ง “ภาวะแกร่ง” และ “ภาวะพร่อง” การรักษาจึงสามารถใช้ได้ทั้งการบำรุงหรือการระบาย หรือใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน ตามแต่สาเหตุ

การรักษาโดยการฝังเข็ม

หลักการเลือกจุดฝังเข็ม ดังนี้

จุดฝังเข็มบริเวณ
จุดหลักศีรษะที่มีอาการปวด
จุดรองจุดไกลไล่ไปตามเส้นลมปราณ
จุดเสริมจุดที่เป็นปัจจัยในการก่อโรค

 

การใช้จุดฝังเข็มตามประเภทบริเวณที่ปวด (จุดหลัก-จุดรอง) มีดังนี้

ประเภทบริเวณที่ปวดจุดฝังเข็ม
ปวดศีรษะไท่หยางจุดหลัก : เทียนจู้ เฟิงฉือ อาซื่อ

จุดรอง : โฮ่วซี เซินม่าย คุนหลุน
ปวดศีรษะหยางหมิงจุดหลัก : อิ้นถาง ซ่างซิง หยางไป๋ ฉ่วนจู๋โท่วอวี๋เยา อาซื่อ

จุดรอง : เหอกู่ เน่ยถิง
ปวดศีรษะเส้าหยางจุดหลัก : ไท่หยาง ซือจู๋คง เจี่ยวซุน ไซว่กู่ เฟิงฉือ อาซื่อ

จุดรอง : ไว่กวน จู๋หลินชี่
ปวดศีรษะเจวี๋ยอินจุดหลัก : ไป่หุ้ย ซื่อเสินชง อาซื่อ

จุดรอง : จงชง ไท่ชง

 

การใช้จุดฝังเข็มตามประเภทลักษณะการปวด (จุดเสริม) มีดังนี้

ลักษณะการปวดจุดฝังเข็มเสริม
ปวดศีรษะจากลมเย็นเฟิงฝู่ เลี่ยเชวีย รมยาจุดต้าจุย
ปวดศีรษะจากลมร้อนเฟิงฉือ เฟิงเหมิน ชวีฉือ
ปวดศีรษะจากลมชื้นเฟิงฉือ เฟิงเหมิน ซานอินเจียว
ปวดศีรษะจากตับหยางสิงเจียน ไท่ชง
ปวดศีรษะจากไตพร่องเซิ่นซู ไท่ซี
ปวดศีรษะจากเลือดพร่องเสวี่ยไห่ จู๋ซานหลี่
ปวดศีรษะจากชี่พร่องชี่ไห่ จู๋ซานหลี่
ปวดศีรษะจากเสมหะขุ่นเฟิงหลง จงหว่าน
ปวดศีรษะจากเลือดคั่งเสวี่ยไห่ เก๋อซู

 

วิธีการ :

- ปวดศีรษะจากเลือดคั่ง : สามารถฝังเข็ม ร่วมกับวิธีการเจาะปล่อยเลือดได้

- ปวดศีรษะแบบเฉียบพลัน : ฝังเข็มวันละ 1-2 ครั้ง

- ปวดศีรษะแบบเรื้องรัง : ฝังเข็มวันละ 1 ครั้ง หรือวันเว้นวัน

กรณีศึกษา (Case Study)

- ข้อมูลผู้ป่วย
ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 49 ปี เข้ารับการรักษาครั้งแรกวันที่ 6 พฤษภาคม 2566
เข้าพบแพทย์ด้วยอาการสำคัญ คือ ปวดศีรษะด้านขวา เป็นช่วง ๆ โดยเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลา 8 ปี โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอาการดังกล่าวเป็นรุนแรงมากขึ้น

