Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1633 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ในขณะที่ได้รับการรักษา หรือหลังจากได้รับการรักษามักจะประสบปัญหาทั้งกายและใจตามมาด้วย การรักษาตามมาตรฐานสากล ได้แก่ การผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด การใช้ยามุ่งเป้า และยาต้านฮอร์โมน ส่งผลทำให้เกิดอาการข้างเคียงแตกต่างกันไป เช่น
อาการหลังการผ่าตัด – ผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย บางรายยังมีอาการเจ็บและชาบริเวณที่ทำการผ่าตัด
การรักษาด้วยเคมีบำบัด – ในระหว่างที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดอาจมีอาการ เหนื่อยอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ชาตามปลายมือปลายเท้า ระบบการขับถ่ายแปรปรวน เลือดจาง ผมร่วง ผลต่อหัวใจ เป็นต้น บางรายอาจยังมีอาการต่อเนื่องแม้ว่าจะจบการรักษาไปแล้วก็ตาม
การรักษาด้วยการฉายแสง – ในระหว่างการรักษาด้วยการฉายแสงมักพบแผลพุพอง แผลร้อนใน เจ็บแสบร้อนภายใน เป็นต้น และอาจมีภาวะอาการแห้งทั่วร่างกาย ร้อนภายในได้ต่อเนื่องหลังจากจบการรักษาไปแล้ว
การรักษาด้วยยามุ่งเป้า – ในระหว่างการรักษาด้วยยามุ่งเป้ามักจะกระทบต่อเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่าง ๆ เกิดภาวะอักเสบได้ง่าย มีแผลร้อนใน ผื่นแพ้คันตามตัว อาการปวดเจ็บตามตัว หรือแสบร้อนตามร่างกาย เป็นต้น
ซึ่งอาการต่าง ๆ ข้างต้นเหล่านี้เป็นปัญหาที่รบกวนทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายท้อแท้กับการรักษา ไม่สามารถรักษาได้ต่อเนื่องจนจบคอร์ส บางรายอาจหยุดพักระยะยาวกลางคัน บางรายไม่แม้แต่จะเลือกรักษาตั้งแต่แรกเริ่มก็มี ในผู้ป่วยมะเร็งบางประเภทจากงานวิจัยการรักษาต่าง ๆ อาจจะได้ผลดีอย่างเป็นที่น่าพอใจ แต่ด้วยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหยุดกลางครัน รู้สึกท้อแท้และไม่สามารถไปต่อได้
การแพทย์แผนจีนมีจุดเด่นในการช่วยแก้ไข บรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการรักษา และช่วยปรับสมดุลร่างกายให้แข็งแรง และเมื่อผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงสามารถรักษาต่อจนจบคอร์สการรักษาได้ และยังช่วยส่งเสริมประสิทธิผลการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ดังนั้นในการรักษาอาการข้างเคียงต่าง ๆ จากการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันจึงสามารถใช้วิธีการรับประทานยาจีนเพื่อลดอาการข้างเคียงเป็นหลัก และเสริมการรักษาด้วยวิธีภายนอกได้ เช่น การฝังเข็ม การประคบยา การแช่ยา รมยา เป็นต้น เพื่อให้มีผลการรักษาที่มีประสิทธิผลสูงสุด
นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์จีนในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแล้ว เรายังสามารถบรรเทาอาการต่าง ๆ ด้วยตนเองได้เช่นกัน นั่นคือการเลือกทานอาหารที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อปรับบำรุงร่างกาย หรือการกดจุดดูแลสุขภาพ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งคนทั่วไปได้ ในการกดจุดจะช่วยให้ชี่และเลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น ช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทาน และยังบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้
4 จุด ช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง
จุดเหอกู่ (合谷) อยู่บริเวณง่ามนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ จุดนี้เรียกว่า “จุดระงับสารพัดปวด” สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ได้ โดยใช้นิ้วโป้งอีกข้างหรือให้คนรอบข้างช่วยกดนวดคลึงบริเวณจุดนี้จะรู้สึกหน่วง ๆ หากมีอาการปวด เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดฟัน ปวดตา ปวดหัวไหล่ ปวดแขน เป็นต้น สามารถกดจุดนี้สามารถช่วยบรรเทาได้
จุดเน่ยกวน (内关) อยู่บริเวณท้องแขน ห่างจากข้อมือลงมา 2 ชุ่น หรือประมาณ 3 นิ้วมือวางชิดกัน จุดนี้มีสรรพคุณช่วยสงบจิตใจ สามารถใช้รักษาอาการบริเวณทรวงอก หัวใจ และกระเพาะอาหารได้ ช่วยในการปรับการหมุนเวียนของชี่และเลือด บรรเทาอาการปวดชาบริเวณแขน ปวดกระเพาะอาหาร คลื่นไส้อาเจียน เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะได้ และยังเป็นหนึ่งในจุดอายุวัฒนะ เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงได้
จุดจู๋ซานหลี่ (足三里) อยู่บริเวณหน้าขา ห่างจากหัวเข่าลงมา 1 ฝ่ามือ และอยู่แนวด้านข้างกระดูกออกไป 1 นิ้วมือ เป็นจุดที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยบำรุงชี่ของกระเพาะอาหาร เสริมม้ามขับไล่ความชื้นได้ สามารถบรรเทาอาการ ปวดกระเพาะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ขับถ่ายผิดปกติ บรรเทาอาการเหนื่อยอ่อนเพลียได้ ช่วยบรรเทาอาการบริเวณขา ปวดเข่า ขาอ่อนแรง เป็นต้น และยังเป็นหนึ่งในจุดอายุวัฒนะที่สำคัญ เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงได้
จุดเสวียไห่ (血海) จุดนี้อยู่บริเวณหัวเข่าด้านบนด้านใน เหนือกระดูกขึ้นไป 2 ชุ่น หรือประมาณสามนิ้วมือ หรืออาจหาจุดนี้ง่าย ๆ โดยเอามือกุมหัวเข่า บริเวณนิ้วโป้งก็คือจุดเสวียไห่นั่นเอง จุดนี้มีชื่อเรียกว่า “ทะเลเลือด” มีสรรพคุณในการกระตุ้นการไหลเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง บรรเทาอาการปวด และยังช่วยในการเสริมบำรุงเลือดได้
จุดที่แนะนำไปในข้างต้น สามารถกดนวดเบา ๆ 5-6 ครั้ง แล้วปล่อยมือ ทำต่อเนื่องประมาณ 1-2 นาที สามารถทำได้เป็นประจำทุกวัน สามารถเลือกจุดจำคู่กัน เช่น หากมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย สามารถเลือกนวดจุดจู๋ซานหลี่และเน่ยกวนได้ หรือหากมีอาการ เหนื่อยอ่อนเพลีย เวียนศรีษะ เลือดจาง สามารถเลือกจุด จู่ซานหลี่ คู่กับเสวียไห่ หรือเน่ยกวนด้วยได้ แต่อย่างไรก็ตามในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องใช้ยาสมุนไพรจีน หรือวิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนอรกช มหาดิลกรัตน์ (หมอจีน ไช่ เพ่ย หลิง)
蔡佩玲 中医师
TCM. Dr. Orakoch Mahadilokrat (Cai Pei Ling)
แผนกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567