ประวัติและวิวัฒนาการ "การครอบแก้ว (Cupping Therapy)"

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  2341 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประวัติและวิวัฒนาการ "การครอบแก้ว (Cupping Therapy)"

การครอบแก้วเป็นเทคนิควิธีการรักษาที่มีมานาน แพร่หลาย  โดยวิธีการหรือรูปแบบการรักษามักเกี่ยวข้องกับ ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ การใช้วัสดุอุปกรณ์ขึ้นอยู่กับภูมิภาคและยุคสมัยนั้นๆ เช่น เขาสัตว์ ไม้ไผ่ โลหะ หรือเซรามิก แก้วเป็นต้น วัตถุประสงค์ของการครอบแก้วเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ให้ร่างกายเยียวยารักษาตัวเอง ซึ่งการครอบแก้วนั้นมีการถูกค้นพบตั้งแต่สมัยโบราณ วัฒนธรรมอียิปต์  จีน เกาหลี ละตินอเมริกา และในแอฟริกาเหนือการบำบัดด้วยการครอบแก้วได้มีกล่าวถึงไว้ในตำรายาอียิปต์โบราณปาปิรุสอีเบอร์(Eber’s papyrus) กลุ่มประเทศอาหรับและอิสลาม ได้มีบันทึกเกี่ยวกับการกรอกเลือด(Hijama) ในหนังสือ Canon of Medicine(Al-Qanun fi’t-Tibb)

ส่วนในประเทศจีนได้ถึงกล่าวถึงวิธีการที่คล้ายกับการครอบแก้ว ในช่วงก่อนราชวงศ์ฉิน(先秦)หรือช่วงยุคชุนชิวจ้านกั๋ว(春秋战国) ซึ่งในช่วงนี้มีการบันทึกเกี่ยวกับการรักษาโรคฝีหนอง โดยในตำราใช้เขาสัตว์มาเป็นอุปกรณ์ เรียกว่า เจียวฟ่า(角法) โดยปลายเขาสัตว์เจาะให้เป็นรูแล้วนำมาครอบและใช้ปากดูดบริเวณที่เป็นแผลฝีหนอง มีการคาคการณ์ว่าตำราตำรับรักษาโรค52ชนิด《五十二病方》เกี่ยวกับการแพทย์ที่บันทึกเกี่ยวกับการรักษาโรคฝีหนองด้วยเจียวฟ่าปรากฏขึ้นในช่วงยุคสมัยนี้(ภายหลังถูกค้นพบในปี ค.ศ.1973 บริเวณสุสานหลวง มณฑลหูหนาน) 

ช่วงยุคจิ้น(晋)และถัง(唐)

            ยุคตงจิ้น(东晋)มีบุคคลสำคัญนามว่าเกอหง(葛洪)เป็นผู้เขียนโจ่วโฮ้วเป้ยจี๋ฟาง《肘后备急方》ในตำราเล่มนี้ ได้มีการรวบรวมข้อมูลวิธีการ และข้อควรระวังในการใช้เจียวฟ่ารักษาโรคฝีหนอง ก้อนต่างๆ

            ยุคสุยถัง(隋唐)ในยุคนี้มีความสำคัญของวิวัฒนาการอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาจากเดิมที่ใช้เจียวฟ่า เปลี่ยนมาใช้กระบอกไม้ไผ่หรือจู๋ก้วน(竹罐)ในการครอบซึ่งหาง่าย ราคาถูก ทนทานมีแรงดูดเยอะ ในสมัยถังการครอบแก้วไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่ยังให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพเห็นผลเป็นที่ประจักษ์  มีตำรา《外台秘要》เป็นการบันทึกรายละเอียดและวิธีการใช้จู๋ก้วน(ในสมัยนั้นวิธีการคือนำกระบอกไม้ไผ่ไปต้มกับน้ำร้อน เพื่อให้ไอความร้อนของน้ำที่เดือดเกิดเป็นสุญญากาศภายในกระบอกไม้ไผ่ก่อนครอบลงบนผิวหนัง เรียกว่ากระบอกไผ่ต้มยา竹罐水煮排气法หรือ煮罐法 )

