เคล็ดลับหน้าเด็ก อ่อนกว่าวัย อายุยืน แบบฉบับแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  2773 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เคล็ดลับหน้าเด็ก อ่อนกว่าวัย อายุยืน แบบฉบับแพทย์แผนจีน

เคล็ดลับที่ 1 : โภชนาการที่เหมาะสม กินอาหารเป็นยา


  • “อาหารเป็นยา” คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันและรักษาบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ
  • ทานอย่างสมดุล คือ ไม่เลือกทานอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ปริมาณที่เหมาะสม ไม่อิ่มมากเกิน มิฉะนั้นจะทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานหนักเกิน
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง เนื้อสัตว์เกินปริมาณ
  • อุณหภูมิ ควบคุมความเย็นความร้อนให้เหมาะสม

          ไม่ร้อน : จนลวกปาก

          ไม่เย็น : จนเสียวฟัน
  • ทานให้เหมาะแต่ละช่วงเวลา-ฤดูกาล
  • ทานให้เหมาะแต่ละบุคคล ต้องสอดคล้องกับสภาพร่างกายพื้นฐานของแต่ละคน


เคล็ดลับที่ 2 : ออกกำลังกาย ฝึกชี่กง


  • การออกกำลังกาย ฝึกคุมการหายใจ ให้ชี่ผลักดันเลือดให้ไหลเวียนหล่อเลี้ยงไปทั่วร่างกาย  ในการขับเคลื่อนชี่ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายยังส่งผลช่วยให้เส้นเอ็น กระดูก ข้อต่อ ได้เคลื่อนไหว ทำให้ชี่ไหลเวียนตามเส้นลมปราณในร่างกายได้สะดวก กระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆได้เหมาะสม ร่างกายและจิตวิญญาณสอดประสาน เส้นเลือดทั้งหลายไหลผ่านได้สะดวก ภายนอกภายในสัมพันธ์กัน อวัยวะตัน-อวัยวะกลวงทำงานสอดคล้องกัน ทำให้ปรับอินหยางร่างกายเข้าสู่ภาวะสมดุลได้
  • การออกกำลังเป็นการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะตันทั้งห้า ได้แก่ ม้ามควบคุมแขนขาและกำกับกล้ามเนื้อ ตับกำกับเส้นเอ็น ไตกำกับกระดูกไตน้ำควบคุมไม่ให้ธาตุไฟมากเกินไป หัวใจเป็นที่สถิตของจิตวิญญาณ ปอดกำกับชี่และควบคุมเรื่องการหายใจ ทำให้การหายใจลึกและชี่ปอดไหลเวียนได้ทั่วร่างกาย ทิศทางชี่ของปอดลงเบื้องล่างและกระจายขึ้นบนและแผ่กระจายออก จึงสามารถเอาสารพิษต่างๆขับออกภายนอกร่างกายได้ ดังนั้น การหายใจลึกๆนอกจากสามารถบรรเทาความเครียดและลดความวิตกกังวลลงแล้ว ยังช่วยปรับอารมณ์ที่ขุ่นมัว เศร้า โกรธ กระวนกระวาย ออกไปได้ด้วย  การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ให้ชี่เลือดไหลเวียนได้ดี การหายใจลึกๆ ทำให้ปอดสามารถขับพิษออกจากร่างกายทำให้หยางชี่ไหลเวียนผ่านอวัยวะตันทั้งห้าได้สะดวก ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง
  • การออกกำลังเป็นการกระตุ้นให้หยางถูกใช้ หยางชี่เป็นรากฐานของชีวิต การออกกำลังเป็นการช่วยกระตุ้นเพิ่มพลังหยาง และเมื่อหยางชี่เพิ่มมากขึ้น ร่างกายก็จะแข็งแรงขึ้นตามธรรมชาติ
  • ชี่กง气功หมายถึง การไหลเวียนของชี่(พลังลมปราณ) การฝึกชี่กงจึงเป็นการฝึกสมาธิ การหายใจ ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของชี่(พลังลมปราณ)
  • ชี่กงเป็นพื้นฐานของการรํามวยของสํานักต่างๆ เช่น ไท้เก๊ก太极拳ของสํานักบู๊ตึ๊ง อู่ฉินซี่五禽戏 ปาต้วนจิ่น八段锦 เป็นต้น


