ปัสสาวะกลางคืนที่บ่อยไป กับการแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1795 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปัสสาวะกลางคืนที่บ่อยไป กับการแพทย์แผนจีน

อาการปัสสาวะบ่อยกลางคืน หรือการที่ต้องตื่นกลางดึกเพื่อปัสสาวะมากกว่า 2-3 ครั้ง หลังจากที่นอนหลับจนถึงเช้าเพื่อปัสสาวะ หรือปริมาณน้ำปัสสาวะรวมในเวลากลางคืนหลังจากที่นอนหลับจนถึงตื่นในช่วงเช้ามีปริมาณที่มากกว่า 1 ใน 3 ส่วน ของปริมาณน้ำปัสสาวะในเวลากลางวัน การปัสสาวะบ่อยกลางคืนส่งผลต่อคุณภาพการนอน ตื่นเช้าจึงไม่สดชื่น อารมณ์แปรปรวนง่ายได้

สาเหตุทั่วไปของการปัสสาวะบ่อยกลางคือ

  1. ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมการดื่มน้ำที่มากเกินไป ร่างกายมีกลไกในการควบคุมระดับความเข้มข้นของเลือด การดื่มน้ำที่มากเกินไป ทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดน้อยลง ร่างกายจึงต้องขับน้ำออกจากร่างกาย โดยเฉพาะถ้าดื่มน้ำมากเกินไปก่อนนอน 3-4 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดการปัสสาวะบ่อยกลางคืน
  2. รับประทานอาหารบางชนิดที่กระตุ้นการปัสสาวะ เช่น ต้มจืด น้ำซุป ก๋วยเตี๋ยว นม ผลไม้บางชนิด เช่นแตงโม เมลอน ซึ่งอาหารเหล่านี้มีส่วนประกอบของน้ำมาก ร่างกายจึงต้องมีการขับน้ำมาก เกิดเป็นปัสสาวะบ่อยกลางคืนได้
  3. การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มเหล่านี้มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการขับปัสสาวะ ทำให้เกิดปัสสาวะบ่อยกลางคืนได้
  4. เป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ เช่น ภาวะต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากอักเสบ มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคเบาจืด โรคนอนไม่หลับ โรคเครียดวิตกกังวล โรคไตเสื่อม หรือภาวะที่พื้นที่ในกระเพาะปัสสาวะลดน้อยลง (เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกในช่องเชิงกราน) โรคทางระบบประสาทบางชนิด เป็นต้น
  5. การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ

เมื่อรู้สาเหตุทั่วไปแล้วอย่างลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ทางการแพทย์แผนจีนสาเหตุสำคัญของการปัสสาวะบ่อยกลางคืนจาก 7ภาวะ คือ

  1. ภาวะไตหยางพร่อง

    ไตหยาง คือ หยางชี่พื้นฐานของร่างกาย มีหน้าที่ในการควบคุมการไหลเวียนของสารน้ำในร่างกาย เมื่อไตหยางพร่องทำให้การการไหลเวียนของสารน้ำผิดปกติ สารน้ำไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นชี่และส่งแผ่กระจายขึ้นข้างบนได้ แต่กลับกลายเป็นสารน้ำไหลลงเบื้องล่างสู่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยกลางคืน

    ภาวะไตหยางพร่อง เกิดได้จาก ภาวะเหนื่อยมากเกินไป (劳累过度) มีเพศสัมพันธ์มากเกินไป (房劳过度) ทุนแต่กำเนิดบกพร่อง (先天不足) อายุมากร่างกายถดถอย (年老体衰) โรคเรื้อรังทำลายร่างกาย (久病耗伤) เป็นต้น