ช่วงยุคซ่ง(宋) ,จิน(金)และหยวน(元)

            ยุคนี้จู้ก้วนเป็นที่นิยมและเข้ามาแทนที่วิธีการเจียวฟ่า โดยริเริ่มการใช้ตัวยาลงไปต้มกับกระบอกไม้ไผ่ เรียกว่า เย้าจู่ก้วนฟ่า(药煮罐法) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ในช่วงยุคสมัยซ่ง มีบันทึกในหนังสือซูเซิ่นเหลียงฟาง《苏沈良方》เกี่ยวกับการใช้ไฟมาเป็นตัวนำทำให้เกิดสูญญากาศในตัวแก้วแบบที่นิยมให้ในปัจจุบัน ในสมัยนั้นเรียกว่า ฮั่วท่ง(火筒)ใช้ในการรักษาอาการไอเรื้อรัง แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยนี้ การครอบแก้วไม่ได้นำมารักษาแค่โรคภายนอก ผิวหนัง ฝีหนองเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำมารักษาโรคทางอายุรกรรมด้วย

ช่วงยุคหมิง(明)และชิง(清)

            การครอบแก้วในยุคนี้มีบทบาทสำคัญสำคัญในการนำมารักษาโรคอายุรกรรมภายนอก มีตำราไว่เคอเจิ้งจง《外科正宗》บันทึกไว้เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยเย้าจู่ก้วนฟ่า ต่อมาในยุคสมัยชิงมีการพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาจากกระบอกไม้ไผ่เป็นเซรามิก เนื่องจากกระบอกไม้ไผ่ เมื่อให้ไปนาน ความทนทานน้อยลง กรอบแตกง่ายเกิดรูรั่ว ทำให้แรงดูดไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนเป็นเซรามิก และมีการกล่าวถึงการใช้ไฟมาเป็นตัวทำให้เกิดสุญญากาศ เรียกว่า ฮั่วก้วน(火罐- Fire Cupping)ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ในยุคสมัยชิงมีตำราเปิ่นเฉ่ากังมู่สืออี๋《本草纲目拾遗》รวบรวมวิธีการใช้ฮั่วก้วนอย่างละเอียดเกี่ยวกับการรักษา ข้อควรระวัง รวมถึงกลุ่มโรคที่เหมาะในการใช้วิธีการนี้

การครอบแก้วเป็นศาตร์การรักษาที่มีมานาน มีวิวัฒนาการ พัฒนารูปแบบและอุปกรณ์การรักษา จวบจนปัจจุบัน การครอบแก้วได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นครอบแก้วแบบสุญญากาศ(Dry Cupping), ครอบแก้วแบบใช้ไฟ(Fire Cupping) หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่ใช้ครอบในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบและขนาดของถ้วยแก้ว  การครอบแก้วเป็นหัตถการที่ต้องอาศัยความชำนาญในการฝึกฝน แต่ละอุปกรณ์มีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ควรทำในสถานพยาบาลที่ถูกต้องภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ ควรคำนึงถึงความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ วัตถุประสงค์ในการรักษาเป็นหลัก

------------------------

บทความโดย

แพทย์จีนรติกร อุดมไพบูลย์วงศ์  (หมอจีน เวิน เจิน ฮุ่ย)
温珍慧 中医师
TCM. Dr. Ratikon Udompriboonwong (Wen Zhen Hui)
แผนกฝังเข็ม

REFERENCES:

1.     ANNA DINALLO.A REFLECTION ON CUPPING THERAPY AND HISTORICAL MEDICAL DOMINANCE,2019.

2.     Liu HL. The Development History of Cupping,The First Affiliated Hospital of Henan University of Traditional Chinese Medicine,2017.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้