เคล็ดลับที่ 3 : นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ


  • เวลาเข้านอนที่เหมาะสม ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้ระบุไว้ว่า  天人合一 คือ มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยช่วงเวลาเข้านอนและตื่นนอนที่เหมาะสมจะต้องสอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ นั้นคือ พระอาทิตย์ขึ้นเราตื่น - พระอาทิตย์ตกเราพัก ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมของการตื่นและเข้านอน คือ ช่วงเวลาระหว่าง 5.00 - 21.00 น. ซึ่งในคัมภีร์ฯ ยังได้กล่าวอีกว่า การนอนก่อนเวลา 23.00 น. ถือเป็นเวลาเข้านอนที่ดีที่สุด เนื่องจากการนอนหลับในช่วงเวลา จื่อสือ 子时ที่พลังอินมากสุดจะทำให้หลับสนิทและหลับลึก ซึ่งช่วงเวลาที่อินสูงสุดอยู่ในช่วงเวลา 23.00-1.00 น.
  • จื่อสือ 子时 เข้านอนก่อน 5 ทุ่มเพราะช่วง 5 ทุ่ม ถึง ตี 1 เป็นช่วงเวลาที่ อินหยางมีการแลกเปลี่ยนกัน และเป็นเวลาที่มีอินชี่มากที่สุด เวลานี้ควรพักผ่อนจึงสามารถบำรุงอินได้ดีที่สุดและให้ประสิทธิภาพการนอนหลับที่ดีที่สุด การนอนดึก ธาตุน้ำของไตจะพร่อง หัวใจและไตทำงานไม่ประสาน น้ำพร่องไม่สามารถสงบไฟที่รุนแรงได้ จะทำลายเสิน 神 ได้ง่าย และควรเข้านอนเวลาเดิมทุกวันเพื่อให้เป็นกิจวัตรจะช่วยให้เข้านอนได้ง่ายขึ้น


เคล็ดลับที่ 4 : ดูแลสุขภาพตามหลักการเวลาธรรมชาติ นาฬิกาชีวิต

สรุปช่วงเวลา ระบบที่เกี่ยวข้อง ข้อควรปฏิบัติ

23.00 - 01.00 น. ยามจื่อ [ถุงน้ำดี] เตรียมเข้านอน

01.00 - 03.00 น. ยามโฉ่ว [ตับ] นอนให้หลับสนิท

03.00 - 05.00 น. ยามอิ่น [ปอด] ตื่นนอน สูดอากาศบริสุทธ์

05.00 - 07.00 น. ยามเหม่า [ลำใส้ใหญ่] ดื่มน้ำอุ่นช่วยขับถ่ายอุจจาระ

07.00 - 09.00 น. ยามเฉิน [กระเพาะอาหาร] กินอาหารเช้า

09.00 - 11.00 น. ยามซื่อ [ม้าม] เคลื่อนไหวบ้าง ทำงาน ทำกิจกรรม

11.00 - 13.00 น. ยามอู่ [หัวใจ] หลีกเลี่ยงความเครียดทั้งปวง นอนพักกลางวัน 

13.00 - 15.00 น.ยามเว่ย [ลำไส้เล็ก] เป็นเวลาย่อยและการดูดซึม งดกินอาหารทุกประเภท

15.00 - 17.00 น. ยามเซิน [กระเพาะปัสสาวะ] ดื่มน้ำช่วยขับปัสสาวะ ออกกำลังกายทำให้เหงื่อออก

17.00 - 19.00 น. ยามโหย่ว [ไต] หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม

