การดูแลผู้ป่วยมะเร็งช่วงผ่าตัด เคมีบำบัดและฉายแสงด้วยแพทย์แผนจีน (ตอนที่ 2)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1329 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งช่วงผ่าตัด เคมีบำบัดและฉายแสงด้วยแพทย์แผนจีน (ตอนที่ 2)

การฟื้นฟูร่างกายในผู้ป่วยมะเร็งด้วยโภชนาบำบัดด้วยการแพทย์แผนจีน(เย่าซ่าน-药膳)

โภชนาบำบัดแบบแพทย์แผนจีนนั้นเป็นการนำสรรพคุณอาหาร และการส่งผลของอาหารนั้นเข้าสู่เส้นลมปราณ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยมะเร็ง โภชนาบำบัดนั้นยังสามารถช่วยบำบัดโรคหรือฟื้นฟูในแต่ละช่วงที่การดำเนินของโรคไม่เหมือนกันได้ เช่น ช่วงหลังผ่าตัด ช่วงให้เคมีบำบัด ช่วงฉายแสง ช่วงพักฟื้น เป็นต้น 

  1. อาหารในผู้ป่วยมะเร็งที่พบบ่อย 

    ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเลือกทานอาหารให้เข้ากับโรคได้ เช่น 

    มะเร็งหลอดอาหาร: นมวัว ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลาชนิดต่าง ๆ ผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ ขนมปัง มันฝรั่ง กล้วย แปะก๊วย แตงโม สาลี่ มะเขือเทศ ถั่วลิสง แตงกวา ส้ม  เป็นต้น

    มะเร็งกระเพาะอาหาร: ผลิตภัณฑ์จากนม ปลา เนื้อสัตว์ ผักสีเหลืองและเขียว ผลิตภัณฑ์จากไข่ ผลไม้ มะเขือเทศ เป็นต้น

    มะเร็งลำไส้ใหญ่: ผักสีเหลืองและเขียว มันฝรั่ง ถั่วต่าง ๆ ผักกาดขาว ขนมปัง นมวัว เนย ปลาประเภทต่าง ๆ เป็นต้น

    มะเร็งเต้านม: ธัญพืชต่าง ๆ และวิตามินต่าง ๆ เป็นต้น

    มะเร็งปอด: ผักสีเหลืองและเขียว นมวัว หัวไชเท้า วิตามินซี แครอท ตับ เป็นต้น

  2. อาหารที่ควรห้ามในผู้ป่วยมะเร็ง

    ผู้ป่วยมะเร็งในช่วงพักฟื้นนั้นไม่ควรรับประทานอาหารหมักดองและปิ้งย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ทำการย่างจนมีรอยไหม้ ไม่ทานอาหารขึ้นราหรืออาหารที่ใส่สารกันบูดต่าง ๆ อาทิอาหารกระป๋อง ไส้กรอก ควรเลิกบุหรี่ และสุราทุกชนิด ไม่ทานอาหารอิ่มจัดเกินไป ไม่ปรุงแต่งรสชาติอาหารมากจนเกินไป เพราะพฤติกรรมเหล่านี้อาจไปเร่งให้ DNA ในเซลล์ร่างกายเราเกิดการกลายพันธุ์ได้ อาหารที่มีสรรพคุณต้านมะเร็งต่าง ๆ ก็ไม่ควรที่จะรับประทานจนเกินพอดี อาทิเช่น ลูกเดือยถึงแม้ว่าจะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ยับยั้งการกลายพันธุ์ของเซลล์อันเกิดจาก Aflatoxin B1ได้ แต่การรับประทานมากเกินไปก็จะทำให้อุจจาระแข็ง ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ควรทานร่วมกับอาหารที่มีสรรพคุณเสริมสารน้ำ ช่วยให้ลำไส้ชุ่มชื้น ขับร้อนและเสริมสารอิน 

    การหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้ในโรคมะเร็ง อาทิ เนื้อแกะ เนื้อแพะ กุ้ง ปู หอย บุหรี่ สุรา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นั้นมักจะก่อให้เกิดลมและไฟภายใน เกิดเสมหะขึ้นได้ อาหารเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการแพ้ขึ้น หากทานอาหารแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นจะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่สัมพันธ์ทั่วทั้งร่างกาย ผู้ป่วยมักจะมีความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องลง รวมไปถึงต่อมที่ผลิตน้ำย่อยต่าง ๆทำงานผิดปกติ ส่งผลให้การย่อยอาหารผิดปกติตามไปด้วย ถ้าหากทานอาหารอิ่มจนเกินไป ทานปูและกุ้งมากเกินไป เป็นต้น จะง่ายต่อการกระตุ้นให้เกิดการแพ้อาหารหรือแพ้โปรตีนในอาหารขึ้นได้ จะทำให้มีอาการไข้ขึ้น ปวดท้อง ความอยากอาหารลดลง ซึ่งจะส่งผลให้พลังของเจิ้งชี่ในร่างกายถดถอยลง ภูมิคุ้มกันก็จะทำงานแย่ลง ทำให้เสี่ยงต่อการที่มะเร็งจะรุนแรงขึ้นหรือเกิดซ้ำได้ ในความเป็นจริงแล้วในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใด ๆ ที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้กับการเกิดซ้ำหรือกระจายของมะเร็ง ในทางวิทยาศาสตร์อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงนั้นจะอิงตามประวัติการแพ้ยาและอาหาร แต่หากมองในมุมมองของแพทย์แผนจีนแล้วหากการแพ้นั้น ๆ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ก็ย่อมส่งผลให้เจิ้งชี่ในร่างกายถูกทำลาย ภูมิคุ้มกันก็จะอ่อนแอลง มะเร็งก็จะควบคุมได้ยากขึ้นตามไปด้วย

