นรีเวชกับการดูแลรักษา “ไต” ให้ประจำเดือนมาปกติ

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1686 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นรีเวชกับการดูแลรักษา “ไต” ให้ประจำเดือนมาปกติ

ระบบ “ไต” ในการแพทย์แผนจีนนั้นนอกจากตัวอวัยวะไตแล้ว รวมถึงเส้นลมปราณไต บทบาทหน้าที่ต่างๆของไตทั้งหมด ซึ่งไตมีความสำคัญในด้านการมีประจำเดือน เช่นประจำเดือนมาช้า มาเร็ว มาไม่สม่ำเสมอ ปริมาณมามาก หรือปริมาณมาน้อย ในการแพทย์แผนจีนได้กล่าวว่า “ไต” เป็นระบบอวัยวะพื้นฐานก่อนกำเนิดของชีวิต เป็นรากฐานของหยวนชี่ โดยคนเราจะแข็งแรงหรืออายุยืนได้มากแค่ไหน ไตต้องแข็งแรง การมีประจำเดือนหรือการเข้าวัยทองเร็วหรือช้านั้นเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของไตทั้งสิ้น

แล้วถ้าเราอยากชะลอวัยทอง ไม่อยากประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่อยากหน้าแก่ ไม่อยากผมงอกก่อนวัย เราควรทำอย่างไร ในเมื่อในยุคปัจจุบัน การทำงานที่มีการแข็งขันสูง รถติด มลพิษ อาหารการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ส่งผลต่อร่างกายให้อ่อนแอและโรยรา

“ไต” ในการแพทย์แผนจีนแบ่งเป็น ไตอิน และไตหยาง “ไต” เป็นที่กักเก็บสารจิง(สารสำคัญ)ที่ส่งผลให้ร่างกายเกิดพัฒนาการ เจริญเติบโต เจริญพันธุ์ แต่สารจิงจำเป็นต้องมีแรงขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถทำงานได้และไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคือ ชี่ของไตนั่นเอง

การดูแลรักษาไต เพื่อให้ประจำเดือนมาปกติและไม่แก่เร็ว ขอแนะนำง่าย ๆ ดังนี้

  1. ไตอิน (ไตน้ำ) หมายถึงความสงบนิ่ง ถ้าไตอินพร่อง ส่งผลให้ไฟลุกโพลง เกิดความร้อนในร่างกายขึ้น ประจำเดือนจึงมาเร็ว หรือมาน้อย  ผิวแห้ง อาหารที่บำรุงไตน้ำ เช่น เก๋ากี๋ ไก่ดำ งาดำ เป็นต้น
  2. ไตหยาง (ไตไฟ) หมายถึงความเคลื่อนไหว ถ้าไตหยางพร่อง ส่งผลให้ร่างกายเย็น มือเท้าเย็น หนาวง่าย ท้องน้อยเย็น ประจำเดือนไม่มา หรือมาช้า ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น อาหารบำรุงไตไฟ เช่น เขากวาง ถั่งเช่า เป็นต้น
  3. ชี่ไต หมายถึง พลังงานการขับเคลื่อน ถ้าชี่ไตพร่อง ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย ประจำเดือนมาช้า กระปริกระปอย เป็นสาวช้า ปวดหน่วงท้องน้อย เป็นต้น อาหารบำรุงชี่ไต เช่น โสมคน พรุทราจีน เป็นต้น

หากเราไม่อยากแก่ก่อนวัย ประจำเดือนมาเป็นปกติ อย่าใช้ชีวิตหักโหมมากเกินไป ดูแลร่างกายให้เหมาะสม จิบน้ำทั้งวัน อย่าทานทีเดียวหมด อาจส่งผลให้ไตทำงานหนัก และเลือกทานอาหารให้เหมาะสมกับร่างกายตัวเอง หรือปรึกษาแพทย์แผนจีนใกล้บ้านเพื่อการดูแลรักษาร่างกายให้เหมาะสม ประจำเดือนที่ดี มาจากไตที่ดี

------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน ธนภร ตันสกุล (หมอจีน เฉิน รุ่ย อิ๋น)
陈瑞银 中医师
TCM. Dr. Thanaphon Tansakul (Chen Rui Yin)
แผนกอายุรกรรมนรีเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้