Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1576 จำนวนผู้เข้าชม |
เคยไหมคะ เมื่อลมหนาวพัดผ่านทำให้คิดถึงคนรักเก่า วิตกกังวลกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมา กลัวว่าในอนาคตจะเป็นเช่นไร ในช่วงหน้าหนาวหรือหน้าฝน ทำไมนะในเมื่อหัวใจที่เข้มแข็งดั่งหินผาของเราเมื่อกระทบลมหนาวกลับรู้สึกกังวลเพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องแปลกที่สภาพอากาศมาเล่นตลกกับอารมณ์ความรู้สึกของเราโดยเฉพาะคุณผู้หญิง ในทางการแพทย์แผนจีนมีคำตอบค่ะ “Winter Blue”
Winter คือ หน้าหนาว ภาษาจีนคือ 冬天 (ตงเทียน) แต่ในประเทศไทยไม่มีหน้าหนาวนี่นา ทำไมถึงเกิดอาการได้การแพทย์ปัจจุบันเรียกอาการนี้ว่า โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล( Seasonal Affective Depression) เพียงแค่อุณหภูมิเปลี่ยน อากาศเย็นลงก็ส่งผลให้เกิดอาการได้ค่ะ การแพทย์แผนจีนอธิบายว่า หน้าหนาว(冬天)สัมพันธ์กับไต ซึ่งไตจะสัมพันธ์กับความหวาดกลัว วิตกกังวลนั่นเองค่ะ
“ไต” เป็นระบบอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับสตรีและเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนโดยตรง จึงส่งผลให้ก่อนมีประจำเดือน อารมณ์ของสตรีจึงแปรปรวน มีความหวั่นกลัวหรือวิตกกังวล ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อย แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ ไม่ไปรบกวนคนรอบข้างหรือกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว
ในช่วงหน้าหนาวหรือช่วงที่อากาศแปรปรวน ควรทำให้ร่างกายอบอุ่น ดื่มน้ำขิง สำหรับคนที่หนาวง่าย มือเท้าเย็น มีอาการวิตกกังวล โดยขิงจัดเป็นสมุนไพรในศาสตร์แพทย์แผนจีนมีรสเผ็ด บำรุงม้าม กระเพาะอาหาร ไต หัวใจและปอด ส่งผลให้เลือดลมหมุนเวียน ลดอาการปวดได้ดีเมื่อมีประจำเดือน หรือช่วงก่อนมีประจำเดือนสามารถดื่มน้ำพุทราจีนใส่น้ำตาลทรายแดง เพื่อให้ความอบอุ่นต่อมดลูก ลดอาการวิตกกังวล ก่อนการมีประจำเดือนได้เป็นอย่างดี และเมื่อมีประจำเดือนร่างกายจะสูญเสียชี่และเลือด ส่งผลให้สูญเสียพลังงาน พุทราจีนมีสรรพคุณ บำรุงชี่และเลือด สงบจิตใจ ส่วนน้ำตาลทรายแดงมีสรรพคุณในการลดปวด
ส่วนคนที่ร้อนง่ายก่อนมีประจำเดือน ในช่วงหน้าหนาวส่งผลให้ความร้อนเย็นในร่างกายแปรปรวน อารมณ์แปรปรวน อารมณ์เศร้าโมโหไม่แน่ไม่นอนหรือนอนไม่หลับ ก่อนมีประจำเดือนควรดื่มน้ำต้มเม็ดบัว ใส่ชะเอมเทศ โดยเม็ดบัวมีสรรพคุณบำรุงม้ามไตและหัวใจ เป็นหลักการบำรุงไตเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจ สามารถสงบจิตใจก่อนมีประจำเดือนได้ ชะเอมเทศมีฤทธิ์กลาง รสหวาน บำรุงปอด หัวใจ ม้าม และกระเพาะอาหาร ลดปวดเรื้อรังได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจการทำงานของร่างกายและจิตใจเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง การดูแลตนเองก่อนที่จะมีอาการอารมณ์เศร้าจากสภาพอากาศก็จะไม่สามารถทำร้ายคุณได้อีกต่อไป
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ธนภร ตันสกุล (หมอจีน เฉิน รุ่ย อิ๋น)
陈瑞银 中医师
TCM. Dr. Thanaphon Tansakul (Chen Rui Yin)
แผนกอายุรกรรมนรีเวช
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567