Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1025 จำนวนผู้เข้าชม |
กลุ่มอาการภาวะอ่อนล้า (ซวีเหลา) สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยส่วนมากเกิดจากการทำงานของอวัยวะจ้างฝู่ (อวัยวะตันทั้ง 5 ได้แก่ หัวใจ ตับ ม้าม ปอด ไต) ที่เสื่อมพร่อง อีกทั้งชี่ เลือด อินและหยางพร่องหรือผู้ที่ป่วยเรื้อรังมานาน
อาการทางคลินิกของซวีเหลา
อาการหลักของซวีเหลา คือ อ่อนเพลีย เฉื่อยชา เซื่องซึม ผอมแห้ง ใบหน้ามีสีเหลือง ลิ้นแห้ง ชีพจรเล็กอ่อน ร่างกายมีการดำเนินของโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป การตรากตรำทำงานหนัก(劳) หรือการป่วยเรื้อรังมานานทำให้การทำงานของอวัยวะจ้างฝู่ ชี่ เลือด อินและหยางถูกทำลาย(损) และเมื่อร่างกายตรากตรำทำงานหนัก ชี่เลือด อินและหยางถูกทำลายนานๆจึงเกิดเป็นอาการพร่อง (虚) เนื่องจากกลุ่มอาการเลือดพร่อง อินพร่องและหยางพร่อง มีอาการทางคลินิกในระยะแรกที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการวินิจฉัยจำแนกกลุ่มอาการเพื่อกำหนดการรักษาที่เหมาะสม
สาเหตุของซวีเหลา
จากคัมภีร์《理虚元鉴·虚症有六因》กล่าวว่า สาเหตุของซวีเหลาเกิดจาก
1. อ่อนแอแต่กำเนิด
2. อ่อนแอภายหลังกำเนิด
3. เจ็บป่วยมาเป็นเวลานาน
4. สาเหตุก่อโรคภายนอก
5. อารมณ์ที่ผิดปกติ
6. โรคที่ได้รับการรักษาผิดวิธี
สาเหตุของซวีเหลาจากสาเหตุข้างต้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้
1. อ่อนแอแต่กำเนิด สารจิง[1]ในไตของพ่อแม่ต้องสมบูรณ์เต็มเปี่ยม ถ้าหากสารจิงแต่กำเนิดไม่เพียงพอ ชี่และเลือดมีปริมาณน้อย ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ จึงถูกปัจจัยที่ก่อเกิดโรคเข้ารุกรานได้ง่าย
2. การตรากตรำทำงานมากเกินไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในร่างกาย ทำให้เลือดลมไหลเวียนผิดปกติ อวัยวะต่างๆทำงานแปรปรวน และทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น
- การดีใจที่มากเกินไปส่งผลทำลายหัวใจ
- อาการเก็บกด เครียด หรือความโกรธที่มากเกินไปจะทำลายตับ
- การครุ่นคิดที่มากเกินไปส่งผลทำลายม้าม เนื่องจากม้ามเป็นทุนหลังกำเนิด (脾为后天之本) หลังการกำเนิดของมนุษย์ ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารมาหล่อเลี้ยงเพื่อเจริญเติบโตและดำรงชีวิต
- ความโศกเศร้าที่มากเกินไปทำลายปอด
- ความกลัวที่มากเกินไปทำลายไต
3. การมีเพศสัมพันธ์ที่มากเกินไป ส่งผลทำลายไตอินและไตหยาง รวมไปถึงการคลอดบุตรที่มากเกินไปจะทำให้ชี่[2] สารจิงและอวัยวะจ้างฝู่ของร่างกายเสื่อมลง หากเสื่อมพร่องเป็นระยะเวลานานสามารถทำให้เป็นโรคซวีเหลาได้
4. การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารอิ่มเกินไปทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานหนัก รวมไปถึงการรับประทานของเย็นหรืออาหารฤทธิ์เย็นเป็นเวลานานจะทำลายหยางของร่างกาย และหากรับประทานอาหารที่แห้งหรือมีฤทธิ์อุ่นมากเกินไปจะทำลายอินของร่างกายเช่นกัน เมื่ออินและหยางของร่างกายไม่สมดุลทำให้ภูมิต้านทานโรคของร่างกาลดลง
จึงเกิดเป็นซวีเหลาได้ง่าย เพราะฉะนั้น เราจึงควรรับประทานอาหารหลากหลาย ไม่รับประทานอาหารซ้ำเดิมมากเกินไป
[1] สารจิง คือ สารจำเป็นพื้นฐานที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย ช่วยส่งเสริมร่างกายให้สามารถดำรงชีวิตทำกิจกรรมต่างๆ ได้ และยังหมายถึงสารจำเป็นที่ใช้เจริญพันธุ์
[2] ชี่ คือ สารพื้นฐานที่ประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างของมนุษย์และก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนของชีวิต
ดังนั้น กลุ่มอาการภาวะอ่อนล้าหรือซวีเหลา เกิดจากการทำงานของอวัยวะจ้างฝู่เสื่อมพร่อง สามารถเกิดได้จากหนึ่งสาเหตุหรือหลายสาเหตุพร้อมกัน เช่น ชี่และเลือดพร่องมานาน อินและหยางไม่สมดุล ซึ่งในทางการแพทย์แผนจีนกล่าวว่าชี่และเลือด อินและหยางล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยชี่สามารถสร้างเลือดได้ ถ้าหากชี่ไม่เพียงพอร่างกายก็จะไม่สามารถสร้างเลือดได้และหากเลือดไม่เพียงพอก็จะไม่สามารถสร้างชี่ส่งไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆได้ ส่วนความสัมพันธ์ของอินและหยาง กล่าวว่าหากหยางพร่องจะไม่สามารถสร้างอินได้และอินพร่องก็จะไม่สามารถสร้างหยางได้ เช่น ม้ามพร่องก็จะทำให้ปอดพร่องตามตามหลักทฤษฎีปัญจธาตุ สุดท้ายนี้คนโบราณได้กล่าวว่าหากเรารับประทานอาหารที่มีประโยชน์และใช้ชีวิตตามให้สอดคล้องกับธรรมชาติหรือตามหลักนาฬิกาชีวิตเราจะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
-----------------------
บทความโดย
แพทย์จีน เจิ้ง เหลียง ฮ่าว
郑良好 资深中医师
TCM. Dr. Zheng Liang Hao
แผนกอายุรกรรม
แปลโดย แพทย์จีนชนกนันท์ ชวชาติ
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567