- อาการปัจจุบัน
ผู้ป่วยปวดศีรษะด้านขวา เป็นช่วง ๆ โดยเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลา 8 ปี มักปวดอยู่ข้างศีรษะและบริเวณท้ายทอยลามลงมาถึงต้นคอ ลักษณะอาการปวด คือ ปวดแบบหน่วง ๆ เมื่อทานยาแผนปัจจุบันอาการจะทุเลาลง แต่ก็กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอาการดังกล่าวเป็นรุนแรงมากขึ้น

อาการร่วมอื่น ๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ในบางครั้งมีอาการเวียนศีรษะ หายใจสั้น ใจสั่น นอนหลับยาก นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ สีหน้าไม่เปล่งปลั่ง ความอยากอาหารปกติ การขับถ่าย 1-2 วัน/ครั้ง

- การตรวจร่างกาย
ความดันโลหิต 110/65 mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 72 ครั้ง/นาที ตรวจลิ้นพบลิ้นสีแดงซีด ฝ้าขาวบาง ขอบลิ้นมีรอยฟัน ชีพจรซี่รั่ว (เล็กอ่อนแรง)

- การวินิจฉัย
ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ(头痛)ในกลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง

- วิธีการรักษา
แพทย์ใช้วิธีการฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลชี่และเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ ระงับอาการปวด

- จุดฝังเข็ม
แพทย์ใช้จุดฝังเข็มจุดหลักและจุดประกอบ ดังนี้

จุดหลัก/จุดประกอบจุดฝังเข็ม
จุดหลักเฟิงฉือ ไท่หยาง ซือจู๋คง เจี่ยวซุน อาซื่อ ไซว่กู่ ไว่กวน จู๋หลินชี่
จุดประกอบชี่ไห่ เสวี่ยไห่ จู๋ซานหลี่

 

- ผลการรักษา

ครั้งที่ 1 หลังจากรับการฝังเข็มในครั้งแรก อาการปวดบรรเทาลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังไม่หายขาด อาการอื่น ๆ ยังคงมีอยู่บ้าง โดยอาการปวดในแต่ละครั้งจะไม่รุนแรงเช่นเดิม แต่ยังมีการใช้ยาแผนปัจจุบันอยู่ 1 ครั้ง เนื่องจากต้องทำงาน

ครั้งที่ 2 หลังจากการฝังเข็มในครั้งแรก เว้นระยะห่าง 1 วัน จึงเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาครั้งที่ 2 โดยหลังจากการฝังเข็มครั้งที่ 2 อาการปวดทิ้งระยะห่างอย่างเห็นได้ชัด ไม่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบันอีก หายใจสะดวกมากยิ่งขึ้น นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

ครั้งที่ 3 หลังจากการฝังเข็มในครั้งที่ 2 เว้นระยะห่าง 3 วัน อาการปวดในรอบ 3 วันดีขึ้น แทบจะไม่มีอาการอีกเลย ยกเว้นเมื่อเจอสิ่งกระตุ้นภายนอก แต่ไม่รุนแรงถึงขนาดที่ต้องใช้ยาแผนปัจจุบัน นอนหลับได้ดี รู้สึกสดชื่นมากยิ่งขึ้น

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

อาการปวดศีรษะในปัจจุบันได้กลายเป็นโรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยมาก ซึ่งมีผู้ป่วยที่เข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะเพิ่มมากขึ้น ไม่จำกัดเพศ และหลากหลายช่วงวัย หากคุณคือคนหนึ่งที่มีความทุกข์ทรมานกับอาการปวดศีรษะอยู่บ่อยครั้ง ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือปล่อยไว้จนเป็นอาการปวดเรื้อรังที่ยากต่อการรักษา แต่ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษา ซึ่งศาสตร์การแพทย์แผนจีนก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก โดยมีงานวิจัยรองรับ และองค์การอนามัยโลกให้รับรองว่า การฝังเข็ม เป็นการรักษาโรคปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนริฟฮาน ยูโซะ (หมอจีน หลัว หรู ซาน)

罗如珊  中医师

TCM. Dr. Rifhan Yusoh (Luo Ru Shan)

แผนกฝังเข็ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้