    ภาวะไตหยางพร่องมีอาการแสดงคือ ปัสสาวะบ่อยกลางคืน ปัสสาวะขัด ปัสสาวะออกยาก ต้องยืนรอปัสสาวะนาน หรือปัสสาวะไม่ออก (อาการรุนแรง) ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะไม่มีแรง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความต้องการทางเพศน้อย อารมณ์จิตใจไม่กระชุ่มกระชวย (神弱) เหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย หนาวง่าย แขนขาเย็น ปวดเมื่อยเอวเข่า สีหน้าขาวซีด ลิ้นซีดอ้วน (舌淡胖) ชีพจรจมเล็ก (脉沉细) หรืออ่อนแรง (弱)

    ไตหยางพร่องรักษาโดยการ เสริมสร้างบำรุงความอุ่นให้ไต สร้างชี่เก็บกักปัสสาวะ (温补肾阳,化气缩尿) กลุ่มยาที่ต้องรับประทาน ได้แก่ ยาเสริมสร้างบำรุงอุ่นไตหยาง ไตชี่ บำรุงชี่ ยาปรับสมดุลการขับปัสสาวะ ยาเก็บกักปัสสาวะ เป็นต้น

  2. ภาวะไตอินพร่อง

    ไตอิน คือ สารอิน สารน้ำพื้นฐานของร่างกาย มีหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงและให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย เมื่อไตอินพร่องทำให้สารน้ำไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงกระเพาะปัสสาวะ ทำให้การทำงานของกระเพาะปัสสาวะในการควบคุมการปัสสาวะมีปัญหา ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยกลางคืน

    ภาวะไตอินพร่อง เกิดได้จากภาวะเหนื่อยมากเกินไป (劳累过度) มีเพศสัมพันธ์มากเกินไป (房劳过度) อารมณ์ติดขัดแปรปรวน (情志不遂)  อายุมากร่างกายถดถอย (年老体衰) โรคเรื้อรังทำลายร่างกาย (久病耗伤) ทุนแต่กำเนิดบกพร่อง (先天不足) เป็นต้น

    ภาวะไตอินพร่องมีอาการแสดงคือ ปัสสาวะบ่อยกลางคืน ปัสสาวะขัดร้อนแสบ ปัสสาวะสีเข้มขุ่น เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ  ความต้องการทางเพศน้อย อารมณ์จิตใจไม่กระชุ่มกระชวย (神弱) เหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย ไข้ต่ำ ๆ นอนไม่หลับ ขี้ลืม หูมีเสียงหรือการได้ยินลดลง ปวดเมื่อยเอวเข่า หน้าแดงง่าย ลิ้นแดงฝ้าน้อย (舌红苔少) ชีพจรเล็กเร็ว (脉细数)

    ภาวะไตอินพร่องรักษาโดยการ เสริมสร้างบำรุงไตอิน บำรุงชี่เก็บกักปัสสาวะ (滋养肾阴,补气缩尿)  กลุ่มยาที่ต้องรับประทาน ได้แก่ ยาเสริมสร้างบำรุงอุ่นไตอิน บำรุงชี่ ยาลดไข้ ยาปรับสมดุลการขับปัสสาวะ ยาเก็บกักปัสสาวะ เป็นต้น

  3. ภาวะชี่ม้ามพร่อง

    ชี่ม้าม คือ พลังงานหลักในการขับเคลื่อนการไหลเวียนของสารน้ำที่เหลือจากการย่อยอาหารให้ถูกส่งไปที่ปอดและไต เพื่อขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ เมื่อชี่ม้ามพร่องทำให้สารน้ำไม่สามารถไหลเวียนไปที่ปอดได้อย่างเต็มที่ สารน้ำตกค้างในร่างกาย นานวันเข้ากลายเป็นสารน้ำ ความชื้น และสารน้ำสกปรก ไหลเคลื่อนลงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมากขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยกลางคืนด้วย

