Checklist ใครกันที่จะเป็น “วัยรุ่นปวดหลัง”

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1814 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Checklist ใครกันที่จะเป็น “วัยรุ่นปวดหลัง”

ชีวิตทำงานเดี๋ยวนี้บอกเลย มีแต่อาการปวดหลัง ใครจะคาดคิดว่าเป็นวัยรุ่น เป็นนักเรียน เป็นคนทำงาน อายุยี่สิบต้น ๆ สามสิบกว่า ๆ ก็บ่นปวดหลังกันอย่างกับผู้สูงอายุ กระแสในโซเชียลแฮทแท็กยอดฮิต #วัยรุ่นปวดหลัง #พยายามทำงานแทบตายสุดท้ายได้เป็นแค่คนปวดหลัง  #เข้มแข็งกว่าใจก็คือ คอ บ่อ ไหล่ของเรา #งานหนักไม่เคยทำร้ายใคร ส่วนใหญ่คอ บ่า ไหล่ ตึง #ความสวยไม่จีรังปวดหลังคือถาวร  จริง ๆ แล้วอาการของวัยรุ่นปวดหลังคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร ลองมาทำความรู้จักและประเมินความเสี่ยงของวัยรุ่นปวดหลังไปด้วยกัน

ทำความรู้จักอาการของวัยรุ่นปวดหลัง

วัยรุ่นปวดหลัง มักมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ปวดเบ้าตา ตาแห้ง ปวดหรือชา ข้อมือ นิ้วมือ ในอดีตพบได้บ่อยในกลุ่มวัยทำงาน ในปัจจุบันพบได้มากขึ้นในกลุ่ม นักเรียน นักศึกษา พนักงานออฟฟิศ ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ ไอแพด มือถือเป็นเวลานาน ๆ ทางการแพทย์จัดอาการเหล่านี้เป็นกลุ่มอาการ office syndrome และด้วยความที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงานโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำงานสำนักงาน จึงเป็นที่มาของชื่อโรคดังกล่าว

สาเหตุของวัยรุ่นปวดหลัง

ด้วยลักษณะการทำงานหรือการใช้งานของวัยรุ่นสมัยนี้ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ใช้กล้ามเนื้อที่ไม่เหมาะสมในท่าใดท่าหนึ่งซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน หรือระยะเวลาในการทำงานที่มากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อต้องเกร็งตัวเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยไม่มีการผ่อนคลาย ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น หรือเส้นประสาท ส่งผลให้มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและอาจส่งผลให้มีความผิดปกติของร่างกายส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หรือระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย

office syndrome check ปัจจัยเสี่ยงของวัยรุ่นปวดหลัง

  • นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือบนโต๊ะทำงานมากกว่า 6  ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่มีการขยับเปลี่ยนท่าหรือยืดเหยียด
  • ระหว่างทำงานมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก และหลัง
  • ท่านั่งที่ไม่เหมาะสม นั่งหลังค่อม นั่งไขว้ห้าง นั่งห่อไหล่
  • สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โต๊ะ เก้าอี้ทำงานไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกาย หรือ ก้มเงยหน้ามากเกินไป
  • ทำงานหนักจนเกินไป ใช้งานหน้าจอนอกเวลางาน
  • ทำงานจนเกิดความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ทำงานจนรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา

ความรุนแรงของวัยรุ่นปวดหลัง

ระยะที่ 1 จะมีอาการปวดเมื่อยล้า ในบริเวณที่ถูกใช้งานเป็นประจำ หลังจากทำงาน ต่อเนื่อง 3-4 ชั่วโมง และอาการจะหายไปทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ หากไปพบแพทย์อาจตรวจไม่พบความผิดปกติโครงสร้างร่างกาย แต่เป็นเพียงความรำคาญหรือหงุดหงิดกับอาการปวดเมื่อยล้าเท่านั้น เพราะเคยทำงานได้เป็นระยะเวลานานโดยไม่มีอาการ