19.00 - 21.00 น. ยามซวี [เยื่อหุ้มหัวใจ] อารมณ์ดี สวดมนต์ ทำสมาธิ

21.00 - 23.00 น. ยามไฮ่ [ซานเจียว] ทำร่างกายให้ อบอุ่น นอนพักผ่อน


เคล็ดลับที่ 5 : ดูแลจิตใจและอารมณ์

  • อารมณ์สะท้อนภาวะจิตใจของคนเรา การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ทั้ง 7 ในภาะปกติ ถือเป็นผลดีต่อสุขภาพของร่างกาย แต่ว่าหากมีการเกิดอารมณ์ทั้ง 7 แบบสุดโต่ง หรือ สะสมอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นระยะเวลานานผิดปกติ จะทำร้ายเราทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้




 

เคล็ดลับที่ 6 : ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค และบำรุงร่างกาย


  • การป้องกันโรคด้วย เพิ่มเจิ้งชี่正气 (ชี่ที่เป็นรากฐานของชีวิต) ทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • "เจิ้งชี่" 正气  คือ  ภูมิคุ้มกันร่างกาย ความสามารถในการฟื้นฟูซ่อมแซมตัวเอง ประสิทธิภาพของอวัยวะในร่างกาย
  • การมีสุขภาพแข็งแรง อ่อนกว่าวัย และอายุที่ยืนยาว แพทย์แผนจีนให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย หรือ “เจิ้งชี่” ให้แข็งแรง  ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
  • หลีกเลี่ยง"เสียชี่" 邪气ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคจากภายนอก
"เสียชี่" 邪气 คือ  สิ่งก่อโรคจากภายนอก หรือปัจจัยก่อโรคจากประสิทธิภาพในร่างกายเองที่อ่อนแอลง

1. บำรุงไต ทำให้หน้าเด็ก อายุยืนยาว อ่อนกว่าวัย

  • บำรุงชี่ของไต 肾气 เซิ่นชี่ เป็นพื้นฐานของสรีระการทำงานของร่างกาย เป็นพลังที่ใช้ในการเจริญเติบโตของร่างกาย การเจริญพันธุ์ การรับพลังงาน การหายใจ ช่วยการได้ยิน ควบคุมการเปิดปิด การขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การที่ชี่ของไตถดถอย จะทำให้แก่เร็ว ผมร่วง ฟันร่วง ความจำเสื่อม สมรรถภาพทางเพศของผู้ชายจะมีน้ำกามน้อย เป็นหมัน ในสตรีจะมีบุตรยาก รอบเดือนผิดปกติ ถ้าชี่ของไตไม่สามารถเหนี่ยวรั้งเก็บกัก หรือไม่สามารถจัดการกับน้ำ หรือไม่รับชี่ จะมีอาการน้ำกามเคลื่อน ฝันเปียก ถ่ายเหลว ปัสสาวะใสมาก เป็นต้น
  • อาหารบำรุงไต พืชผักและธัญพืชสีดำ เช่น ถั่วดำ งาดำ ข้าวเหนียวดำ ไก่ดำ  เห็ดหูหนูดำ เกาลัด
  • บำรุงไตด้วยยาจีน เช่น เก๋ากี้枸杞子, ซางเซิ่ง(ลูกหมอน)桑葚子, เหอโส่วอู何首乌

2. บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ทำให้หน้าเด็ก อายุยืนยาว อ่อนกว่าวัย