    ภาวะชี่ม้ามพร่อง เกิดได้จากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกวิธี (饮食不节) เช่นของเผ็ด ของมันทอด ของดิบ ของเย็น ดื่มแอลกอฮอล์ ทุนแต่กำเนิดบกพร่อง (先天不足) อายุมากร่างกายถดถอย (年老体衰) โรคเรื้อรังทำลายร่างกาย (久病耗伤) ภาวะเหนื่อยมากเกินไป (劳累过度) อารมณ์ไม่ดังใจ (情志不遂) เป็นต้น

    ภาวะชี่ม้ามพร่องมีอาการแสดงคือ ปัสสาวะบ่อยกลางคืน ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะขุ่นคล้ายน้ำซาวข้าว เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เหนื่อยง่าย พูดน้อย ไม่มีแรงพูด อารมณ์จิตใจไม่กระชุ่มกระชวย(神弱) เบื่ออาหาร แขนขาไม่มีแรง กล้ามเนื้อผอมลีบ มีความรู้สึกปวดแน่นไม่สบายในช่องท้องเอวหลัง สีหน้าหรือสีผิวหนังอมเหลือง หรือมีเลือดออกง่าย เช่นเหงือกมีเลือดออก อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน มักถ่ายอุจจาระไม่เป็นก้อน ถ่ายเหลว ลิ้นซีดบวม ฝ้าขาวหนา (舌淡胖苔白腻) ชีพจรช้าไม่มีแรง (脉缓无力)

    ภาวะชี่ม้ามพร่องรักษาโดยการ บำรุงม้าม เสริมสร้างชี่เก็บกักปัสสาวะ (补中益气、缩尿) กลุ่มยาที่ต้องรับประทาน ได้แก่ ยาเสริมสร้างบำรุงอุ่นไตอิน บำรุงชี่ ยาลดไข้ ยาปรับสมดุลการขับปัสสาวะ ยาเก็บกักปัสสาวะ เป็นต้น

  4. ภาวะไฟหัวใจกำเริบ

    ไฟหัวใจ คือพลังในการทำงานของหัวใจและเสิน (สติจิตใจการรับรู้ตัว) ถ้าไฟหัวใจที่พอดี การบีบตัวของหัวใจ การส่งกระจายเลือดไปตามเส้นเลือดเพื่อหล่อเลี้ยงทั่วทั้งร่างกายก็จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ร่างกายได้รับการหล่อเลี้ยง มีความอบอุ่น สติการรับรู้สึกตัวเป็นปกติ แต่ถ้าไฟหัวใจกำเริบ (มากเกินไป) หัวใจเต้นเร็ว ทำให้ใจสั่นได้ หรือใจร้อนดังไฟรุกโชน อารมณ์หงุดหงิด นอนไม่หลับได้ เมื่อใดที่ไฟหัวใจกำเริบ ไฟส่วนหนึ่งจะเคลื่อนลงสู่เบื้องล่าง รุกเข้าทำลายลำไส้เล็กและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ลำไส้เล็กไม่สามารถดูดสารน้ำเข้าสู่ร่างกาย สารน้ำไหลลงล่างกลายเป็นปัสสาวะ เกิดเป็นอาการปัสสาวะบ่อยกลางคืน

    ภาวะไฟหัวใจกำเริบ เกิดได้จากอารมณไม่สมดังใจ(情志不遂) ความวิตกกังวล ความเครียด คิดมาก โกรธโมโห เป็นต้น มีอาการแสดงคือ ปัสสาวะบ่อยกลางคืน สีเหลืองเข้ม ปริมาณน้อย แสบร้อน รู้สึกใจสั่นเป็นช่วงๆ รู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายใจ นอนฝันมาก ฝันร้าย หน้าแดงตาแดงง่าย ปากแห้งขม ชอบดื่มน้ำเย็น ปากลิ้นมีแผลง่าย ลิ้นแดงสีเข้มปลายลิ้นแดง ฝ้าเหลือง มีตุ่มแดงบนลิ้น (舌尖红降、苔黄起芒刺) ชีพจรเร็วแรง (脉数有力)