ระยะที่ 2 จะมีอาการปวดเมื่อยล้า ชา หรืออ่อนแรงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอาการร่วมกัน หลังจากทำงานไประยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ต้องลุกเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยครั้งและอาการมักจะเป็นคงค้างนาน ไม่หายไปในทันทีเมื่อเปลี่ยนท่าทาง อาจรบกวนการนอนหลับบ้าง หลังจากนอนพักอาการจะทุเลาลงบ้างเล็กน้อยและอาจมีอาการปวดตึงเมื่อตื่นนอน เมื่อลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอาการเหมือนจะดีขึ้น แต่เมื่อกลับมาทำงานท่าเดิม ๆ ได้สักพักอาการกลับแย่ลง ระยะนี้หากดูแล ตัวเองดี และทำตามคำแนะนำของแพทย์ ก็จะสามารถกลับมาหายเป็นปกติได้

ระยะที่ 3 อาการปวด เจ็บ ตึง เสียว ชา หรืออ่อนแรงจะมากขึ้นหรือเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดอาการตลอดเวลา แม้ว่าจะแค่เพียงทำกิจวัตรประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ปวดจนแทบทนทำต่อไปไม่ได้ อาจมีผลกระทบถึงทำให้ลางาน ขาดงาน หรือต้องลาออกจากงาน เพราะไม่สามารถทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้อีก อาการปวดจะรบกวนการนอน เกิดอาการนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายทรุดโทรมไม่สดชื่น ส่งผลให้ระบบอื่นๆของร่างกายแปรปรวน ร่างกายเสียสมดุลทำให้เกิด โรคอื่นๆตามมา การรักษาต้องใช้ระยะเวลารักษาฟื้นฟูสุขภาพร่างกายยาวนาน

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานก่อนปวดหลัง

  1. ปรับหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตา ไม่แหงนหน้าและก้มหน้า และระยะห่างไม่ควรใกล้และไกลหน้าจอจนเกินไป ประมาณหนึ่งช่วงแขน
  2. เก้าอี้ควรรับกับสรีระ มีผนักพิงนั่งแล้วสบาย หากนั่งแล้วเกิดช่องว่าง ควรหาหมอนอิงรองหลังล่าง เพื่อให้หลังตั้งตรง
  3. โต๊ะทำงาน ควรวางแขนให้อยู่ในแนวระนาบของคีย์บอร์ด ประมาณ 90 องศา
  4. ไม่วางแล็ปท็อปไว้บนตัก เพื่อป้องกันไม่ให้ก้มหน้าตลอดเวลา
  5. นั่งให้เต็มเก้าอี้ นั่งหลังตรง
  6. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถทุก ๆ 1 ชั่วโมง
  7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ เวทเทรนนิ่ง ไทเก็ก เป็นต้น
  8. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เช่น ยืดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ หลัง หรือโยคะ เป็นต้น
  9. นอนหลับพักผ่อนให้เป็นพอ
  10. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และตรงต่อเวลา
  11. ปรับบรรยากาศการทำงานให้น่าทำงาน มีอากาศถ่ายเท โล่ง โปร่ง สะอาด

ถ้าหากคุณมีปัจจัยความเสี่ยงและอาการปวดอย่างที่กล่าวไปข้างต้นนี้ ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน ถ้าอาการไม่ทุเลาควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินอาการและทำการรักษา

-----------------------

บทความโดย
แพทย์จีน กรกฎ คุณโฑ (โจว เฉิง)
周承 中医师
TCM. Dr. Koraghod Khuntho (Zhou Cheng)
แผนกกระดูกและทุยหนา

อ้างอิง

  1. กมลวรรณ กุลวัตร. (2565).  ออฟฟิศซินโดรม โรคที่มักพูดถึงบ่อยสำหรับมนุษย์วัยทำงานของไทย สืบค้น 30 มีนาคม 2566, สืบค้นจาก  https://www.hiso.or.th/officesyndrome/
  2. กาญจนาฎ คงคาน้อย. (2562).  การศึกษาประสิทธิผลของการฝังเข็มเพื่อลดอาการปวดกล้ามเนื้อ
    ในผู้ป่วยกลุ่มอาการออฟฟิศ ซินโดรม และความพึงพอใจต่อบริการรักษาพยาบาล แผนกผู้ป่วยนอก กองการแพทย์ทางเลือก, กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้