  • ม้ามทำหน้าที่ร่วมกับกระเพาะอาหาร โดยกระเพาะอาหารทำหน้าที่รับและย่อยอาหารจนได้สารจำเป็น ส่วนม้ามทำหน้าที่ลำเลียงสารจำเป็นนี้ไปใช้ทั่วร่างกาย ม้ามถือเป็นต้นกำเนิดของแรงขับเคลื่อนชีวิต โบราณกล่าวว่า ม้ามและกระเพาะอาหารเป็นรากฐานของชีวิตหลังคลอด ทำหน้าที่สร้าง ควบคุมเลือดและชี่ ม้ามเป็นธาตุดิน มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับกระพาะอาหาร กล้ามเนื้อ ริมฝีปาก และปาก เป็นต้น
  • ชี่ของม้าม 脾气 เป็นชี่ชนิดหนึ่ง ได้จากส่วนหนึ่งของเหวียนชี่元气 ที่มาหล่อเลี้ยงม้าม และชี่ของม้ามที่ได้จากสารอาหารกลับไปหล่อเลี้ยงเหวียนชี่ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ชี่ของม้ามกำกับหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหารและน้ำ ควบคุมไม่ให้เลือดออกจากหลอดเลือด ม้ามพร่องเกิดอาการท้องอืด เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลว มือเท้าเย็น แขนขาหนักเมื่อย ไม่มีแรง มีอาการปัสสาวะไม่คล่อง บวม ในสตรีจะมีอาการตกขาวมาก ลักษณะขาวใส เมื่อตรวจดูลิ้นจะมีลักษณะอ้วน ซีด ขาว ฝ้ามีสีขาวลื่น ชีพจรจมลึก ไม่มีแรง
  • อาหารบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ขิง พุทราจีน ลูกเดือย เม็ดบัว ฟักทอง
  • บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ด้วยยาจีน เช่น ตั่งเซิน党参,  ไป๋จู๋白术,  ฝูหลิง茯苓,  อี่อี้เหริน薏苡仁

3. บำรุงปอด ทำให้หน้าเด็ก อายุยืนยาว อ่อนกว่าวัย

  • ปอดควบคุมชี่ทั่วร่างกายให้สมดุล กล่าวคือกำกับทิศทางของชี่ขึ้นลงเข้าออกสะดวก ส่งผลต่อการหายใจเข้าออก คัมภีร์ซู่เวิ่น อู่จั้งเซิงเฉิง《素问 。五脏生成》กล่าวว่า “ชี่ทั้งหลายล้วนมาจากปอด”  ชี่ที่เกิดขึ้นบางส่วนถูกสะสมที่ทรวงอก เรียกว่า จงชี่ 宗气 ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ
  • ชี่ของปอดเองจะให้ความอบอุ่นแก่ปอด ทำหน้าที่กระจายชี่ของปอดสู่ผิวหนังและลง ประสานรับชี่จากไตผ่านซานเจียวมารวมเป็นจงชี่ 宗气  อีกนัยหนึ่ง ชี่ของปอดมารวมกับชี่ที่ส่งจากจากม้าม-กระเพาะอาหารมารวมกันเป็นจงชี่ที่กลางอก จงชี่เป็นชี่หลังเกิด ถ้าไตไม่แข็งแรง ชี่ที่มาจากไตไม่เพียงพอ ชี่ของปอดจะพร่องตามได้ ทำให้หายใจหอบ ภาวะนี้เรียกว่า “ไตไม่รับชี่” ถ้าม้ามและกระเพาะอาหารไม่แข็งแรง มีผลกระทบต่อชี่ปอด มีอาการหายใจสั่น ไม่มีแรง เสียงเบาต่ำ ภาวะนี้เรียกว่า ดินไม่เกื้อหนุนทอง
  • อาหารบำรุงปอด ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ หัวไชเท้า เห็ดหอม นํ้าผึ้ง  เนื้อปลา เนื้อไก่
  • บำรุงปอดด้วยยาจีน เช่น ซานเย่า山药,  ไป่เหอ百合, เซิงตี้หวง生地黄, เป่ยซาเซิน北沙参, ม่ายตง麦冬

------------------------

เขียนบทความโดย


แพทย์จีน ศศินิภา กายเจริญ (หมอจีน เฝิง เจี๋ย อวี่)
冯解语 中医师
TCM. Dr. Sasinipa Kaicharoen (Feng Jie Yu)

แผนกอายุรกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้