    ภาวะไฟหัวใจกำเริบรักษาโดยการ ลดไฟหัวใจ สงบเสิน บำรุงอิน ลดการขับปัสสาวะ ขับสารน้ำตกค้าง ทะลวงท่อปัสสาวะ (清心安神、滋阴缩尿、利水通淋) กลุ่มยาที่ต้องรับประทานคือ ยาลดไฟหัวใจ ยาสงบเสิน ยาคลายอารมณ์ ยาบำรุงอินลดความร้อน ยาขับน้ำขับความชื้น ยาเก็บกักปัสสาวะ เป็นต้น

  5. ภาวะชี่ตับติดขัด

    ชี่ตับ คือ คำเรียกการทำงานของตับ ชี่ตับที่กระจายไหลเวียนดี ส่งผลให้ร่างกายอารมณ์ปลอดโปร่งโล่งสบาย การสร้างและการไหลเวียนของเลือดก็เป็นปกติ ปรับสมดุลการหลั่งและขับของน้ำดี เป็นส่วนสำคัญในระบบการย่อยและการดูดซึมพลังงาน แต่ถ้าชี่ตับติดขับ ชี่ตับไม่สามารถกระจายไหลเวียนได้ ร่างกายและจิตใจขาดชี่มาหล่อเลี้ยง ร่างกายหมดพลัง จิตใจไม่แจ่มใสร่าเริง ชี่ตับเป็นตัวกระตุ้นให้สารอาหารที่ร่างกายดูดซึมเข้ามาแปรเปลี่ยนเป็นเลือดและชี่ยังเป็นตัวผลักดันให้เกิดการไหลเวียนของเลือดในระบบไหลเวียนโลหิตไปทั่วร่างกาย เมื่อชี่ติดขัด เลือดไม่ถูกสร้าง และเลือดที่มีอยู่ไหลเวียนไม่ได้ ร่างกายก็จะขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ร่างกายแห้งเหี่ยวไม่มีพลัง ชี่ตับติดขัดทำให้น้ำดีไหลเวียนไม่ดี เกิดการสะสมตัวของน้ำดี ตกผลึกกลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีเป็นต้น และระบบย่อยอาหารไม่สามารถดูดซึม กระจายสารอาหารได้ถ้าขาดชี่ไปหล่อเลี้ยง

    ภาวะชี่ตับติดขัด เกิดได้จากอารมณไม่สมดังใจ (情志不遂) การทะเลาะวิวาท โกรธโมโห ความวิตกกังวล ความเครียด คิดมาก การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกวิธี (饮食不节) เช่นของเผ็ด ของมันทอด ของดิบ ของเย็น ดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายถดถอยเลือดพร่อง (体衰血亏)

    ภาวะชี่ตับติดขัด มีอาการแสดงคือ ปัสสาวะบ่อยกลางคืน สีปัสสาวะเหลืองเข้ม ปัสสาวะได้ไม่สะดวก ปัสสาวะติดขัด รู้สึกอารมณ์ไม่สบาย มีอาการปวดแน่นในท้องน้อย ปวดเสียดชายโครงแนวสีข้างลำตัว ปวดไม่สบายที่หน้าอก (มักปวดแบบไม่มีจุดปวดที่ชัดเจน) แน่นหน้าออก หายใจตื้น รู้สึกว่าคอมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ ถอนหายใจบ่อย เบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อย ลิ้นสีแดง ฝ้าขาวบาง (舌红、苔薄白) ชีพจรเล็กตึง (脉细弦)

    ภาวะชี่ตับติดขัด รักษาโดยการ กระจายชี่ตับ ปรับสมดุลการไหลเวียนของชี่ คลายอารมณ์ เก็บกักปัสสาวะ (疏肝理气、解郁缩尿) กลุ่มยาที่ต้องรับประทานคือ ยากระจายชี่ตับ ยาปรับการไหลเวียนชี่ทั่วร่างกาย ยาบำรุงเลือด ยาเก็บกักปัสสาวะ ยาคลายอารมณ์ เป็นต้น