    ในแต่ละช่วงของการรักษาจะมีการปรับอาหารที่ไม่เหมือนกัน

    2.1) ช่วงผ่าตัด

    ช่วงก่อนผ่าตัดนั้นอาหารจะเน้นเพื่อสนับสนุนให้การผ่าตัดดำเนินไปได้อย่างราบรื่นที่สุด สรรพคุณจึงมักเน้นบำรุงพลังชี่และเลือดเป็นหลัก ตัวอย่างอาหารอาทิเช่น พุทราจีน เม็ดบัว เป็นต้น ในช่วงหลังการผ่าตัดพักฟื้นอาหารจะมีการเพิ่มชนิดที่มีสรรพคุณเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารอาทิเช่น ซานจา เป็นต้น

    2.2) ช่วงเคมีบำบัด

    ช่วงที่ให้เคมีบำบัดผลข้างเคียงที่พบได้มากที่สุดคือภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงานและระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ โดยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ซีด เลือดออกง่าย ติดเชื้อง่าย เป็นต้น โภชนาการเพื่อการลดผลกระทบจากภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงาน เน้นการบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร บำรุงเลือด บำรุงตับและไต แนะนำให้เน้นทานอาหารอาทิ ห่วยซัว ลำไยแห้ง พุทราจีน ถั่วลิสง เห็ดหูหนูดำ ตับหมู ข้าวเหนียว กระดูกหมู/วัว เป็นต้น หากมีอาการเบื่ออาหารร่วมกับมีฝ้าบนลิ้นหนา จะเน้นปรับสมดุลการไหลเวียนชี่ของกระเพาะอาหาร สลายความชื้น และระงับอาการคลื่นไส้อาเจียน แนะนำให้ทานอาหารอาทิ ขิงสด เปลือกส้ม ซานจา ลูกเดือย ฮวยซัว พุทราจีน นมวัว น้ำผึ้ง เป็นต้น หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้นำขิงแก่มาฝานบาง ๆ และเคี้ยวในปากเป็นประจำจะช่วยลดอาการได้ดี

    หากค่าตับผิดปกติจากยาเคมีบำบัด ต้องการบำรุงดูแลตับแนะนำให้ทานอาหารที่บำรุงอินของตับ ขับความร้อนชื้นและกระจายชี่ตับเช่น เปลือกแตงโม เก๋ากี้ ดอกเก็กฮวย แห้ว ซานจา ตะพาบนํ้า มะระ ฟัก บวบ มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย เป็นต้น

    หากค่าไตผิดปกติจากยาเคมีบำบัด ต้องการบำรุงดูแลไตแนะนำให้ทานอาหารที่บำรุงไต ขับปัสสาวะ เช่น ถั่วเขียว เปลือกฟัก เปลือกแตงโม หนวดข้าวโพด ตะพาบ

    หากต้องการลดพิษต่อหัวใจจากยาเคมีบำบัดแนะนำให้ทานอาหารที่บำรุงชี่ เสริมอิน ปรับการไหลเวียนของชี่ ปรับการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่งเช่น พุทราจีน เหง้าต้นลิลลี่(百合) เก๋ากี้ ซานจา เป็นต้น

    หากมีแผลในปากแนะนำให้ทานอาหารที่เสริมอิน ขับพิษร้อนอาทิ แตงโม มะระ รากบัว นํ้าผึ้ง ถั่วเขียว สาลี่ มะเขือเทศ รังนก กล้วย เป็นต้น

    2.3) ฉายรังสี (ฉายแสง)

    ช่วงฉายแสงอาหารจำเป็นต้องเน้นกระตุ้นความอยากอาหาร แต่ต้องมีรสชาติอ่อน ๆ สารอาหารครบถ้วน หลังจากการฉายแสงแล้วมักจะมีภาวะขาดสารนํ้า อาหารต้องมีสรรพคุณเสริมอินและสารนํ้าอาทิ นํ้าสาลี่ นํ้าแห้ว รังนก เนื้อเป็ด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน รสจัด สุรา บุหรี่ เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อแกะ ของทอด ของมัน ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน พริกต่าง ๆ เป็นต้น

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนวรพงศ์ ชัยสิงหาญ (หมอจีน เฉิน จู เซิง)
陈株生 中医师
TCM. Dr. Worapong Chaisingharn (Chen Zhu Sheng)
แผนกอายุรกรรมมะเร็ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้