  6. ภาวะร้อนชื้นเคลื่อนลงล่าง

    ร้อนชื้น คือความผิดปกติของระบบย่อยและระบบไหลเวียนของสารน้ำ และอาหาร เมื่อผ่านการย่อยจะกลายเป็นพลังงานแก่ร่างกาย แต่ถ้าการย่อยไม่แข็งแรง อาหารเกิดการย่อยไม่สมบูรณ์เกิดเป็นความชื้นตกค้าง ในสภาวะปกติระบบไหลเวียนสารน้ำ เป็นเครื่องมือในการจัดการสารน้ำต่างๆในร่างกาย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ถ้าระบบไหลเวียนสารน้ำเสียการทำงาน ปริมาณความชื้นตกค้างในร่างกายก็จะมากขึ้น เมื่อความชื้นเพิ่มปริมาณขึ้นในร่างกายที่ปริมาตรจำกัด เกิดเป็นความหนาแน่นที่มีแรงดันทำให้เกิดเป็นความร้อนในร่างกายตามมา หรือเป็นความชื้นตกค้างในร่างกาย ผสมร่วมกับความร้อนก่อโรคจากภายนอกร่างกาย เกิดเป็นความชื้นร้อนซึ่งความชื้นร้อนมีความหนัก จึงเคลื่อนตัวลงสู่เบื้องล่างของร่างกายตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้พื้นที่ส่วนล่าง ตำแหน่งของระบบทางเดินปัสสาวะชื้นร้อน เมื่อระบบทางเดินปัสสาวะชื้นร้อน ร่างจากจึงกระตุ้นให้เกิดการขับความร้อนชื้น ทางปัสสาวะ เปิดเป็นอาการปัสสาวะบ่อย

    ภาวะชื้นร้อนเคลื่อนลงล่าง เกิดได้จาก ความชื้นร้อนซึ่งเป็นปัจจัยก่อโรคจากภายนอกแทรกเข้าร่างกาย (湿热外邪) การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกวิธี (饮食不节) ตับติดขับม้ามพร่อง (肝郁脾虚) อายุมากร่างกายถดถอย (年老体衰) โรคเรื้อรังทำลายร่างกาย (久病耗伤)

    ภาวะร้อนชื้นเคลื่อนลงล่าง มีอาการแสดงคือ ปัสสาวะบ่อยกลางคืน สีปัสสาวะเหลืองเข้มขุ่น ปัสสาวะร้อนแสบติดขัด รู้สึกร่างกายหนัก ๆ ตัวร้อน ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สะดวก บริเวณอวัยวะเพศชื้นคัน คอแห้งแต่ไม่กระหายน้ำ คอขม ปากคอเหนี่ยว เบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อย ลิ้นสีแดง ฝ้าเหลืองเหนียว (舌红、苔黄腻) ชีพจรลื่นเร็ว (脉滑数)

    ภาวะชื้นร้อนเคลื่อนลงล่าง รักษาโดยการ ขับความชื้น ระบายร้อน บำรุงชี่ เก็บกักปัสสาวะ (清热利湿、益气缩尿) กลุ่มยาที่ต้องรับประทานคือ ยาขับความชื้น ยาบำรุงกระตุ้นม้าม ยาระบายร้อน ยาเสริมสร้างชี่ ยาเก็บกักปัสสาวะ เป็นต้น

  7. ภาวะชี่ติดขัดเลือดคั่ง

    ชี่เลือด คือ ชี่เลือดคือพื้นฐานของสารหล่อเลี้ยงร่างกายชนิดหนึ่ง ชี่มีหน้าที่ในการผลักดันเลือด ให้ความอบอุ่น สร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย เลือดมีหน้าที่บรรทุกชี่ ส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย ถ้าชี่ติดขัดกระจายตัวไหลเวียนไม่ดี พลังงานในการผลักดันเลือดก็จะลดลง เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้อย่างปกติ หรือถ้าเลือดคั่ง เลือดไหลเวียนไม่ได้ชี่ก็จะไม่สามารถเคลื่อนที่ไปทั่วทั้งร่างกายได้ ชี่และเลือดต้องทำงานช่วยเหลือกันเสริมสร้างซึ่งกันและกัน ชี่ยังมีหน้าที่ในการควบคุมการเปิดปิดของระบบทางเดินปัสสาวะ เมื่อใดที่ชี่ติดขับการควบคุมการถ่ายปัสสาวะก็จะทำงานได้ไม่สมบูรณ์เกิดเป็นปัสสาวะบ่อย นอกจากนี้การที่ชี่และเลือดติดขัดเป็นเวลานาน สามารถทำให้เกิดเป็นก้อนต่างๆในร่างกายได้อีกด้วย

    ภาวะภาวะชี่ติดขัดเลือดคั่ง เกิดได้จาก อารมณไม่สมดังใจ (情志不遂) การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกวิธี (饮食不节) อายุมากร่างกายถดถอย (年老体衰) โรคเรื้อรังทำลายร่างกาย (久病耗伤)

    ภาวะชี่ติดขัดเลือดคั่ง มีอาการแสดงคือ ปัสสาวะบ่อยกลางคืน ปวดตามที่ต่างๆในร่างกาย ปวดแบบโดนทิ่มแทง ปวดแน่น อาการปวดมีเป็นจุดบริเวณที่ชัดเจน ปวดตลอดเวลา มีก้อนผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย เหนื่อยไม่มีแรง ไม่สดชื่น มีไข้ต่ำ ๆ ไข้ขึ้นในช่วงบ่าย ๆ หัวค่ำ หรือไข้ลอยในเวลากลางคืน อารมณ์แปรปรวนง่าย ลิ้นสีแดงม่วงคล้ำหรือมีจ้ำเลือดบนลิ้น (舌红紫暗、或有瘀斑) ชีพจรเล็กฝืด (脉细涩)

    ภาวะชี่ติดขัดเลือดคั่ง รักษาโดยการ ปรับการกระจายไหลเวียนของชี่ เสริมการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง เก็บกับปัสสาวะ (理气活血、化瘀缩尿) กลุ่มยาที่ต้องรับประทานคือ ยาปรับสมดุลชี่ ยาบำรุงกระตุ้นม้าม ยาเสริมการไหลเวียนเลือด ยาสลายเลือดคั่ง ยาเก็บกักปัสสาวะ เป็นต้น

ปัสสาวะบ่อยกลางคืน เป็นอาการที่เกิดขึ้นแล้วสร้างปัญหาต่อการพักผ่อนในเวลากลางคืนเป็นอย่างมาก ผู้ที่มีอาการปัสสาวะบ่อย จึงควรต้องสำรวจพฤติกรรมการใช้ชีวิต ค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการปัสสาวะบ่อย แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ส่วนการรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ต้องใช้การวินิจฉัยเปี้ยนเจิ้งแยกกลุ่มอาการ ค้นหาภาวะที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของร่างกายให้พบแล้ว จัดการปรับร่างกายให้กลับเข้าสู่ภาวะสมดุลให้เร็วที่สุด เพื่อพื้นฟูคุณภาพการนอน และเพิ่มสมรรถภาพร่างกายและจิตใจเมื่อตื่นเช้าให้กลับมาสมบูรณ์แข็งแรง

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนจิตติกร พิมลเศรษฐพันธ์ (หมอจีน พาน จ้าย ติง)
潘在丁  中医师   
TCM. Dr. Jittikorn  Pimolsettapun (Pan  Zai  Ding)

แผนกอายุรกรรมบุรุษเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้